Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ความแตกต่างระหว่าง นักเรียน VS นักศึกษา ที่น้องใหม่ควรรู้

  Favorite

          หลายคนอาจจะตื่นเต้นหลังจากที่ได้รู้แล้วว่าตัวเองติดมหาวิทยาลัยที่ไหน อีกทั้งยังกำลังมีข้อสงสัยหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัย และอีกหนึ่งข้อสงสัยที่หลายคนให้ความสนใจและถามพี่เข้ามามากมาย นั้นก็คือ “ชีวิตนักเรียนกับชีวิตนักศึกษาแตกต่างกันมากไหม ?” ขอตอบเลยว่า “แตกต่างกัน” เพราะฉะนั้นน้อง ๆ จึงจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างสบาย ๆ และวันนี้พี่เลยนำ “ความแตกต่างระหว่าง นักเรียน VS นักศึกษา ที่น้องใหม่ควรรู้” มาฝาก เพื่อให้น้อง ๆ ได้เตรียมตัวกัน ไปดูกันเลย

 

ชีวิตในรั้วที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ

นักเรียน

ตื่นตั้งแต่ไก่ยังไม่ทันได้ขัน ตื่นประมาณหกโมง หรือบางคนต้องตื่นตี 4 ตี 5 เลย ถ้าใครทำบุญมาดีบ้านใกล้โรงเรียนก็สบาย ตื่นสักเจ็ดโมง ไปโรงเรียนเข้าแถว เคารพธงชาติ วนลูปไปเลยจันทร์ถึงศุกร์ อยู่ในกฎระเบียบ ผมต้องเป๊ะ โบว์มัดผมต้องถูกสี รด.ไม่เกรียนไม่ได้ เดี่ยวเจอครูสมชายบาร์เบอร์แล้วจะหนาว ผมก็จะแหว่ง ๆ หน่อย เป็นแฟชั่นในวัยเรียน นอกจากนี้ยังมีคุณครูคอยดูแล โรงเรียนเหมือนเรือนจำเข้าแล้วห้ามออก (ฮ่า ๆ ) ต้องรอตามเวลาที่กำหนด แต่พอโรงเรียนเลิกเรียนปุ๊บ มุ่งตรงเลยจ่ะ ลูกชิ้นแผงลอยหน้าโรงเรียน หิวโหยราวกับแร้งลง ต้องรีบไปนะเดี่ยวลูกชิ้นเอ็นไก่ของโปรดจะหมด

นักศึกษา

ตื่นกี่โมงหน่ะหรอ ถ้าอยู่บ้านคงหนึ่งช่วงโมงก่อนเรียน ถ้าอยู่หอก็ครึ่งชั่วโมงพอ ชีวิตแลดูสบาย วันไหนมีเรียนคาบเช้าก็ต้องตื่นเช้า วันไหนมีเรียนแค่คาบบ่ายก็ตื่นบ่าย ถ้าไม่มีเรียนก็ฟรีเดย์นอนได้ทั้งวัน ไม่ต้องมาเคารพธงชาติหน้าเสาธง ชีวิตอิสระ จะเข้าออกมหาวิทยาลัยตอนไหนก็ได้ ไม่มีอาจารย์มาคุมให้อยู่จนถึงเย็น กฎระเบียบไม่ค่อยเยอะ (หรือเราไม่รู้รึเปล่า ต้องศึกษาดี ๆ ) ฟังดูสบายใช่ไหมหละ? แต่เอาเข้าจริง มันเป็นบททดสอบความรับผิดชอบของตัวเอง หากน้อง ๆ ไม่มีความรับผิดชอบมากพอ ชีวิตน้อง ๆ ก็จะใช้ชีวิตไปวัน ๆ เข้าเรียนบ้างไม่เข้าบ้าง (กลายเป็นไม่ตั้งใจเรียน) บางมหาลัยมีคะแนนเช็คชื่อน้องก็จะเสียคะแนนไป เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีใครมาคอยควบคุมน้อง ๆ เพราะฉะนั้น “ต้องดูแลตัวเองดี ๆ ”

 

ชีวิตในห้องเรียน

นักเรียน

หลาย ๆ ที่ในสมัยมัธยมอาจจะเป็นการเรียนในห้องเรียนเดียวตลอดทั้งวัน โดยที่คุณครูจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสอนและให้ความรู้กับนักเรียน เอาเป็นว่านักเรียนเนี่ยนั่งกันตูดแฉะ ไม่ต้องเดินและไม่ต้องเหนื่อย เป็นระบบความรู้แบบ Delivery สุด ๆ ไปเลย ไม่ต้องกลัวสาย นั่งรอลุ้นอย่างเดียวว่าครูจะมาสอนไหม ? (อันนี้พี่ก็เป็นยอมรับมาเถอะ) แต่บางโรงเรียนก็ใช้วิธีให้นักเรียนเดินเรียน ไม่ได้นั่งเรียนประจำอยู่ห้องใดห้องหนึ่ง แต่การเดินเรียนในโรงเรียนมัธยม เชื่อเถอะว่ายังไงมันก็แค่เรื่องชิล ๆ

