Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Alumni : อะตอม-อุกิจธน ฉัตรสว่างวงศ์ วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  Favorite

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก


สำหรับน้องๆ ที่อยากทำงานหรืออยากศึกษาเกี่ยวกับนิเวศทางท้องทะเลใต้มหาสมุทร หนึ่งในคณะที่เวียนว่ายดำดิ่งรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับท้องทะเลไทย ต้องยกให้คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเรียนการสอนจะเป็นอย่างไร รุ่นพี่ปี 4 อะตอม-อุกิจธน ฉัตรสว่างวงศ์ ดีกรีผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 67 จะมาบอกเล่าให้ฟัง


จุดเริ่มต้นของคนรักทะเล
ตอนมัธยมผมมีโอกาสได้ไปดำน้ำที่หมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลัน แล้วรู้สึกว่าทะเลยังมีอะไรให้เราศึกษาได้อีกเยอะ มีความน่าสนใจ มีความลึกลับในตัว ก็เลยอยากศึกษาในด้านนี้โดยตรงครับ และคิดว่าเราคงจะได้เรียนไปด้วย เที่ยวทะเลไปด้วย สนุกๆ พอเข้ามาปีหนึ่งเจอวิชาคณะเข้าไปก็เริ่มหนักใจแล้ว แต่เข้าภาคมาตอนปีสอง-ปีสามได้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับภาคมากยิ่งขึ้น ก็ตรงกับสิ่งที่เราอยากเรียนมากยิ่งขึ้น และได้ไปทะเลมากขึ้นด้วย ได้ออกภาคสนามเยอะมากครับ

อะตอม-อุกิจธน ฉัตรสว่างวงศ์การเรียนในภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลจะแบ่งเป็น 2 แขนง ได้แก่ วิชาชีววิทยาทางทะเลและการประมง และวิชาสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์และเคมี วิชาชีววิทยาทางทะเลและการประมงจะเรียนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ปะการัง ปลา ปู หมึก สัตว์ทะเลต่างๆ ส่วนอีกแขนงหนึ่งคือวิชาสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์และเคมี จะเรียนเกี่ยวกับคลื่น ลม เมฆ ฝน คลื่นน้ำทะเล ในแต่ละปีทางภาควิชาของเราก็จะเปิดทั้งระบบรับตรงและแอดมิชชั่น โดยรับตรงจะรับทั้งหมด 10 คน และแอดมิชชั่นจะเปิดรับสมัครทั้งหมด 35 คนครับ
 

บรรยากาศการเรียนการสอน
ภาคเรารุ่นหนึ่งมีประมาณ 20-30 คน เป็นภาคเล็กๆ ที่รู้จักกันหมด อาจารย์ก็จะสนิทกับนิสิตครับ เราก็จะเรียนทฤษฎีกันก่อน หลังจากนั้นก็จะออกภาคสนามซึ่งจะมีภาคสนามเกือบทุกวิชาเลย โดยภาควิชาของเรามีศูนย์วิจัยอยู่ที่อ่างศิลาและเกาะสีชัง ดังนั้นเราก็จะได้ไปสองที่นี้บ่อยเป็นพิเศษ ได้ทั้งเรียนทฤษฎีด้วยและใช้ในการปฏิบัติจริงด้วย อย่างปีสองเทอมหนึ่งก็จะออก 2-3 ครั้ง แต่ว่าปีสามจะออกเทอมละ 10 ครั้ง ส่วนปีสี่ก็แล้วแต่ว่าเราทำซีเนียร์โปรเจ็คต์ในด้านไหน บางคนอาจจะต้องออกทุกอาทิตย์ บางคนอาจจะต้องเดือนละครั้ง
 

 

ประเพณี “สวัสดีทะเล”
ตอนปีสองที่เราได้เข้าภาคแล้ว จะมีรุ่นพี่ให้น้องๆ ปีสองทำพิธีสวัสดีทะเล ซึ่งเป็นการฝากเนื้อฝากตัวกับทะเลที่เราจะต้องอยู่กับเขาไปอีกหลายปี อยากให้ทะเลช่วยคุ้มครองเรา พิธีก็ง่ายๆ ครับ หันหน้าออกไปทางทะเลและให้ออกมาพูดชื่อแนะนำตัว เอาตัวเองฝากกับทะเลครับ

