ประเพณี-ศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานจังหวัดสุรินทร์ ตอนที่ 2
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 43.7K views



ชนพื้นเมือง
ชาวกูย (ส่วย)

     บางครั้งเรียกชาวกูยว่าส่วย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากในอดีตมีการส่งส่วยเป็นของป่า แทนการเข้ามารั้บราชการทหาร ซึ่งคำว่า “กูย” หมายถึง “คน” ชาวกูย ที่เลี้ยงช้างส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ปัจจุบันชาวกูยอาศัยอยู่ในหลายร้อยหมู่บ้าน เกือบทุกอำเภอของจังหวัดสุรินทร์

ชาวลาว

     สันนิษฐานว่าชาวลาว ในจังหวัดสุรินทร์มาจากแขวงจำปาศักดิ์ ในประเทศลาว สมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันชุมชนชาวลาวเหล่านี้ ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอำเภอรัตนบุรี , สนม และชุมพลบุรี และผสมผสานกับชาวพื้นเมืองอื่น ๆ แต่ยังยึดถือฮีตสิบสองคองสิบสี่ ตามประเพณีเดิม และยังมีการแห่บั้งไฟอยู่เป็นประจำทุกปี

ชาวเขมร

     ชาวเขมร ถูกต้อนเข้ามาในสุรินทร์ ครั้งเกิดสงครามโลกไทย-เขมร ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีชาวเขมรกระจายอยู่ทั้งจังหวัด และคงรักษาวัฒนธรรม พื้นบ้าน เช่น ดนตรีกันตรึม การขับร้องที่เรียกว่าเจรียง การละเล่นต่าง ๆ เช่น เรือมอัมเร หรือ การรำสาก


อาหารพื้นเมือง
อาหารคาว

(ชื่ออาหารจากซ้ายไปขวา)

     1. สลออังกัน (แกงขี้เหล็ก) สลอ แปลว่า “แกง” อังกัน คือ ผักขี้เหล็ก เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ ทั้งชาวเขมร กูย และลาว มีมากในฤดูฝน นิยมใส่กับหนังหมู ใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ ได้ทุกงาน
     2. ซันลอว์ เป็นภาษาท้องถิ่นเขมร แปลว่า แกง “เจ๊กจ์” แปลว่ากล้วย ซันลอว์เจ๊กจ์ แปลว่าแกงกล้วย เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวเขมรและชาวกูย นิยมทำเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงแขกในพิธีงานศพโดยเฉพาะ เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการตัดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับญาติมิตร ที่ยังมีชีวิตอยู่ กล้วยที่ใช้ทำนั้น ใช้กล้วยดิบยกเว้นกล้วยตานี จะได้สารอาหารสมุนไพรแก้ท้องอืด ท้อเฟ้อได้อีกด้วย
     3. สลอไตรมะมะออม (แกงปลาใส่ผักอีออม) “ไตร” ภาษาเขมรแปลว่า ปลา “ตะมะออม” หมายถึง ผักอีออม จะมีมากในฤดูทำนา ชุมชนเขมร กูย และลาว ในจังหวัดสุรินทร์ชอบรับประทานผักอีออม เพราะมีกลิ่นหอมสามารถดับกลิ่นคาวปลาได้
     4. ซันลอว์ตราว หรือแกงเผือก เป็นอาหารที่มีรสจืด นิยมใส่ปลาเป็นส่วนประกอบ อาจใช้รับประทานเปล่า ๆ คล้ายก๋วยเตี๋ยวก็ได้ ชาวเขมรและชาวกูย ที่มีฐานะ นิยมปรุงให้จืดเพื่อรับประทานเปล่า ๆ เผือกเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรทสูง ใช้รับประทานแทนข้าวได้ ปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง
     5. เดิมกะโบ๊ะ แปลว่าต้นกะบุก หรือต้นบุก เป็นพืชคล้ายบอน ใช้รับประทานเป็นกับข้าว กะบุกเป็นพืชที่มีใยเป็นอาหาร ช่วยในการขับถ่าย ส่วนใบย่านางที่เป็นส่วนผสมเป็นยาแก้ร้อนใน
     6. คำว่า โบน หรือ บวน ในภาษาเขมรแปลว่า สี่ หมายถึง หัวหมู กระเพาะหมู ตับหมู และหัวใจหมู ในพิธีแต่งงานของชาวเขมรและชาวกูยนั้น หากจัดเป็นงานใหญ่ ต้องมีกับข้าวอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าแกงโบน เครื่องปรุงส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพร ซึ่งเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์
     7. สลอตะยวงเจ๊ก (แกงหัวปลี) ตะยวงเจ๊ก ภาษาพื้นเมืองของชาวสุรินทร์แปลว่า “หัวปลี” ชาวสุรินทร์สามารถนำหัวปลีมาประกอบอาหารได้ทุกฤดูกาล
     8. อังแกบ เป็นภาษาเขมร แปลว่า กล อังแกบอบ แปลว่า กบยัดไส้ เป็นอาหารที่ชาวเขมรและกูยนิยมรับประทาน เพราะได้รสเผ็ดร้อนจากพริก และได้ประโยชน์จากเครื่องปรุง ซึ่งเป็นสมุนไพรทั้งสิ้น สามารถเก็บรับประทานได้หลายวัน

อาหารเผ็ด น้ำพริก

(ชื่ออาหารจากซ้ายไปขวา)

