หากพูดถึงอาชีพสถาปนิก เชื่อว่าหลายคนคงคิดถึงอาชีพนักออกแบบอาคารบ้านเรือน ตึกสวยๆ ดีไซน์เก๋ๆ มากมายที่คอยสร้างชีวิตชีวาให้กับเมือง แต่เคยลองคิดดูไหมคะว่า ถ้าอาคารสวยๆ พวกนี้ถูกสร้างอย่างระเกะระกะ จะเกิดอะไรขึ้น ตึกอาคารถึงจะสวยเท่าไหร่ แต่ถ้าไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ไม่มีการวางผังเมืองที่ดี ปัญหาเรื่องภูมิทัศน์อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดก็ได้
เพราะฉะนั้นวันนี้ เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอม จะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งภาควิชาที่น่าสนใจและจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมเมืองในปัจจุบัน ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ค่ะ
ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนเกี่ยวกับอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร และสถาปนิกผังเมืองมีหน้าที่อะไร วันนี้เราได้รับเกียรติจากทั้งนิสิตชั้นปีที่ 4 ของภาควิชา พี่บัณฑิต และอาจารย์ประจำภาควิชามาช่วยเราตอบคำถามเหล่านี้ค่ะ
ก่อนอื่นมาพบกับ เจนณรงค์ ไชยสิงห์ และ ภัควดี ประพันธ์บัณฑิต นิสิตชั้นปีที่ 4 ของภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง กันก่อนค่ะ ขอบอกว่า น้องนิสิตสองคนนี้ไม่ธรรมดา เคยเข้าประกวดโครงการ Design Hero โครงการออกแบบชุมชนได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้วด้วยค่ะ
ทำไมถึงเลือกเรียนภาควิชานี้ ค้นพบตัวเองได้อย่างไร
เอ็ม: ตอนแรกก็มีความสนใจหลากหลายสาขาวิชาครับ ทั้งเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการออกแบบ จนได้มาเจอกับภาควิชาผังเมืองที่รวมเอาความสนใจในด้านต่างๆของเรามาไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะวิชาออกแบบ ทุกอย่างที่เราสนใจมันรวมกันอยู่ในนี้ครับ พอได้เรียนจริงๆก็ชอบครับ
ภัควดี: ส่วนตัวก็จะคล้ายๆกับเอ็มค่ะ คือตอนนั้นมีความสนใจในด้านการออกแบบด้วยและยังสนใจในวิชาการด้านต่างๆด้วย แล้วพอได้มาศึกษาหลักสูตรก็พบว่า ภาคผังเมืองอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆคน แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องสำคัญมาก เลยคิดว่าถ้าเราเรียนด้านนี้ก็จะสามารถทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้มากค่ะ
แนะนำการสอบความถนัดทางสถาปัตฯ และวิธีเตรียมตัว
วิชาความถนัดทางสถาปัตฯ นี่ไม่ใช่แค่วาดรูปเก่งแล้วจะสอบได้ แต่จะวัดกันที่ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ข้อสอบก็จะแบ่งเป็นหลายส่วน หลักๆ ก็คือจะวัดเรื่องความเร็วในการออกแบบ การมองภาพรวมและองค์ประกอบศิลปะต่างๆที่เป็นพื้นฐาน
วิธีการเตรียมตัวก็ให้หาหนังสือที่มีจำหน่ายทั่วไปมาอ่านครับ หรือลองให้รุ่นพี่ที่รู้จักกันหรือสถาบันติวต่างๆติวให้ก็ได้ครับ
กิจกรรมหรือประเพณีที่น่าสนใจของภาคและคณะ
