Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
นักพากย์เกม Shoutcaster Game Online

  Favorite

คนทั่วไปอย่างเราคุ้นเคยกับคำว่า Casting Game แต่หากเป็นผู้เล่นเกมจริง ๆ ก็จะคุ้นกับ Shoutcaster Game ด้วย นั่นคือนักพากย์เกม ซึ่งกำลังเป็นที่อินเทรนด์ของวงการเกมเลยก็ว่าได้ เบลล์-ชาตรี โรจน์กานต์วงศ์ นักพากย์ Shoutcaster Game Online จะมาแชร์ประสบการณ์การพากย์เกมให้ฟังกัน

 

ภาพ : เจ้าชายเย็นชา


Casting Game กับ Shoutcaster ต่างกันอย่างไร

Casting Game จะเป็นการทำ Content ลง Youtube เสียมากกว่า จุดเด่นของกลุ่มนี้คือการเล่นเกมไปด้วยคุยไปด้วย ส่วนผมคือ Shoutcaster หรือเป็นคนพากย์เกมจริง ๆ ซึ่งรายได้ของเราจะมาจากบริษัทเกมโดยตรง หน้าที่ของเราคือต้องศึกษาเกมที่เราจะไปพากย์ในระดับหนึ่ง อาจไม่ต้องถึง Pro แต่ต้องเป็น Semi Pro เพื่อจะได้เข้าใจความหมายของการเล่น คือเราต้องเล่นเกมนั้นๆ เป็นจริง ๆ ด้วย ข้อต่อมาคือเราต้องมีทักษะในการสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย จะเกรียนไม่เกรียน อยู่ที่สไตล์ ซึ่ง Shoutcaster นั้นจะมี 2 ประเภท ได้แก่ 1. สายบันเทิง (Entertain) จะเรียกกันว่า Mic 1 เน้นความสนุกเป็นหลัก และ 2. สายวิเคราะห์ (Analytic) หรือ Mic 2 โดย ปกติในชณะแข่งขัน Mic 1 จะพากย์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเกมนั้น ๆ จบลง Mic 2 จะทำการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไรจึงทำให้ฝ่ายนี้ชนะ ซึ่งการพากย์ที่ดีต้องรักษาสมดุลย์ของทั้ง Mic 1 และ Mic 2 เรียกว่าสนุกต้องมี สาระต้องมา

 

เริ่มสนใจการพากย์เกมตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้อนไปประมาณ 6 ปีก่อน ผมยังเรียนอยู่ปี 2 ยุคนั้นคนเป็น Shoutcaster มีไม่ถึง 7 คนได้ ก่อนหน้านี้ผมรู้จักเพื่อนคนหนึ่งทาง Game online ชื่อว่า Sunwaltz เขาเป็นนักพากย์เกม Dota 2 ซึ่งตอนนั้นมีการแข่งขันระดับโลกจัดที่อเมริกา Sunwaltz ต้องพากย์คนเดียวตั้งแต่ ตี 1 ถึง 10 โมงเช้า พอผ่านงานนั้นมา Sunwaltz ก็คิดว่าพากย์คนเดียวไม่เวิร์ค เลยชวนผมมาพากย์ด้วย แรก ๆ ก็ลองเล่น ๆ ยุดนั้น LIVE ผ่าน Alive (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น MyLive) เริ่ม LIVE ครั้งแรกคนดูแค่หลักร้อย ถามว่าเริ่มเอาจริงตอนนั้นไหม ก็ตอบว่ายังไม่ใช่เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่เริ่มจะได้ภาพในงาน Pubstomp เป็นงานที่เอา Game Online Live สด ๆ จาก US ขึ้นจอใหญ่ เหมาโรงหนังเมเจอร์รัชโยธิน 3 วัน 3 คืน ครั้งนั้นเป็นงานใหญ่งานแรกที่ได้ไปพากย์สด ๆ (3 ทุ่ม - 10 โมงเช้า) หลังจากนั้นก็พากย์มาเรื่อย ๆ จนเริ่มมีคนพากย์ Dota หลากหลายทีมเยอะไปหมด เลยหยุดพักไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่ง Sunwaltz ได้พากย์เกม League of Legends ช่วงนั้นบริษัทเปิดรับสมัครนักพากย์พอดี Sun ก็เลยชวนให้ผมลองส่ง Demo ไป และในที่สุดก็ได้กลับมาพากย์เกมอีกครั้ง ประจวบกับช่วงนั้นผมกำลังอินกับเกม League of Legends เล่นเยอะมากไม่ต่ำกว่า 1,000 เกม/season พอมีโอกาสได้พากย์เกมที่ชื่นชอบก็เลยรีบคว้าไว้ ถือว่าเริ่มต้นเอาจริงตอนนั้น เพราะผมได้เป็นนักพากย์ Official ของ League of Legends ตั้งแต่ตอนนั้น รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี

 

ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับอะไร

ตอนนี้เป็น Programmer เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ในทีม Robotic (True Innovation) ไม่เกี่ยวอะไรกับการพากย์เกมเลย (หัวเราะ) แต่สามารถติดตามผมได้ ที่แฟนเพจ www.facebook.com/IamMoonFalling เกมที่เคยพากย์ ส่วนใหญ่จะเป็นเกมแนว Multi Battle Online Arena อย่าง Dota แต่ชอบสุด และเป็นสิ่งที่ถนัดที่สุดคงเป็น League of Legends ถ้าเป็นเกม Arcade ผมเล่น Tekken 7 ชอบใช้ตัว Asuka แต่ส่วนใหญ่ผมจะเป็นนักพากย์ official ของ Garena
 

ภาพ : เจ้าชายเย็นชา


โลกของคนเล่นเกม

ผมรู้สึกว่าโลกมันไป Way นี้ ทุกวันนี้มันไม่เชิงแค่เล่นเกมนะ อย่าง E-Sport มันคล้ายการแข่งฟุตบอลไปทุกทีมีการซื้อตัว player เก่ง ๆ ข้ามสังกัด และตอนนี้ E-Sport ก็ถูกบรรจุเป็นกีฬา Asian Game 2022 อย่างเป็นทางการแล้ว แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วม E-Sport ในต่างประเทศบูมมาก ยกตัวอย่างคนเล่นเกมเก่ง ๆ ในเกาหลี นอกจากได้ค่าตอบแทนมหาศาลแล้ว พวกเขามีสถานะไม่ต่างจากดารา หรือคนมีชื่อเสียงเลย ทุกวันนี้การเล่นเกมกลายเป็น E-Sport ผมว่าในมุมมองของคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นเกม เขาอาจจะยังมองไม่เห็นมูลค่าของการเล่นเกมในลักษณะนี้ ไม่ใช่เพราะเห็นว่ามันไม่ดี แต่เป็นเพราะความไม่คุ้นชินกับ E-Sport มากกว่า ถ้าคนไม่เล่นเกมบางคนก็อาจมองว่าคนเล่นเกมไร้สาระ แต่สำหรับคนเล่นเกมก็คงมองว่า ก็แค่คนเล่นเกม

 

คิดอย่างไรกับคนที่มองว่าเด็กติดเกมเป็นเด็กที่ไม่เอาถ่าน

นิยามคำว่าเด็กติดเกมก่อน ถ้ามองว่าเด็กติดเกมคือเด็กที่เล่นเกมเยอะ ผมก็ถือเป็นเด็กติดเกมนะ เพราะผมเล่นเกมเยอะมาก แต่เรียนไหม ? ผมก็เรียนนะ ผมเองเคยถกกับเพื่อนในประเด็นนี้ ได้ข้อสรุป 2 อย่าง

1. อย่าเอา Pro Player ไปเหมารวมกับเด็กติดเกม นักเล่นเกมอาชีพเขาไม่ได้เล่นเกมกันทั้งวันทั้งคืน เขาจะมีตารางของเขา มีวินัย และจัดสรรเวลาได้

2. ปัญหาเด็กติดเกม ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของร้านเกม ไม่ใช่ของพ่อแม่ ไม่ใช่ของครู แต่เป็นปัญหาของทุกคนทั้งคนในวงการเกม และนอกวงการที่ต้องช่วยกัน อย่างผมเวลาพากย์เกมผมก็จะแทรก ๆ ไปบ้างอ้อม ๆ แต่จะไม่บอกว่า "เอ้ย น้องติดเกมแล้วเลิกเล่นเหอะ" เขาไม่เลิกหรอก เดี๋ยวก็ไปแอบเล่นอยู่ดี เราแค่ต้องทำความเข้าใจ และให้เขารู้จักสำรวจตัวเอง ฝึกจัดสรรเวลาให้เป็น เล่นอย่างไรไม่ให้การเรียนเสีย เป็นต้น
 

ภาพ : Shutterstock


พากย์เกมเป็นอาชีพหลักได้หรือเปล่า

ที่ต่างประเทศได้นะ รุ่งเรืองสุดคงที่อเมริกา แต่ที่ไทยก็พอได้นะ แต่นักพากย์เกมในไทยต้องพากย์หลายเกมหน่อย หรืออาจต้องทำอย่างอื่นนอกจากพากย์เกมด้วย ถ้าหากชอบเกมมาก ๆ มันมีอาชีพเกี่ยวกับเกมที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่ละอาชีพมันก็คนละ Way กันเลย อย่างถ้าอยากเป็น Shoutcaster มืออาชีพตอนนี้ก็เป็นได้แล้ว แต่ถ้าในไทย ก็ต้องทำมากกว่าแค่พากย์เกม, หรือถ้าอยากเป็น Pro Player ณ วินาทีนี้ก็มีความเป็นไปได้ แต่ในต่างประเทศเป็นไปได้แน่นอน Pro Player เกม ไม่ต่างจากนักกีฬาอาชีพเลย เขาจะได้เงินเดือน สวัสดิการ ที่พัก เป็นต้น

