หลายคนอาจจะงงว่าสื่อสารมวลชนคืออะไร ต่างจากนิเทศศาสตร์ยังไง ความจริงแล้วสื่อสารมวลชนกับนิเทศ คือ ศาสตร์การเรียนรู้อันเดียวกัน เรียนจบไปเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในสังคม ที่ประชาชนควรรู้ได้ทราบ ให้ความสนุกความบันเทิงแก่ผู้รับชม พี่เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนคงอยากรู้ว่าต้องเรียนอะไรบ้าง จบแล้วทำงานอะไร ต้องเตรียมตัวสอบเข้ายังไง มาทำความรู้จัก “คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ไปพร้อม ๆ กันเลย
เดิมเป็นภาควิชาการสื่อสารมวลชน สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ ต่อมาได้จัดตั้งเป็นคณะการสื่อสารมวลชนเมื่อปี พ.ศ. 2548 การเรียนการสอนจะเน้นกระบวนการคิด การผลิตสื่อทุกรูปแบบ และอบรมสั่งสอนให้นักศึกษามีจรรยาบรรณ จริยธรรม เพื่อจบออกไปเป็นนักสื่อสารมวลชนที่ดี มีคุณภาพไม่แพ้กับเด็กมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เปิดเมเจอร์ให้นักศึกษาได้เลือกเรียนทั้งหมด 7 เมเจอร์ด้วยกัน ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ละคร สื่อใหม่ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ทางคณะยังได้ร่วมมือกับคณะ เศรษฐศาสตร์เปิดหลักสูตรสองปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิตและศิลปศาสตรบัณฑิต (การสื่อสารมวลชน) อีกด้วย
ปี 1 จะเรียนวิชาการสื่อสารพื้นฐานหรือ Masscomm 105 และมีวิชานอกคณะ เช่น ภาษาอังกฤษ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทย เป็นต้น เพื่อปูพื้นฐานความรู้ที่นักสื่อสารมวลชนควรมี ปี 2 เริ่มแยกย้ายเรียนตัวเมเจอร์ มีเรียนวิชาการพูดและการเขียนเพื่อการสื่อสาร วิชาการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เบื้องต้น ปี 3 จะได้เรียนวิชาทฤษฎีสื่อสารมวลชน วิชาวิจัย วิชาจริยธรรมสื่อ วิชาสื่อทางเลือก ซึ่งขอบอกเลยว่าแต่ละวิชาในปี 3 โคตรยาก ปี 4 ต้องนำความรู้ที่เรียนมาตลอดระยะเวลาการเรียนมาทำตัวจบ ได้ลงมือทำงานกันจริง ๆ หลังจากนั้นเทอม 2 ออกเดินทางหาความรู้ ประสบการณ์จากการไปฝึกงานพร้อมกับแบ่งเวลาทำสัมมนาไปด้วย
สำหรับพี่เอง เลือกเรียนเมเจอร์ New Mediaหรือ สื่อใหม่ สงสัยกันไหมว่า New Media คืออะไร ? New Mediaก็คือ การเข้าถึงเนื้อหาตามความต้องการ ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ดิจิทัล ดังนั้นเนื้อหาการเรียนการสอนจะเน้นให้นักศึกษาสามารถทำทุกสื่อเป็น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเริ่มแรกจะให้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สื่อใหม่ แหล่งกำเนิดของสื่อใหม่ว่ากำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ต่อมาจะได้เรียนวิชาการเขียน แต่เป็นเขียนสำหรับสื่อใหม่ และเรียนการทำการตลาดออนไลน์ หลังจากนั้นจะได้ทดลองทำงานจริง ทำอีแม็กกาซีน ตัดต่อวิดีโอ พอดแคสต์ ถ่ายทำรายการในห้องสตูดิโอนิวมีเดีย แฟนเพจเฟซบุ๊กเป็นตัวสุดท้าย เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดการสร้างเพจ วิธีการประชาสัมพันธ์เพจให้เป็นที่รู้จัก เป็นต้น
