ในหลวง : ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 28.9K views




ในหลวง : ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม

นับแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493   เป็นปฐมบรมราชโองการว่า   “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม   เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นต้นมา   ตราบจนถึงปัจจุบันใกล้จะครบ 60 ปี แห่งการดำรงสิริราชสมบัติ  ณ วันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ. 2549 ที่จะถึงนี้แล้วนั้น   เราจะพบว่าพระราชจริยาวัตรและพระราช-กรณียกิจที่ทรงปฏิบัติตลอดมา  ได้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่าทรงดำเนินตามแนวพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่   และทรงถึงพร้อมด้วยหลักราชธรรมที่พระมหากษัตริย์พึงปฏิบัติทุกประการไม่ว่าจะเป็นราชสังคห-วัตถุ 4 , จักรวรรดิวัตร 12 , ขัตติยพละ 5 , พรหมวิหารธรรม 4  และ ทศพิธราชธรรม   ทั้งนี้ด้วย ทรงตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของศีลธรรมทางศาสนา  อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก จึงทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีเสมอมา   ในที่นี้จักได้อัญเชิญพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในการปกครองประเทศโดย “ธรรม” เฉพาะทศพิธราชธรรมมาเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า นอกจากจะทรงมีพระปรีชาสามารถแล้วยังต้องทรงใช้พระวิริยอุตสาหะ  และ ความเสียสละ  มากมายเพียงใด   จึงบรรลุถึงซึ่งประโยชน์สุขแก่มหาชนคนไทยได้เช่นทุกวันนี้

ทศพิธราชธรรม หรือ ธรรมของพระราชา 10 ประการ นั้น ประกอบด้วย ทาน, ศีล, ปริจจาคะ, อาชชวะ, มัททวะ, ตปะ, อักโกธะ, อวิหิงสา, ขันติ และ อวิโรธะ

- ทาน  นั้นมีสองอย่างได้แก่ธรรมทาน กับ อามิสทาน  ธรรมทานคือการให้สติปัญญา, ความรู้, คุณธรรม, ความถูกต้อง  เป็นการให้ความดีให้ความสุขสงบเย็น   ข้อนี้พสกนิกรชาวไทยทุกคนได้รับอยู่เสมอ จากพระบรมราโชวาท-พระราชดำรัสที่ได้พระราชทานในโอกาสต่างๆ  ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดสติปัญญา  สามารถนำไปปฏิบัติ แก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ  และตั้งอยู่ในความดีมีสุข   ส่วนอามิสทานคือการให้วัตถุเป็นทานนั้น  เราก็เห็นกันจากการที่ได้พระราชทานอาหาร  ยารักษาโรค  เมล็ดพันธุ์พืช และของใช้จำเป็นอื่นๆในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารที่เขามีความขาดแคลน  รวมไปถึงผู้ประสบภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็ล้วนได้รับพระราชทานความช่วยเหลือมาโดยตลอด  เรียกได้ว่าทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างมากมายและครบถ้วนสมบูรณ์

ศีล  เป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ ผู้มีศีล คือผู้มีเจตนางดเว้นจากการประทุษร้าย หรือทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกาย หรือวาจา  ผู้มีศีลย่อมสำรวมรักษาความประพฤติไม่ให้เป็นไปในทางทุจริตหรือในทางเบียดเบียนไม่ว่าต่อคนหรือสัตว์   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาตามขัตติยราชประเพณี และทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดแล้ว เมื่อทรงลาผนวชก็ทรงรักษาศีลของฆราวาส และทรงประพฤติธรรมทั้งยังชักชวนให้ประชาชนปฏิบัติตาม   แม้ผู้มิได้นับถือพุทธศาสนา ก็ทรงสนับสนุนให้ศาสนิกเหล่านั้น ปฏิบัติตามหลักศีลธรรมที่ตนนับถือ เนื่องจากทรงตระหนักดีว่าทุกศาสนาล้วนมีหลักคำสอนที่มุ่งให้ทุกคนเว้นจากความชั่วทำความดีด้วยกันทั้งนั้น

