Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ความคาดหวัง VS ชีวิตจริง ในรั้วมหาวิทยาลัย

  Favorite

          ช่วงมัธยมปลาย หลาย ๆ คนคงจะเริ่มมีความคิดเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองไว้ในหัวกันอยู่บ้างแล้ว ทั้งมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า และคณะที่ชอบ จนกระทั่งคาดหวังถึงการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย เช่น คิดไว้ว่าขึ้นมหาวิทยาลัยแล้วเราจะต้องสวยขึ้นเหมือนรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว หรือตั้งใจว่าจะออกค่ายอาสาเยอะ ๆ ซึ่งการคาดหวังมันเป็นสิ่งที่ดีนะ มันคล้าย ๆ เป็นการวางเป้าหมายเล็ก ๆ ของเราไว้ ในบทความนี้พี่เลยจะมาบอกเล่า 7 ข้อ ความคาดหวังเกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัย และความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จะเป็นไปตามที่น้อง ๆ คิดหรือไม่ ต้องติดตามจนถึงข้อสุดท้ายเลยนะ !
 

ภาพ : Shutterstock

1. ลดน้ำหนัก

Expectation : เฟรชชี่ต้องฟิตหุ่น

หลายคนมาดมั่นว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ทันทีที่ย้ายไปที่มหาลัยฯ ฉันจะเป็นคนใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม จะออกกำลังกายอย่างมีวินัย อย่างน้อยอาทิตย์ละสามครั้งและทานแต่อาหารคลีน พี่อยากจะบอกว่า ทางมหาวิทยาลัยเองก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้น้อง ๆ ได้ทำตามสิ่งที่น้องตั้งใจไว้ ทั้งสนามกีฬา, ฟิตเนส, สระว่ายน้ำ หรือร้านอาหารคลีนต่าง ๆ แต่นัดต่อนัด

Reality : เทอมหน้าค่อยลดแล้วกัน

สุดท้ายต้องยอมพ่ายแพ้ให้กับตลาดนัดและร้านอาหารรอบมออยู่เสมอ ตลาดนัดที่เต็มไปด้วยของอร่อยมักจะมีอาทิตย์ละหนึ่งหรือสองครั้ง หรือร้านอาหารรสเลิศบริเวณรอบมอที่พร้อมเพิ่มส่วนเกินของร่างกายให้น้อง ๆ ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวน้อง ๆ ว่าจะคุมสติและมีวินัยกับตัวเองมากแค่ไหน หลายคนสามารถลดน้ำหนักและมีหุ่นบอดี้เลิศทันทีที่ขึ้นมหาลัยฯ แต่อีกหลายคนก็ได้ลืมความตั้งใจของตัวเองไว้ที่ร้านบุฟเฟ่ ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ผ่านมันไปให้ได้นะคะ
 

ภาพ : Shutterstock

2. หาแฟน

Expectation : มีแฟนเป็นตัวเป็นตนสักที

ขึ้นมหาวิทยาลัยแล้วถือว่าโตขึ้นมาอีกขั้น จะมีแฟนมีความรักในวัยนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก นี่แหละคือเวลาที่เหมาะสมแล้ว และความคิดที่ว่า มหาลัยฯคนเยอะกว่าในโรงเรียนมัธยม มีหนุ่ม ๆ สาว ๆ จากหลากหลายคณะ โอกาสหาแฟนก็ต้องมีมากกว่ามัธยมแน่นอน ! อันนี้เป็นเรื่องจริงครึ่งหนึ่ง และเรื่องไม่จริงครึ่งหนึ่งค่ะ โอกาสในการหาแฟนมันจะมีมากขึ้นก็ต่อเมื่อน้อง ๆ เดินออกไปหาโอกาสค่ะ เพราะถึงมหาลัยฯจะมีคนเยอะขนาดไหน ถ้าน้องยังได้แต่บ่นว่าเหงาและไม่สร้างโอกาสให้ตัวเองมันก็ไม่เกิดขึ้นค่ะ ยิ่งน้องคนไหนที่อยากได้แฟนต่างคณะก็ต้องพยายามหน่อย เพราะโอกาสที่จะพบเจอกันมันไม่ได้มีบ่อย ๆ ตารางเรียนก็ไม่เหมือนกัน ไหนจะตึกห่างกันตั้งไกล คำแนะนำก็คือให้น้องไปทำกิจกรรมนอกคณะบ่อย ๆ ค่ะ เช่น การเข้าชมรม หรือออกค่ายอาสา แล้วน้องจะมีโอกาสได้พบคนใหม่ ๆ มากขึ้น อาจจะไม่ได้แฟนแต่ก็ถือว่าได้มิตรภาพและประสบการณ์ค่ะ