นักศึกษา

จะให้ไปนั่งเฉย ๆ ก็คงไม่เหมาะกับเด็กวัยรุ่นอย่างพวกเรา เพราะฉะนั้นก็ “ต้องเดินเรียน” ในหนึ่งคณะมีเป็นร้อยเป็นพันห้อง มีหลายตึก ของคู่ใจก็คือแผนที่และตารางเรียน คาบไหน วิชาอะไร เรียนห้องไหนจำเป็นต้องรู้หมด บางทีคาบแรกเรียนชั้น2 คาบถัดไปเรียนชั้น5 แต่เป็นอีกตึก ต้องสวมวิญญาณนักวิ่งโอลิมปิกเหรียญทอง วิ่งเข้าห้องเรียนเพื่อไม่ให้สายเลยทีเดียว (พอปี 4ก็คงชินพอดี) และมหาวิทยาลัยนั้นกว้างใหญ่กว่าโรงเรียนมัธยมเป็นไหน ๆ มหาวิทยาลัยไหนกว้างมาก ๆ ก็ต้องพึ่งพารถรางรถโดยสารของมหาวิทยาลัย รั้วมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนอีกหนึ่งจังหวัดเลยก็ว่าได้
 


ตารางเรียน

นักเรียน

ในชีวิตมัธยมที่แสนสบาย มีตารางเรียนที่คุณครูหรือห้องทะเบียนจัดไว้ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องเข้าเรียน 8 โมงเช้า ถึง5 โมงเย็นทุกวัน ได้เรียนกับเพื่อนในห้องกันทุกวิชา (แบบสนิทตัวแทบติดกัน) ไม่ต้องแย่งชิงกับใคร Slow Life แบบสุด ๆ

นักศึกษา

มันคือสงคราม !! ใครอยากเรียนกับเพื่อน อยากเรียนบ่าย อยากตื่นสาย หรืออยากเรียนเช้าให้จบ ๆ ไป ตอนบ่ายจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องห้ามพลาด “การลงทะเบียนเรียน” ซึ่งจะเปิดให้ลงในเว็บไซต์ห้องทะเบียนของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หนึ่งวิชาทางคณะจะเปิดหลายกลุ่มการเรียนหรือที่เราเรียกว่า “section” ซึ่งเวลาจะแตกต่างกัน และนักศึกษาสามารถเลือกตามความสะดวกได้นั้นเอง แต่ข้อจำกัดมีอยู่ว่า “มันมีที่นั่งจำกัด” เลยต้องแย่งชิงกันอย่างดุเดือด เรียกได้ว่าหากเน็ตสะดุดไปหนึ่งวิ ชีวิตหนูก็จะเปลี่ยนทันที เห็นม่ะชีวิตนักศึกษามันโหดร้ายคะคุณ แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่จัดตารางเรียนให้นักศึกษาเลย ไม่ต้องวุ่นวายลงทะเบียนเอง แต่ก็นั่นแหละ จะได้เรียนเช้าเรียนบ่ายก็ต้องรอลุ้นชะตาชีวิต

 

การสอนของคุณครูและอาจารย์

นักเรียน

สมัยมัธยมเราจะเรียกผู้สอนว่า “คุณครู” โดยที่จะมีการสอนผ่านหนังสือเรียน ตำราเรียน ฝึกให้น้อง ๆ ได้ทำโจทย์บนกระดานดำ เวลาสั่งงาน คุณครูจะคอยตามและคอยเช็คอยู่เสมอ ขาดเรียน ส่งงานไม่ครบ คะแนนไม่ถึง เกรดไม่ดี คุณครูจะคอยตามและดูแลเราทุกอย่าง เรียกได้ว่ามีคนมากระตุ้นให้น้อง ๆ ตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ การเรียนตอนนั้น “หนูรักคุณครูที่สุด”

นักศึกษา

ในระดับอุดมศึกษา เราจะเรียกผู้สอนว่า “อาจารย์” โดยการเรียนการสอนจะเป็นเชิงบรรยาย โดยใช้เอกสารประกอบการเรียน (ซึ่งจะต้องไปที่ร้านถ่ายเอกสารเพื่อซื้อก่อนทุกคาบ) โดย 80 % จะบรรยายผ่าน Powerpoint และอีก 20% อาจจะมีการแสดงวิธีทำผ่านกระดาน (กรณีวิชามีการคำนวณ) ซึ่งสิ่งแรกที่นักศึกษาต้องทำคือ ตั้งสติและจดให้ทัน ส่วนเวลาสั่งงาน อาจารย์นิยมสั่งรวดเดียวและมีเส้นตายไว้ให้ทุกชิ้นงาน ไม่มีใครจะตามให้เข้าเรียน ไม่มีใครมาคอยเตือนให้ส่งงาน (อาจจะเพื่อน ๆ ที่คอยหวังดี) อยู่ที่น้อง ๆ จะกระตือรือร้นทำมากน้อยแค่ไหน ใครโชคดีอาจจะเจออาจารย์ที่คอยเตือนตลอด แต่ก็ถือว่าน้อย เพราะตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว “ต้องรับผิดชอบตัวเอง” (อาจารย์เขาบอกพี่ยังงี้)
 

