Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Alumni : พลอย ภัทรากร นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

  Favorite

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

บ้างก็ว่าเด็กคณะนี้ต้องเป็นหนอนหนังสือถึงเรียนไหว บ้างก็ว่าเป็นทนายต้องหัวหมอ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พลอย-ภัทรากร ตั้งศุภกุล สาวน้อยผู้รับบท “จันทา” จากละคร “คุณชายรัชชานนท์” เปิดเผยว่าเธอก็เคยเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนคณะนิติศาสตร์เหมือนกัน จนกระทั่งได้เข้ามาเรียนจริงๆ จึงพบว่าเป็นคณะที่ใช่สำหรับเธอ

พลอย ภัทรากร

ปีหนึ่งเป็นช่วงเวลาสับสน

เริ่มจากตอนนั้นอยู่ม.6 ก็เป็นช่วงที่สับสนเหมือนกันค่ะว่าเรามีความชอบหลายอย่าง เราชอบวาดรูป ชอบออกแบบ ชอบแต่งบ้าน และชอบภาษาเพราะพลอยเรียนจบศิลป์ภาษาฝรั่งเศส เกรดวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสดีมาก คุณแม่ก็อยากให้เรียนมนุษยฯ หรืออักษร แล้วที่บ้านก็ค้าขายหรือว่าเราเรียนบัญชี บริหารดี สับสนไปหมด แต่ตัวพี่สาวพลอยเรียนนิติศาสตร์ แล้วพี่สาวก็แนะนำว่าให้เรียนนิติเหมือนกัน ลองดูไหมเพราะว่าเราสามารถเข้าทั้งเอกชนได้ ทั้งราชการได้เลยเลือกตามพี่ค่ะ

 

ยิ่งเรียนยิ่งใช่

ตอนเริ่มเรียนเราก็รับไม่ได้ จะเรียนพวกวิชาพื้นฐานภาษาไทย คณิตฯ อังกฤษ ซึ่งพลอยไม่ถนัดเลย เราได้เกรดเฉลี่ยน้อยมาก 3.17 จำได้เลยค่ะ บวกด้วยความที่เราไม่อยากเรียนมช. เราก็เลยไม่มีความสุข พอขึ้นปีสองเราเริ่มปรับตัวได้ และได้เพื่อนที่ดี ตอนนั้นย้ายเข้ามาเรียนตัวในคณะหมดแล้ว เป็นพวกกฎหมายแพ่ง อาญา เราก็เริ่มสนุกและแฮปปี้ พอได้เรียนๆ ไปมันใช่ค่ะ ได้ใช้ทักษะ ได้ใช้ตรรกะ จากพลอยที่เป็นคนไม่มีเหตุผลเลย มีแต่อารมณ์ พอเราได้มาศึกษาพวกนี้ ได้ใช้ตรรกะ คือมันสนุก ยิ่งเรียนมันใช่ค่ะ เพื่อนพลอยเคยบอกว่ามันเป็นหลักความยุติธรรมที่เหมือนแค่เรารู้สึกว่ามันแฟร์หรือไม่แฟร์ แค่นี้มันก็แค่นั้นเลย และการท่องจำ

 

พลอย ภัทรากรหลักสูตรนักกฎหมาย

ตอนปีหนึ่ง รุ่นพี่จะบอกว่าเป็นปีที่เก็บคะแนนได้มากที่สุด เพราะว่าได้เรียนตัวพื้นฐานแล้วมันง่าย พอเริ่มปีสอง เทอมหนึ่งได้เรียนกฎหมายมากขึ้น เราก็ต้องเก็บตัวกฎหมายให้ได้ดี ซึ่งพลอยทำได้กับตัวกฎหมาย แปลกมากเหมือนทุกคนบอกว่าตัวกฎหมายมันยากไม่ได้เกรดดีหรอก เรามาเก็บตัวพื้นฐานดีกว่า พลอยก็เลยคิดว่าเราอย่าเอามาตรฐานคนอื่นมาใช้กับตัวเรา เพราะว่าคนเรามีความถนัดไม่เหมือนกัน อยากให้น้องๆ ทุกคนเข้าใจตนเอง อย่ากดดันตัวเองว่าสิ่งที่เขาทำได้ เราต้องทำได้ บางทีความสามารถเราไม่เหมือนกัน บางทีเราอาจจะเข้าใจอะไรง่ายกว่า บางคนอาจจะเข้าใจยาก ซึ่งมันก็ตรงข้ามกัน เราก็อย่าเอาตัวเองไปเทียบกับเกรดของเพื่อนๆ หรือมาตรฐานรุ่นพี่ว่าวิชานี้มันยากอย่าไปเรียนอะไรแบบนี้ค่ะ ถ้าเกิดเราสนใจเราลงเรียนเลย ของพลอยจะดูด้วยว่าอาจารย์คนนี้ถ้าเกิดเขาเคี่ยวๆ เราจะไม่เรียน ที่ขึ้นชื่อว่าไม่มีเหตุผล สมมติว่าถ้าวิชานี้อาจารย์คนนี้สอนเราจะไม่เรียนถ้าเกิดเลือกได้