Reality : สไลด์ทินเดอร์มาเป็นปีก็ไม่เห็นจะมีใครสักที

แต่ก็มีเยอะนะคะ คนที่ทั้งเรียนวิชาต่างคณะก็แล้ว ทำกิจกรรมก็แล้ว โหลดแอพทินเดอร์มาสไลด์เล่น ๆ เผื่อฟลุ๊คก็ยังไม่ได้ เดินเล่นไปทั่วมอก็ไม่มีเกิดขึ้น จบปีสี่ก็ยังคงความโสด ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นไรนะคะ ชีวิตมันไม่ได้มีแค่เรื่องความรักค่ะ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง น้องยังสามารถหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มส่วนนั้นได้ วันไหนที่น้องพร้อมและอยากมีแฟนจริง ๆ ก็ค่อยออกไปหาโอกาสให้ตัวเองค่ะ เรียนจบแล้วก็ยังมีสังคมในการทำงานอีก อย่าเพิ่งท้อจ๊ะ
 

ภาพ : Shutterstock

3. ต้องเป็นนักกิจกรรม

Expectation : ทำกิจกรรมเยอะ ๆ เก็บประสบการณ์ให้เต็มที่

‘การเรียนสอนให้คนมีงานทำ กิจกรรมสอนให้คนทำงานเป็น’ ก็ยังเป็น Quote ที่ใช้ได้ตั้งแต่ปีหนึ่งจนถึงปีสี่ ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่น้องใช้ชีวิตในมหาลัยฯ มันจะมีกิจกรรมมากมายหลายรูปแบบมาให้น้องได้ลองทำ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวน้องเองด้วยว่าจะลงมือทำหรือไม่ ไม่มีใครไปบังคับ แต่การทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงสถานะของเราที่เป็นนิสิต นักศึกษา เราเข้ามาเพื่อหาความรู้และหน้าที่ก็คือการเรียน

Reality : บาลานซ์ทั้งสองอย่างให้ถูกต้อง

การบริหารเวลาให้้การเรียนและกิจกรรมไม่ชนกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามันง่ายมาก แต่เมื่อมาอยู่ในสถานการณ์จริง ๆ มันจะมีกิจกรรมที่เข้ามาช่วงก่อนมิดเทอม หรืองานที่เราจะต้องทำในวันที่มีคลาส มันทำให้น้อง ๆ ต้องทำทั้งอ่านหนังสือ เรียนและทำกิจกรรมไปด้วยกัน ซึ่งเราจะต้องมีสติและจัดสรรตัวเองว่าควรจะเข้าไปทำกิจกรรมไหน ในช่วงเวลาไหน เพื่อไม่ให้เสียการเรียนและสนุกไปกับกิจกรรรมได้อย่างเต็มที่ มีรุ่นพี่มากมายที่ชอบทำกิจกรรมและจบปีสี่ด้วยเกียรตินิยมได้ มันพิสูจน์ว่าน้องไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างจะเป็นเด็กเรียนหรือเด็กกิจกรรม เพราะน้องสามารถทำทั้งสองอย่างควบคู่ไปด้วยกันได้
 

ภาพ : Shutterstock

4. เพื่อนจะดีเหมือน ม.ปลาย ไหม ?