สำหรับของภาควิชา น้องๆปีหนึ่งที่เข้ามาใหม่ทุกรุ่นก็จะมีการรับน้องโดยพี่ๆทั้งห้าชั้นปี มีกิจกรรมสานสัมพันธ์ผังเมืองที่รวมทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องและศิษย์เก่าด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากภาคผังเมืองเป็นภาคที่ยังค่อนข้างใหม่ เลยจะมีกิจกรรมแนะแนวรุ่นพี่รุ่นน้องค่อนข้างเยอะ โดยรุ่นพี่กับอาจารย์จะมามอบความรู้ให้รุ่นน้อง จากกิจกรรมนี้ก็จะทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องรู้จักกันมากขึ้น เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในภาควิชา ภาคผังเมืองก็เลยเป็นภาคที่ค่อนข้างอบอุ่น
วิชาที่ชอบ
เอ็ม: ที่เด่นๆเลยก็จะเป็นวิชา studio หรือวิชาปฏิบัติการออกแบบ ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ภาควิชาไหนก็จะได้เรียนกัน ความน่าสนใจก็อยู่ตรงที่เราจะได้นำความรู้ที่เราเรียนมาทั้งหมดในชั้นปีที่ผ่านมาใช้ในวิชานี้ ทุกคนก็จะลุ้นกันผลงานของเพื่อนๆ ที่ลงมือทำกันเป็นเดือน ผลงานก็จะถูกนำมาแสดงให้เพื่อนๆและให้อาจารย์ดูครับ
ภัควดี: วิชาที่ชอบมากก็จะเป็นวิชาที่เรียนตอนปีหนึ่งค่ะ เป็นวิชาออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม วิชานี้จะสอนให้เราถอดแบบจากทุกสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ หรือแม้กระทั่งเชื้อโรค ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป แต่จริงๆแล้วการออกแบบมันสามารถเริ่มจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเราได้ค่ะ และจากแบบตรงนั้นเราอาจจะนำมาดัดแปลงเป็นแบบของเครื่องฟังเพลง หรือเป็นที่พักชั่วคราวได้ เป็นวิชาที่สนุกและคิดว่าน้องๆที่เข้ามาเรียนปีหนึ่งก็คงชอบเหมือนกันค่ะ
ประสบการณ์ความประทับใจระหว่างการเรียน
ภาควิชาผังเมืองจะเน้นการให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง ไม่ใช่เรียนแต่ในห้องเรียน ทางภาคจะสนับสนุนให้นิสิตออกไปใช้ความรู้ที่เราเรียนมาในเวิร์คชอปต่างๆที่ทางภาคจัดขึ้นหรือที่แนะนำมา ที่ตรงกับสายงานของเรา เพื่อให้เราได้มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะสายงานของเราต้องทำงานกับคน สภาพแวดล้อม และสังคม
เล่าถึงรางวัลที่ได้รับมา
ล่าสุดได้ไปร่วมประกวดโครงการ Design Hero เป็นโครงการออกแบบชุมชน ซึ่งค่อนข้างจะแปลกใหม่ ไม่ค่อยมีเกิดขึ้นในการประกวดออกแบบ คนเริ่มมองเห็นความสำคัญของผังเมืองและพื้นที่ชุมชนมากขึ้น ซึ่งตรงกับสาขาวิชาที่พวกเราเรียน ก็เลยสมัครไป
ได้เข้าไปทำเวิร์คชอปและสำรวจพื้นที่จริงที่เราต้องออกแบบ ก็ทำเวิร์คชอปจนได้เป็นผลงานออกมา เราก็ได้นำความรู้ที่เรียนมาทำงานร่วมกับชุมชน รางวัลที่ได้รับก็คือ จะได้นำงานออกแบบของเราไปสร้างจริง ชาวชุมชนก็ได้ให้ความร่วมมือกับเรามาตลอด เขาก็ค่อนข้างตั้งตารอว่าเมื่อไหร่โครงการจะได้สร้างจริง แล้วสุดท้ายเราก็ทำได้ เราได้รางวัลชนะเลิศ และได้เงินทุนมา เพื่อนำไปสร้างในพื้นที่จริง ตรงแถวสะพานเหลือง ชุมชนจอมสมบูรณ์
แนะนำน้องๆที่สนใจเรียนภาควิชาผังเมือง
ภัควดี: ก่อนอื่นอยากให้น้องๆ ศึกษาหลักสูตรก่อนค่ะว่ามันเหมาะกับตัวเรามั๊ย ผังเมืองอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวและดูเครียด แต่ถ้าได้มาเรียนแล้วมันไม่ได้มีแต่การวางแผนหรือเรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่ยังมีการออกแบบและการนำเอาศาสตร์ด้านต่างๆมาผสมผสานด้วย ทำให้รู้สึกว่าเรียนแล้วไม่ได้เครียดอย่างที่คิด