     1. โบ๊ะแก๊บสมอ (ตำกบใส่ลูกสมอ) ชุมชนเขมร จะได้รับประทานน้ำพริกกบใส่ลูกสมอในช่วงข้าวออกรวง ลูกสมอจะแก่กำลังพอเหมาะ กบก็จะมีมากชาวบ้านจึงนำมาประกอบอาหารได้แทบทุกวัน
     2. โบ๊ะ เป็นภาษาเขมร แปลว่า ตำ ส่วน ตร๊อบ หมายถึง มะเขือพวง โบ๊ะตร๊อบจึงหมายถึง ตำมะเขือพวง เป็นอาหารประเภทน้ำพริก หรือแจ่ว ใช้คลุกข้าวรับประทานหรือใช้ผักจิ้มก็ได้ รับประทานทุกวัน ช่วยระบาย สารอาหารที่ได้จากเนื้อปลาทูหรือเนื้อปลาร้าหรือโปรตีน ส่วนกระดูกให้แคลเซี่ยม ตร๊อบให้สารอาหารวิตามิน
     3. โบ๊ะเจราะมะออม(น้ำพริกผักอีออม) ในชุมชนเขมรชอบรับประทานน้ำพริกผักอีออมมาก และผักอีออมจะมีมากในฤดูฝน ช่วงทำนา ชาวบ้านจะนำผักอีออมมาปรุงอาหารได้หลากหลาย
     4. เบาะลฮองดะนมบันเจาะ (ส้มตำใส่ขนมจีนหรือตำซั่ว) ละฮอง ภาษาเขมรแปลว่ามะละกอ  บันเจาะแปลว่าขนมจีน ชาวสุรินทร์ทั้งเขมร กูย และลาว ชอบรับประทานตำซั่ว หลังจากทำงานมาเหน็ดเหนื่อยเมื่อได้รับประทานต่ำซั่วแล้วจะมีพลังในการเริ่มทำงานเพราะได้รสเผ็ดทำให้ตาสว่าง หายง่วง หายเพลีย
     5. กำเปียงดู (ซุปหน่อไม้) ชุมชนชาวลาวจะนิยมชมชอบมาก ซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาล และใช้ในงานประเพณีได้ทุก ๆ งาน
     6. ปลาร้าบอง ชุมชนชาวลาวจะนิยมรับประทานมาก แต่ละบ้านจะมีปลาร้าไว้เพื่อใช้ในการประกอบอาหาร ใช้ได้ทุกเทศกาล


ขนม
นมกันตราง

     นมภาษาเขมรแปลว่า ขนม กันตราง มาจากคำว่า “ตาราง” ขนมตารางของชาวเขมร กูญ นอกจากรับประทานเป็นของหวานแล้ว ยังใช้ในการจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้ ต่าง ๆ และใช้ในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก เป็นต้น

อันซอมสเลิ๊กโดง

     เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ข้าวต้มใบมะพร้าว” เป็นขนมประเภทนำไปใช้ในพิธีมงคล เปรียบเทียบถึงความเหนียวแน่น ขนมอันซอมสเลิ๊กโดง มีกลิ่นหอมจากเนื้อมะพร้าว มีรสหวานจากกล้วย น้ำตาล และกะทิมะพร้าวสด

นมโชค หรือ ขนมฝักบัว

     เป็นของหวานหรือาหารว่าง ที่มีรสอร่อยชาวเขมร-กูย และยังใช้เป็นของเซ่นไหว้หรือเครื่องบูชาในพิธีกรรมต่าง ๆ

นมเนียงเล็ด หรือ ขนมนางเล็ด

     ใช้ในประเพณีเบ็นของชุมชนเขมร เบ็น แปลว่า สารท นมเนียงเล็ดจึงใช้ในงานประเพณีสารทนั่นเอง

นมกะมอล 

     เป็นภาษาเขมร แปลว่า ขนม, กะมอล แปลว่า กลม ขนมกะมอล มีลักษณะเป็นรูปกลม ๆ รับประทานเป็นของหวาน มีรสหวาน และหอมกลิ่นงา งามีสรรพคุณเป็นสมุนไพร ช่วยทำให้ผมดกดำ สารอาหารที่ได้ คือ แป้ง น้ำตาล และไขมัน

ขนมกันเตรือม

     เป็นของหวาน หรือ อาหารว่างที่มีรสอร่อย ชาวเขมร-กูย ใช้เป็นของเซ่นไหว้เป็นเครื่องบูชาในพิธีกรรมต่าง ๆ สารอาหารที่ได้ คือ แป้ง น้ำตาลและไขมัน

ภูมิปัญญา
ผ้าไหม

     ผ้าไหมสุรินทร์ เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ปรากฎชัดว่าเป็นของคนโบราณหรือคนดั้งเดิมในแถบนี้ ผ้าไหมที่ถือว่าดีที่สุดคือ โฮล ที่ว่ากันว่าเป็นผ้าโฮลของแท้นั้น เมื่อเอาไปรองน้ำ น้ำจะไม่รั่ว

จักสารหวาย

     จักสานหวายบ้านบุทม ตำบลเมืองที อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นผลติภัณฑ์ที่ทำมาจากหวาย ซึ่งเป็นหวายเส้นเล็กที่มีความเหนียวและแข็งแรง เป็นเงาตามธรรมชาติ จักสารเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตะกร้า กระจาด กระเช้าของขวัญ

ประเกือม

     คำว่าประเกือมเป็นภาษาเขมร ตรงกับภาษาไทยว่า “ประคำ” ลักษณะพิเศษของประคำเมืองสุรินทร์นั้น จะเน้นศิลปะลวดลายต่าง ๆ มากมาย จะมีการอัดครั่งไว้ข้างใน หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการทำประเกือม ตั้งอยู่ที่บ้านโชคตำบลเขวาสินรินทร์ กิ่ง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน