Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ประวัติ ๑๑ มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อพระราชทาน จากในหลวง รัชกาลที่ ๙

  Favorite


นับเป็นพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม สำหรับ ๑๑ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ให้ได้เป็นมิ่งขวัญ มิ่งมงคลแก่พวกเรา โดยเรียงลำดับตามปีที่ได้รับพระราชทานชื่อดังนี้

๑. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. ๒๕๑๐)

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง “วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์” เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “มหาวิทยาลัยภาคใต้” ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ ๒๒ กันยายน ของทุกปีเป็น “วันสงขลานครินทร์”

๒. มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ.๒๕๑๒)

มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันที่มีที่มาจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒

๓. สถาบันพระจอมเกล้า หรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๑๔)

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยให้รวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี และวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เข้าด้วยกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษา ให้การศึกษาทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา และทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามภาษาไทย “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า” และภาษาอังกฤษ “King Mongkut’s Institute of Technology” เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

๔. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ. ๒๕๑๗)

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ก่อนหน้า เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ในช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณาจารย์ นิสิต และข้าราชการ ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปรับฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัย ท่ามกลางการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงของรัฐบาลทหารในขณะนั้น เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการเรียนการสอนที่จำกัด ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยและการขยายตัวที่มีความหลากหลายวิชาชีพ ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร” ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ [๒] โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดี โดยนามของมหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เมื่อ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยพระราชทานเพียงชื่อเต็มและความหมายของชื่อดังกล่าว

๕. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (พ.ศ.๒๕๒๑)

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (อังกฤษ: Sukhothai Thammathirat Open University; ชื่อย่อ: มสธ., STOU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแบบไม่จำกัดรับจำนวน (มหาวิทยาลัยเปิด) แห่งเดียวของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยเปิดโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกลแห่งเดียวในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดตั้งขึ้นเพื่อขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชน มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ดำเนินการดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” ตามพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์ นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ กรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

๖. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (พ.ศ. ๒๕๓๑)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (อังกฤษ: Rajamangala University of Technology) เป็นระบบมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันมีอยู่ ๙ แห่งทั่วประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ในชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘

๗. มหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ. ๒๕๓๓)

มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ภายหลังจากการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยชื่อ “มหาวิทยาลัยนเรศวร” นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยพระองค์ประสูติที่เมืองพิษณุโลก และทรงเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน

๘. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (พ.ศ. ๒๕๓๕)

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ชาวนครศรีธรรมราช เริ่มรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ให้จัดตั้งวิทยาลัยนครศรีธรรมราช สังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคต แต่ก็ได้ยกเลิกมติดังกล่าวในเวลาต่อมา และอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔[๑]
เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” อันเป็นสร้อยพระนามในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

๙. มหาวิทยาลัยราชภัฏ (พ.ศ. ๒๕๓๕)

มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครู หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานนาม “ราชภัฏ” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้ง พระราชทาน พระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่ทั้งสิ้น ๓๘ แห่ง ทั่วประเทศ

๑๐. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (พ.ศ. ๒๕๕๓)

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นแนวคิดตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นทางเลือกกับนักศึกษาสามารถศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเมือง ชุมชนเมืองหลวง และเพื่อตอบสนองความต้องการของเมืองหลวง แต่แนวคิดนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก ในสมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สานต่อ แนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้เปิดการศึกษาหลายระดับแล้วในระดับอุดมศึกษา ๒ แห่ง คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ โดยเน้นแผนการศึกษาวิชาการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในประเทศ และเน้นผลิตบุคลากรสาขาวิชาที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของกรุงเทพมหานคร โดยได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร พ.ศ…. และคณะรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติฯ ไว้ ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ แต่หลังจากมีการปรับเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้จึงหยุดนิ่งไป ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ และได้แก้ไขชื่อพระราชบัญญัติจาก ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร พ.ศ…. เป็น ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ…. ต่อมาในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ สภาผ่านร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร และในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๒๗ ตอนที่ ๖๓ ก ได้ประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๓ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ให้โอนภารกิจและงบประมาณของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ไปเป็นของมหาวิทยาลัยฯภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโอนบุคลากรซึ่งสังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ไปเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย และกำหนดวิธีการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยต่อมา ได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยภูมิพล” เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔[๓] และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖[๔]

๑๑. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (พ.ศ. ๒๕๓๕)

“มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ก่อกำเนิดมากจาก “วิทยาลัยหัวเฉียว” ซึ่งมีรากฐานเติมโตมาจากโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยก่อตั้งโดยมูลนิธิป่อเต็มตึ๊ง ที่ก่อเกิดขึ้นจากพลังศรัทธาในคุณธรรมแห่ง “ไต้ฮงภิกขุ” ผู้ก่อตั้ง “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” หรือ “มูลนิธิป่อเต็งตึ๊ง” ในปัจจุบัน โดยมีภารกิจในการบำเพ็ญทาน การสร้างสถานพยาบาลและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อมวลชน รวมถึงการทำงานด้านการศึกษา โดยเปิดสอนหลักสูตรพยาบาล ในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรแรก ก่อนที่จะได้รับการยกสถานะเป็น “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ในปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ในวาระที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีวาระครบรอบ ๘๐ ปี จึงได้ระดมทุนจากชาวไทยเชื่อสายจีนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เมื่อได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัย จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ““มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดมหาวทิยาลัย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๗ โดยจัดว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาเป็นประธานเปิดมหาวิทยาลัยให้ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยให้กับของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งไม่เคยเป็นประธานเปิดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งใดเลย จึงเป็นผลนำมาซึ่งความปลาบปลื้มและนับเป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวงแก่ชาวมหาวิทยาลัย และชาวจีนโพ้นทะเลในดินแดนสยาม ที่ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้

 

แหล่งข้อมูล
เปิดประวัติมหาวิทยาลัย ที่ได้ “ชื่อพระราชทาน” จากในหลวง ร. 9 สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2559 จาก http://thestarthailands.com/45535
ประวัติมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2560 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us