Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ดร.วิทิต รัชชตาตะนนท์ : หลักสูตรบ่มเพาะชีวิต

  Favorite
วิถีชีวิตหนึ่งวันในโรงเรียนปัญญาประทีป

เรื่อง: อรชุมา มีวงศ์อุโฆษ


ท่ามกลางกระแสสังคมที่มุ่งเน้นความเป็นหนึ่งทางด้านวิชาการ ยังมีมุมมองหนึ่งที่เห็นว่าการปลูกฝังสิ่งที่ดีงามในจิตใจเด็กคือสิ่งสำคัญกว่า นี่คือที่มาของ “หลักสูตรบ่มเพาะชีวิต” ของโรงเรียนปัญญาประทีป โดย ดร.วิทิต รัชชตาตะนนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งได้เล่าถึงเจตนารมณ์การสั่งสอนให้เด็กพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข และทำประโยชน์ให้สังคม ซึ่งจะเป็นวิถีทางสำคัญในการสร้างสังคมแห่งความสงบสุข โดยมีเหล่าครูและผู้ปกครองเป็นกัลยาณมิตรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ 

ปัญญาประทีป โรงเรียนวิถีพุทธระดับมัธยม

โรงเรียนปัญญาประทีปเป็นโรงเรียนวิถีพุทธระดับมัธยม โดยใช้หลักสูตรบ่มเพาะชีวิต แรกเริ่มนั้นเรามีโรงเรียนทอสี เป็นโรงเรียนวิถีพุทธสำหรับระดับอนุบาลและประถม โดยหลังจากจบ ป.6 นักเรียนก็จะแยกย้ายกันไป ทางผู้บริหารเห็นว่าควรมีการบ่มเพาะนักเรียนอย่างต่อเนื่อง จึงคิดก่อตั้งเป็นโรงเรียนประจำระดับมัธยม ซึ่งจะสามารถฝึกหัดขัดเกลานักเรียนได้อย่างเต็มที่ โดยได้รับความเห็นชอบจากพระอาจารย์ชยสาโร กรรมการที่ปรึกษาโรงเรียนทอสี จึงได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิปัญญาประทีปที่ไม่แสวงหาผลกำไร และสามารถระดมทุนเข้ามาจากสาธารณะด้วย โดยคุณทอสี สวัสดิ์-ชูโต ก็ช่วยระดมทุนและบริจาคที่ดินประมาณ 82 ไร่ ที่ปากช่องให้มูลนิธิ และมูลนิธิก็มาตั้งโรงเรียนที่นี่

วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิ มี 3 ประการ คือ  1. ต้องการที่จะสนับสนุนการศึกษาที่ใช้หลักของพระพุทธศาสนามาเป็นตัวนำ 2.สนับสนุนในการเผยแผ่สื่อธรรมะและการปฏิบัติธรรม 3.สนับสนุนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน กิจกรรมบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งวัตถุประสงค์ทั้งสามประการนี้โรงเรียนปัญญาประทีปเองก็น้อมรับเข้ามาด้วย

หลักสูตรบ่มเพาะชีวิต

หลักสูตรของการบ่มเพาะพุทธปัญญา เราเรียกง่ายๆว่า สองนอก สองใน สองระดับ
สองนอก นอกที่หนึ่ง เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก คือสอนให้เราเป็นคนที่กิน อยู่ ดู ฟังเป็น นอกที่สอง เป็นการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านสังคม การสื่อสารกับคนรอบด้านกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย อย่างที่เรียกว่าสันติ

สองใน ในที่หนึ่ง คือเรื่องของการพัฒนาให้เราเป็นสุขได้ง่ายๆ และก็สุขเป็น  ไม่ใช่ว่ามีเงินทองมาก และจะสุขง่ายสุขเป็น เพราะถ้าเราไม่เข้าใจปัจจัยเหล่านี้ เราก็จะกลายเป็นทาสของมัน ส่วนสองใน เป็นเรื่องของการพัฒนาความคิด สอนให้คิดเป็น สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ คิดให้ได้ประโยชน์ คิดวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของพุทธปัญญา

สองระดับ วิถีพุทธของเรามีนักเรียนสองระดับ ได้แก่ ระดับนักเรียน และระดับนักศึกษา คือ ครูและผู้ปกครอง เพราะตราบใดที่เรายังไม่บรรลุอรหันต์เราต้องเป็นนักศึกษาไปตลอดชีวิต ศึกษาในการที่จะพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตของเรา ถ้าเป็นครูก็ต้องหมั่นศึกษาที่จะสอนเก่งขึ้น มีจิตวิทยา มีศิลปะในการสื่อสาร หรือถ้าเป็นผู้ปกครอง ก็ต้องศึกษาที่จะเป็นพ่อแม่ที่ลูกสามารถเข้าถึงได้ เป็นกัลยาณมิตรที่ดี พุทธศาสนาบอกว่าชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาอยู่ตลอด การศึกษาไม่ใช่ว่าต้องอ่านแต่หนังสือ แต่หมายถึง สิกขา คือ การที่เราพัฒนาตัวเราเองให้เป็นคนที่เก่งขึ้น ดีขึ้น มีความสุขได้ง่ายขึ้น

การเปลี่ยนค่านิยมที่เน้นการแข่งขันด้านวิชาการ

เราต้องชี้แจงกับผู้ปกครองว่า โรงเรียนทั่วๆไปที่เน้นหลักในเรื่องของวิชาการเพื่อที่จะได้ไปสอบ ได้ไปเข้าสถาบันการศึกษาที่ดีขึ้น เรามองว่าแค่นั้นมันยังไม่พอ ถ้าชีวิตมีอยู่แค่นั้น จะลำบากแน่ เพราะว่าความรู้ทางวิชาการต่างๆมันไม่ได้หยุดนิ่ง ถามว่าวิชาการเหล่านี้มันเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเราจริงๆแค่ไหน ผมคิดว่าเปอร์เซ็นต์ส่วนนี้มันน้อย ดังนั้น เราจะต้องฝึกทั้งในด้านกาย เรื่องของการกิน การอยู่ และการที่ผู้ปกครองกับนักเรียนมาสมัครก็จะต้องมีการทดสอบให้แน่ใจว่า เราลงเรือลำเดียวกัน เรามีทิศทางเดียวกัน เพราะถ้าเข้าใจไม่ตรงกัน งานของเราก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ปกครองและเด็กก็ไม่มีความสุข

หลักสูตรที่เน้นเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ กับ พุทธศาสนา

นอกจากหลักสูตรของการบ่มเพาะพุทธปัญญา เราก็ยังมีลักษณะของการบูรณาการระหว่าง วิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ที่ต้องไปด้วยกัน คือเราจะไม่มองว่าจะต้องวิชาการอย่างเดียว การฝึกทักษะในเรื่องของวิชาชีพ เราก็ให้ด้วย ส่วนวิชาชีวิต มันไม่ใช่วิชาใดวิชาหนึ่ง มันเป็นเรื่องการฝึกทักษะการใช้ชีวิตของตัวเองและคนรอบข้าง มันจะแทรกเข้าไปอยู่ในเนื้อหาสาระของเรื่องต่างๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น เช่น ถ้าจะฝึกให้เขาพึ่งตัวเองได้ อยู่ในหอพักเขาก็ต้องดูแลห้อง ดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบ ทุกๆเรื่องมันเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ส่วนการสวดมนต์ การนั่งสมาธิ เป็นเรื่องของการฝึกให้เขาคุ้นเคยกับความสุขที่มาจากความสงบ เป็นความสุขที่ไม่ต้องมาจากการกระตุ้นอย่างพวกการเล่นเกมต่อสู้ที่ทำให้เราตื่นเต้น

การบูรณาการระหว่างวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต

กิจกรรมการสอนวิชาชีวิต เช่น ชวนไปดูภาพยนตร์ ไม่ใช่ว่าดูเพื่อความสนุกอย่างเดียว  แต่จะดูแล้ววิเคราะห์และโยงถึงเรื่องของชีวิตของเขาได้ พร้อมกับเรียนรู้เรื่องของสื่อ เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ แล้วเราก็เอามาคุยกัน มาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์กัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม  วงกลมของกัลยาณมิตร สัปดาห์ละครั้ง เราจะมานั่งคุยกัน โดยสร้างเป็นวัฒนธรรมของเราขึ้นมา เรียกว่าสมาทาน ภาวนาต่อกัน ใครทำอะไรไม่ดี ไม่ควร คนอื่นสามารถตักเตือน แนะนำได้ มีอะไรก็ขอโทษ ขออโหสิกรรมกัน