ประสบการณ์ฝึกงานของอะตอม
ผมฝึกงานที่ฐานทัพเรือสัตหีบบนเกาะแสมสาร ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นโครงการของภาควิชาร่วมกับฐานทัพเรือสัตหีบในการเพาะเลี้ยงปะการังโดยวิธีสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ หน้าที่หลักๆ ของผมคือดูแลตัวอ่อนปะการังและทำความสะอาดระบบนิเวศของปะการังที่เลี้ยงอยู่ในถัง คอยวัดขนาด คอนดูการเติบโตของปะการังครับ

              อะตอม-อุกิจธน ฉัตรสว่างวงศ์


คุณสมบัติของนิสิตคณะนี้
ต้องเป็นนักเรียนที่เรียนมาในสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งภาควิชาเราจะเลือกแขนงตอนปีสอง ถ้าน้องๆ ถนัดในด้านชีววิทยาก็จะอาจจะเลือกไปทางชีวภาพครับ ถ้าน้องสนใจในด้านฟิสิกส์หรือเคมีก็จะเป็นทางสมุทรศาสตร์ครับ แต่ว่าในปีหนึ่งเราต้องเรียนในวิชาพื้นฐานของคณะวิทยาศาสตร์ครับ ดังนั้นก็ควรจะมีพื้นฐานในทุกวิชาก่อน ที่เพิ่มเติมก็คือคนที่จะเรียนภาควิชานี้ได้ดีต้องเป็นคนที่ตั้งใจเรียน เป็นคนที่ลุย ไม่กลัวแดด มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงนิดหนึ่งครับ


เมื่อจบการศึกษาจะประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

หลักๆ สายตรงเลยก็คือนักวิจัยหรือทำงานวิจัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะเรียนต่อปริญญาโทเพื่อศึกษาเพิ่มในแขนงที่เราสนใจลึกลงไปอีก หรือไม่ก็อาจทำงานเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงต่างๆ ส่วนผมก็หวังว่าจะได้ทำงานเกี่ยวกับการดำน้ำ อาจจะเป็นนักสำรวจหรือเป็นครูสอนดำน้ำก็ต้องดูอีกทีครับ


แนะนำน้องๆ ที่สนใจอยากเป็นนักวิจัยท้องทะเล
สำหรับน้องๆ ที่สนใจภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเรามีค่ายโครงการอบรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งที่ 32 สำหรับใครที่อยากรู้จักภาควิชาเราหรือสนใจอยากเข้าค่ายเกี่ยวกับทะเลก็สามารถสมัครเข้ามากันได้ ค่ายจะจัดในช่วงต้นเดือนสิงหาคมเป็นเวลา 4 วัน ครั้งนี้เราจะไปจัดที่อ่างศิลา จ.ชลบุรี ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถหาข้อมูลในเว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ครับ


สำหรับน้องๆที่สนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาฯ และรู้จักภาควิชานี้ให้มากขึ้น ทางภาควิชาจัดค่ายอบรมวิทยาศาสตร์ทางทะเล สำหรับน้องๆ ชั้นมัธยมปลายทุกปี สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับค่ายได้ที่ Facebook Fan Page: https://www.facebook.com/MarinecampChula

 

ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งเป็น 2 แขนงวิชาได้แก่ แขนงวิชาชีววิทยาทางทะเลและการประมง และแขนงวิชาสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์และเคมี เนื้อหาการศึกษาเน้นความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมุทรศาสตร์ เช่น สมุทรศาสตร์ชีวภาพ สมุทรศาสตร์ฟิสิกส์ สมุทรศาสตร์เคมี สมุทรศาสตร์ธรณี การจัดการชายฝั่ง เป็นต้น

หลักสูตรนี้มีเปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอื่นเช่นกัน คือ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย ตรัง

ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่เว็บไซต์http://www.marine.sc.chula.ac.th

Tags
Posted by
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us