เศรษฐศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับอะไร... ถึงแม้เราจะคุ้นเคยกับวิชานี้มานาน แต่ยังเกิดคำถามว่าเขาเรียนอะไรกัน ตัวเลข ? เศรษฐกิจ ? การเงิน ? จบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง อย่ามัวแต่คาดเดา เราไปทำความรู้จักสาขาวิชานี้อย่างเจาะลึกกันเลย จากปากรุ่นพี่ "กล้า ณัฐวิทย์ สุขอุดม" นักศึกษาชั้นปี 4 คณะเศษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ค้นพบตัวเองและใช้ชีวิตรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข
ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ หน่วยเศรษฐกิจในสังคม จะมองตั้งแต่ครัวเรือน ธุรกิจหรือบริษัท และระดับประเทศ ภาพรวมของตลาดการค้าต่าง ๆ ทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขาย มีพฤติกรรมอย่างไร ตลอดจนพฤติกรรมระดับใหญ่ ที่เราเรียกว่า เศรษฐกิจมหาภาค การเงิน การผลิต มีความสัมพันธ์กันอย่างไร วิเคราะห์นโยบาย หาเหตุผล และคิดแนวทางการแก้ไขปัญหา
ในแง่ของบริษัท เราต้องวิเคราะห์วิจัยในเรื่องของสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท ว่าเป็นอย่างไร เรานำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เข้าไปช่วยในการศึกษาพฤติกรรม ในแง่ของประเทศ ถ้าเราพูดถึงนโยบายต่าง ๆ ด้านการเงิน การคลัง เรานำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อไปช่วยในการตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย การดำเนินนโยบายแต่ละอย่างมันจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง เราต้องวิเคราะห์ ในทุก ๆ เศรษฐกิจ มันจะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น ฉะนั้นเราก็ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์มาหาวิธีคิดแก้ปัญหา
พ่อกับแม่ของผมจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกัน พวกท่านก็สนับสนุนให้เรียนที่นี่ เรียนอะไรก็ได้ที่ผมชอบ ผมชอบวิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ และชอบการคิดวิเคราะห์ เศรษฐศาสตร์เป็นการฝึกให้คิดวิเคราะห์ ใช้ตัวเลขเยอะพอสมควร ผมเลยคิดว่าคณะที่ใช่สำหรับผมคือเศรษฐศาสตร์นี่แหละ อนาคตผมอยากทำงานกับบริษัทดัง ๆ อย่างเช่น โตโยต้า การที่ผมได้ทำงานกับบริษัทที่มีความก้าวหน้าสูง จะทำให้ผมมีโอกาสเจริญเติบโตในหน้าที่การงานมากกว่า ถ้าตรงสายที่สุดคงเป็นไฟแนนซ์
การเรียนมีทั้งการบรรยาย การอภิปรายในห้อง การทำรายการ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ปี 1 เรียนวิชาพื้นฐาน คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย อะไรพวกนี้ เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ปี 2 เราจะได้เรียนวิชาของคณะเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์มหาภาค การนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน และยังสามารถเลือกวิชานอกคณะได้ด้วย เช่น สนใจการเงิน ก็เลือกเรียนการเงินของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรืออยากเป็นนักข่าวเศรษฐกิจ ก็เลือกลงวิชาของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้ ขึ้นปี 3 จะได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ลึกขึ้น มีความยากขึ้น เศรษฐศาสตร์มีหลากหลายหมวด เช่น หมวดการเงิน หมวดทรัพยากรมนุษย์ หมวดสินค้าเกษตร หมวดนโยบาย หมวดการพัฒนา สนใจเศรษฐศาสตร์ด้านไหน ก็ลงเรียนเฉพาะด้านนั้น ๆ และปี 4 เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เฉพาะหมวด และทำ Thesis
ผมแฮปปี้นะ ได้เรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ เรียนที่นี่ก็มีเพื่อน พี่น้อง และอาจารย์ที่ดี เราดูแลกันเปรียบเสมือนครอบครัว มีเพื่อนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก็ใช้ระบบซีเนียร์ พี่ ๆ ก็จะดูแลน้อง ๆ ทุกอย่าง ตั้งแต่การเรียนและชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย คณะเศษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค่อนข้างมีชื่อเสียงอยู่พอควร พ่อแม่ผมก็ภูมิใจที่เราเรียนที่นี่ และที่นี่ยังเป็นคณะเศรษฐศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย มีคณะอาจารย์ที่มีประสบการณ์ รุ่นพี่ ๆ ที่จบไปก็ทำงานค่อนข้างตรงสายกันเยอะ
ตลาดงานค่อนข้างกว้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถทำงานธนาคารได้ บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทธุรกิจต่าง ๆ เพราะทุกบริษัทต่างก็ต้องการนักวิเคราะห์ นักวางแผน เพื่อคาดการสถานการณ์เศรษฐกิจ วิจัยนโยบายต่าง ๆ หรือทำงานฝ่ายการเงิน ฝ่ายการลงทุน ดูแลทรัพยากร ประกันภัย และสามารถนำความรู้ไปวางแผนดำเนินการประกอบกิจการส่วนตัวได้
อยากให้น้อง ๆ ค้นหาตัวเองหาให้เจอ อยากเรียนคณะอะไร อาจจะเริ่มจากสังเกตตัวเอง ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง ถ้าชอบตัวเลข ชอบการคิดวิเคราะห์ ชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ก็แนะนำคณะเศรษฐศาศาสตร์ การสอบเข้าก็มีด้วยกัน 2 วิธี มีทั้งสอบตรงและ Admissions ผมเข้ามาด้วยการสอบตรง ตอนนั้นเตรียมตัวหนักพอสมควร เรียนพิเศษทุกวัน บางวันเรียนถึงเที่ยงคืน วิชาที่ใช้สอบมี 3 วิชา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เตรียมตัว 3 วิชานี้ให้แน่น ๆ เลยครับ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ www.econ.tu.ac.th
- โครงการรับตรง
- โครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือก
- โครงการส่งเสริมนักเรียนเรียนดีภาคกลาง
- โครงการผู้มีความสามารถดีเด่นทางการกีฬา
- โครงการนักเรียนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
- โครงการนักเรียนกิจกรรมจิตอาสาและประชาธิปไตย
- โครงการคัดเลือกนักเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิก
GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 30%, PAT 1 20%