ปริจจาคะ  การบริจาคหรือเสียสละความสุขสำราญอันเป็นการบริจาคชั้นสูงยิ่ง   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานอกจากจะทรงเสียสละทั้งกำลังพระวรกาย  และพระสติปัญญา ตลอดจนความสุขส่วนพระองค์ในการมุ่งบำเพ็ญพระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎรและเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญแล้ว  ยังทรงชักชวนและให้กำลังใจแก่ข้าราชการและประชาชนให้เป็นผู้มีความเสียสละต่อบ้านเมืองด้วย  ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ภรรยาและบุตรข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากการถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ลอบสังหารรายหนึ่งว่า “คนเราเลือกเวลาตายไม่ได้   ต้องตายด้วยกันทุกคน   แต่การตายในหน้าที่เช่นนี้  เป็นการตายที่มีเกียรติยิ่ง”

อาชชวะ  ความซื่อตรง  เป็นคุณธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาโดยตลอดนับแต่ทรงดำรงสิริราชสมบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน  ทรงซื่อตรงทั้งต่อพระองค์เอง   ต่อหน้าที่   ต่อประชาชน และชาติบ้านเมือง

มัททวะ  ความอ่อนโยน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีมัททวะธรรมความสุภาพอ่อนโยน เป็นที่ประจักษ์ทรงมีพระกิริยา พระวาจา และพระหฤทัยสุภาพ ไม่เคยทรงแสดงกิริยาดูหมิ่น หรือแข็งกระด้างแก่ผู้ใด แม้บุคคลที่ต่ำกว่า จึงได้ทรงเป็นที่รักยิ่งของประชาชน

ตปะ  การบำเพ็ญตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญเพียรเผากิเลสตัณหา  มิให้ความหลงไหลในความสุข ความปรนเปรอ หรือความเกียจคร้านเข้ามาครอบงำพระทัยได้  จึงทรงมีพระตบะอย่างยอดเยี่ยมทำให้สามารถประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่บรรลุผลสำเร็จเป็นที่น่าอัศจรรย์   ทั้งยังทรงมีพระราชดำรัสสั่งสอนประชาชนให้มีความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้านตอนหนึ่งที่ว่า  “ขอให้ทุกคนพยายามช่วยกัน  และพยายามที่จะขยันหมั่นเพียร พยายามอดทนต่อไป  แล้วสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ส่วนรวม แก่บ้านของเรา แก่ครอบครัว และแก่ตนเอง  ถ้าทุกคนมีความอดทนมีความเพียรพยายามก็เชื่อว่าหมู่บ้านนี้จะเจริญรุ่งเรือง”

อักโกธะ  ความไม่โกรธ และไม่อาฆาตพยาบาท คุณธรรมข้อนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญเป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งประชาชนชาวไทยและนานาประเทศมาแล้ว  ดังเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนต่าง-ประเทศ (ออสเตรเลีย) เมื่อปี พ.ศ. 2505  แล้วได้มีประชาชนของประเทศนั้นมาคลี่ป้าย ไม่ต้อนรับผู้เผด็จการเมืองไทย ซึ่งจากพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่อง “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” มีอยู่ตอนหนึ่งที่จะขออัญเชิญมาแสดงเพื่อยืนยันถึงความเป็นผู้ไม่โกรธ  ไม่อาฆาตพยาบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังนี้

“ข้าพเจ้าเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระทัยเย็นเป็นที่สุด ข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าสั่นด้วยความน้อยใจปนความโกรธ นึกสงสารตัวเองเป็นกำลังว่าเรามาเหนื่อย ๆ เพื่อมาเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศเรากับประเทศเขา กลับมาโดนคลี่ป้ายไล่ทันทีที่มาถึง ใช่ว่าเราจะขอมาเมื่อไร เขาเชิญเรามาต่างหาก   พระเจ้าอยู่หัว-กลับรับสั่งปลอบว่า ให้เฉยๆไว้  ทำใจเย็นเข้าสู้  อย่าได้แสดงความรู้สึก เช่น เสียใจ หรือน้อยใจออกมาให้ทางฝ่ายบ้านเมืองเห็นเป็นอันขาด  อันที่จริงก็เป็นการกระทำของผู้ก่อกวนเพียงคนเดียวหรือส่วนน้อย  รัฐบาลออสเตรเลียได้ถวายพระเกียรติเต็มที่และราษฎรก็ต้อนรับเราด้วยความไมตรีอันดียิ่ง อาจจะเป็นความประสงค์ของตนส่วนเดียวก็ได้ที่จะแกล้งทำให้เราโกรธจนหัวเสียไป  ตลอดเวลา 18 วันที่ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศออสเตรเลีย  พระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำไม่ให้ข้าพเจ้าลืมว่า  เมื่อกี้เป็นการกระทำของคนส่วนน้อย ไม่ใช่เป็นการกระทำของประชาชนทั่วประเทศ…”

