Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Alumni : สน-ยุกต์ ส่งไพศาล ศิษย์เก่าวิศวกรรมนาโน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  Favorite

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

              

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า “นาโนเทคโนโลยี” มาเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำมากขึ้น นาโนเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ที่เอื้อประโยชน์มากมายต่อมนุษย์ ภายใต้แนวคิด “ทำสิ่งใหญ่ให้เล็กลงกับทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ขึ้น” การศึกษาเรื่องนี้ในบ้านเราถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโดยมีการเร่งผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับการพัฒนานาโนเทคโนโลยี สน-ยุกต์ ส่งไพศาล พระเอกดังจากค่ายเอ็กแซ็กท์ เป็นอีกหนึ่งผลผลิตป้ายแดงจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมนาโน (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ให้เราฟัง
 

เลือกวิศวกรรมเพราะสอนด้านความคิด
สนเรียนอยู่เตรียมอุดมฯ เด็กสายวิทย์ก็มักเข้าเรียนอยู่สองคณะคือวิศวะกับหมอครับ ตอนแรกผมก็อยากเรียนหมอนะ แต่คิดไปคิดมาเราก็ไม่ได้อยากเรียนเยอะขนาดนั้น ก็วิศวะแล้วกันเพราะคุณพ่อก็อยากให้เรียน วิศวะ สอนความคิด สอนให้คนคิดอย่างเป็นตรรกะ ผมไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับวิศวะจนกระทั่งได้ไปเข้าค่ายวิศวะ ซึ่งเป็นค่ายที่แนะนำรุ่นน้องว่าวิศวะ คืออะไร มีสาขาอะไรบ้าง สนเรียนฟิสิกส์พอได้แต่ไม่ได้ชอบมาก ดังนั้นวิศวะ นาโนจึงเป็นภาคที่น่าจะใช้ฟิสิกส์น้อยที่สุดเพราะจะเน้นหนักไปทางเคมีกับชีววิทยาครับ รุ่นพี่พูดให้ฟังว่านาโนเทคโนโลยีคืออะไร และในอนาคตทุกอย่างก็จะเป็นนาโนหมด เพราะว่าทุกวันนี้เราอยู่ในยุคเทคโนโลยีไมโครคือระดับโครงสร้างโมเลกุล แต่นาโนคือระดับที่เล็กลงไปอีก

สน-ยุกต์ ส่งไพศาลวิศวกรรมนาโนคืออะไร
วิศวกรรมนาโนเป็นภาควิศวกรรมที่ศึกษาลึกเข้าไปในโครงสร้างโมเลกุลของสารครับ อย่างในทุกวันนี้เขาพูดถึงเสื้อนาโน เสื้อนาโนคือเสื้อที่น้ำไม่เกาะ เคยเห็นใบบัวใช่ไหมครับ น้ำจะไม่เกาะใบบัว แล้วทำอย่างไรให้สารที่มันอยู่บนใบบัวไปอยู่ในเนื้อผ้า การทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยให้ไปอยู่ในเนื้อผ้านี่คือนวัตกรรมของวิศวกรรมนาโน นอกจากนี้ยังมีเรื่องยา อุปกรณ์การแพทย์ อย่างยาเราสามารถสร้างเซลล์ที่ผลิตอินซูลินรักษาโรคเบาหวานได้ ผลิตเซลล์ให้อยู่ในแคปซูลแล้วนำไปทิ้งไว้ในกระแสเลือด


ความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์นาโนกับวิศวกรรมนาโน

วิทยาศาสตร์กับวิศวกรรมมีความต่างคือวิศวกรรมเป็นการสร้าง วิศวกรรมโยธาสร้างถนน วิศวกรรมไฟฟ้าสร้างโรงงานไฟฟ้า วิศวกรรมนาโนคือการสร้างอินโนเวชั่นใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับนาโน ส่วนวิทยาศาสตร์คือการค้นคว้า การศึกษาครับ

 

ตลอดสี่ปีต้องเรียนอะไรบ้าง
สาขาที่ผมเรียนเป็นภาคอินเตอร์มีอยู่ 4 สาขาประกอบด้วย วิศวกรรมนาโน (NANO) วิศวกรรมการออกแบบและการผลิตยานยนต์ (ADME) วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (ICE) และวิศวกรรมอวกาศยาน (AERO) ปีหนึ่งจะเรียนพื้นฐานวิศวะทั่วไป เรียนดรออิ้ง แคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี ทุกอย่างเหมือนกับภาคปกติครับ ส่วนปีสองจะเริ่มเรียนอะไรที่เกี่ยวกับนาโนมากขึ้น ก็จะมีวิชาชีวเคมี Micro and Nanofabrication Technology แล้วฝึกงานตอนปีสาม ความจริงผมไปฝึกไม่ตรงภาคครับ คือวิศวะฯ นาโนต้องฝึกในห้องแล็บ ฝึกสังเคราะห์สาร แต่ผมไปฝึกของภาคไออีหรือวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งเป็นสายที่เน้นเชิงบริหารคือการบริหารโรงงาน ผมได้เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างมีหลายขั้นตอน เรียนรู้ว่ามีแผนกอะไรบ้าง แผนก QC QA การสังเคราะห์เครื่องดื่มชนิดใหม่ การผลิต การกรองน้ำ แม้กระทั่งการสร้างขวด เรียนรู้ทุกขั้นตอนกว่าจะออกมาเป็นโปรดักนี้


