Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เรียนจบเภสัช ทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด !

  Favorite

          เชื่อว่าหลายคน พอนึกถึงคณะเภสัชศาสตร์แล้ว คงคิดว่า คนที่เรียนคณะนี้ จบมาก็คงทำอาชีพเภสัชกรในโรงพยาบาล ที่ทำหน้าที่จัดยา จ่ายยา และแนะนำการใช้ยาให้กับเรา หรือไม่ก็เป็นเภสัชกรที่อยู่ตามร้านยา เวลาเราไปซื้อยา เภสัชกรก็จะซักประวัติ ถามอาการเจ็บป่วย และพิจารณาเลือกยาให้เรา เภสัชกรจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนเรียนคณะนี้สามารถจะทำได้เท่านั้น แต่ยังมีบทบาท หน้าที่ และตำแหน่งงานอีกมากมายของคนเรียนคณะเภสัชศาสตร์ที่คนทั่วไปยังไม่รู้

          สิ่งที่คนทั่วไปรู้มานั้นเป็นเพียงส่วนน้อยของบทบาท หน้าที่ และตำแหน่งงานของเภสัชกรเท่านั้น อาจเป็นเพราะว่าหน้าที่จัด/จ่าย/แนะนำยา หรือซักประวัติผู้ป่วยตามโรงพยาบาลหรือร้านยา คนทั่วไปสามารถเห็น และรับบริการได้โดยตรง จึงคิดว่าหน้าที่ของเภสัชกรอื่น ๆ คงมีเพียงเท่านี้ ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น หน้าที่ของเภสัชกรยังมีอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่คนทั่วไปไม่เห็น และพี่เองก็เคยเป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้นเหมือนคนทั่วไป แม้พี่จะเข้าไปเรียนในคณะนี้แล้วก็ตาม ตอนพี่อยู่ปี 1 พี่เห็นรุ่นพี่ปี 6 ที่กำลังจะเรียนจบ โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊ค ประมาณว่า “จบมาไม่รู้จะเลือกงานเภสัชกรอะไรดี เพราะมันมีให้เลือกมากมายและหลากหลายเหลือเกิน” พี่ซึ่งอยู่ปี 1 ในขณะนั้น อ่านสเตตัสนี้ แล้วไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า หน้าที่มันมีให้เลือกมากมายและหลากหลายยังไง และความคิดนี้ก็อยู่กับพี่จนกระทั่งปี 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะต้องเลือกภาควิชาและสาขาของคณะ เหมือนได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง และก็เข้าใจความรู้สึกของรุ่นพี่คนนั้นที่โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊คอย่างแจ่มแจ้งเลย พี่จึงอยากมาเล่าประสบการณ์ของตนเองให้น้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจเลือกคณะที่จะเรียนต่อได้รับรู้ ถ้าน้องรู้ว่าคนที่เรียนคณะนี้สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เคยรู้ ก็คงจะดี เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกคณะต่อไปได้อย่างแม่นยำ

          เอาล่ะ เกริ่นมาเยอะแล้ว สิ่งที่พี่จะเล่าในบทความนี้ ต้องออกตัวก่อนว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทเภสัชกรอยู่ดี เพราะถ้าหากบอกทั้งหมดอย่างละเอียดนั้น ก็คงจะต้องเขียนหนังสือเป็นเล่ม ๆ เลย แต่พี่ก็จะพยายามเล่าตัวอย่างให้มาก ๆ แล้วกัน เริ่มจากยา 1 เม็ดที่น้องรับประทาน สมมุติว่าเป็นยาพาราเซตามอลก็ได้ น้องน่าจะรู้จักกันดี มันคือยาแก้ปวด ลดไข้นั่นเอง เภสัชกรที่มีส่วนเกี่ยวกับการจัดการกับยานี้ คนทั่วไปก็คงจะตอบว่า หน้าที่คือจ่ายยา แนะนำผู้ป่วย นั่นคือ เภสัชกรโรงพยาบาล หรือ เภสัชกรร้านยาครับ แต่คงมีคนไม่มากที่จะบอกว่า คนผลิตยาก็คือเภสัชกร นั่นคือ เภสัชกรโรงงานการผลิต และก่อนที่จะผลิตนั้น มีการวิจัยมากมาย วิเคราะห์สูตรโครงสร้างโมเลกุล สังเคราะห์สารเคมี ทดลองสารเคมีกับสัตว์ทดลองก่อนที่จะมาใช้ในมนุษย์ และยังมีขั้นตอนอีกมากมายนับไม่ถ้วน นี่คือ เภสัชสายวิจัย มากเกินกว่าที่เราจะนึกถึงได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งหน้าที่ทุกขั้นตอนที่เกี่ยวกับนั้น เภสัชกรมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เห็นหรือไม่ว่าบทบาทเภสัชกรมีมากมาย และเมื่อยาผลิตเสร็จแล้ว ก่อนที่จะนำมาให้ผู้ป่วยทานนั้น ก็ต้องมีเภสัชกรฝ่ายควบคุมคุณภาพ มาตรวจก่อนเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค ถ้าพูดให้เห็นภาพคือ เวลาน้องทานยาพาราเซตามอล 500 มก. น้องจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทานเข้าไปมีตัวยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก. อยู่จริง ๆ ดังนั้นเภสัชกรฝ่ายวิเคราะห์ จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง แม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบด้านปริมาณ หรือคุณภาพ ก็ล้วนแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ก่อนส่งผ่านยาถึงมือประชาชน
 

