Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] เจาะลึก สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ม.ธรรมศาสตร์ ประสบการณ์สุดเข้มข้นจากรุ่นพี่

  Favorite

ทราย ธนาวดี
หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ม.ธรรมศาสตร์
 



อยากทำหนังสือ อยากเป็นนักเขียน ต้องเรียนอะไร? น้อง ๆ หลายคนยังไม่รู้ว่ามีสาขาที่สอนทางด้านนี้โดยตรง บางคนอาจเคยได้ยินชื่อสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ แต่ไม่รู้ว่าเขาเรียนอะไรกันบ้าง ทราย ธนาวดี แทนเพชร รุ่นพี่ปี 4 สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาเล่าถึงประสบการณ์การเรียนสุดเข้มข้น ที่จะช่วยให้น้อง ๆ ที่อยากทำงานทางด้านนี้ได้ค้นพบตัวเองมากยิ่งขึ้น


หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ เรียนเกี่ยวกับอะไร
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ก็คือนิเทศศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับการผลิตสื่อ ในคณะมีทั้งหมด 6 สาขา บริหารการสื่อสาร, ภาพยนตร์และภาพถ่าย, วิทยุและโทรทัศน์, โฆษณา, ประชาสัมพันธ์, หนังสือพิพม์และสิ่งพิมพ์ ซึ่งการสื่อสารมันจะแตกต่างกันออกไป สำหรับสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ เรียนเกี่ยวกับการเขียน เราจะได้เรียนรู้วิธีการเขียนของงานทุกประเภท หลัก ๆ เลยคือเขียนข่าว เขียนบทความ ต้องติดตามสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งที่เราเขียนมันต้องอยู่ในความสนใจในขณะนั้น ทำให้เราเป็นคนแอคทีฟในการรับข้อมูลข่าวสารมากกว่าสาขาอื่น ๆ วิชาเรียนจะไม่ใช่วิชาเลคเชอร์ ส่วนใหญ่เป็นวิชาที่ฝึกให้คิดวิเคราะห์ประเด็นหรือสถานการณ์ต่าง ๆ และถ่ายทอดออกมาให้ถูกต้องตามหลักของการสื่อสาร
 
วิชาหลักของสิ่งพิมพ์
เข้ามาปี 1 ทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานเหมือนกันหมด ต้องเข้าใจพื้นฐานของทุกสาขา เรียนตั้งแต่พื้นฐานของการสื่อสาร ผู้ส่งสารเป็นใคร ผู้รับสารเป็นใคร ขึ้นปี 2 อยากเข้าสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ก็ต้องลงเรียนวิชาวารสารศาสตร์เบื้องต้น และวิชาหลักการรายงานข่าว เพื่อเป็นตัวต่อเข้าสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ พอขึ้นปี 3 จะได้เรียนเขียนข่าวขั้นสูง ข่าวชุมชน ข่าวอาชญากรรม ตอนนั้นรู้สึกว่ามันโหดมาก ต้องไปหาข่าวเอง ไปนั่งอยู่โรงพัก นั่งรอข่าวเด็ด ๆ ที่พอจะเป็นประเด็นได้ ต้องสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุจริง ๆ เหมือนเราเป็นนักข่าวเลย มีวิชาเขียนบทความ แต่ละวันมีข่าวอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราต้องมาคิดวิเคราะห์ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องมีเหตุผลในการเขียนโน้มนาวให้คนมาเห็นด้วยกับเรา และมีวิชาทำนิตยสาร ส่วนปี 4 วิชาบังคับเลยคือทำหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และมีเรียนถ่ายภาพด้ว