กิจกรรมของเด็กวิศวะฯ
มีหลายค่ายครับ ไม่มีค่ายไหนที่บังคับ ทุกค่ายเป็นค่ายที่นิสิตสมัครใจเข้ามาร่วมกันเอง ค่ายแรกตอนเข้าวิศวะฯ มาก็จะมีการรับน้องเรียกว่า “ค่ายวิษณุกรรมบุตร” เด็กปีหนึ่งทุกคนจะมารู้จักเพื่อนใหม่ ลำบากด้วยกัน โดนรับน้องโหดๆ เป็นค่ายที่สร้างความรักระหว่างพี่น้องในคณะ มีการทำกิจกรรมด้วยกันและสร้างความเข้มแข็งในคณะของเรา ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ค่อนข้างเป็นคณะที่เข้มแข็งมาก ประกอบกับการที่ในคณะมีผู้ชายเยอะก็จะมีเสียงเฮเยอะกว่าคณะอื่นเวลาไปเชียร์กีฬาครับ และก็มีค่ายอื่นๆ อย่างค่ายยุววิศวกรบพิตร ค่ายลานเกียร์เป็นค่ายที่ไปสร้างสะพาน สร้างโรงเรียนให้เด็กด้อยโอกาส คือเขามีทุกปีครับแต่ผมไม่เคยได้ไปเลย ติดถ่ายละคร เลยได้แต่ส่งกำลังใจไปให้เพื่อนๆ

สน-ยุกต์ ส่งไพศาลคุณสมบัติของเด็กนาโน
บอกเลยว่าคนที่ไม่ชอบเคมีและชีววิทยาอาจเรียนไม่ได้ สายวิทย์ตอนเรียน ม.ปลายมีสามวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ต้องชอบหมดครับ เป็นสาขาที่ค่อนข้างหนัก เรียนเยอะมากกว่าสาขาอื่น คือช่วงปีต้นๆ จะมีแล็บฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาธรรมดา ช่วงหลังจะเป็นการประยุกต์ใช้ประกอบกันหมดระหว่างฟิสิกส์กับเคมี อย่างชีววิทยาผมเรียนเกี่ยวกับการลำเลียงสารเข้าไปในร่างกายโดยยาชนิดใหม่ๆ สมมติว่าเราผลิตพาราเซตามอลชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ 12 ชม. ทำอย่างไรก็ได้ให้ฤทธิ์ยาอยู่ในร่างกายเรา 12 ชม. โดยไม่ต้องกินบ่อยๆ ประมาณนี้ครับ

นำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน 
สิ่งที่สนได้มาจากปริญญาตรีวิศวะฯ จุฬา คือความคิด ซึ่งความคิดของเด็กวิศวะ ความคิดจะเป็นระบบ ระเบียบมากกว่าเพราะว่าเราต้องทำโจทย์ต้องแก้ปัญหาเยอะ ซึ่งมันเปลี่ยนความคิดจริงๆ ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมแต่อยู่ดีๆมันก็เปลี่ยนไปเอง ความคิดของเราจะเน้นตรรกะ คือถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด โอเคอาจจะเป็นคณะที่ค่อนข้างตรงๆ อย่างเวลาเราทำโจทย์ คณะอื่นให้อธิบายว่ากลอนนี้มีความสัมพันธ์อะไรกับบทเรียน คือคนก็สามารถเขียนไปได้ใช่มั้ยครับ มีคำตอบที่ถูกหลายอันแต่คณะของเราไม่ใช่ คำตอบที่ถูกมีอันเดียวคือต้องเขียนให้ถูก ซึ่งค่อนข้างจะปรับความคิดของเราให้เป็นเด็กวิศวะครับ
 

วิศวะนาโนสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
ผมว่าทำได้ทุกอาชีพนะครับเพราะว่าความคิดของเรา เราทำอะไรยากๆ มาแล้ว ผมเชื่อว่าทำอย่างอื่นคงไม่ยากเกินเรียนวิศวะครับ หมายความว่าถ้าเราจะไปเรียนต่อบริหารหรือว่าเรียนต่ออะไรก็ตาม ก็คงไม่ยากเกินความสามารถของพวกเราครับ 
 

วิทยาศาสตร์ให้อะไรกับสังคมหรือมีประโยชน์กับเราอย่างไรบ้าง
คือทุกอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นอะไรที่เกิดจากการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์หรือว่าการผลิตโดยวิศวกรรมนะครับ คือมันต้องถูกสร้างขึ้นมา ถ้าเราไม่มีวิศวกรใครจะสร้างบ้านคุณ การที่เราเรียนวิศวะมาเป็นการเพิ่มความสามารถในการสร้างสรรสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกของเราครับ
 

              


ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจวิศวกรรมนาโน
อยากให้ตั้งใจเรียน ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เลข ต้องเอาให้หมดสี่วิชาหลัก ต้องโฟกัสอย่างหนัก และภาคนาโนที่จุฬาฯ เป็นภาคอินเตอร์เพราะฉะนั้นภาษาอังกฤษคุณต้องได้ด้วย คือต้องครบทุกวิชาจริงๆ ครับ คุณพยายามให้ดีที่สุด ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอนาคตคุณอยากทำอะไร ถ้าคุณอยากทำเกี่ยวกับวิศวะจริงๆ คุณจะต้องหาวิถีทางที่จะเดินไปจุดนั้นให้ได้โดยการตั้งใจเรียนให้ดีเท่านั้นเองครับ

 

สาขาวิชาวิศวกรรมนาโน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน โดยศึกษาเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีในการนำความรู้ไปประยุกต์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณสมบัติวัสดุเดิมให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน เช่น โละหะ พลาสติก เซรามิก โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย

สามารถสมัครสอบคัดเลือกได้ 2 วิธี คือการสอบตรง ในเดือนกุมภาพันธ์ และการสอบคัดเลือกโดยใช้คะแนนแอดมิชชั่น

http://www.ise.eng.chula.ac.th

 

Tags
Posted by
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us