สำหรับการเตรียมตัวก่อนเรียน ความรู้รอบตัวสำคัญมากสำหรับภาคผังเมือง นอกจากฝีมือทางด้านวาดเขียนแล้ว ความรู้รอบตัวก็จำเป็นมาก ก็อยากให้น้องๆหาความรู้รอบตัวเยอะๆ ติดตามข่าวสารบ้านเมือง อย่างข่าวน้ำท่วมก็ลองศึกษาดูว่ามันเป็นเพราะอะไร
___________________________________________
ต่อไปมาดูคำแนะนำของพี่บัณฑิต พี่ปิ่นและพี่บอย ศิษย์เก่าของภาควิชา ที่จะมาแนะนำทั้งเรื่องประสบการณ์การทำงาน และแนวทางศึกษาต่อหลังเรียนจบปริญญาตรีแล้วค่ะ
แนะนำตัว
พี่ปิ่น: เป็นศิษย์เก่าภาค urban รุ่นแรกค่ะ ตอนนี้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ในภาควิชาค่ะ
พี่บอย: เป็นศิษย์เก่ารุ่นที่สามครับ เพิ่งจบการศึกษาจากที่นี่เมื่อปีที่แล้วครับ ตอนนี้ช่วยทำงานวิจัยของอาจารย์กับมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ด้วยครับ
ทำไมถึงเลือกเรียนภาควิชานี้
พี่ปิ่น: ตอนแรกก็ยอมรับค่ะว่าไม่ทราบเลยว่าจะมีภาควิชานี้ แต่ด้วยความที่คุณพ่อก็เป็นสถาปนิกเหมือนกัน เลยได้แรงบันดาลใจทำให้ชอบในเรื่องการออกแบบ และคุณพ่อก็มักจะปลูกฝังมาว่าเราเกิดมาก็ควรทำอะไรเพื่อชาติบ้าง ตอนที่เลือกคณะตอนเอนทรานซ์ก็ได้เห็นในรายชื่อคณะว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬามีภาควิชาผังเมืองด้วย คุณพ่อก็สนับสนุน ก็เลยลองเลือกดูค่ะ
พี่บอย: สำหรับพี่ก็ เหมือนกับพี่ปิ่นครับ คือไม่ว่าเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สาขาไหน ทุกคนก็ชอบเรื่องการออกแบบกันหมด ตอนนั้นก็เห็นว่าภาควิชานี้น่าสนใจดี ตรงที่นอกจากจะเรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีการบูรณาการเรื่องเศรษฐกิจและสังคม และการออกแบบทางกายภาพของเมืองไว้ด้วย โดยมีจุดประสงค์ว่าเราจะทำอย่างไรให้เมืองของเราน่าอยู่และชีวิตที่ดีขึ้นได้ ก็เห็นว่าน่าสนใจดี ก็เลยลองเลือกเรียนดูครับ
การเรียนการสอนเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนที่เราเพิ่งเข้ามาเป็นนิสิตปีที่หนึ่ง ทุกคนก็จะได้เรียนรวมกันหมด คือทุกภาควิชาจะมีเรียนพื้นฐานการออกแบบ แต่พอเทอมสอง ภาควิชาผังเมืองก็จะแยกออกมา เพื่อเรียนวิชาที่ให้เราทำความเข้าใจกับความเป็นมนุษย์และธรรมชาติ เช่น เราอาจจะดูสิ่งต่างๆที่มีในธรรมชาติ จากนั้นก็ถอดเอาสิ่งที่เรียกว่า meta-pattern ออกมาเพื่อใช้ในงานออกแบบของเรา เราอาจจะดูปลาวาฬแล้วดึงเอาสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างของปลาวาฬมาใช้ในการออกแบบ
พอขึ้นปีที่สองและปีที่สามก็จะเริ่มเรียนเกี่ยวกับบริบทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ บริบทสิ่งแวดล้อมเมือง ส่วนในปีที่สี่ก็จะเริ่มละเอียดขึ้น คือจะเรียนเกี่ยวกับการอนุรักษ์เมืองและการฟื้นฟูเมือง
พอจบปีที่สี่ เราก็จะต้องเริ่มเรียนรู้โดยการทำงานจริงโดยต้องไปฝึกงาน เราสามารถเลือกได้เองว่าจะไปฝึกกับที่ไหน สุดท้ายตอนปีห้าที่เราได้ฝึกและเรียนรู้ทุกอย่างมาแล้ว เราก็จะต้องทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับด้านผังเมือง ซึ่งก็หนักอยู่เหมือนกัน แต่ก็สนุกเพราะเราจะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเพื่อนด้วย