 

ประสบการณ์มันส์ ๆ

ช่วงนั้นพากย์ 2 เกมพร้อมกัน คือ Dota 2 กับ league of legends แล้วตัวละครดันมีชื่อ Skill คล้ายกัน เลยพากย์ผิดเพราะจำ Skill ผิดเกม (หัวเราะ) ส่วนเรื่องจะโดนด่าบ้างก็เรื่องธรรมดา ถ้ารักงานนี้แล้วทนการติเตียนไม่ได้ก็คงไม่เหมาะกับเรา เคยมีโดนแรง ๆ มาบ้างเหมือนกัน มีครั้งนึงจำไม่ลืม ปกติผมจะวิเคราะห์ไปตรง ๆ เช่น "เกมนี้ player เล่นไม่ดีเลย" หรือ "ถ้าจะแพ้ทั้งทีมก็เพราะ player นี้" ก็มี comment กลับมาว่าผมไม่ควรวิจารณ์การเล่นของ player แบบนั้น คือคนดูเขารู้อยู่แล้ว เราไม่ควรไปขยี้ซ้ำดูซ้ำเติมกันเกินไป บางคนคิดว่าผมมีอคติ ตั้งใจ discredit ผู้เล่นเกม ผมก็รับไว้แล้วเอามาปรับปรุง หลัง ๆ ถ้า player เล่นไม่ดีก็จะปล่อยให้คนดูตัดสินใจเอง เราจะวิเคราะห์ภาพรวมมากขึ้น

 

สำหรับคนที่สนใจอยากพากย์

เริ่มจากฝึกพูดครับ เล่นไปด้วยแล้วก็พูดไปด้วย และสิ่งที่ผมยืดเป็นหลักในการพากย์ คือ ทำการบ้านก่อน ศึกษาเกมที่เราจะพากย์ให้ดีว่ามีอะไร Update บ้าง ต้องตรงต่อเวลา เนื่องจากเกมที่พากย์จะเป็นการพากย์สด ๆ เราจึงต้องมาก่อนเวลาเสมอ ต้องกลั่นกรองทุกสิ่งที่จะพูดออกไป เพราะเป็นการพากย์สด แบบไม่มี Delay ถ้าหลุดแล้วคือหลุด ทันทีที่เราพูดปุ๊บ เราต้องยอมรับคำพูดเราตั้งแต่วินาทีนั้นเลย ตอนพากย์ใหม่ ๆ โดนวิจารณ์เยอะ แต่พอเวลาผ่านไปคนฟังก็เริ่มชิน เราก็เริ่มทำใจ และตั้งรับ-ปรับตัวได้มากขึ้น
 

ภาพ : Shutterstock


E-sport และ Shoutcaster จะเป็นอย่างไรต่อไป

ผมว่ามีแต่โตกับโตครับ ตอนนี้คนเก่งจริงๆ จะถูกดึงตัวไปต่างประเทศ อย่างน้องที่เคยเล่นเกมข้างๆ ผมคนหนึ่งชื่อ มิกกี้ เขาเก่งมาก ๆ นำทีมไปแข่งแล้วคว้าชัยระดับเอเชีย จนตอนนี้ไปทำงานเป็น Pro Player อยู่ EnVyUS แล้ว ส่วนตัวผมมองว่าการเป็น Pro Player ยากพอ ๆ กับเป็น Pro Golf เลยนะเพราะต้องฝึกฝนมากจริง ๆ และต้องเล่นเป็นทีม อนาคตสังคมเรื่องยอมรับเรื่องเกม เป็นอาชีพ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนักเล่นเกมมืออาชีพในประเทศ เราจะได้ Pro Player เก่ง ๆ อีกมาก

 

ฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่รักการเล่นเกมบ้าง

แบ่งเวลาให้ถูกแล้วกันครับ ถ้าเรารับผิดชอบหน้าที่ของเราได้ดีแล้ว คงไม่มีพ่อแม่คนไหนว่า อย่าง Pro Player 2 คนจากไทยที่ไประดับโลกนั้นเขาก็เรียนเก่งมากด้วยนะครับ ซึ่งการจะเป็น Pro Player จริงในไทยมันยากมาก ๆ ครับ ฉะนั้นอย่างไงเรื่องเรียนควรมาก่อนเสมอครับ

 

เรื่อง : กัมพล (โยชิ)

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us