ภาพ : Shutterstock


การสอบและเกรด

นักเรียน

การสอบของมัธยมอาจจะมีข้อเขียนบ้าง ข้อกาบ้าง ซึ่งต้องอาศัยการอ่านอย่างหนัก เพื่อนำความรู้มาตอบในการสอบ และเกรดจะออกมาเป็นตัวเลข หากสอบตก ในหลาย ๆ ที่คุณครูก็จะเรียกน้อง ๆ มาแก้ตอนปิดเทอมบ้าง หรือไม่ก็อาจจะให้ทำงานมาส่งเพื่อจะได้เกรดที่ดีขึ้น ชีวิตตอนนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะไม่จบมัธยมพร้อมเพื่อน อารมณ์แบบฉันมองเห็นวันปัจฉิมที่ฉันถ่ายรูปพร้อมเพื่อน ๆ ได้ตลอดเวลา (โลกสวยสุด ๆ ไปเลยจ่ะ)

นักศึกษา

สอบไปเลย สอบอีก ๆ สอบย่อย มิดเทอม ไฟนอล ยาวไป ๆ (ทำเสียงเหมือนจือปาก) คะแนนสอบส่วนใหญ่คิดเป็น 80% และคะแนนเก็บ 20% โอ้โหสอบไม่ได้คือจบนะจ๊ะ และอีกอย่างข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปลายเปิดเน้นการวิเคราะห์ จบมานอกจากทำงานตามสายแล้ว ยังสามารถเป็นนักวิเคราะห์ได้อีกด้วยนะ (อันนี้ประชด) และถ้าเกิดน้อง ๆ “ดันตกหรือ F” ไปจ่ะ เตรียมลงทะเบียนเรียนใหม่ได้เลยจ้า เสียเงินค่าลงทะเบียนใหม่ด้วยนะ ไม่มีซ่อมใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นตั้งใจเรียน ตั้งใจสอบกันหน่อย ! ส่วนเกรดจะเป็นตัวอักษรเมื่อเทียบกับตัวเลขได้ดังนี้
 

เกรดมัธยม เกรดมหาวิทยาลัย
4 A
3.5 B+
3 B
2.5 C+
2 C
1.5 D+
1 D
0 F

 

ชีวิตเด็กบ้านกับชีวิตเด็กหอ

นักเรียน

น้อง ๆ จะได้อยู่บ้านกับคุณพ่อและคุณแม่ มีคนทำอาหารให้กินได้เจอคุณพ่อคุณแม่ทุกวัน ซึ่งเป็นโมเม้นที่มีความสุขแน่ ๆ ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเพราะเราเคยชินกับเพื่อนบ้านรอบข้างที่น่ารัก (หรือเปล่า) อยากทำอะไรก็ทำ เพราะนี้คือบ้านของฉัน

นักศึกษา

หากน้อง ๆ ต้องมาเรียนในมหาวิทยาลัยที่อยู่ไกลบ้าน จึงจำเป็นจะต้องสิง เอ้ย! อยู่หอนั้นเอง ซึ่งน้องจะต้องปรับตัวหลาย ๆ อย่าง เช่น การอยู่ในสังคมกับห้องข้าง ๆ หรือรอบ ๆ การปรับตัวเข้าหารูมเมท (ในกรณีที่มีรูมเมท) เพื่อให้อยู่ได้อย่างสบายใจที่สุด เป็นต้น นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ “เงิน” เราจะต้องบริหารให้ตัวเองมีชีวิตรอด ซึ่งช่วงปลายเดือนน้อง ๆ จะไปเซเว่นแล้วสงสัยว่า “เซเว่นข้างมอ ทำไมมาม่าหมด ?” ไม่ต้องสงสัย มันเป็นช่วง “เทศกาลมาม่าของเด็กหอนั้นเอง” เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้ในการปรับตัวและเอาตัวรอดให้ได้

          และนี้คือทั้งหมดของความแตกต่างของนักเรียนและนักศึกษาที่น้องใหม่ควรรู้ เพราะว่าความแตกต่างอาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของน้อง ๆ เพราะฉะนั้นเรียนรู้ที่จะปรับตัว แล้วชีวิตในช่วงมหาวิยาลัยของน้อง ๆ จะเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย น้อง ๆ ก็สามารถเข้ามาปรึกษาพวกพี่ ๆ ได้ ในแฟนเพจหรือเว็บบอร์ดนะจ๊ะ สุดท้ายนี้ขอให้น้องทุกคน มีความสุขในมหาวิทยาลัยที่จตัวเองเลือกนะครับ

 

เรื่อง : ศิรศักดิ์ ชัยสิทธิ์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us