เรื่อง: อรชุมา มีวงศ์อุโฆษ
ครูตำรวจต้านยาเสพติด
ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจของ ด.ต. ภาสกร ยี่โถหุ่น กว่า 20 ปี มุ่งเน้นเรื่องการป้องกันยาเสพติด ภายใต้นโยบายสร้างชุมชนเข้มแข็ง ด้วยความขยัน เสียสละ อดทนเพื่อเยาวชนอย่างไม่สิ้นสุด ดาบตำรวจภาสกรได้รับการยกย่องในฐานะครู และยังได้รับตำแหน่ง “ครูตำรวจดีเด่นประจำปี 2557” แห่งชุมชนเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ของ โครงการ D.A.R.E ประเทศไทย ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการ
โครงการ D.A.R.E. สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด
D.A.R.E. ย่อมาจาก Drug Abuse Resistance Education หมายถึง โครงการการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน เป็นหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา ให้ข้าราชการตำรวจนำไปสอนนักเรียนระดับ ป.5-6 ซึ่งเป็นช่วงวัยก่อนเสี่ยง คำว่า DARE ยังแปลว่าความกล้าตัดสินใจกระทำในสิ่งที่ดี และความหมายสุดท้ายคือ รูปแบบการตัดสินใจแบบ D.A.R.E. คือ Define (ระบุปัญหา) Assess (ประเมินทางเลือก) Respond (ตัดสินใจเลือก) Evaluate (ประเมินผล) ซึ่งเป็นรูปแบบการตัดสินใจที่นักเรียนต้องใช้ในทุกสถานการณ์ เช่น ถ้ามีเพื่อนมาชวนสูบบุหรี่ เขาต้องรู้จักประเมินทางเลือกว่ามีกี่ทาง เช่น สูบตามเพื่อน ปฏิเสธ เตือนเพื่อน เดินหนี ให้เด็กได้มีเวลาประเมินผลว่าถ้าเลือกสูบจะเกิดผลอะไรตามมา ถ้าคิดว่าไม่ดี ก็กลับไปดูทางเลือกอื่น
กว่าจะเป็นครูตำรวจ D.A.R.E.
ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนสูบบุหรี่และไม่เคยสอนนักเรียนมาก่อน แต่พอมาอบรมตามหลักสูตร 9 วันแบบเข้มข้น ผมเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาดเพราะอยากเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก การอบรมช่วงแรกจะเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กทั้งทฤษฎีสมอง การตั้งคำถาม เด็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยชอบครูที่คอยจับผิดหรือคอยห้าม เราก็จะไม่ใช้คำว่าผิดกับเด็ก เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะของครูตำรวจ D.A.R.E. ที่ดี เช่น ตรงต่อเวลา แต่งกายสุภาพ พูดจาเรียบร้อย สามารถทำกิจกรรมกับเด็กอย่างไม่น่าเบื่อ ไม่ดุ ไม่แข็งกร้าว การเป็นครูตำรวจยังสามารถลดภาพพจน์ที่น่ากลัวของตำรวจในสายตาประชาชน ทำให้ตำรวจดูอ่อนโยนมากขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเรียกผมว่าครู ไม่เรียกว่าดาบตำรวจ
รูปแบบการสอนโดนใจวัยเสี่ยง
เป้าหมายให้นักเรียนฝึกแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยใช้รูปแบบการตัดสินใจแบบ D.A.R.E. ในห้องเรียนจะมีกล่อง D.A.R.E. ตั้งไว้ให้นักเรียนใส่คำถามที่อยากรู้ พอต้นชั่วโมงก็จะหยิบคำถามมาตอบให้เพื่อนๆ คนอื่นได้ฟังด้วย ต่อมาก็จะทบทวนบทเรียนเพื่อตอกย้ำความเข้าใจ และเริ่มเข้าสู่กิจกรรมของแต่ละบท โดยเน้นสอนเรื่องบุหรี่ เหล้า กัญชา สารระเหย วิเคราะห์โฆษณาแฝงต่างๆ มีการจำลองสถานการณ์ เช่น บุหรี่มีสารพิษกว่า 4,000 ชนิด มีผลกระทบกับร่างกายเราอย่างไรบ้าง
ผลงาน “เรียงความพลิกชีวิต”
การที่ได้ตำแหน่งครู D.A.R.E. ดีเด่น นอกจากการวางตัวเป็นครูต้นแบบที่ดี ผมคิดว่าน่าจะได้รับเลือกจากผลงานที่เป็นที่ยอมรับ คือ “เรียงความพลิกชีวิต” เมื่อปี 2554 ผมสอนนักเรียนที่ รร.วัดหนองโพธิ์ (ศิลปวิทยาคม) หลังจากจบหลักสูตร ผมให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่องสิ่งที่ได้จากโครงการ D.A.R.E. ปรากฏว่ามีเด็ก ป.5 เขียนว่าพ่อติดยา โดนจับมาหลายครั้งจนต้องไปบำบัดถึงเลิกได้ พ่อแข็งแรงขึ้น เด็กบอกพ่อว่าหนูจะเป็นตำรวจ จะไม่ให้มียาเสพติดในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีร่างกายที่แข็งแรงเหมือนพ่อ แต่หลังจากนั้นพ่อเด็กถูกจับข้อหาเสพยา ส่งตัวมาที่ สภ.กำแพงแสน ผมจึงนำเรียงความฉบับนั้นไปให้พ่อเด็กอ่านในห้องขัง เขาทรุดตัวลงนั่งร้องไห้ หลังจากนั้นพ่อเด็กก็ประพฤติตัวดีขึ้น สามารถเลิกยาบ้าได้ และยังเก็บเรียงความของลูกติดตัวไว้เสมอเพื่อเตือนใจ ผมถึงกับอึ้งและดีใจกับสิ่งที่ได้ทำ
ดูแลซึ่งกันและกันเพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด
ยาเสพติดมีหลายชนิด ยารักษาโรคหรือของใช้ใกล้ตัวในบ้านก็กลายเป็นยาเสพติดได้ถ้าเสพผิดวิธี พวกน้ำยาลบคำผิด น้ำยาล้างเล็บของแม่ น้ำมันเบนซิน ก็เป็นสารระเหย ถ้าในกระเป๋าลูกคุณมีลิควิดเปเปอร์มากกว่าหนึ่งอันก็ผิดสังเกตแล้ว ยาพาราเซตามอลในบ้านเอามาบดเป็นผง โรยยาเส้น สูบเข้าร่างกายก็เป็นยาเสพติด ตรงนี้เป็นจุดเริ่มไปสู่ไปยาเสพติดที่ร้ายแรงกว่า ผู้ปกครองต้องรู้วิธีดูแลคนในครอบครัว สอนเด็กให้รู้จักสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้ห่างไกลจากยาเสพติดเสียก่อนว่ายาเสพติดมีโทษและพิษภัยอย่างไร คนใช้ยาไม่สามารถมีอนาคตที่ดีได้ เสียเงินเสียทอง เสียครอบครัว เสียชุมชน สังคมและประเทศชาติ แล้วจึงแนะนำให้เขามีส่วนช่วยในการเป็นแกนนำเพื่อชักชวนเพื่อนคนอื่นๆ ทำตามต่อไป สำหรับผู้ติดยา อยากฝากให้คนรอบข้างให้โอกาส ให้กำลังใจ พูดในส่วนดีๆ ของเขาบ้าง เพื่อให้เขากลับมาเป็นคนดีของสังคมได้ต่อไป
“เราสอนเด็กให้รู้จักสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้ห่างไกลจากยาเสพติดเสียก่อน”
ด.ต. ภาสกร ยี่โถหุ่น
ชมสื่อโทษและพิษภัยของยาเสพติดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คลิกที่นี่