ส่วนการวัดผล ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะมาสอบกัน มันเป็นเรื่องที่เราต้องสังเกต เช่น ครูหรือเพื่อนเดินถือของหนัก ถ้าเราเดินผ่านไปเฉยๆ อย่างนี้ก็ประเมินวิชาชีวิตได้  เรามีคุณธรรม 12 ประการที่เราสอนเด็ก เช่น ความเสียสละ ความอดทน การรู้จักพอ  ซึ่งจะอยู่ภายใต้กรอบของภาวนาจิตทั้งด้านกาย ศีล จิต ปัญญา คุณลักษณะเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การสอนดำนาปลูกข้าว ซึ่งเราจะทำกันเป็นประจำ แดดอาจจะร้อน น้ำก็ไม่ค่อยมี ซึ่งเป็นการฝึกความเพียร ความอดทน เป็นต้น เพราะฉะนั้นเรื่องของการประเมิน ครูเองก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ครูทุกคนต้องมีความเข้าใจใกล้เคียงกัน คอยช่วยกันเตือนเด็ก เตือนตัวเองด้วย ครูเองก็จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนด้วย 

ครูและผู้ปกครองต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดี 

พระอาจารย์ชยสาโรได้มอบหลักไว้ว่า เราไม่ได้สอนสิ่งที่เรารู้ แต่เราสอนว่าตัวเราเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นครูของเราต้องมีความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง มีความศรัทธาในสิ่งที่เราทำ เป็นตัวอย่างที่ดี มีปัญญา มีปริญญา รู้จักคิด รู้จักกาลเทศะ การปฏิบัติธรรมจะเสริมให้คุณครูและผู้ปกครองสามารถปฏิบัติตัวอย่างกลมกลืนกับการศึกษาของเรา มีความสงบ ความมุ่งมั่น มีสมาธิดี ในแต่ละปีจะจัดให้มีการปฏิบัติธรรม 10 กว่าครั้ง ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองว่าจะต้องมาอย่างน้อยหกครั้ง

หลักในการปลูกฝังคุณธรรมให้วัยรุ่น 

ผมคิดว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังสูง ขณะเดียวกันในเรื่องของสติสัมปชัญญะบางทีดึงไว้ไม่ทัน ในเรื่องของอารมณ์ก็จะค่อนข้างแรง เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่รอบข้างต้องมีความอดทน พยายาม ผมก็ต้องมีความพยายามอย่างสูงที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้กับเด็ก ให้เด็กเห็นว่าเราเป็นเพื่อนที่ดีกับเขา เราคิดแต่สิ่งดีๆให้กับเขา พร้อมที่จะเข้าใจ รับฟัง ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ไม่ใช่ว่าพร้อมที่จะไปจับผิด ลงโทษ เอาเรื่องตลอดเวลา ในขณะเดียวกันถึงแม้เราจะมีความเมตตากรุณา แต่ก็ต้องประกอบไปด้วยปัญญา ว่าสิ่งที่เราแนะนำ สิ่งที่เราทำกับเขามันเป็นไปเพื่อวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าเราตามใจเขาเพื่อให้เขาได้ใจแล้วค่อยไปสั่งสอนกันทีหลัง อันนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นกัลยาณมิตร ในขณะเดียวกันเราจะต้องรู้ว่าทิศทางเป้าหมายของเราจะพาไปในทางที่เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ใช่ว่าตามใจไว้ก่อนเพื่อจะได้เป็นเพื่อนกันให้ได้ใจเขา แต่จะต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาเคารพตัวเอง เขามีความศรัทธาในความคิดความอ่านของเขา ให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง เด็กบางคนเหมือนกับถูกกระทำจนรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ก็เลยจะเอามาในแนวประท้วงสังคม มีการต่อต้าน ก็จะเยียวยาได้ยากกว่าเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่ผู้ใหญ่คอยสนับสนุนคอยส่งเสริมไปในทางที่ถูกที่ควร


"ควรทำให้เด็กรู้สึกเคารพตัวเอง มีความศรัทธาในความคิดความอ่านของเขา ให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง"

                                                                                                              ดร.วิทิต รัชชตาตะนนท์

กิจกรรมต่อสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน 

นักเรียนปัญญาประทีปฝึกหัดผลิตอิฐบล็อกประสานที่โรงเรียน

การเรียนรู้กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนปัญญาประทีปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

 

 

 

 

Tags
Posted by
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us