Expectation : เพื่อนมหาลัยฯไม่ดีแน่เลยอ่ะ

มักมีน้อง ๆ หลายคนมาพูดว่า ‘มีคนบอกว่าเพื่อนในมหาลัยฯไม่ดีเหมือนเพื่อนมัธยม’ หรือไม่ก็ ‘เพื่อนมหาลัยฯนิสัยไม่ดี คบไม่ได้’ จนหลาย ๆ คนเชื่อคำพูดเหล่านี้จริงจังและไม่กล้าเข้าสังคมใหม่ ๆ ซึ่งเรื่องจริงก็คือ เราไม่สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าคนคนนั้นเป็นยังไงจากการพบเจอแค่ไม่กี่ครั้ง

Reallity : เพื่อนก็คือเพื่อน

พี่ก็อยากให้น้องเปิดใจ ไม่ตั้งอคติกับเพื่อน เพราะเพื่อนดี ๆ ในมหาลัยฯ มักมีจำนวนเยอะกว่าเพื่อนไม่ดีในมหาลัย ขึ้นอยู่กับสังคมและลักษณะเพื่อนที่เราเลือกคบ การรู้จักคนมากในมหาลัยฯยังช่วยเราในการมีคอนเนคชั่นตอนที่จบไปแล้วอีกด้วย เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกลัวในการที่จะเข้าไปหาคนอื่น ลองสร้างความกล้าแล้วเข้าไปทักเพื่อนใหม่ดูนะ
 

ภาพ : Shutterstock

5. อิสระที่ต้องการ

Expectation : มีอิสระมากขึ้น

การมีอิสระมากขึ้นคือสิ่งหนึ่งที่คนส่วนมากคาดหวังไว้กับการได้ออกมาใช้ชีวิตที่มหาลัยฯ ซึ่งมันคือเรื่องจริง น้อง ๆ จะมีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าตอนอยู่มัธยมมาก ไม่ว่าจะเป็นอิสระในการเลือกเวลานอน อิสระในการใช้เงิน อิสระในการออกไปเที่ยวกับเพื่อน เพราะจะมีแค่ตัวน้องเองที่เป็นคนตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ

Reality : ควบคุมตัวเองให้ดี !

แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวน้อง ๆ เองที่จะต้องคอยควบคุมตัวเองไม่ให้ปล่อยตัวไปกับความอิสระนั้นมากเกินไป น้องต้องรับรู้ถึงจุดที่พอดีของการใช้ชีวิตมหาลัยฯ อย่างเช่น ควรจำกัดการใช้เงินอาทิตย์ละเท่าไหร่เพื่อที่จะไม่ต้องมาขอพ่อแม่เพิ่มในตอนสิ้นเดือน หรือควรนอนตอนกี่โมงเพื่อที่จะตื่นไปทันเรียนพรุ่งนี้เช้า เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตในมหาลัยฯจึงกลายเป็นการใช้ชีวิตอิสระอยู่บนความรับผิดชอบด้วย
 

ภาพ : Shutterstock

6. งานค่ายต้องมี จิตอาสาต้องมา

Expectation : ทำค่ายอาสาเยอะ ๆ

บางคนอาจจะยังงงว่าค่ายอาสาคืออะไร ค่ายอาสาคือการที่คณะหรือชมรมต่าง ๆ จะเปิดรับสมัครคนให้เข้ามาร่วมทำค่ายด้วยกัน และออกไปยังต่างจังหวัดหรือตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อไปพัฒนาชุมชนหรือโรงเรียนของที่นั่นค่ะ ค่ายส่วนใหญ่จะเป็นค่ายที่ไปไกลและต้องค้างหลายวัน หลาย ๆ คนอาจจะได้ยินรุ่นพี่มาเล่าให้ฟังถึงค่ายอาสาจึงรู้สึกอยากไปบ้างสักครั้งเมื่อขึ้นมหาลัยฯ

