Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] สาขาสู่อาชีพครูแนะแนว จิตวิทยาการปรึกษา และการแนะแนว จุฬาลงกรณ์

  Favorite
วิชาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ จุฬาลงกรณ์

"ครูแนะแนว" รู้หรือไม่ว่ามีเปิดสอนโดยตรง เพื่อผลิตบัณฑิตก้าวเข้าสู่วิชาชีพครูแนะแนวโดยตรง แล้วต้องเรียนอะไรบ้าง ยากกว่าครูทั่วไปไหม มาเปิดหลักสูตรไปกับรุ่นพี่ปี 5 ชะเอม-ณัฏฐิยา บุญสวน วิชาเอกจิตวิทยาการปรึกษา และการแนะแนว สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความฝันอยากจะเป็นครูแนะแนว

 

แรงบันดาลใจ

ตอนมัธยมชื่นชอบครูแนะแนวท่านหนึ่ง รู้สึกว่าท่านแตกต่างจากครูวิชาอื่น ไม่ได้ให้แค่เนื้อหาวิชาอย่างเดียว ท่านยังมีหลาย ๆ อย่างที่จะทำให้เราอยากเข้าไปหา มีบุคลิกบางอย่างที่ดึงดูดเด็ก ช่วยในการศึกษาต่อ ที่ได้มาเรียนที่นี่ก็เพราะคุณครูคนนี้ ตอนแรกคิดว่าการเรียนครุศาสตร์มันไม่ยาก แต่พอจริง ๆ แล้วก็ยากเหมือนกัน แรก ๆ ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะจบไปเป็นครู แต่พอเรียนมาเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็มั่นใจแน่นอนว่าจบไปจะเป็นครูแนะแนวค่ะ
 

เรียนเพื่อเป็นครู

คณะครุศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับการเป็นครู การถ่ายทอดวิชาความรู้สู่เด็ก ๆ ตั้งแต่เด็กปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงการบริหารการศึกษา ส่วนสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ ก็จะเรียนเกี่ยวกับการแนะแนวการศึกษาต่อ ตั้งแต่เด็กประถมฯ จนถึงเด็กมัธยมฯ ที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และศึกษาเรื่องจิตวิทยาที่จะใช้กับนักเรียน เพราะการสอนจะเก่งแค่เนื้อหาวิชาอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเรียนรู้จิตวิทยาที่เราจะอยู่กับเด็กด้วย มันสำคัญมากสำหรับครู โดยเฉพาะครูแนะแนว
 

 


สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ

แบ่งออกเป็น 2 เอก คือ เอกจิตวิทยาการปรึกษา และแนะแนว เรียนเกี่ยวกับวิชาที่จำเป็นทั้งหมดที่จะไปเป็นครูแนะแนว มีเรียนวิชาจิตวิทยาการสอน จิตวิทยาการพัฒนาผู้เรียน จิตวิทยาการจูงใจ การให้บริการแนะแนว การจัดกิจกรรม จัดโปรแกรมการแนะแนว หลักการแนะแนว และการให้คำปรึกษา และเอกการศึกษาพิเศษ ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทต่าง ๆ จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่ว ๆ สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ วิธีการให้ความช่วยเหลือ วิธีการจัดการศึกษา
 

5 ปีของนิสิตครุศาสตร์

เราเรียนแบบเอกคู่ คือเรียนเอกจิตวิทยาการปรึกษา และแนะแนว จับคู่กับเอกวิชาการพื้นฐานหลัก ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฉะนั้นเป็นครูประจำวิชาก็ได้ เป็นครูแนะแนวก็ได้ ปี 1 จะเป็นวิชาชีพครูที่จำเป็นทั้งหมด สถิติ วิจัย การประเมินผลผู้เรียน วิชาพื้นฐาน วิทย์ คณิต อังกฤษ ไทย สังคม และเราสามารถไปลงเรียนวิชาต่างคณะได้ ปี 2 จะเริ่มเรียนในคณะมากขึ้น เทคนิคการให้คำปรึกษา การทำหลักสูตรแนะแนว ปี 3 วิชาจะเจาะลึกมากขึ้น จิตวิทยาการสอน ปี 4 เตรียมนิสิตเพื่อออกไปฝึกสอน ปี 5 ฝึกสอนจริง โดยจะฝึก 2 เทอม เทอมละ 1 โรงเรียนค่ะ
 


