Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Alumni : เฟิน ระชิตา ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตร

  Favorite

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

 

“อาจารย์เคยพูดไว้ว่าอะไรที่ทำแผนที่ได้เป็นภูมิศาสตร์หมด” การพูดคุยเรื่องภูมิศาสตร์กับรุ่นพี่ซีเนียร์ เฟิน-ระชิตา โชติธรรมรัตน์ นักศึกษาภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ทำให้เรารู้จักภาควิชาภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นเพียงการท่องจำว่าแต่ละจังหวัดมีลักษณะอะไรบ้าง แต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบนผืนโลก หรือแม้แต่อวกาศก็มีส่วนสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์อย่างแยกจากกันไม่ได้

เริ่มจากความชอบและศึกษาข้อมูลมาพร้อม
เฟินเป็นคนชอบเรียนวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ ช่วงแอดมิชชั่นก็หาข้อมูลเจอภาควิชาภูมิศาสตร์ที่เปิดรับตรงอยู่ วิชาเรียนก็น่าสนใจ มีภูมิศาสตร์กายภาพ มนุษย์ เหมือนจะได้เรียนเกี่ยวกับโลกของเรา ของเกษตรจะได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิตด้วยค่ะ

หลักสูตรภูมิศาสตร์
ภูมิศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 เนื้อหา คือกายภาพ เรียนเกี่ยวกับโลก ธรรมชาติ ธรณี มนุษย์ เรียนเกี่ยวกับมนุษย์ เทคโนโลยี การตั้งถิ่นฐาน การพัฒนาของมนุษย์ และสุดท้ายคือเทคนิค หรือเรียกว่าแล็บ จะเรียนคอมพิวเตอร์เทคนิค เป็นโปรแกรมเฉพาะที่เราใช้กันในนักภูมิศาสตร์ เช่น พวกGPS ดาวเทียม Remote Sensing

ปีหนึ่งก็ต้องเรียนปูพื้นฐานก่อน เช่นวิชาที่เรียนแบบบูรณาการในมหาวิทยาลัย คอมพิวเตอร์ก็เรียนในเทอมหนึ่ง แต่ก็เริ่มเรียนภูมิศาสตร์พื้นฐาน อย่างเช่นภูมิศาสตร์มนุษย์ เพราะอะไรมนุษย์ถึงรวมกัน พอเทอมสองค่อยเป็นภูมิศาสตร์ประเทศไทยว่าแบ่งเป็นอย่างไร จังหวัดอะไร มีอะไรเด่น ภาคไหนอะไรอย่างไร แต่ก็ไม่ลึกมาก เรียนคำนวณควบคู่ไปด้วยเพราะว่าเรามีวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต ก็ต้องเรียนแคลคูลัส สถิติด้วยแต่ไม่มาก ปีสองก็เริ่มศึกษาเรื่องการอ่านแผนที่ การทำแผนที่ ยิ่งปีสามก็จะเริ่มเข้าเทคนิคเลย ใช้คอมพิวเตอร์ตลอด เน้นวิจัยค่ะ ตอนนี้ปีสี่ก็เน้นไปที่การวิเคราะห์และวิจัยอย่างจริงจังค่ะ

ออกฟิลด์ลงพื้นที่จริง
มีทุกเทอมค่ะ เริ่มปีหนึ่งเทอมสอง จากนั้นมาก็แล้วแต่แล้วว่าวิชาที่เราเลือก บางคนไม่ชอบออกฟิลด์ก็เลือกวิชาที่เรียนในห้อง ตอนปีสามเฟินเลือกเรียนภูมิศาสตร์การเกษตร ก็จะลุยๆ นั่งรถไฟไปเชียงใหม่ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ อาจารย์ให้ไปดูเรื่องเศรษฐกิจแบบพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงก็เข้าใจว่ามันดี แต่พอได้ไปเห็นพวกคุณป้าคุณลุงที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงแบบจริงจัง ระบบจริงๆ มันเป็นอย่างไร มันน่าสนใจมากและรู้สึกว่าอยากให้คนอื่นได้รู้บ้าง การออกฟิลด์หลายๆ ที่ทำให้ได้ประสบการณ์แตกต่างกันค่ะ