ประสบการณ์การทำงาน
การเป็นสถาปนิกผังเมืองไม่ใช่แค่การออกแบบอาคาร แต่เราต้องรู้ถึงประวัติศาสตร์และวิธีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ เราต้องเข้าใจพื้นที่เพื่อที่เราจะสามารถออกแบบให้เข้ากับคนในชุมชนนั้น ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีและตอบโจทย์ได้มากที่สุด ตอนเราเรียนเราก็ถูกปลูกฝังให้คิดแบบนั้น
พอมาทำงานเราก็พบว่าตอนเรียนมันเป็นการปูพื้นฐาน แต่ทุกอย่างมันไม่ได้จบอย่างที่เราเรียนมา พอทำงานจริงเราก็ได้เจอคน ได้คุยกับชาวบ้าน จนกระทั่งไปถึงหน่วยงานราชการ ก็จะได้รับฟังความคิดเห็นมากมาย เราในฐานะสถาปนิกผังเมืองก็ต้องผนวกเอาความคิดความต้องการของคนแต่ละฝ่ายมารวมกันและใช้วิจารณญาณ เราต้องมองอย่างกว้างไกลและเป็นกลาง เพื่อที่จะได้ประมวลทุกอย่างออกมาให้ตอบโจทย์ให้พื้นที่นั้นๆ อย่างมีคุณภาพมากที่สุด
บางทีสิ่งที่ได้เรียนมาก็ไม่ได้ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด แต่เราต้องนำสิ่งที่เรียนมาปรับให้เหมาะกับความเป็นไทยหรือพื้นที่นั้นๆ แต่โดยรวมการทำงานสายนี้ก็สนุกดี ได้เจอคนหลากหลาย และมีงานตั้งแต่ระดับเล็ก อยากการอนุรักษ์ชุมชนในพื้นที่กรุงเก่าจนกระทั่งงานใหญ่ๆ อย่างการออกแบบเขตเมืองใหม่หรือการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำ เราก็อยากทำให้เมืองไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ ดูสวยงามเหมือนที่ต่างประเทศค่ะ
แนะนำแนวทางการเรียนต่อ
ถ้าน้องๆจบจากภาควิชาผังเมือง อยากเรียนต่อขั้นสูงขึ้นก็สามารถเลือกได้หลายแนวทาง อย่างต่อทางด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ หรือด้าน urban planning เหมือนเดิมเพื่อเพิ่มพูดความรู้ให้มากขึ้นก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ จากที่ในปัจจุบันมีเรื่องภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยๆ หากเราต้องการช่วยประเทศของเรา ก็อาจจะเรียนต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างด้านการบริหารจัดการน้ำ หรือการวางผังให้กับพื้นที่ภัยพิบัติ หลักสูตรพวกนี้ส่วนมากจะมีสอนตามมหาวิทยาลัยในฝั่งยุโรป
แนะนำน้องๆ ที่กำลังจะเข้ามาเรียนในภาควิชาผังเมือง ควรเตรียมตัวอย่างไร
พี่บอย: น้องๆส่วนใหญ่คงเคยได้ยินมาแล้วว่า พี่ๆสถาปัตฯ เรียนหนัก ทำงานหนัก ไม่ค่อยได้นอน ก็ซะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งเป็นสีสันของการเรียนแล้วกัน คนที่จะเรียนสาขานี้ได้ อย่างแรกเลยควรต้องรักศิลปะและการออกแบบ นอกจากนั้นก็ต้องเป็นคนที่สนใจสิ่งรอบๆตัว ช่างสังเกต เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะมาจุดประกายความคิดให้งานออกแบบของเราการที่เราเรียนทางด้านผังเมือง เราจะต้องมาทำงานเพื่อคนส่วนมาก เราไม่ได้ทำงานเพื่อคนๆเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องช่างสังเกตมาก