ครูแนะแนว

ครูแนะแนวที่ดีคือครูที่เอาใจใส่ หน้าที่ของการแนะแนว คือต้องรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล รู้จักนักเรียนให้ได้มากที่สุด ทำให้นักเรียนได้รู้จักความสามารถของตัวเอง ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์กับนักเรียน เช่น จบ ม. 6 เรียนต่อที่ไหนได้บ้าง แต่ละคณะประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ต้องสอบอะไร สมัครยังไง ช่วยผลักดันนักเรียนให้ได้เข้ามหาวิทยาลัย ได้เรียนในสิ่งที่เหมาะกับตัวเขามากที่สุด และติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน โรงเรียนที่มีครูแนะแนวที่ดีถือว่านักเรียนโรงเรียนนั้นโชคดี
 

คุณสมบัติของครูแนะแนว

ต้องใจรักที่จะเป็นครู งานแนะแนวเป็นงานบริการ การช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้อื่น ฉะนั้นควรเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะนักเรียนแต่ละคนก็จะมีปัญหาแตกต่างกันไป ถ้าเราตัดสินคน ๆ หนี่งไป ด้วยการที่เรามองเขาอย่างเดียว หรือคุยแค่ประโยคสองประโยค มันก็จะเหมือนเราเป็นคนที่ไม่เปิดใจ อย่างเช่น เห็นนักเรียนหลับในห้อง ครูบางคนอาจจะดุและลงโทษเลย โดยที่ไม่ได้ลองไปหาสาเหตุว่าทำไมนักเรียนของเขาถึงหลับ เขาอาจจะไปช่วยพ่อแม่ทำงานมาตอนดึก ๆ หรือเขาอาจจะมีเรื่องอื่นที่ต้องทำ ซึ่งคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของคนที่จะเป็นครูแนะแนว คือต้องพยายามช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่มีปัญหาก่อนที่จะตัดสิน
 


แนะนำน้อง ๆ

อยากให้ค้นหาตัวเองให้เจอ และถ้ารู้ตัวว่าอยากเป็นครูก็ลุยเลย วางแผนการอ่านหนังสือให้ดี เทคนิคการสอบของชะเอมก็คืออ่านล่วงหน้า 3–4 เดือน แต่จริง ๆ เราก็ควรจะเตรียมมาให้นานกว่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆ ทำย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี เพราะว่ายังไงข้อสอบก็จะวน ๆ อยู่อย่างนั้น การที่เราได้เห็นข้อสอบที่หลากหลายจะทำให้เราคุ้นชิน พอไปทำข้อสอบจริง ๆ ก็จะไม่ตื่นเต้น ไม่ตกใจ และทำได้ดีค่ะ
 

ตลาดงาน

แน่นอนที่สุดก็คือเป็นครู เอกจิตวิทยาการปรึกษา และแนะแนว ก็ไปเป็นครูแนะแนว หรือไปทำงานในสถาบันที่ต้องการส่งนักเรียนไปศึกษาต่อ หรือว่าเป็นสถาบันที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษาต่อต่างประเทศ หรือว่าการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เอกการศึกษาพิเศษ เป็นครูการศึกษาพิเศษ หรือบุคลากรด้านการศึกษาพิเศษในโรงพยาบาล อาชีพครู ยังเป็นที่ต้องการของสังคม การสมัครครูผู้ช่วยก็เปิดรับสมัครเยอะทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มเห็นความสำคัญของงานแนะแนวมากขึ้น หรือถ้าไม่เป็นครู ก็สามารถไปทำงานที่ต้องการคนที่มีคุณสมบัติด้านการดูแลบุคคล เช่น ฝ่ายบุคคล ฝ่ายพัฒนาและฝึกอบรม การแนะแนวทางการศึกษา เป็นต้น
 


ข้อมูลการสอบเข้า

คณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.edu.chula.ac.th

รับตรง
- รับตรง (แบบพิเศษ)
- รับตรง (แบบปกติ)
- โครงการจุฬาฯ-ชนบท
- โครงการผู้มีความสามารถดีเด่นระดับชาติทางกีฬา
- โครงการผู้มีความสามารถพิเศษระดับชาติทางศิลปะ

Admissions
GPAX 20%, O-NET 30%
+ รูปแบบที่ 1 GAT 20%, PAT 5 30%
+ รูปแบบที่ 2 GAT 10%, PAT 5 20%, PAT 1 หรือ PAT 7 20%

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us