Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
การเรียน "วิชาเอก วิชาโท" คืออะไร ?

  Favorite

หากพูดถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยอีกหนึ่งหัวข้อที่น้อง ๆ กำลังสงสัย และสับสนกันมาก เรียกได้ว่าทำเอาเราเลือกลงเรียนกันไม่ถูกเลย นั้นก็คือคำถามที่ว่า “วิชาเอกและวิชาโทนี้มันต่างกันยังไง ? แล้วควรเลือกเรียนอะไร” เพราะถ้าเราไม่รู้ความหมายของมันให้แน่ชัดอาจจะส่งผลต่อเกรด ไม่สิ ! อนาคตเลยก็ได้ วันนี้พี่เลยจะมาเล่าเรื่องวิชาเอกและวิชาโท ให้น้อง ๆ ได้อ่านกัน

 

วิชาเอก-วิชาโท คืออะไร

วิชาเอก (Major)

วิชาเอก หรือที่เราเรียกกันว่า Major (อย่าเล่นมุขโรงหนังนะพี่เบื่อ แฮร่ !) วิชาเอกเนี้ยเป็นวิชาที่หนูต้องเรียนเพราะหนูแอดติด สอบติด อยากเรียนวิชานี้ตั้งแต่แรก ก็คือสิ่งที่คณะบังคับให้เรียนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานในอนาคต เช่น น้องโบ๊ท (ใช้ชื่อตัวเองนี้แหละง่ายดี อิอิ) สอบติดด้วยความมุ่งมั่นในแววตาที่อยากเป็นนักการตลาด น้องโบ๊ทเลยเลือกเรียนคณะบริหารธุรกิจ เอกการตลาด (จริง ๆ เอกกับสาขามีความเหมือนกันนะแล้วแต่จะเรียก) ซึ่งวิชาหลัก ๆ ก็จะเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการตลาดเช่น การตลาดเบื้องต้น การตลาดบริการ การวิจัยตลาด การสื่อสารทางการตลาด เป็นต้น พอน้องโบ๊ทจบการศึกษามา ในใบปริญญาบัตรก็จะเขียนว่า คณะบริหารธุรกิจ สาขาหรือวิชาเอก การตลาด นั้นเอง สรุปง่าย ๆ เป็นวิชาที่เราเลือกเรียนตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เราจ่ายตังค์ค่าสอบหรือแอดมิชชั่นนั้นเอง หรือบางคณะจะรับนักศึกษาเข้าไปเรียนรวมก่อน จะได้ให้เลือกสาขาหรือเลือกวิชาเอกตอนปี 2 ก็แล้วแต่คณะกำหนดนะจ๊ะ ไม่งงเนาะเด็ก ๆ

แต่ในบางมหาวิทยาลัยก็ชอบทำให้งงเข้าไปอีกด้วยการแยกวิชาเอกออกมาเป็น “วิชาเอกบังคับ” กับ “วิชาเอกเลือก” ซึ่งมันก็ตามชื่อเลย วิชาเอกบังคับ เป็นวิชาที่หลักสูตรของคณะได้บังคับว่าในสี่ปี (หรือมากกว่านั้นแล้วแต่ความสามารถ อุ๊ปส์ !) น้องต้องลงกี่หน่วยกิตและลงวิชาอะไรบ้าง ? ซึ่งถ้าไม่ลงก็ไม่จบ GET ป่ะ ? แต่วิชาเอกเลือกจะตรงกันข้ามกับวิชาเอกบังคับตรงที่ว่าเราสามารถลงวิชาไหนก็ได้ ที่เขามีให้ลงในเอกนั้น ๆ โดยที่ต้องลงให้ครบหน่วยกิตที่คณะนั้น ๆ บังคับในหลักสูตร (สุดท้ายก็บังคับอยู่ดี)

 

ภาพ : Shutterstock


วิชาโท (Minor)

