เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)เปิดเผยว่า
หนังสือ เรียนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษา“มานะมานี” นำมาใช้ในหลักสูตรประถมศึกษาพ. ศ.2521 ในยุคนั้น ผู้แต่งนำเสนอเนื้อหาที่นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่ไม่ยาก มีความลงตัวในการใช้วรรณยุกต์ สระ และพยัญชนะทำให้นักเรียนอ่านเข้าใจง่าย สามารถฝึกผสมคำได้อย่างคล้องจอง นอกจากนี้ยังมีตัวละครเดินเรื่องเป็นเอกลักษณ์อ่านแล้วเพลิดเพลิน สนุกสนาน สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาของเด็ก
“ในปัจจุบันแม้ว่าแบบเรียนดังกล่าวไม่ได้ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนแล้วแต่ ได้มีการกำหนดให้นำไปใช้เป็นหนังสือเสริมในการเรียนภาษาไทยได้และสามารถส่ง เสริมสมรรถนะนักเรียนในการคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น”
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวว่า
องค์การค้าฯได้จัดพิมพ์หนังสือมานะมานีมาแล้วหลายรอบและขายหมดทุกครั้งส่วน หนึ่งโรงเรียนซื้อไปใช้ในการเรียนเสริมให้กับนักเรียน และอีกส่วนประชาชนที่เคยใช้หนังสือเรียนนี้มาซื้อเก็บไว้ เรียกว่าเป็นหนังสือที่ยังมีมนต์เสน่ห์
โดยปี 2557 องค์การค้าฯได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งเป็นหนังสือเสริมหลักสูตร พิมพ์ครั้งที่ 1พ.ศ.2557 จำนวน 15,000 เล่ม พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2557 จำนวน 20,000 เล่ม พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2558 จำนวน 50,000 เล่ม ซึ่งขายหมดทุกครั้ง
และล่าสุดช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 4 ออกมาจำหน่ายอีก 50,000 เล่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสื่อสังคมออนไลน์ยังมีการพูดถึงหนังสือเรียนภาษาไทยมานะมานี แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะยกเลิกใช้หนังสือเล่มดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2537 แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนอยู่ในช่วงอายุประมาณ 28 ปีขึ้นไป จนถึงอายุประมาณ 44-45 ปีที่ได้ใช้แบบเรียนภาษาไทยมานะ มานี และมีการซื้อขายหนังสือเรียนดังกล่าวบางสูง 600-700 บาทจากราคาหน้าปกเล่มละ 5.50 บาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการซื้อไปเก็บไว้เป็นความทรงจำที่ดี
สำหรับหนังสือ มานะ มานี เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 12 เล่ม (ภาคเรียนละ 1 เล่ม) ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2521–2537 เขียนเรื่องโดย อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ มีตัวละครที่ยังอยู่ในความทรงจำ เช่น มานะ มานี ปิติ ชูใจ ดวงแก้ว วีระ ที่หลายคนยังจำได้ เช่น เนื้อหาชั้นป.1 เล่มที่ 1 ในบทที่ 1 มีเนื้อหา ว่า มานี มานี มีตา กา กา มีตา อา อา มี ตา
ที่มา มติชนออนไลน์ และประชาชาติธุรกิจออนไลน์