ภาพ : Shutterstock


          ในปัจจุบันมีโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย ยาที่ใช้บางโรคก็ต้องถูกวิจัยขึ้นมาใหม่เพื่อให้ทันโรคที่เกิดขึ้น เภสัชกรวิจัยจึงมีบทบาทที่สำคัญมาก ซึ่งก็สามารถแบ่งได้อีกหลายแขนง เช่น หากยาที่วิจัยมีสารตั้งต้นมาจากพืช สมุนไพร เภสัชกรวิจัยที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเชี่ยวชาญด้าน เภสัชพฤกษาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นยาที่มีผลิตได้จากจุลินทรีย์ เภสัชกรวิจัยที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา ชีวเคมี ไบโอเทคโนโยลี ฯลฯ และนอกเหนือจากยารักษาโรคแล้ว ใครจะรู้ว่า เภสัชกรก็มีบทบาทหน้าที่ในการวิจัยและผลิต ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเสริมความงามและบำรุงต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีผลต่อร่างกาย ก่อนนำถึงมือผู้บริโภคนั้น ต้องผ่านการวิจัย บางอย่างต้องมีการทดลองกับสัตว์ทดลอง มีการตรวจคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

          ในส่วนเภสัชกรที่ทำงานในโรงพยาบาลนั้น นอกเหนือจากการจ่ายยา แนะนำผู้ป่วย ยังมีเภสัชกรที่ทำหน้าที่อื่นอีกด้วย เช่น เภสัชกรปรุงยา ที่จะทำหน้าที่ปรุงยาให้ผู้ป่วยที่มีความต้องการยาในขนาดยาหรือรูปแบบยาที่พิเศษที่โรงพยาบาลไม่มี เภสัชกรที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับยาในกระแสเลือดของคนไข้ ซึ่งต้องเชี่ยวชาญด้านเภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพลศาสตร์ เภสัชกรสารสนเทศ ซึ่งทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาต่าง ๆ กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาล เช่น เมื่อแพทย์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับยา A ว่าใช้ร่วมกับยา B ได้หรือไม่ รับประทานแล้วจะมีอันตรายหรือไม่ ยาตีกันหรือไม่ หรือ ถ้าใช้ยา C ในทารกหรือเด็ก จะต้องมีการปรับขนาดยาอย่างไร เป็นต้น เภสัชกรสารสนเทศจะทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้กิจกรรมของโรงพยาบาลดำเนินต่อไปได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญและทำงานพลาดไม่ได้ ลองคิดดูว่า หากให้ข้อมูลขนาดยาที่ใช้ในทารกผิด อาจส่งผลถึงชีวิตและผลการรักษาของทารกได้ และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่เภสัชกรในโรงพยาบาลเท่านั้น
 

ภาพ : Shutterstock

 

ภาพ : Shutterstock


          การคัดสรร เลือกยา หรือถอนยา เพื่อนำเข้าหรือนำออกมาใช้ในโรงพยาบาลหนึ่ง ๆ จะต้องผ่าน คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutic Committee, PTC) คณะกรรมการชุดนี้มีเภสัชกรเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยดูจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างเช่น งบประมาณของโรงพยาบาล เป้าหมาย นโยบาย ประสิทธิภาพของยา ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ของยา คุณภาพยา รวมถึงพิจารณายาที่ผลิตต่างบริษัทกัน แต่อาจมีคุณภาพดีกว่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ทีมเภสัชกรและแพทย์ ร่วมกันสรุปผลการประชุม เพื่อเป็นนโยบายเรื่องยาในโรงพยาบาลต่อไป