พอเทอมสองก็จะมีกฎหมายล้วนๆ จะเป็นพื้นฐาน แพ่ง อาญา แต่ปีสามกับปีสี่ของพลอยจะเรียนหนัก โดยเฉพาะปีสาม ก็จะเรียนหนักคือท่องๆ อย่างเดียว แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าเลคเชอร์ตลอด สิ่งนี้จะทำให้จับทางของอาจารย์ได้ว่า อาจารย์เน้นตรงไหน ดีกว่าที่เราไม่เข้าเรียนเลย แล้วนั่งอ่านหนังสือที่เป็นปึก มันจะกว้างไปหมดแล้วจะจับจุดไม่ได้ ยิ่งอ่านเองจะยิ่งท้อค่ะ แต่ถ้าเราเอาเลคเชอร์มาอ่านพร้อมกับหนังสือ เราจะเข้าใจง่ายและจำได้ ตอนปีสี่วิชาเลือกเยอะก็อยากแนะนำว่าให้เลือกในสิ่งที่เราชอบอาจจะเป็นกฎหมาย พลอยเลือกระหว่างประเทศหมดเลยเพราะชอบ เรียนแล้วมันก็สนุก ถ้าเกิดว่าเราไปฝืนในสิ่งที่เราไม่สนใจ อย่างไรเราก็ไม่สนใจเวลาเราอ่านหนังสือเองที่บ้าน สิ่งที่เราไม่อยากรู้อ่านไปก็ท้อ

วิชาที่ชอบเกี่ยวกับสตรีนิยม (Feminism) เกี่ยวกับกฎหมายผู้หญิง เช่น กฎหมายครอบครัว ได้เรียนกับอาจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ นักต่อสู้สิทธิสตรีมานานแล้ว เราได้ทฤษฎีเหมือนว่ากฎหมายอันนี้เหมือนมาตรานี้ มันไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงอย่างไร เราเลยได้เรียนอะไรที่มันมากกว่า พลอยก็อินเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายเด็ก กฎหมายครอบครัว เพราะทุกวันนี้เราชอบคิดว่าผู้หญิงเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่จริงๆ มันไม่เป็นแบบนั้น บางทีอคติของผู้หญิงที่ถูกสอนมา ก็ทำให้เราไม่เสมอภาคกับผู้ชายแล้ว เราก็เลยได้คิดอะไรมากกว่านั้น

 

พลอย ภัทรากรฝึกงานสำนักงานทนายความ

ช่วงปีสามขึ้นปีสี่ พลอยฝึกที่สำนักกฎหมายเดชอุดมค่ะ มีสี่แผนก คือ Immigration ทำให้รู้ว่ากฎหมาย เราเอาไปใช้อะไรได้บ้าง สมมติบริษัทหนึ่งมีชาวต่างชาติมาทำงานให้ เขาก็เอาประวัติของคนพวกนี้มาให้เราไปยื่นวีซ่า คือไปทำให้เขาให้เขาทำงานต่อ ยื่นเป็น Non-B เพื่อใช้ในการทำงาน Litigation เกี่ยวกับการที่เหมือนบริษัทฟ้องกันแล้วเราก็ไปทำให้ ไปช่วยฟ้อง IP Commercialization เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ร้านขนมจากญี่ปุ่นจะมาเปิดที่เมืองไทย ก็จะจดชื่อร้านเขา จดสัญลักษณ์ร้าน และสุดท้ายแผนกจดตั้งทะเบียนบริษัท จดทำบริษัทค่ะ

 

ตั๋วทนายและเนติบัณฑิต

การสอบตั๋วทนายสามารถเอาใบนี้ไปประกอบวิชาชีพทนายความได้ และมีสอบเนติบัณฑิต คือสอบอันนี้ได้เราก็สามารถนำไปสอบเป็นผู้ช่วยอัยการ ผู้ช่วยผู้พิพากษา นิติกร ได้ การสอบตั๋วทนายมีขั้นตอนเดียวค่ะ ไปยื่นสอบ เราก็จะสอบภาคทฤษฎีก่อน ถ้าผ่านทฤษฎีก็จะสอบภาคปฏิบัติค่ะ และไปฝึกเก็บคดีแล้วยื่นขึ้นใบได้เลย และสอบเนติบัณฑิตก็จะมีสี่วิชา เรียกว่ามีสี่ขา ขาแรกเป็นอาญา แพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา(วิอาญา) วิธีพิจารณาความแพ่ง(วิแพ่ง) มาสอบในวันเดียว สอบได้ตลอดทั้งชีวิตเลยค่ะ

 