หลายครั้งที่คนทำสื่อ มักจะทำเอาสนุก แต่ไม่ได้คำนึงถึงจรรยาบรรณ จริยธรรมของการเป็นสื่อสารมวลชนที่ดี ตอนสมัยเรียน ถ้าทำงานไม่ดี คิดน้อย ไม่รอบคอบ อย่างมากสุดก็แค่โดนอาจารย์ว่า เทงานให้กลับไปทำใหม่ แต่เมื่อออกไปประกอบอาชีพจริงผลเสียมันไม่ได้อยู่ที่แค่เราคนเดียว ผู้รับชมก็ได้ผลเสียนั้นด้วย ดังนั้น นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงถูกเขี้ยวเข็ญกันมาอย่างหนัก ไม่ใช่แค่ทำผลงานออกมาสนุก ๆ แต่ไม่สร้างสรรค์สังคม ทำงานสื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ใคร ๆ ก็ชอบคิดว่าเรียนพวกนิเทศ สื่อสารมวลชนเรียนง่าย ๆ ชิล ๆ ขอบอกเลยตรงนี้ว่าไม่จริง เรียนหนักงานหนักมาก แต่สิ่งที่ทำให้มีความสุขกับการเรียน คือ “เพื่อน” ที่คอยช่วยเหลืองาน ไปออกสัมภาษณ์แหล่งข่าวเป็นเพื่อน มาช่วยเป็นตากล้อง ช่วยตัดต่องาน มาเป็นนักแสดง ให้ยืมบ้านเป็นสถานที่ถ่ายงาน ตอนเราทำโปรเจคจบ นั่งร้องไห้เป็นเพื่อนเรา “คณาอาจารย์” ที่คอยให้คำปรึกษา สามารถซักถามข้อสงสัยได้ตลอดเวลา เป็นกันเองกับนักศึกษา ทำให้ไม่เกรงเวลาที่ต้องพูดคุยงาน พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นของนักศึกษาเสมอ และสุดท้าย คือ “การได้ทำสิ่งที่เรารัก”
ตอนสมัยเรียน ม. ปลาย เรียนสายวิทย์มา แต่ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เลย และตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเข้าคณะไหนอีก ก็เลยลองไปทำแบบทดสอบจิตวิทยา แบบทดสอบค้นหาตัวเอง เพื่อค้นหาตัวเองว่าอยากเป็นอะไร จึงมาลงเอยที่อาชีพเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน หลังจากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลว่าเรียนอะไรบ้าง สังคมเป็นยังไง จบมาไปทำอะไรได้บ้าง อีกอย่าง คือ ชอบเชียงใหม่ อยากไปเดินเที่ยวถนนคนเดินบ่อย ๆ ก็เลยเลือกมาเรียนที่นี่ แต้มบุญจากการเป็นเด็กภาคเหนือ จึงมีสิทธิ์สอบโควตามช. วิชาสอบก็วิชาทั่วไป ถ้าใครเรียนสายวิทย์ ก็ต้องสอบฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่ใครเลือกสอบสายศิลป์ก็จะเป็นวิชาสายศิลป์ตามที่เลือกสอบ ส่วนใหญ่โรงเรียนโซนภาคเหนือจะให้ความสำคัญกับการสอบครั้งนี้มาก ถึงขั้นให้หยุดเรียนหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้ได้อ่านหนังสืออย่างเต็มที่ ตอนนั้นไปหาข้อสอบเก่าย้อนหลัง 10 ปีมานั่งทำ ข้อไหนไม่เข้าใจ หรือทำผิดบ่อย ๆ ก็จะไปอ่านทบทวนเนื้อหาเรื่องนั้นใหม่อีกรอบ ทำซ้ำแบบนี้ไปจนกว่าจะถึงวันสอบ
เรียนด้านนี้จบมาไม่ได้เป็นแค่ดารา นางแบบได้อย่างเดียว มีอีกหลายอาชีพทีต้อนรับคนเรียนด้านสื่อสารมวลชน เช่น นักเขียน นักข่าว พิธีกร พิสูจน์อักษร ช่างถ่ายภาพ ผู้กำกับ เจ้าหน้าที่ตัดต่อ กราฟฟิค ดีไซน์ ประสานงานกองถ่าย ดีเจ นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ ครีเอทีฟโฆษณา นักการตลาด ออร์แกนไนซ์เซอร์ อาจารย์ นักวิชาการ ถึงแม้ว่าไม่ได้เรียนจบเมเจอร์นั้นมาโดยตรงก็สามารถข้ามไปทำสายงานอื่นได้ เพราะเด็กคณะนี้ถูกปูให้มีพื้นฐานการทำสื่อทุกรูปแบบ ได้เรียนวิชาพื้นฐานเกือบทุกเมเจอร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ฝึกฝนตัวเองให้เก่งขึ้นจากกิจกรรมทั้งนอกและในคณะ เช่น ละครเวที โปรดักชั่นทีวี จัดรายการวิทยุ และยังให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนตัวเมเจอร์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เมเจอร์ตัวเองได้อีกด้วย
เรื่อง : พิชญา เตระจิตร