Reality : อยากทำค่ายอาสาจัง แต่ยังไม่ได้สมัครสักที

พอขึ้นมาจริง ๆ แล้วก็ยังไม่ได้ไปสมัครสักที บางทีก็ติดกิจกรรมอื่น บางทีก็ติดเรียนซัมเมอร์ หรือไม่ก็ติดที่ความป๊อดของตัวเองที่ไม่กล้าไป Workshop คนเดียว จริง ๆ เราว่าการลองไปทำกิจกรรมนอกคณะคนเดียวมันเป็นอะไรที่ใหม่ดีนะ ไม่มีใครรู้จักเรา เราสามารถแสดงออกมากแค่ไหนก็ได้ แล้วยังได้เพื่อนใหม่เพิ่มมาอีกมากมายแน่นอน สร้างคอนเนคชั่นให้เราในอนาคต แล้วยังได้ทำเพื่อสังคมอีกด้วย เพราะฉะนั้นน้อง ๆ คนไหนที่อยากลองทำค่าย แต่ยังเขิน ๆ อาย ๆ ขอให้สลัดความเขินนั้นออกไปแล้วก้าวมาลองทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยกันนะ ยังมีคนที่มาคนเดียวแบบน้องอีกหลายคน เรามาทำความรู้จักกันในค่ายก็ได้ ไม่ต้องกลัวเหงา
 

ภาพ : Shutterstock

7. โตเป็นผู้ใหญ่

Expectation : มีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราต้องโตขึ้น

เมื่อน้อง ๆ เข้ามหาลัยมาเป็นเฟรชชี่หน้าใส น้องอาจจะคิดว่าตัวเองจะดูเป็นผู้ใหญ่ในทันที แต่ความจริงแล้วคือน้องจะยังไม่เป็นผู้ใหญ่แค่เพราะการเปลี่ยนเครื่องแบบ แต่น้องจะค่อย ๆ เติบโตจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่าง ๆ ในมหาลัยฯแล้วเรียนรู้จากมัน จนถึงตอนนั้นน้องจะกลายมาเป็นรุ่นพี่ที่มีวุฒิภาวะอย่างที่น้องเคยมองรุ่นพี่ตอนที่น้องอยู่ปีหนึ่ง น้องจะค่อย ๆ มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ใจเย็นขึ้น

Reality : ค่อยเติบโตไปทีละนิดโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว

กระบวนการเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย เพราะพัฒนาการของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน การเป็นผู้ใหญ่นั้นจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ หรือชั้นปี แต่ขึ้นอยู่ที่ความคิดและการกระทำของตัวบุคคล แต่ในบางช่วงเวลาของชีวิต น้องก็อาจจะต้องการความเป็นเด็กให้กลับมา เพราะฉะนั้น จงค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ทีละนิดและพกพาความสนุกสนานของเด็กติดตัวไปด้วยเพื่อมอบสีสันให้กับชีวิตผู้ใหญ่ของเรา

 

          ทั้ง 7 ข้อนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างความคาดหวังของน้อง ๆ ก่อนที่จะเข้ามหาลัยฯ อาจจะมีความคาดหวังอื่นอีกที่เรายังไม่ได้ยกมา จากความจริงที่พี่ถ่ายทอดไปก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทั้งพี่และเพื่อนพี่เจอเองกับตัว จริง ๆ แล้วอาจจะมีคนที่เคยเจอในแบบอื่นมาบ้าง และในสิ่งที่น้องจะเจออาจจะแตกต่างจากที่พี่บอกเล่า เมื่อน้องเข้ามาในมหาลัยฯน้องก็จะได้รู้เองว่าชีวิตมันเป็นแบบที่น้องคาดหวังไว้มั้ย การตั้งความหวังนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะมันคือการตั้งเป้าหมายในชีวิตแบบหนึ่ง น้อง ๆ เมื่อได้เข้ามาในมหาลัยฯแล้วก็ขอให้ลองทำตามสิ่งที่หวังไว้ว่าจะทำดูนะ จะได้รู้ว่ามันเป็นแบบที่เราคิดไว้มั้ย และเก็บมันไว้เป็นความทรงจำดี ๆ อีกหนึ่งอัน

 

เรื่อง : ธนารีย์ รัตนฉายา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us