การอ่าน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 144.7K views



การอ่่าน

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการอ่าน


        การอ่านเป็นหนึ่งในสี่ทักษะทางภาษาที่จำเป็นต้องฝึกฝนอยู่เสมอ และไม่มีวันสิ้นสุดสามารถฝึกได้เรื่อย ๆ ตามวัยและประสบการณ์ของผู้อ่าน เพราะการอ่านนั้นจะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ได้รับความรู้ ความคิด และความบันเทิงใจ ช่วยปรับปรุงชีวิตให้สดใสสมบูรณ์ ดังคำกล่าวของ เซอร์ ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาเมธีชาวอังกฤษที่ว่า “การอ่านทำคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์

1. ความหมายของการอ่าน
               การอ่านเป็นพฤติกรรมการรับสารที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการ ฟัง ปัจจุบันมีผู้รู้นักวิชาการและนักเขียนนำเสนอความรู้ ข้อมูล ข่าวสารและงานสร้างสรรค์ ตีพิมพ์ ในหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มาก นอกจากนี้แล้วข่าวสารสำคัญ ๆ หลังจากนำเสนอด้วยการพูด หรืออ่านให้ฟังผ่านสื่อต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะตีพิมพ์รักษาไว้เป็นหลักฐานแก่ผู้อ่านในชั้นหลัง ๆความสามารถในการอ่านจึงสำคัญและจำเป็นยิ่งต่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพใน สังคมปัจจุบัน

2. ความสำคัญของการอ่าน
               ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีตัวหนังสือใช้ มนุษย์ได้ใช้วิธีเขียนบันทึกความทรงจำและเรื่องราวต่าง ๆ เป็นรูปภาพไว้ตามฝาผนังในถ้ำ เพื่อเป็นทางออกของอารมณ์ เพื่อเตือนความจำหรือเพื่อบอกเล่าให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย แสดงถึงความพยายามและความปรารถนาอันแรงกล้าของมนุษย์ ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเป็นสัญลักษณ์ที่คงทนต่อกาลเวลาจากภาพเขียนตาม ผนังถ้ำ ได้วิวัฒนาการมาเป็นภาษาเขียนและหนังสือ ปัจจุบันนี้หนังสือกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อมนุษย์จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น ปัจจัยอันหนึ่งในการดำรงชีวิตคนที่ไม่รู้หนังสือแม้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีความเจริญ ไม่สามารถประสบความสำเร็จใด ๆ ในสังคมได้หนังสือและการอ่านหนังสือจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