ส่วนเรื่องการเรียน คิดว่าถ้าน้องๆได้เข้ามาเรียนจริงก็จะสามารถปรับตัวได้เอง เพราะคณะเราก็ไม่ได้มีแค่การเรียน ยังมีกิจกรรมต่างๆ และยังมีอาจารย์คอยช่วยให้คำแนะนำ รวมๆแล้วทุกอย่างจะทำให้เราเรียนอย่างมีความสุขได้ครับ พอเราฝึกวิทยายุทธ์ไปเรื่อยๆพอเรียนจบห้าปี น้องๆก็จะคิดเป็น และมีวิจารณญาณในการใช้ชีวิต
พี่ปิ่น: สำหรับน้องๆที่สนใจจะเข้ามาเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬา โดยเฉพาะภาควิชาผังเมือง อย่างแรกเลย พี่อยากให้น้องรักที่จะเป็นสถาปนิกผังเมืองจริงๆ คือ ต้องมีจิตสาธารณะด้วย การเป็นสถาปนิกผังเมืองอาจจะไม่ได้ทำงานง่าย อาจจะต้องเจอผู้คนและปัญหาเยอะ และก็ไม่ได้สวยหรูเสมอไป ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์ตลอด เราอาจจะต้องไปไซท์ไปดูชุมชนเสื่อมโทรมด้วย แต่การทำงานนี้จะทำให้น้องมีมุมมองที่กว้างขึ้น ไม่ได้มองโลกมุมเดียว
แต่ถ้าถามว่าเรียนหนักมั๊ย คณะเราเรียนค่อนข้างหนัก เพราะการออกแบบบางทีมันไม่ใช้คิดจะทำก็ทำได้เลย มันอาจต้องรอแรงบันดาลใจ แต่น้องเรียนที่นี่จะได้คำว่าเต็มที่ค่ะ คณะสถาปัตฯ ตั้งแต่ตอนรับน้องจะปลูกฝังไว้เลยว่า น้องทำอะไรทุกอย่างต้องเต็มที่ เพราะถ้าเต็มที่แล้วจะไม่เสียใจ
ตอนปีสี่ ภาควิชาของเราก็จะมีไปทัศนะศึกษาต่างประเทศด้วย เราก็จะได้ไปดูว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้แล้วเมืองนอกเขาเป็นยังไงกันบ้างแล้ว
ก็อยากจะฝากน้องๆ ว่า ถ้าใครมีใจรักเมืองไทย อยากให้เมืองไทยเป็นเมืองน่าอยู่ ก็มาเรียนด้วยกัน มาทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ด้วยกันค่ะ
________________________________________
ต่อไปเราได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง มาพูดแนะนำเกี่ยวกับ ความสำคัญของการวางผังเมืองค่ะ
ทำไมการวางผังเมืองถึงมีความสำคัญ
การวางผังเมืองเป็นศาสตร์ที่มีอยู่มานานแล้วค่ะ เพียงแต่ว่าในบ้านเราเป็นศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ภาคผังเมืองจุฬาก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ก็ประมาณสามสิบกว่าปีแล้ว ที่ผ่านๆมาก็จะเป็นเรื่องของการวางแผนอย่างเดียว ไม่ใช่สถาปนิกผังเมืองจริงๆ
ถามว่าทำไมถึงสำคัญ เมืองเราก็เป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ค่ะ ที่ผ่านๆมาเราก็มีแต่สถาปนิกที่สร้างอาคารบ้านเรือน หรือมัณฑนากรตกแต่งภายในเท่านั้น เมื่อเมืองเติบโตขึ้น เมื่อบ้านมารวมตัวกันเยอะๆก็จะไม่มีใครดูแลพื้นที่ระหว่างบ้าน ถ้าเราเปรียบเมืองๆหนึ่งเป็นบ้าน มันก็ต้องมีทั้งห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก มีสถานที่ๆเราจะมารวมตัวกัน และที่ๆเราจะพักผ่อนอยู่อย่างเงียบๆ สถาปนิกผังเมืองก็จะเป็นสถาปนิกที่ดูแลในระดับใหญ่ ดูแลบ้านเมืองที่มาอยู่รวมตัวกันเยอะๆ
ในต่างประเทศจะมีตัวอย่างที่ดีมาก ถ้าในเอเชียใกล้ๆบ้านเราก็ต้องไปดูที่ญี่ปุ่นค่ะ เมืองโตเกียวและเมืองเกียวโตจะเป็นสองเมืองที่แตกต่างกันมากทีเดียว โตเกียวจะเป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่ ทันสมัย มีระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งที่ดี มีการจัดการที่ดี เขาจะจัดย่านต่างๆและชุมชนได้อย่างสมดุล ส่วนเมืองเกียวโตก็จะเป็นเมืองอนุรักษ์ มีโบราณสถาน วัดวาอาราม และมีความสมดุลกันระหว่างวัดและที่อยู่อาศัย มีความสัมพันธ์กันระหว่างวัดและชุมชนเป็นอย่างดี สิ่งนี้ต้องใช้คนที่มีทักษะด้านการจัดผังเมืองโดยเฉพาะ ที่สามารถดูแลบ้านหลังใหญ่ของคนในระดับเมืองได้
