Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
งาน “เทศน์มหาชาติและปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ”

  Favorite

 

 

สำนักพุทธจัดเทศน์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ : เรื่อและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

 

              การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณกาล คือ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเทศน์มหาชาติมีการจัดเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ หรือเดือน ๑ (เดือนอ้าย)

 

              ส่วนในภาคอีสานนั้น นิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล บางแห่งนิยมทำในเดือน ๑๐

 

              มหาชาติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการเทศน์มหาชาตินั้น ประกอบด้วยพระคาถาภาษาบาลี จำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ลักษณะการเทศน์เรียกว่า เทศน์คาถาพัน หรือเทศน์มหาชาติ มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ได้มีการแต่งเป็นร่ายยาวด้วยท่วงทำนองอันเพราะพริ้ง และการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ก็จะมีท่วงทำนองที่แตกต่างกันออกไป

 

              การเทศน์ทุกกัณฑ์จะมีผู้เป็นเจ้าภาพจัดกัณฑ์เทศน์ถวาย เมื่อพระที่ตนรับกัณฑ์เทศน์ขึ้นเทศน์เจ้าภาพจะจุดเทียนบูชาคาถาหว่านข้าวตอกข้าวสาร การเทศน์ในสมัยก่อนพระเจ้าของกัณฑ์จะอ่านจากอักษรธรรม(อักษรลาว) ซึ่งจารลงบนใบลานเป็นแผ่นยาว คำว่า “จาร” มาจากภาษาเขมรแปลว่า การเขียนด้วยเหล็กแหลมบนใบลาน แต่ปัจจุบันจะนิยมพิมพ์ลงบนใบลานเป็นตัวหนังสือไทยปัจจุบัน เป็นเรื่องราวในแต่ละกัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกสำหรับพระรุ่นใหม่ เมื่อจบกัณฑ์จะตีฆ้องเป็นสัญญาณ การเป็นเจ้าของกัณฑ์ในหมู่บ้านในชนบทอาจแบ่งเจ้าภาพเป็นคุ้ม เรื่องราวและประวัติความเป็นมาแต่ละกัณฑ์มีดังนี้

 

              ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม บางแห่งนิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขี้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำ ก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทาน เมื่อการเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์จบลงก็จะมีปี่พากย์ประโคมเพลงประจำภัณฑ์รับกัณฑ์เทศน์ด้วย ถือเป็นการเล่นสนุกสนานรื่นเริง

 

              อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ ๘-๑๑ กันยาย ๒๕๕๘ นี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมงาน “เทศน์มหาชาติและปฏิบัติธรรมสยามบรมราชกุมารี” และร่วมสืบทอดประเพณีดีงามเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สูงค่าอยู่คู่กับพระพุทธศาสนาแบบยั่งยืน ณ พุทธมณฑล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา

 

              นายกนก แสนประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๕๘ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงได้จัดงาน “เทศน์มหาชาติและปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ” อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเป็นประธานสดับพระธรรมเทศนาเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก “กัณฑ์กุมาร” ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๖.๐๐ น.

 

              สำหรับการจัดงานมหากุศลในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแสดงความจงรักภักดีในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม คุณธรรมอันดีงามทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของคณะสงฆ์ในการทำหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ประชาชน และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พัฒนาความรู้คู่คุณธรรม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรม ดังกล่าวขึ้น


คุณประโยชน์แห่งเทศน์มหาชาติ


              พระราชวิสุทธิดิลก วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เทศน์มหาชาติ จัดเป็นโบราณประเพณีอย่างหนึ่ง ซึ่งบรรพบุรุษไทยยึดถือสืบทอดและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ในปัจจุบันวัดต่างๆ ได้จัดให้มีการเทศน์มหาชาติขึ้น ในเทศกาลช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน

 

              การเทศน์มหาชาติ เป็นการร่วมกันจรรโลงมรดกทางวัฒนธรรมที่สูงค่าให้อยู่คู่กับพระพุทธศาสนา โดยน้อมรำลึกถึงเรื่องราวในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์เวสสันดร พระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมียิ่งใหญ่คือการบริจาคทรัพย์สมบัติ พระโอรส พระธิดา และพระมเหสี ซึ่งการกระทำดังกล่าวเรียกว่า “มหาทาน” ยากที่ปุถุชนทั่วไปจะทำได้

 

              การเทศน์มหาชาตินั้น เป็นการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และเป็นการสรรเสริญพระเกียรติคุณขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระนามว่า เวสสันดรในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา กล่าวคือ

 

              ทรงบำเพ็ญทาน ด้วยการพระราชทานวัตถุสิ่งของแก่ชาวเมือง พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์ชาวเมืองกาลิงคะ พระราชทานพระชาลีและพระกัณหา ซึ่งเป็นพระโอรสและพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชก พระราชทานพระนางมัทรีซึ่งเป็นพระมเหสีแก่ท้าวสักกะ พระเวสสันดรทรงรักษาศีล รักษาคำสัตย์ คือ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะพระราชทานสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็พระราชทานสิ่งนั้นดังที่ตรัสไว้ พระเวสสันดรได้เจริญภาวนาด้วยการเสด็จออกผนวช เจริญภาวนาอยู่ ณ เขาวงกต ทรงสละความเป็นอยู่อย่างกษัตริย์แล้วดำรงพระชนม์ชีพอย่างนักบวช

 

              จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วมีอุปนิสัยจิตใจอ่อนโยน มีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตามพระจริยาวัตรของพระเวสสันดร นั่นคือ สามารถทำให้ความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นถือมั่นว่า “นั่นเรา นั่นของเรา” ค่อยๆ เบาบางลง จนกระทั่งหมดสิ้นไปในที่สุด


อานิสงส์แห่งเทศน์มหาชาติ


              นายกนก ยังบอกด้วยว่า เทศน์มหาชาติ เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้นๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูเหมันต์ นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง

 

              การเทศน์มหาชาติมีอิทธิพลต่อสังคมไทย ในด้านความเชื่อ คือ เชื่อว่าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จบภายในวันเดียว ผู้นั้นก็จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ

 

              ๑.จะได้เกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

              ๒.จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันโอฬาร

              ๓.จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต

              ๔.จะเป็นผู้มีลาภ ยศ ไมตรี และความสุขฃ

              ๕.จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

 

              นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยในด้านต่างๆ เช่น ศีลธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณกรรม จิตรกรรม การศึกษา ตลอดถึงการเมืองการปกครองของไทยอีกด้วย

 

              “โบราณจารย์กล่าวไว้ว่า บุคคลใดฟังเรื่องมหาเวสสันดรชาดก หรือที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ ซึ่งมีจำนวน ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ พระคาถา จบภายใน ๑ วัน ฟังด้วยจิตใจที่เลื่อมใสและเป็นกุศล จะได้ถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยในภายภาคหน้า” นายกนกกล่าว

 

 

ที่มา : 

http://www.komchadluek.net/detail/20150908/212995.html

https://www.facebook.com/GCC1111

Tags
Posted by
ดาวแม่ไก่
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us