3. จุดประสงค์ของการอ่าน
                ในการอ่านบุคคลแต่ละคนจะมีจุดประสงค์ของตนเอง คนที่อ่านข้อความเดียวกันอาจมีจุดประสงค์หรือความคิดต่างกัน โดยทั่วไปจุดประสงค์ของการอ่านมี 3 ประการ คือ
       1)  การอ่านเพื่อความรู้ ได้แก่ การอ่านหนังสือประเภทตำรา สารคดี วารสาร หนังสือพิมพ์ และข้อความต่าง ๆ เพื่อให้ทราบเรื่องราวอันเป็นข้อความรู้ หรือเหตุการณ์บ้านเมือง การอ่านเพื่อความรอบรู้เป็นการอ่านที่จำเป็นที่สุดสำหรับครู เพราะความรู้ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอยู่ทุกขณะ แม้จะได้ศึกษามามากจากสถาบันการศึกษาระดับสูง ก็ยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้และต้องค้นคว้าเพิ่มเติมให้ทันต่อความก้าวหน้าของ โลกข้อความรู้ต่าง ๆ อาจมิได้ปรากฏชัดเจนในตำรา แต่แทรกอยู่ในหนังสือประเภทต่าง ๆแม้ในหนังสือประเภทบันเทิงคดีก็จะให้เกร็ดความรู้ควบคู่กับความบันเทิงเสมอ
       2)  การอ่านเพื่อความคิดแนวความคิดทางปรัชญา วัฒนธรรม จริยธรรม และความคิดเห็นทั่วไป มักแทรกอยู่ในหนังสือแทบทุกประเภท มิใช่หนังสือประเภทปรัชญา หรือจริยธรรมโดยตรงเท่านั้น การศึกษาแนวคิดของผู้อื่น เป็นแนวทางความคิดของตนเองและอาจนำมาเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตหรือแก้ ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตผู้อ่านจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกนำความคิดที่ได้อ่านมาใช้ให้ เป็นประโยชน์ในบางเรื่องผู้อ่านอาจเสนอความคิดโดยยกตัวอย่างคนที่มีความคิด ผิดพลาดเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้อ่านได้ความยั้งคิด เช่น เรื่องพระลอแสดงความรักอันฝืนทำนองคลองธรรมจึงต้องประสบเคราะห์กรรมในที่สุด ผู้อ่านที่ขาดวิจารณญาณมีความคิดเป็นเรื่องจูงใจให้คนทำความผิดนับว่าขาด ประโยชน์ทางความคิดที่ควรได้ไปอย่างน่าเสียดายการอ่านประเภทนี้จึงต้องอาศัย การศึกษาและการชี้แนะที่ถูกต้องจากผู้มีประสบการณ์ในการอ่านมากกว่าครูจึง ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านเพื่อความคิดของตนเองและเพื่อชี้แนะหรือสนับสนุน นักเรียนให้พัฒนาการอ่านประเภทนี้
       3)  การอ่านเพื่อความบันเทิงเป็นการอ่านเพื่อฆ่าเวลา เช่น ระหว่างที่คอยบุคคลที่นัดหมาย คอยเวลารถไฟออก เป็นต้น หรืออ่านหนังสือประเภทบันเทิงคดีในเวลาว่าง บางคนที่มีนิสัยรักการอ่านหากรู้สึกเครียดจากการอ่านหนังสือเพื่อความรู้ อาจอ่านหนังสือประเภทเบาสมองเพื่อการพักผ่อน หนังสือประเภทที่สนองจุดประสงค์ของการอ่านประเภทนี้มีจำนวนมาก เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย การ์ตูน วรรณคดีประเทืองอารมณ์เป็นต้นจุดประสงค์ในการอ่านทั้ง 3 ประการดังกล่าว อาจรวมอยู่ในการอ่านครั้งเดียวกันก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องแยกจากกันอย่าง ชัดเจน
       4)  คุณค่าของการอ่าน ในการส่งเสริมการอ่าน ครูควรชี้ให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการอ่าน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเลือกหนังสือด้วย คุณค่าดังกล่าวมามีดังนี้
            • คุณค่าทางอารมณ์หนังสือที่ให้คุณค่าทางอารมณ์ ได้แก่ วรรณคดีที่มีความงามทั้งถ้อยคำ น้ำเสียง ลีลาในการประพันธ์ ตลอดจนความงามในเนื้อหา อาจเรียกได้ว่ามี “รส” วรรณคดี
ซึ่งตำราสันสกฤต กล่าวว่า มีรส 9 รส คือ
            1 รสแห่งความรักหรือความยินดี
            2 รสแห่งความรื่นเริง
            3 รสแห่งความสงสาร
            4 รสแห่งความเกรี้ยวกราด
            5 รสแห่งความกล้าหาญ
            6 รสแห่งความน่ากลัวหรือทุกขเวทนา
            7 รสแห่งความเกลียดชัง
            8 รสแห่งความประหลาดใจ
            9 รสแห่งความสงบสันติในวรรณคดีไทยก็แบ่งเป็น 4 รส คือ
                -  เสาวจนี การชมความงาม
                -  นารีปราโมทย์ การแสดงความรัก
                -  พิโรธวาทัง การแสดงความโกธรแค้น
                -  สัลลาปังคพิไสย การคร่ำครวญ
หลายท่านคงเคยได้ศึกษามาแล้ว หนังสือที่มิใช่ตำราวิชาการโดยตรง มักแทรกอารมณ์ไว้ด้วยไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพื่อให้น่าอ่านและสนองอารมณ์ของผู้อ่านในด้านต่าง ๆ
            • คุณค่าทางสติปัญญาหนังสือดีย่อมให้คุณค่าทางด้านสติปัญญา อันได้แก่ ความรู้และความคิดเชิงสร้างสรรค์ มิใช่ความคิดในเชิงทำลายความรู้ในที่นี้นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้วยังรวม ถึงความรู้ทางการเมือง สังคม ภาษา และสิ่งต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านเสมอ แม้จะหยิบหนังสือมาอ่านเพียง 2-3 นาทีผู้อ่านก็จะได้รับคุณค่าทางสติปัญญาไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งหนังสืออาจจะ ปรากฏในรูปของเศษกระดาษถุงกระดาษ แต่ก็จะ “ให้ ” บางสิ่งบางอย่างแก่ผู้อ่านบางครั้งอาจช่วยแก้ปัญหาที่คิดไม่ตกมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ย่อมสุดแต่วิจารณญาณและพื้นฐานของผู้อ่านด้วยบางคนอาจมองผ่านไปโดย ไม่สนใจแต่บางคนอาจมองลึกลงไปเห็นคุณค่าของหนังสือนั้นเป็นอย่างยิ่งคุณค่า ทางสติปัญญาจึงมิใช่ขึ้นอยู่กับหนังสือเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับผู้อ่านด้วย
            • คุณค่าทางสังคม การอ่านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาแต่เป็นโบราณกาล หากมนุษย์ ไม่มีนิสัยในการอ่าน วัฒนธรรมคงสูญสิ้นไป ไม่สืบทอดมาจนบัดนี้ วัฒนธรรมทางภาษา การเมือง การประกอบอาชีพ การศึกษา กฎหมาย ฯลฯ เหล่านี้อาศัยหนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และพัฒนาให้คุณ ค่าแก่สังคมนานัปการ หนังสืออาจทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้หากมีคนอ่านเป็นจำนวนมาก หนังสือและผู้อ่าน จึงอาศัยกันและกันเป็นเครื่องสืบทอดวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมที่เจริญแล้ว จะเห็นได้ว่า ในกลุ่มคนที่ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีหนังสือไม่มีการอ่านวัฒนธรรมของสังคมนั้นมักล้าหลัง ปราศจากการพัฒนา การอ่านจึงให้คุณค่าทางสังคมในทุกด้าน