นิตยสาร Yoongthong
นิตยสารยูงทอง นักศึกษาทำกันเองทั้งหมด ตั้งแต่คิดคอนเซ็ป ยุคของนิตยสารมันเปลี่ยนแปลงไปมาก เราก็ต้องปรับตัว ช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้มันน่าสนใจ แบ่งตำแหน่งหน้าที่กัน จะมีบรรณาธิการภาพ ดูองค์ประกอบภาพ บรรณาธิการบทความ ดูเนื้อหาทั้งหมด เราไม่ได้เขียนกันเองทั้งหมด มีเปิดให้นักศึกษาคณะอื่นส่งเรื่องเข้ามาด้วย บรรณาธิการศิลป์ จัดหน้า ทำกราฟิก พิสูจน์อักษร ตรวจคำผิด ฝ่ายโฆษณา ต้องติดต่อหาสปอนเซอร์ ขายโฆษณา ฝ่ายการเงิน ดูแลงบทั้งหมด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โปรโมทนิตยสารให้เป็นที่รู้จัก ฝ่ายติดต่อโรงพิมพ์ต้องรู้เรื่องกระดาษ เรื่องราคาพอสมควร และบรรณธิการบริหารก็คอยดูภาพรวมของทีม ต้องตัดสินใจเรื่องที่ทีมตัดสินใจไม่ได้ เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนแต่ทุกคนต้องมีงานเขียนเป็นของตัวเองภายในเล่มด้วย ส่วนอาจารย์ก็คอยให้คำปรึกษา ช่วยสกรีนบทความก่อนตีพิมพ์

หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไม่ใช่แค่ทำข่าวส่งอาจารย์แล้ว คราวนี้ได้ใช้ความรู้ทุกอย่างที่เรียนมาทำข่าวและได้ตีพิมพ์จริง ๆ นักศึกษาทำกันเองทั้งหมดเหมือนกัน อาจารย์แค่ให้คำปรึกษาและคอยกระตุ้นเรื่องการบริหารเวลา เราก็แบ่งหน้าที่กันเหมือนตอนทำนิตยสาร แต่เราจะเวียนกันเป็นบรรณาธิการบริหาร เราจะทำข่าวตามใจตัวเองอย่างเดียวไมได้ เราต้องคิดด้วยว่าคนอ่านอยากรู้อะไร ปีนี้เราทำหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ ฉบับแรก ๆ ก็เรื่องสถานการณ์ทั่วไป ฉบับหลัง ๆ มีข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต เป็นข่าวที่ใหญ่มาก รู้สึกตื่นเต้นมากที่ต้องทำข่าวใหญ่แบบนี้



การค้นหาตัวเอง
ตอน ม.ปลาย มีวิชาที่ให้ทำนิตยสาร ทำพ็อกเก็ตบุ๊ค เพื่อน ๆ ไม่ค่อยมีใครอยากทำ แต่เราอยากทำมาก เป็นตัวตั้งตัวตี จัดการรวมทีมแบ่งหน้าที่ให้เพื่อน ๆ เลยได้เป็นบรรณธิการไปโดยปริยาย และเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว เคยอ่านหนังสือเรื่องเด็กชายเลขที่ 34 อ่านแล้วชอบมาก เลยเอาไปแนะนำให้คนอื่นอ่าน ได้ส่งต่อหนังสือดี ๆ แล้วรู้สึกดี เลยรู้ตัวเองว่าอยากเป็นคนทำหนังสือ ตอนนั้นเราอยู่หัวแถวของห้องนะ แต่เราวัดตัวเองจากทั่วประเทศ พอวัดจากทั่วประเทศเราอาจจะอยู่ปลายแถว รู้สึกว่าเรียนในห้องอย่างเดียวไม่ทำให้เก่งขึ้น เลยเรียนพิเศษเพิ่มด้วย เพราะเราต้องสอบแอดมิชชั่นแข่งกับคนทั่วประเทศ

รักการอ่าน ชอบการเขียน
อยากเรียนสิ่งพิมพ์อันดับแรกเลยต้องชอบอ่านชอบเขียน เคยมีรุ่นน้องมาถามว่า หนูไม่ชอบอ่านหนังสือ หนูจะเรียนสาขานี้ได้ไหม ตอบเลยว่าไปเรียนอย่างอื่น ถ้าเราไม่อ่าน เราจะไม่มีอะไรไปเขียน อีกอย่างสาขานี้เราต้องพูดคุยกับผู้คนมากมาย สัมภาษณ์คนเยอะมาก ต้องเปิดใจ ไปทำข่าวไม่ใช่แค่ไปเอาข้อมูลของเขามา แต่ต้องทำความเข้าใจคนในพื้นที่ตรงนั้นด้วย

