เรื่อง: อรชุมา มีวงศ์อุโฆษ
ดร. ธันยวัต สมใจทวีพร นักวิจัยคนที่ 2 ของไทยที่คว้ารางวัล Da Vinci Award รางวัลสูงสุดของสมาคมสิ่งประดิษฐ์ประเทศอังกฤษมาครอง นอกจากจะสร้างผลงานนวัตกรรมสุดล้ำเพื่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่องแล้ว เขากำลังมุ่งมั่นสร้างนักนวัตกรรมรุ่นใหม่สำหรับอนาคตด้วย
เส้นทางนักนวัตกรรม
ผมเป็นคนที่ชอบงานสิ่งประดิษฐ์ตั้งแต่เด็กครับ มีความฝันอยากสร้างหุ่นยนต์แต่ก็ทำไม่เป็น จนได้มาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ก็มีโอกาสได้เล่นหุ่นยนต์ Go Go Board ที่เป็นโปรเจคของ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ สมัยที่ท่านเรียนปริญญาเอกที่ MIT ก็พบว่าจริง ๆ แล้วการสร้างหุ่นยนต์หรือพวกนวัตกรรมต่างๆนี้มันไม่ได้ยากครับ และผมมีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์อยู่แล้วก็เลยทำให้เข้าใจหลายๆ เรื่องได้ง่ายครับ ก็เลยเริ่มเข้ามาในเส้นทางนี้ โดยสร้างผลงานนวัตกรรมไปประกวดกับสมาคมนักประดิษฐ์โลก (IFIA) ได้รางวัลจากหลายประเทศ และล่าสุดได้รับรางวัล Da Vinci Award ในฐานะนักวิจัยที่มีผลงานนวัตกรรมระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
นวัตกรรมคืออะไรกันแน่
นวัตกรรมเป็นอะไรก็ตาม ที่พอมีขึ้นแล้วมันเกิดประโยชน์หรือทำให้กระบวนการดีขึ้น นวัตกรรมมีอยู่ 2 แบบ คือ นวัตกรรมที่เป็นสิ่งประดิษฐ์จับต้องได้ กับนวัตกรรมเรื่องของกระบวนการ เช่น ร้านอาหารที่แก้ปัญหาพนักงานต้องมายืนรอจดเมนู ซึ่งมันไม่จำเป็นเพราะลูกค้าจะอึดอัด โดยปรับเป็นมีกระดาษเมนูมาให้ลูกค้าขีดเลือกที่โต๊ะเลย แค่นี้ก็เป็นนวัตกรรมแล้ว เพียงแค่ปรับแนวคิดนิดหน่อย ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีก็ได้
แต่สิ่งที่ผมเชี่ยวชาญจริง ๆ คือ นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่ให้ครูมาสอนหน้าห้องแล้วนักเรียนนั่งฟัง ตอนที่ทำปริญญาเอกผมได้ศึกษาหาแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ พบว่า การเรียนรู้ที่ได้ผลคือ ผู้เรียนจะต้องมีประสบการณ์ร่วม เช่น ถ้าเรียนว่ายน้ำก็ต้องลงน้ำจริง ๆ เวลาสอนเด็ก ผมจะนิยมตั้งเกณฑ์ให้เด็กแก้ปัญหา ให้โจทย์กว้าง ๆ แล้วเขาก็จะไปหากระบวนการวิธี เขาก็จะเรียนรู้หลาย ๆ อย่างจากการลงมือทำจริง
ปัญหาสร้างนวัตกรรม