ฝึกงานลงแผนที่
ฝึกช่วงปีสามเทอมสอง เฟินฝึกที่ GISTDA (สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) ที่นี่เน้นด้านเทคนิคเต็มๆ เลย เฟินมีหน้าที่อัพเดทสถานที่สำคัญในแต่ละจังหวัด ซึ่งจังหวัดหนึ่งมีเป็นพัน ก็นั่งจุดไป ต้องเปิดภาพดาวเทียมดู เห็นภาพดาวเทียมเสร็จซูมลงมาเห็นหลังคาแดงๆ เราก็ต้องใช้ประสบการณ์ เช่น โรงเรียนก็จะเห็นหลังคาเป็นแถวแนวอาคารเรียน และถ้าเห็นสนามรอบๆ ด้วยอันนี้โรงเรียนแน่ ยังไม่พอ ถ้ายังไม่มั่นใจก็ต้องเปิดดูในแผนที่จริง ต้องซ้อนแผนที่ที่ทำไว้แล้วกับแผนที่ที่เป็นภาพถ่ายที่ยังไม่มีใครตรวจสอบ เราก็นั่งจุดทุกโรงเรียน จุดทุกพื้นที่ ตาลายก็นั่งทำเพราะต้องอัพเดทข้อมูลค่ะ อย่างเพื่อนบางคนทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เช่น เรื่องน้ำท่วม ต้องดูว่าก่อนน้ำท่วมพื้นที่เป็นอย่างไรและหลังน้ำท่วมพื้นที่เป็นอย่างไร อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อะไรดีขึ้น อะไรเสียหาย

คุณสมบัตินักภูมิศาสตร์
ต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัย ตั้งข้อสงสัยได้ว่ามันมาอย่างไร ทำไมเป็นแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นอย่างไร เพราะเราเรียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ มนุษย์กับมนุษย์ เรียนความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโลกค่ะ

ตลาดงานพร้อมเปิดรับ
ตอนนี้การแข่งขันต่ำมาก องค์กรรับเยอะ ราชการตอนนี้ก็ไม่ใช่ราชการแบบนั่งโต๊ะ แต่จะออกภาคสนาม เฟินไปฝึกงานที่ GISTDA เงินเดือนสูงนะคะ ข้อมูลต่างๆ ไม่ได้ขายอย่างเดียว ข้อมูลเรื่องน้ำท่วมก็ต้องทำเพื่อคนอื่นด้วย สมัยนี้โลกเราเปลี่ยนแปลงปุบปับ ภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญมาก นักภูมิศาสตร์ภัยพิบัติยังขาดคนอยู่เยอะ

นักภูมิศาสตร์รุ่นใหม่แห่งเกษตรศาสตร์
ทุกคนจะเข้าใจว่าภูมิศาสตร์ต้องนั่งจำ ซึ่งไม่ใช่ภูมิศาสตร์ เราเรียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ใครที่สนใจเรื่องมนุษย์ เราก็จะได้เรียนว่ามนุษย์มาอย่างไร ถ้าใครไม่ชอบเทคนิคเราก็มีงานวิจัยหลายอย่าง เช่น การกระจายตัวการขยายตัวของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกัน คือเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคแต่ละสมัย และเอาความเปลี่ยนแปลงนั้นมาแก้ไขและพัฒนาต่อไปโดยใช้เทคนิคต่างๆ หรือใช้การวิเคราะห์

ภาควิชาภูมิศาสตร์ ของ ม.เกษตร ถึงเรียนแบบวิทยาศาสตร์ อย่างเฟินก็เรียนสายวิทย์มา แต่สายศิลป์ก็เรียนได้นะคะ เพราะว่าเข้ามาเราก็ต้องปรับตัวใหม่หมด เลขก็ต้องมาเริ่มใหม่หมด ใครมีพื้นฐานดีก็สามารถต่อยอดได้ง่าย เข้าใจง่ายค่ะ

 

 

ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตผู้มีความรู้รอบในสาขาวิชาภูมิศาสตร์และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก รวมถึงการค้นคว้าวิจัยทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

การคัดเลือกเข้าศึกษามี 2 ระบบ คือ ระบบแอดมิชชั่นและการสอบตรง (ภาคพิเศษ) ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี

http://geo.soc.ku.ac.th/index.html

Tags
Posted by
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us