ความภูมิใจ…ควรลืม ๆ มันไปบ้าง
มันเป็นความตั้งใจตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แล้วว่าอยากจะทำ เป็นงานที่ถนัดที่สุด และสามารถทำออกมาได้ดี อาจารย์ชม เพื่อน ๆ ชม เราก็รู้สึกดี แต่ไม่ได้ภูมิอะไรมากมาย เป็นคนไม่ค่อยยึดติดกับอะไรพวกนี้ ทำเสร็จแล้วก็คือจบ ไม่ได้เก็บสะสมเป็นความภูมิใจในชีวิต ถ้าทำแบบนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองอีโก้เยอะ ได้บทเรียนมาจากวิชาเขียนข่าว เราเคยเขียนได้คะแนนดีมาตลอด ไม่เคยติดลบเลย วันหนึ่งได้คะแนนติดลบ แล้วรู้สึกเฟลกับชีวิตมาก เริ่มรู้ว่าเราไม่ควรจำความสำเร็จอะไรในชีวิตมากมาย ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ทำเสร็จแล้วก็ลืม ๆ มันไปบ้าง



ฝึกงาน 2 ครั้ง
ฝึกงานที่ a day การฝึกงานมันเปลี่ยนจากนักศึกษาไปเป็นคนทำงานไปแล้วครึ่งหนึ่ง เราต้องฝึกวิธีคิดให้เร็วกว่าเดิม ตอนเรียนทำนิตยสาร 1 เล่มใช้เวลา 5 เดือน ทำงานจริง ๆ เดือนละ 1 เล่ม ในระยะเวลาอันสั้นเราจะคิดยังไงให้ออก ต้องทำงานภายใต้การกดดันให้ได้ด้วย ตอนนี้ฝึกงานจบแล้ว แต่ยังทำงานเป็นฟรีแลนซ์ให้เขาอยู่ ปี 4 เทอม 2 จะต้องฝึกงานอีกรอบหนึ่ง จะฝึกที่เดิมก็ได้ แต่รู้สึกว่าจะเราจะไปทำอะไรที่ตัวเองรู้อยู่แล้วทำไม เลยไปฝึกที่ 101 ที่ทำรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด เขากำลังจะทำเว็บไซต์คอนเท้นท์ รู้สึกว่าไม่จำเป็นจะต้องทำปริ้นอย่างเดียว ทำออนไลน์ก็ได้

ตลาดงาน
ส่วนใหญ่คนที่จบจากสาขานี้ ก็ไปทำเบื้องหลังสิ่งพิพม์แทบทุกชนิดเลย ยุคนี้ออนไลน์มาแรง เขาก็ไปทำออนไลน์กันเยอะเหมือนกัน ถ้ามีสกิลอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ก็ไปทำงานแปลได้ สามารถทำได้หลายอย่าง เพราะการเขียนมันเป็นเบสิคของทุก ๆ ศาสตร์ เขียนบทภาพยนตร์หรือบทสารคดี มันไม่ได้เจาะจงว่าจบสิ่งพิมพ์มาแล้วต้องทำงานข่าวอย่างเดียว ทำอะไรก็ได้ในวงการสื่อ แล้วแต่ว่าใครจะเลือกไปทำอันไหนที่เหมาะกับตัวเอง หรือจะเปลี่ยนสายไปเลยก็ได้ รู้สึกว่าเรายังสามารถไปเรียนรู้ตอนทำงานจริงได้อีก



ข้อมูลการสอบเข้า
สาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เว็บไซต์ www.jc.tu.ac.th

รับตรง
- โครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือก
- โครงการส่งเสริมนักเรียนดีภาคกลาง
- โครงการนักเรียนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
- โครงการรับนักเรียนกิจกรรมจิตอาสาและประชาธิปไตย
- โครงการรับนักศึกษาผู้มีความสามารถดีเด่นทางการกีฬา

Admissions
- พื้นฐานศิลปศาสตร์ GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 30%, PAT 1 20%
- พื้นฐานศิลปศาสตร์ รูปแบบที่ 1 GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 50%
- พื้นฐานศิลปศาสตร์ รูปแบบที่ 2 GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 30%, PAT 7 20% (เลือกสอบฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, จีน)

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us