สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 26.1K views




สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ร.6 ผู้ทรงได้รับการถวายพระสมญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เนื่องจากทรงเป็นปราชญ์หลายด้าน   ทั้งทางราชการก็ได้ประกาศให้เป็นวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2546 อีกด้วย เพื่อระลึกถึงคุณูปการที่ทรงมีต่อชาติบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  นั้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ โดยได้ทรงศึกษาวิชาการทหารจาก รร. นายร้อยทหารบกที่แซนเฮิรสด์ และวิชาพลเรือนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ และวรรณคดี เป็นต้น ทรงเชี่ยวชาญอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ จึงทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์มากมายหลายประเภท และจำนวนไม่น้อยเป็นบทละครที่ทรงแสดงร่วมกับข้าราชบริพาร  ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไปว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านอักษรศาสตร์และนาฎดุริยางค์เท่านั้น มิได้เห็นถึงพระราชกรณียกิจด้านอื่นที่เป็นคุณต่อบ้านเมืองอันแสดงถึงพระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศที่ทรงมีพร้อมมูล จึงจะขออัญเชิญมาบางส่วน ดังนี้

พระราชกรณียกิจหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชนคนไทยปัจจุบันสามารถสืบค้นวงศาคณาญาติไปได้หลายชั้นและต่างต้องประพฤติดีเพื่อรักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลตลอดจนเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยง่ายต่อการปกครองจะโยกย้ายไปอยู่ที่ใดก็สืบรู้ได้  ก็คือเรื่องของนามสกุล  แต่ก่อนคนไทยไม่ใช้นามสกุลแต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา พรบ.นามสกุลขึ้นใช้ในปีพ.ศ. 2456

การพัฒนาคนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก  ทรงมีพระราชดำริว่าถ้าประชาชนพลเมืองอยู่ในศีลธรรม มีร่างกายสมบูรณ์  ตั้งใจหาประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ตลอดจนประเทศชาติแล้ว  บ้านเมืองย่อมเจริญรุ่งเรือง ทรงพิจารณาเห็นว่าในอารยประเทศได้อาศัยองค์การลูกเสือช่วยอบรมเยาวชนของชาติ เพื่อเตรียมให้เป็นพลเมืองดีต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองลูกเสือขึ้น เมื่อปี 2454  กระทรวงธรรมการจึงได้กำหนดวิชาภาคบังคับลงในหลักสูตรของ รร.ชาย คือการอบรมศีลธรรมจรรยา วินัย การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิต  ฝึกซ้อมกำลัง และความอดทน  การสืบข่าว การเรียนรู้อาณัติสัญญาต่าง ๆ จนสามารถช่วยเหลือกิจการ ของบ้านเมืองได้ กิจการลูกเสือก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ   การศึกษาของชาติก็เจริญขึ้นเช่นเดียวกัน มีการวางรูปจัดระเบียบการศึกษาสำหรับประชาชนตั้งแต่ชั้นต่ำไปจนถึงชั้นสูง ทรงสนับสนุนให้สนใจการเรียนด้านวิชาชีพต่าง ๆ  ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ประชาชนทั้งชายหญิง มีความรู้ตามควรแก่อัตภาพของตน โดยเลือกเรียนให้ถูกกับนิสัยความสามารถ   ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ประกาศใช้ พรบ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2464 บังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ เรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนครบอายุ 14 ปีบริบูรณ์ หรือจนกว่าจะจบประถมศึกษา ทำให้โรงเรียนประถมศึกษาแพร่หลายและมีจำนวนนักเรียนทวีขึ้น นอกจากนั้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2458 ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง รร.มหาดเล็ก ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงก่อตั้งไว้ เมื่อปี 2425  ขึ้นเป็น รร.ข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว  ให้ขยายโรงเรียนให้กว้างขวางขึ้น เพิ่มแผนกวิชาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น กฎหมาย การต่างประเทศ การเกษตรและการช่าง เป็นต้น  ซึ่งต่อมา ภายหลังก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา รร.แห่งนี้ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2459 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย 

อีกพระราชกรณียกิจหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือการตัดสินพระทัย ประกาศสงครามเป็นฝ่ายข้างสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งส่งผลให้เราเป็นประเทศที่มีสิทธิเท่าเทียมกับประเทศพันธมิตรทั้งหลาย และได้ทรงใช้เงื่อนไขนี้ดำเนินการปลดพันธะจากสัญญาต่าง ๆ ที่เสียเปรียบทั้งด้านอำนาจศาลและการภาษีอากร ที่รัชกาลก่อน ๆ จำเป็นต้องทำไว้เพื่อประคับประคองชาติให้พ้นจากการต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตกนักล่าอาณานิคมต่าง ๆ ได้  โดยกว่าจะดำเนินการกอบกู้อิสรภาพทางศาลและทางเศรษฐกิจดังกล่าวคืนมาได้โดยสมบูรณ์ ก็เมื่อปี พ.ศ. 2481  พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ นอกจากจะแสดงถึงความรอบรู้และมีสายพระเนตรที่กว้างไกลในเรื่องการต่างประเทศแล้ว ยังแสดงถึงความมีพระทัยที่กล้าหาญและมั่นคงในการต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมืองด้วย ถ้าจะว่าไปแล้วเมื่อพิจารณาจากบทพระราชนิพนธ์หรือพระบรมราโชวาทในพระองค์ ซึ่งมีอยู่มากมาย นั้นก็จะได้พบว่ามีเนื้อหาที่ทรงปลูกฝังความรักชาติ และทรงเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงความอยู่รอดปลอดภัยของชาติอยู่มากทีเดียว เช่นตัวอย่างที่จะขอยกมาดังนี้

“หากสยามยังอยู่ยั้ง              ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง                ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง              ไทยอยู่     ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วย            หมดสิ้นสกุลไทย”

“ใครรานใครรุกด้าว               แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ                    ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล          ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น                  ชื่อก้องเกียรติงาม”  

“ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง
คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป
ตามวิสัยเชิงเช่น ผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ
จะนับคือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยอยากลำบากกาย
ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา”

จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้ทรงงานพระราชนิพนธ์เพื่อความบันเทิง เท่านั้น หากแต่ทรงใช้งานพระราชนิพนธ์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคนด้วยการสอดแทรกแนวคิดต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งความรักชาติไว้เป็นอันมาก  วันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นวันเสด็จสวรรคตเวียนมาครั้งใด ชาวไทยก็ยังน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ยังความร่มเย็นให้แก่ชาติบ้านเมืองอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย 



เรียบเรียงจาก 

-  สดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม 1, 2 : คณะอนุกรรมการจัดทำเอกสารภาษาไทย  ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
- ประวัติศาสตร์ไทย ร.5 – ปัจจุบัน : วิไลเลขา  บุรณศิริ : ภาควิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ : ผศ.พรพรรณ  ธารานุมาศ : 2525



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