การวางผังเมืองเกี่ยวข้องอะไรกับการอนุรักษ์เมือง
เมืองเก่าเป็นเมืองที่มีสถานที่สำคัญ เป็นสถานที่ๆเป็นจุดอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวัดโบราณ บ้าน หรือโบราณสถานอะไรก็แล้วแต่ แล้วที่ต้องมีการวางผังเข้าไปดูแลก็เพราะว่า ถ้าเราปล่อยให้สถานที่สำคัญเหล่านี้เติบโตไปพร้อมๆกับเมืองที่อาจจะไม่มีการดูแลที่เหมาะสม มันก็จะเกิดการ “รบกวน” กัน คือบ้านเรือนอาจจะไปสร้างทับบนโบราณสถานหรือพื้นที่สำคัญที่ควรรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังมาศึกษารับรู้ถึงประวัติศาสตร์ของเมืองตัวเอง ก็จะเกิดการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม หน้าที่ของสถาปนิกผังเมืองก็จะเข้ามาดูแลในตรงนี้ว่า จะทำอย่างไรให้สมดุลกันระหว่างเมืองเก่าและความเจริญเติบโตของเมืองในยุคใหม่
ปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาสามารถทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการวางผังเมืองได้อย่างไร
ปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นเลยว่า เราจำเป็นต้องมีคนที่ต้องเข้ามาดูแลตั้งแต่การใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมระดับประเทศ เราจำเป็นต้องมีการสร้างสมดุลในการใช้ประโยชน์ที่ดินในแง่มุมต่างๆ ทั้งพื้นที่เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย ที่ๆยอมให้น้ำผ่าน นี่จะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองโดยตรง เราจะต้องรู้จักสงวนรักษาพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางเพื่อให้น้ำผ่านไปได้ และในขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของเมือง ให้เป็นที่ๆปลอดภัยจากอุทกภัยได้
จากที่ผ่านมาเราเห็นได้ว่าเรามีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ สถาปนิกผังเมืองจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้ โดยเราอยากให้มีคนที่สามารถมองในภาพรวมแล้วบูรณาการหลายๆศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งวิศวกรน้ำ นักสังคม นักเศรษฐศาสตร์ หรือสถาปนิกที่ดูแลทางด้านอาคารบ้านเรือน ให้ทุกคนมาทำงานร่วมกันในพื้นที่ใหญ่ สามารถสร้างพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและสมดุล ให้เกิดการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมค่ะ
ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนทั้งหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในหลากหลายสาขา ดังต่อไปนี้ การวางผังเมืองบัณฑิต ท่านที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพื่มเติมเกี่ยวกับภาควิชาและหลักสูตรต่างๆได้ที่เว็บไซต์ http://www.cuurp.org/A_department/A_thai/a3/Th_a3_3.htm หรือเข้าไปดู Presentation แนะนำทุกเรื่องที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมืองได้ที่ http://www.trueplookpanya.com/true/guidance_detail.php?cms_id=10066 |