เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
กว่าจะเป็นข่าวออกสู่สายตาประชาชน ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายรวมไปถึงการผลิต “นักสื่อสารมวลชน” ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในการลงสนามข่าว คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสู่แวดวงสื่อสารมวลชนมาไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือนักข่าวสาวสวยแห่งทีมข่าว 3 มิติ ทราย-โศธิดา โชติวิจิตร
ชอบงานเบื้องหลัง
เป็นเพราะว่าชอบทำอะไรเกี่ยวกับโปรดักชั่นมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นตัดต่อ เขียนสคริปท์ ทำหนังเล็กๆ ของตัวเองตั้งแต่เรียน ม.3 ตั้งแต่ยังเป็นเครื่องตัดต่อแบบกด forward rewind แบบนี้ค่ะ พอโตขึ้นมาก็ฝังใจว่าต้องการเรียนคณะที่ได้ทำเบื้องหลัง และวารสารก็ค่อนข้างให้เราได้ลุยลงเบื้องหลังจริงๆ แบบที่ตัวเองอยากจะทำ
การเรียนที่เน้นการทำงานจริง
คณะวารสารมีทั้งหมด 6 เอก ทรายเรียนวิทยุโทรทัศน์ โฆษณา ภาพยนตร์ ประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ และบริหารสื่อ เลือกวิชาเอกได้ตอนปีสองเทอมหนึ่งโดยไม่ต้องใช้เกรดเฉลี่ย เลือกเองตามใจชอบ อย่างเอกวิทยุโทรทัศน์จะเน้นการเขียนข่าวเป็นหลัก และได้จับอุปกรณ์จริง ผลิตรายการจริง ทุกคนได้เป็นทุกตำแหน่งหน้าที่ที่อยากจะเป็น ไม่ว่าถือกล้อง เป็นสเตจ จัดไฟ มีเรียนทฤษฎีจัดไฟ อันนี้ชอบมากเพราะคงหาไม่ได้ที่ไหนแต่อาจารย์สอนให้ ภาพอยู่ซ้าย บรรยายขวา คำสั่งอยู่ตรงกลาง ทรายว่าถ้ารักที่จะทำข่าวหรือผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ วารสารตอบโจทย์เพราะเราจะได้เรียนรู้ทุกอย่างจริงๆ
ละครเวทีวารสาร
ปีสี่จะมีกิจกรรมใหญ่ที่ทุกคนร่วมมือกันคือละครเวทีคณะ นำโดยปีสี่ แต่น้องๆ ทุกปีจะได้ช่วยกัน ทีนี้อะไรก็ตามที่เรียนมาไม่ว่าจะเป็นเขียนบท จัดไฟ เขียนสคริปท์ ออกแบบคาแร็กเตอร์ กำกับ ทุกคนได้ทำด้วยกันหมด ใช้ระยะเวลาประมาณหกเดือนที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ให้มันออกมาสู่สายตาสาธารณะชนจริงๆ เป็นผลงานสุดท้ายก่อนที่เราจะออกไปทำงานในชีวิตจริงค่ะ สนุกมาก
การฝึกงานกับสำนักข่าวระดับโลก
ที่วารสารมีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่งชื่ออาจารย์อรทัย ท่านบอกตั้งแต่เข้ามาเลยว่าวารสารมีความร่วมมือกับ BBC กับ NHK ตอนนั้น
ทรายสนใจ NHK เพราะเคยไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นมาและพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ก็บอกอาจารย์ไว้ตั้งแต่ปีสอง อาจารย์เลยแนะนำ
ให้ทรายเรียนวิชาพื้นฐาน คอยดูเกรดให้ได้ประมาณ 3 และพิจารณาความสามารถที่จะไปอยู่ที่นั่นได้เพราะต้องอยู่คนเดียว
จนถึงปีสามเราก็ได้ไปฝึกงาน NHK Bangkok ก่อน แล้วอาจารย์ก็ส่งไป NHK Tokyo ด้วย
ตอนแรกฝึกที่ NHK Bangkok ทรายไม่ได้ฝึกกับคนไทย คนญี่ปุ่นจะทำงานเป๊ะมาก หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้ามข้ามเลยนะ เราเห็นพี่ผู้สื่อข่าวไทยโดนเรียกว่าด่าเลย แต่ก็ได้เรียนรู้เทคนิคการทำข่าวของญี่ปุ่นที่ต่างกับไทย อย่างเช่น ญี่ปุ่นจะเริ่มต้นข่าวด้วยการให้แหล่งข่าวเดินเข้าไปในสถานที่หนึ่ง และเราก็ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วภาษาไทยเรามีคนฟังไม่ใช่น้อยนะ เพราะว่าคนไทยมีอยู่ทั่วโลกทุกประเทศค่ะ ทรายไปอยู่ในสถานีวิทยุ NHK World เขาเอาข่าวภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทยแล้วรายงานในวิทยุ