ออกค่ายสอนกฎหมาย

อาจารย์เขาไม่บังคับด้วยสปิริตทั้งรุ่นไปค่ะ ไปสอนกฎหมายให้กับชาวบ้าน พลอยเพิ่งรู้ว่าชาวบ้านที่ไม่รู้ก็คือไม่รู้จริงๆ บางทีเราก็ต้องบอกเขาว่า สมมติจดจำนองหรือว่าเซ็นต์ค้ำประกันใคร อันไหนที่มันเป็นเทคนิคที่ว่าเซ็นต์นะต้องมีนะ ถ้าไม่มีเวลาฟ้องเราจะแพ้เลย เราก็ไปสอนเขาค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะสอนเกี่ยวกับกฎหมายครอบครัวมากกว่า สมมติเราไม่ดูแลเด็กที่เกิดหรือว่าคนแก่เราปล่อยเขาไว้เฉยๆ เราก็ผิดเหมือนกัน ทำให้รู้ว่าเรามีกฎหมายแต่ถ้าเราไม่สนใจก็มีค่าเท่าเดิม กฎหมายมันเข้าไม่ถึงทุกที่แน่นอน บางทีเราวาดฝันไว้สวยว่ากฎหมายจะช่วยคนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเราไปถึงที่เรารู้ว่ากฎหมายมันไม่ถึง สมมติในแบบบ้านนอกมากๆ คนยิงกันตายไม่แจ้งก็ไม่มีใครรู้ คนหายไปเฉยๆ ก็ไม่มีใครรู้ พลอยว่ามันทำให้เราได้เห็น ได้เจออะไรเยอะๆ แบบว่าคณะนี้เป็นอะไรที่เด็ดจริงๆ

พลอย ภัทรากร

 

ชอบเรียนรู้ ละเอียดรอบคอบ

เด็กนิติฯ ต้องเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ชอบออกไปดูนู้นนี่ พลอยเชื่อว่าคนที่สนใจเรียนนิติแล้ว พอได้เรียนก็จะยิ่งรัก ยิ่งชอบเพราะว่าเราจะเจออาจารย์ที่แปลกๆ แล้วเขาจะสอนในสิ่งที่เรามีแบบนี้ด้วยหรอ หนูว่ามันเหมาะกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต้องรอบคอบ ละเอียด สมมติเขียนบทกฎหมาย ถ้าเกิดเราใช้คำผิด ความหมายผิดเลย ภาษาเขียนก็สำคัญ ทำให้เราละเอียดรอบคอบในการใช้คำ คำพูดและคำเขียนด้วย พลอยว่าเป็นการฝึกทักษะดี แค่คำว่า และ หรือ ความหมายก็ไม่เหมือนกัน บางทีเราเขียนไปเรื่อยหรือว่าเว้นวรรคผิด ใช้คำผิด ใช้คำผิดนิดเดียวก็ผิดหมดเลย ให้เรามีความระแวดระวัง รอบคอบในการใช้คำค่ะ

 

ทุกองค์กรต้องการบัณฑิตนิติฯ

มันก็แล้วแต่ว่าสมมติเราเข้าองค์กรแบบเอกชนหรือสำนักทนาย ถ้าเราได้ตั๋วทนายเราก็จะได้ตำแหน่งที่ดีกว่า เงินเดือนที่ดีกว่า เพราะว่าเขาสามารถให้เราไปยื่นฟ้องได้ บริษัทเยอะมาก พลอยว่าทนายไม่ตกงาน ถ้าตามต่างจังหวัดเขาก็จะเปิดสำนักทนายความค่ะ

 

สำหรับอนาคตนักกฎหมาย

สมมติน้องๆ อยู่ม.ปลาย ก็ต้องตั้งใจเรียนและต้องรู้ว่าถ้าเราจะเข้าคณะนี้ต้องใช้วิชาอะไรสอบบ้าง ต้องทำให้เต็มที่ต้องทุ่มให้สุดตัวเพื่อให้ติดคณะนิติศาสตร์ ส่วนเรื่องที่เรียนได้หรือไม่ได้ พลอยเชื่อว่าถ้าเกิดเราเข้าไปอยู่ในจุดสิ่งที่เรารักหรือว่าสิ่งที่เราอยากเรียน และเรามีใจอยากที่จะเรียนรู้คณะนี้จริงๆ รับรองว่าเรียนได้แน่นอนค่ะ

 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งให้การศึกษาทางด้านนิติศาสตร์ ทั้งในด้านนิติศาสตร์โดยแท้และเชิงคุณค่า โดยออกแบบให้ผู้เรียนมีความรู้ มีจริยธรรมและมีความสามารถในการความรู้ทางกฎหมายมาปรับใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม มีจิตสำนึกที่ดีต่อการรับใช้และแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนมีความสามารถในการศึกษากฎหมายในเชิงวิพากษ์ อันเป็นคุณลักษณะของนักกฎหมายที่สังคมต้องการและเป็นการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุคที่กฎหมายมีบทบาทต่อการพัฒนา

 

การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้ โครงการสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ โครงการรับนักศึกษาชาวไทยภูเขา โครงการสอบคัดเลือกบุคคล เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โครงการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนดีเด่นทางการกีฬา โดยทุกโครงการรับทั้งนักศึกษาทั้งสายวิทย์และสายศิลป์

 

http://www.law.cmu.ac.th/

Tags
Posted by
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us