อวิหิงสา  ความไม่เบียดเบียน   การมีอวิหิงสาธรรมนั้น  นอกจากจะงดเว้น  ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งชีวิตและทรัพย์สินแล้ว  การสำรวมตน การถือความสันโดษ ประหยัด เรียบง่าย ไม่ทำตัวเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง หรือมีพิธีรีตองจนเกินควร ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อความไม่เบียดเบียนด้วยเช่นกัน  ซึ่งพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีอวิหิงสาธรรมอยู่เต็มเปี่ยม ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

ขันติ  ความอดทน ในเรื่องของความอดทนนี้ จากความทันสมัยของสื่อในปัจจุบัน  ย่อมทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นถึงความเหนื่อยยากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลคมนาคมได้เป็นอย่างดีว่าต้องทรงใช้ความอดทนเพียงใด  ไม่ว่าจะเป็นการอดทนต่อความทุกข์ยากขณะเดินทางในที่กันดารที่แม้แต่คนธรรมดาก็ไม่ต้องการจะไป  อดทนต่อแดด  ต่อฝน  ต่ออากาศที่ร้อนหรือหนาว   แม้ความหิวกระหาย   ซึ่งภาวะของความไม่สะดวกสบายเช่นนี้สามารถเกิดได้หลายอย่างพร้อมกันในการเสด็จฯ เพียงท้องที่เดียว แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีขันติธรรม  ได้เสด็จฯ ไปทุกถิ่น  ทุกที่  ที่ประชาชนมีความลำบากยากเข็ญโดยไม่ทรงย่อท้อ  ตลอดระยะเวลายาวนานหลายสิบปี    เพื่อราษฎรของพระองค์จะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อวิโรธนะ  คือการวางตนเป็นหลักหนักแน่นในธรรม ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความถูกต้องดีงาม ความสุจริต-ยุติธรรม   คุณธรรมข้อนี้ นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงถึงพร้อมในพระราช-กรณียกิจที่ทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เอง แล้ว ยังได้ทรงมีพระบรมราโชวาทเตือนสติ ผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายด้วยว่า

“การพิจารณาตัดสินอรรถคดีนั้นกระทำตามตัวบทกฎหมาย  ตัวบทกฎหมายจึงสำคัญมาก  และจะต้องมีบทบัญญัติอันถูกต้องเป็นธรรม ปราศจากช่องโหว่… ความไม่เป็นธรรมหากจะเกิดขึ้นในการตัดสินอรรถคดี ไม่ใช่จะอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย  แต่อยู่ที่ตัวบุคคล ตราบใดผู้ที่ใช้กฎหมายมีความสุจริต  มีจรรยา  และมโนธรรมของนักกฎหมายมั่นคงแล้ว ก็ไม่ควรจะเกิดความผิดพลาด”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดหลักธรรมเช่นนี้ในการปกครองประเทศ  จึงนับเป็นบุญอันมหาศาลของคนไทยที่ได้เกิดมาอยู่ภายใต้ร่มพระบารมี  ได้มีความสุขสงบร่มเย็นเสมอมา แม้บางครั้งจะเกิดเหตุการณ์ไม่น่าพึงใจแต่ก็สงบลงได้ด้วยพระเมตตาบารมีทุกครั้ง

ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม นี้ จึงขอเชิญชวนชาวไทยได้พร้อมใจกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญแก่ประชาชนชาวไทย ทรงพระเกษมสำราญเป็นนิจนิรันดรกาล เทอญ



เรียบเรียงจาก - หนังสือพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชธรรมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช : พระภิกษุปรัชญา อภิวโส (สร้อยประดิษฐ์) : ธรรมสภา : มิถุนายน 2539
                  - สำนักข่าวไทย : 12 มิถุนายน 2539



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม"  ผลิตโดย  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