เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: อรชุมา มีวงศ์อุโฆษ
ภาพที่สังคมมองติวเตอร์หรือครูสอนพิเศษว่าเป็นเพียงผู้ชี้เส้นทางลัดสู่ความสำเร็จ หากในความเป็นจริงบทบาทของติวเตอร์ไม่ต่างกับครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาในโรงเรียน และยังมีจิตวิญญาณของความเป็นครู สั่งสอนอบรมให้ศิษย์เป็นคนดีในสังคม คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ แห่งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ “คุณครูสมศรี” อุทิศเวลาเกือบ 30 ปีในการปลูกฝังทั้งวิชาการและคุณธรรม และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์หรือกระทั่งติวเตอร์รุ่นใหม่ได้เดินรอยตาม
ความชื่นชอบในวิชาภาษาอังกฤษเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด
จริงๆ แล้วไม่เก่งสักวิชา แต่เมื่อเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้เจอครูผู้ยิ่งใหญ่คือ ศ.ดร.เฉลิมศรี จันทร์อ่อน ท่านสะกิดให้เห็นว่าเราไม่ได้ไม่ฉลาด เราเรียนวิชา American & British Novel งานเขียนที่ส่งให้อาจารย์ไวยากรณ์อาจจะผิดเยอะ แต่ท่านให้เกรดเอเพราะมีความคิดไม่เหมือนใคร ทุกครั้งที่เราถูกตัดสินมาด้วยไม้หรือมาตรเดียวกัน แต่อาจารย์ทำให้เห็นว่าเราสามารถคิดแตกต่างและสามารถเก่งทางด้านนี้ได้ เลยเป็นแรงจูงใจให้มีมานะขึ้น มีความสุขและเรียนดีขึ้นตามลำดับ
เพราะเหตุใดจึงอยากเป็นครู
คิดตั้งแต่เด็กเลยค่ะ คุณครูในช่วงชีวิตทุกคนน่ารัก ไม่มีการตัดสินว่าเด็กจะเก่งหรือไม่เก่ง ฉะนั้นภาพของคำว่าครูอยู่ในหัวใจตลอด ทำให้เราปักธงตั้งแต่เล็กๆ เลยว่า “สมศรีจะเป็นครู” และก็ได้เป็นสมหวัง
ความพิเศษในการเรียนภาษาอังกฤษกับคุณครูสมศรี
อันดับแรกคือเนื้อหา เนื่องจากครูต้องรับผิดชอบต่อสังคม เราจะนำเนื้อหาที่เกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจ ปัญหาสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการสอน สองคือการถ่ายทอดต้องกระชับและใช้ภาษาที่เด็กไม่เก่งก็เข้าใจ เด็กเก่งก็รู้สึกว่าทำไมมันง่ายกว่าเดิม สามคือต้องสรุปให้ทุกครั้ง สี่คือต้องประเมินด้วยการสอบในห้องทุกครั้ง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือตัวบุคคลในการถ่ายทอด ทำให้การสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน เด็กมาเรียนก็เหมือนภาชนะที่เปิดฝาแล้ว ให้อะไรเขาก็รับเพราะเขามีความสุข
เทคนิคการสอนที่ทำให้เด็กสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษ
ต้องแอ๊คทีฟ ทำให้เขามีแรงจูงใจ ความสนุกเป็นเพียงแค่กุศโลบายให้ภาชนะเขาเปิด พอเปิดเราต้องยัด แต่ถ้าเขาเริ่มไม่ไหวก็ต้องตบด้วยกำลังใจ เราก็สอนแบบคนไทยนี่ล่ะค่ะ เพราะว่าเด็กหลายคนไม่มีโอกาสไปต่างประเทศหรือได้เรียนกับฝรั่ง ทำอย่างไรจะให้เด็กไทยที่ไม่มีโอกาสเจอภาษาอังกฤษในบริบททางสังคม เรียนแล้วรับได้เลย ฉะนั้นต้องคอยตอกย้ำ ซ้ำ ย้ำ ให้คุ้นชิน
ความถูกต้องกับความเข้าใจ อะไรสำคัญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำศัพท์ โครงสร้าง ไวยากรณ์ เป็นสิ่งที่จะต้องให้เขา แต่จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้ต้องการแค่ความรู้ แต่ต้องการความรู้สึก ถ้าเรามีความพร้อมและมองการสอนเป็น process (กระบวนการ) ไม่เน้น product (ผลิตภัณฑ์) เช่นเมื่อเด็กตอบผิดเราไม่ได้มองว่าเขาผิด แต่หมายความว่าเขาล้มเพื่อที่จะลุกและทำให้ดีกว่า อยากกราบเรียนคุณครูว่าเด็กๆ กลัวปากกาแดง ปากกาแดงขีดเดียวเด็กชอบ แต่ปากกาแดงที่เป็นกากบาทโดยไม่มีคำอธิบายมันจารึกเข้าไปในหัวใจเขา การประเมินเด็กไม่ใช่แค่ผิด แต่ต้องสนับสนุนจิตใจว่าเขาจะแก้อย่างไร
จริตเด็กไทยกับเด็กทั่วโลกเหมือนกันคือเขาไม่เน้น accuracy คือความถูกต้องแม่นยำ จนมองข้ามการใช้อย่าง fluency คือความคล่อง เพราะฉะนั้นเวลาเด็กผลิตประโยค เขาจะไหลลื่นทางความคิด แต่ไวยากรณ์อาจเป็นอุปสรรค แต่พอผลิตออกมาแล้ว อาจารย์ไม่มองความคิดแต่ไปมองกลไกทางภาษาหรือไวยากรณ์ ทำให้ความงดงามของการสื่อความหรือความคิดถูกบดบัง ในการสอนภาษาอังกฤษควรหันกลับมาเน้นที่ content base คือเน้นที่เนื้อหามากกว่าไวยากรณ์ ถ้าผิดเล็กน้อยไม่ทำให้เนื้อหาผิดก็ควรอนุโลม เพื่อกระตุ้นให้เด็กกล้าคิดกล้าทำและพึ่งตัวเองได้
ทำให้ดูเป็นครูให้เห็น
เมื่อครูทำให้เด็กเห็นว่าการทำความดีเป็นเรื่องปกติ ทำแล้วมีความสุข แล้วทำไมเขาจะไม่ทำตาม ถ้าหนึ่งคนดี เริ่มที่ครอบครัวดี สังคมดี ชาติย่อมดี เขาเรียกว่า “Little things make a big difference.” สิ่งเล็กๆ ที่เราค่อยๆ ทำ อาจทำให้เกิดการพลิกฝ่ามือ เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนชาติได้
“ในการสอนภาษาอังกฤษควรหันกลับมาเน้นที่ content base คือเน้นที่เนื้อหามากกว่าไวยากรณ์”
คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