นวัตกรรมส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นได้ ถ้าเราตั้งปัญหาได้ถูกจุดครับ เช่น โปรแกรมฝึกการสนทนาภาษาอังกฤษที่ผมได้รับรางวัลจากเกาหลี เกิดจากปัญหาที่ว่าคนไทยเรียนภาษาอังกฤษแต่เด็ก แต่สื่อสารไม่ค่อยได้ เพราะเราไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียนรู้ครับ ก็ใช้เทคโนโลยีนี่แหละครับ สร้างโปรแกรมให้เกิดบรรยากาศคล้ายกับสนทนาภาษาอังกฤษที่ผู้เรียนจะพูดใส่ไมโครโฟนคุยกับตัวละครจำลองในคอมพิวเตอร์ครับ มันก็เลยเกิดทักษะจากการที่มีประสบการณ์ร่วม เป็นผลงานที่ผมภูมิใจและอยากพัฒนาให้ดีขึ้นเพราะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมจริงๆ หรือแม้กระทั่งการสร้างหุ่นยนต์ช่วยถือของ ก็เกิดจากปัญหารอบตัวผมนี่แหละ บางทีแฟนให้ช่วยถือกระเป๋าเวลาเดินห้าง จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงเดินห้างได้สบาย ไม่ต้องหิ้วของหนัก ก็เลยเกิดหุ่นยนต์ที่สามารถถือของ เดินตามเราระหว่างช้อปปิ้งได้ และต้องขึ้นบันไดเลื่อนได้ด้วย นี่ก็เป็นภาพรวมที่ว่านวัตกรรมเกิดขึ้นจากปัญหาแล้วก็ต้องการแก้ไขโดยใช้เครื่องมือหรือกระบวนการต่าง ๆ ครับ
โลกเคลื่อนที่ไปด้วยนวัตกรรม
ทักษะของเด็กไทยจากที่ผมเห็นในการประกวดบนเวทีของต่างประเทศ ผมว่าไม่ด้อยกว่าใคร อย่างกลุ่มเด็กอาชีวะ โอ้โฮ! เรียกได้ว่าผลงานดีกว่าหลาย ๆ ประเทศนะครับ เพียงแต่ไม่ค่อยมีโอกาสนำเสนอผลงาน คนไทยอาจจะยังให้ความสนใจน้อย ผมสังเกตว่าประเทศที่ไม่มีปัญหาจะไม่ค่อยเกิดนวัตกรรม อย่างญี่ปุ่นเขามีภัยธรรมชาติ เขาจะคิดนวัตกรรมมากมาย ลองดูง่าย ๆ เลย เมืองไทยตอนที่เกิดนวัตกรรมเยอะ ๆ คือตอนน้ำท่วม มีทั้งรถวิ่งสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ส้วมเคลื่อนที่ เพราะว่ามันมีปัญหามาท้าทาย ลองสังเกตเลยว่า พอภัยแล้งมา เดี๋ยวจะมีของแปลก ๆ ออกมาอีก
โลกนี้กำลังเคลื่อนที่ไปด้วยนวัตกรรมครับ ธุรกิจไหนที่มีนวัตกรรมเหนือคู่แข่ง ก็จะประสบความสำเร็จ เช่น ด้านการเกษตรก็มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาเยอะพอสมควรเพื่อให้ผลผลิตมันดีขึ้น เด็กยุคใหม่ถ้ามีหัวทางด้านนวัตกรรม เขาก็จะมีงานทำที่ดีในอนาคต ถ้าได้รับการศึกษาที่ถูกต้องแล้วสิ่งแวดล้อมมันเกื้อให้เกิดนวัตกรรม ผมว่าคนไทยทำได้อยู่แล้วครับ
นักนวัตกรรมระดับโลก..ไม่ใช่เรื่องยาก
อันดับแรกต้องเป็นคนช่างสังเกต ว่าปัญหาอะไรที่อยู่รอบตัวเราแล้วเราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้ สองก็คือ สิ่งที่จะเอามาใช้แก้ปัญหานี้มันไม่ต้องซับซ้อน มันอาจจะเป็นของง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากก็ได้ ข้อที่สาม เป็นเรื่องของความรู้ที่อยู่รอบตัว และประสบการณ์ ไม่ใช่ความรู้เฉพาะในห้องเรียนหรือระดับปริญญานะครับ คือคนที่มีประสบการณ์มาก มีความรู้มาก ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างนวัตกรรมออกมาได้ครับ
ผลงานนวัตกรรมระดับโลกของดร. ธันยวัต
Quantimeter WIIF 2015 คลิกที่นี่