          นอกจากนี้ เภสัชกรยังมีบทบาทกับการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย ขอเรียกเภสัชจำพวกนี้ ว่า เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค แล้วกัน ซึ่งส่วนมากนั้นจะทำงานในหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่เรารู้จักกันดี หรือถ้าเป็นต่างจังหวัด ก็อาจจะทำงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สสจ. ซึ่งหน้าที่หลัก ๆ ก็คือ การให้/ไม่ให้ใบอนุญาต การตั้งโรงงานผลิตอาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดชนิดต่าง ๆ เป็นต้น รวมไปถึงการให้/ไม่ให้ใบอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้างต้นด้วยเช่นกัน และยังมีหน้าที่อีกมากมายในส่วนงานนี้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างหน้าที่หนึ่ง ในการคุ้มครองผู้บริโภค ก็คือ การให้อนุญาตการผลิตหรือนำเข้าอาหารใหม่ (Novel Food) ซึ่งก็คืออาหารที่ไม่เคยมีประวัติการรับประเทศมาก่อนในประเทศ หรือมีประวัติไม่ครบ 15 ปี เช่น ปกติคนเราจะกินน้ำมันปลา เพื่อที่จะได้สาร DHA ต่อมา เกิดมีการวิจัยที่บอกว่า เรากินสาหร่าย Schizochytrium ก็สามารถได้สาร DHA เหมือนกัน เราถือว่าสร่ายนั้นเป็นอาหารใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประวัติการกินมาก่อนในประเทศ ดังนั้นต้องผ่านการพิจารณา รับรอง จากทีมเภสัชกรและนักวิชาการอาหารก่อน ต้องมีการพิสูจน์ว่ามี DHA จริง แตกต่างจาก DHA จากปลายังไง เป็นอันตรายหรือไม่ ต้องทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง รวมถึงการเก็บข้อมูลทางคลินิกในมนุษย์ และอีกมากมาย เราเรียกเภสัชกรที่ทำหน้าที่นี้ว่า เภสัชกรฝ่ายกำหนดมาตรฐาน ซึ่งจะทำงานร่วมกับนักวิชาการอาหารต่อไป


          การให้อนุญาตว่าด้วยเรื่องการใช้คำกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) บนฉลากในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น “มีแคลเซียมสูง” “มีโปรตีน 2000 มก.” “มีวิตามินดี” “ไม่มีคลอเรสเตอรอล” หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่เราเห็นในท้องตลาด สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของเภสัชกรฝ่ายกำหนดมาตรฐานและนักวิชาการอาหารร่วมกัน คือไม่ใช่ผู้ผลิตคนใดจะใส่คำอ้างอะไรไปก็ใส่ได้ ถ้าน้อง ๆ เห็นคำกล่าวอ้าง บอกประโยชน์ของสินค้าทางสุขภาพแบบแปลก ๆ พิรุธ เช่น กินลดความอ้วน ทำให้ผิวขาวใส ก็เดาได้เลยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านการประเมิน และไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าผิดกฎหมาย น้อง ๆ จะเห็นว่า งานบ้างอย่างอาจจะดูเหมือนไม่ใช่หน้าที่เภสัชกรด้วยซ้ำ แต่มันกลับใช่ คืองานเภสัชกรมีหน้าที่หลากหลายจริง ๆ

          มาถึงตรงนี้แล้ว น้อง ๆ หลายคน คงได้รับรู้ในมุมมองที่แตกต่างของบทบาทเภสัชกรมากขึ้นมาบ้าง แต่ต้องย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่พี่เล่านั้น เป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็ก ๆ เท่านั้น จุดประสงค์ของการมาเล่าประสบการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่การบอกบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรทั้งหมด แต่เป็นการเปิดมุมมองของน้อง ๆ ขึ้นมาใหม่ และให้เข้าใจว่า ยังมีอะไรอีกมากมายในโลกนี้ที่เรายังไม่รู้ และอย่าตัดสินใจอะไร หากไม่รู้จริงและไม่ได้ศึกษาให้ดีก่อน พี่หวังว่า น้องคงจะมีข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกคณะมากขึ้น หากน้องมีข้อสงสัยอื่น ๆ ทั้งเกี่ยวกับบทความนี้ หรือจะไม่เกี่ยวก็ตาม น้องสามารถโพสในเว็บบอร์ดได้เลยครับ

 

เรื่อง : พี่บอส วรุตม์ เก่งกิตติภัทร

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us