วิชาโท หรือที่เราเรียกว่า Minor (อันนี้ไม่มีมุขจะเล่น เอ้อ โล่งอก) ในที่นี้ไม่ใช่ปริญญาโทนะ วิชาโทมันเป็นวิชาที่ทางคณะและมหาวิทยาลัยให้น้องเลือกที่จะเรียนเพิ่มอีกด้านหนึ่ง เอาง่าย ๆ เป็นสายอีกสายที่อาจจะเกี่ยวข้องกับอาชีพในอนาคตจองน้องก็ได้ ซึ่งในวิชาโทต่าง ๆ ก็แล้วแต่ว่าทางมหาวิทยาลัยมีด้านใดบ้าง โดยเฉลี่ยแล้ววิชาโทจะจำเป็นต้องเรียนประมาณ 15 - 24 หน่วยกิต ซึ่งแล้วแต่มหาวิทยาลัยจะกำหนดในหลักสูตรนั้นเอง และในบางมหาวิทยาลัยอาจจะเรียกวิชาโทนี้ว่า “แขนง” ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น น้องโบ๊ทเลือกเรียนวิชาเอกเป็นการตลาด และในอนาคตคิดว่าอยากจะทำการตลาดกับต่างประเทศ จึงมีความสนใจทางด้านภาษาอังกฤษ จึงเลือกเรียน “วิชาโทอังกฤษ” ซึ่งในกลุ่มวิชานั้นจะประกอบด้วยวิชา อาทิ โครงสร้างภาษาอังกฤษ วิชาการแปล วิชาอังกฤษเพื่อธุรกิจ อังกฤษเพื่อการสื่อสาร เป็นต้น

 

เคล็ดลับการเลือกเรียนวิชาโท

“เลือกจากความสนใจ”

เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าเราจำเป็นจะต้องอยู่กับมันตั้ง 15 – 24 หน่วยกิต ซึ่งถือว่าเยอะมาก ๆ หากเรามีความสนใจด้านนั้น จะทำให้เราตั้งใจที่จะเรียนและทำมันออกมาดีแน่นอน

“เลือกวิชาที่ง่าย ๆ ”

เพราะหลายคนในช่วงมหาวิทยาลัย วิชาเอกนี้เกรดตกต่ำมากถึงมากที่สุด จึงจำเป็นต้องหาวิชาที่มาดึงเกรดให้ขึ้นเทียบเท่ากับอารยชนนั้นเอง วิชาโทเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยเราได้

“ปรึกษารุ่นพี่”

จะมีรุ่นพี่ไว้ทำไม รุ่นพี่ย่อมเคยเรียนมาก่อนเราเพราะฉะนั้นเขาอาจจะรู้ว่าวิชาไหนยากและวิชาไหนง่าย ? วิชานี้เรียนเกี่ยวกับอะไร ? สายนี้อาจารย์สอนดุไหม ? แค่หารุ่นพี่ที่เรียนวิชาโทที่เราสนใจ แล้วเข้าไปถามเลย

“เลือกเพราะมีประโยชน์กับอาชีพในอนาคต”

อย่างเช่นตัวอย่างของน้องโบ๊ท ที่ในอนาคตเขาอยากทำการตลาดกับต่างประเทศ จึงเลือกเรียนด้านภาษานั้นเอง เพราะวิชาโทสามารถให้ความรู้เราอีกด้านหนึ่งที่เราสนใจ ไม่แปลกที่มันจะสำคัญกับอนาคต
 

ภาพ : Shutterstock


          และนี้คือทั้งหมดของวิชาเอกและวิชาโท คงจะหายงงไปเปาะหนึ่งแล้วใช่ไหม สรุปง่าย ๆ วิชาโทคือวิชาที่เราเลือกเรียนรองลงมาจากวิชาเอกนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเวลาเลือกก็ต้องดูในหลาย ๆ ด้าน เพื่อประโยชน์ของตัวน้อง ๆ เอง วันนี้พี่ต้องขอตัวไปเรียนวิชาโทก่อนนะ เดี่ยวคุยกับอาจารย์ไม่รู้เรื่อง บัยบาย อิอิ 

 

เรื่อง : ศิรศักดิ์ ชัยสิทธิ์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us