ทำข่าวในต่างแดน
ทุกข่าวที่เห็นนักข่าวลงพื้นที่ในต่างประเทศ บอกได้เลยไม่มีใครสบายนะคะ เราต้องเหนื่อยกว่าอยู่ในสถานีอีก เพราะคนที่เป็นสปอนเซอร์ให้เราไม่ว่าจะเป็นช่องหรือแหล่งข่าวก็ตามต้องจ่ายเงินเยอะ เขาคาดหวังเยอะ และพอลงพื้นที่เราก็ต้องทำให้ได้มากที่สุดกับเวลาที่จำกัด เรามีช่างภาพคนเดียวไม่มีผู้ช่วย จึงต้องคำนึงด้วยว่าช่างภาพต้องไม่เหนื่อยเกินไปเพราะว่าเราต้องทำงานต่อๆ ไป เพราะฉะนั้นการวางแผนจะไม่ใช่วันเดียวจบเหมือนอยู่ในสถานี แต่เราจะต้องทำข่าวหลายๆ ข่าวซ้อนกันค่ะ
สิ่งสำคัญของอาชีพนักข่าว
ต้องรู้ให้ทันเหตุการณ์ ไปให้เร็ว และรู้ว่าอะไรคือประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ อะไรที่เราต้องการนำเสนอ ต้องไม่หลงประเด็น ถ้าเรายังหลงประเด็นรับรองคนดูดูข่าวเราไม่รู้เรื่อง อย่างที่สองที่ทรายคิดว่าสำคัญคือโปรดักชั่น คือรู้ว่าข่าวคือการรายงานความเป็นจริง แต่ทำอย่างไรให้ข่าวไม่น่าเบื่อล่ะข่าวที่ทำแล้วประทับใจมากที่สุด
ข่าวน้องเคโงะ ประทับใจที่สุดเพราะว่าตอนนั้นเด็กมากเพิ่งทำข่าวแรกๆ เลยแต่กลายเป็นว่าคนจำเราได้จากข่าวนี้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คิดว่าจะแข่งกับใคร ลุยทำในแบบที่ไม่มีรูปแบบ ไม่มีสไตล์ ไม่มีทฤษฎีอะไรทั้งนั้น และที่สำคัญคือน้องเขาได้เจอพ่อด้วย
จากเริ่มแรกที่ได้คุยกับน้อง แล้วโทรไปหาผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรจนได้สูจิบัตรกับทะเบียนสมรสมา แล้วเราก็เป็นคนเอาไป
ยื่นให้สถานทูตญี่ปุ่น เขาก็ให้เราคนเดียวเข้าไปนั่งฟังเพราะเขาคุยกันเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็รู้สึกว่าภูมิใจนะ
ฝากถึงว่าที่รุ่นน้อง
ถึงแม้ว่าจะเป็นคณะที่ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ แต่ตอนแอดมิดชั่นคนแย่งกันเข้าเยอะค่ะ เรียกว่าเข้ายากแต่อยู่สบาย ถ้ารักจะ
อยู่สบายก็ต้องพยายามเข้าให้ได้ แต่พอเข้ามาได้ก็อย่าสบายจนเกินไป ด้วยบรรยากาศของคณะ ประเพณีของรุ่นพี่สบายมาก
อย่างทรายเสียดายมาแล้ว ปีหนึ่งปีสองเกรดน่าเกลียดมาก ต้องมาฟิตเอาตอนหลัง และถ้ารักจะเรียนวารสารต้องรักเบื้องหลังด้วย เราไม่ใช่คณะปั้นดารา ต้องรักที่จะหยิบจะจับจะทำจะลุยไปข้างหน้า
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่เน้นกลุ่มวิชาเฉพาะตามความถนัดและความสนใจทางสื่อสารมวลชน ได้แก่ บริหารการสื่อสาร หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ประชาสัมพันธ์ โฆษณา และภาพยนตร์ นักศึกษาจะได้รับการศึกษาอบรมฝึกฝนทักษะให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนสามารถนำไปใช้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน รวมทั้งมีความเป็นผู้นำและเข้าใจในปรัชญาวิชาชีพ มีจริยธรรมและความรับผิดชอบ อันจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและประเทศโดยส่วนรวม |