4. การอ่านสะกดคำ
         การอ่านในใจเรามักไม่คำนึงถึงการสะกดคำ เพราะมุ่งอ่านเนื้อความอย่างรวดเร็วแต่ในการอ่านออกเสียงนั้น การสะกดคำ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้อ่านจำเป็นต้องอ่านให้ถูกต้องตามพจนานุกรม หรือการอ่านชื่อเฉพาะในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้กำหนดคำอ่านไว้โดยอาศัยการเทียบแนวภาษาเดิมที่เป็นคำบาลี-สันสกฤต หรือคำที่อ่านตามความนิยมมาจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปก็อนุโลมให้อ่านได้เป็นบาง กรณี แต่มิใช่จะอ่านตามความสะดวกได้เสมอไปขอยกตัวอย่างเพื่อให้เป็นแนวทางในการ อ่านและเพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการอ่านคำอื่น หากคำใดไม่แน่ใจให้นิสิต เปิดดูคำอ่านในพจนานุกรมได้

5. บทบาทของการอ่านที่มีต่อมนุษย์
         การอ่านหนังสือมีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบันนี้มาก อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพ ด้านบุคลิกภาพ นันทนาการและด้านพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ถึงจะมีสื่อมวลชนอื่น เช่น วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ที่เสนอข่าวสารต่าง ๆ ได้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ คนเราก็ต้องอ่านหนังสืออยู่นั้นเองเพราะว่าให้รายละเอียดต่าง ๆ ได้มากกว่า สุวิมล โฮมวงศ์ ( 2535 ) ได้ให้ความเห็นของบทบาทของการอ่านที่มีต่อมนุษย์ดังนี้
      1) บทบาทด้านการศึกษา
           การเรียนในระดับอุดมศึกษา นิสิตจะต้องศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่ในห้องสมุดเป็นส่วนใหญ่ซึ่งต้องใช้ การอ่านเป็นประจำ ผู้ที่อ่านมากย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่อ่านน้อย และผู้ที่อ่านเก่งย่อมอ่านหนังสือได้รวดเร็วสามารถเข้าใจเรื่องราวที่อ่าน จับใจความได้ถูกต้องแม่นยำ รู้จักวิธีอ่านหนังสือว่าเล่มไหนควรใช้วิธีอ่านอย่างไร สามารถประเมินผลจากสิ่งที่ตนอ่านรวมทั้งมีวิจารณญาณในการอ่านสามารถวิจารณ์ ได้ ดังนั้น ผู้ที่อ่านเป็นเท่านั้นจึงจะสามารถได้รับความรู้และประสบผลสำเร็จในการศึกษา เล่าเรียน
      2) บทบาทด้านอาชีพ
            การอ่านผูกพันอยู่กับบุคคลทุกอาชีพที่มุ่งหวังความเจริญก้าว หน้าเพราะผู้ประกอบอาชีพที่ดีนั้นจำเป็นต้องขวนขวายหาความรู้เพื่อเพิ่มพูน ปรับปรุงสมรรถภาพในการทำงานของตนอยู่เสมอทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าการงานทุก ชนิดก็ต้องมีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลาบุคคลที่พยายามก้าวไปข้างหน้าเท่า นั้นจึงจะมีชัยในการแข่งขันบุคคลที่ฉลาดและยึดหนังสือเป็นหลักโดยการอ่าน หนังสือที่เกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ ย่อมทำให้บุคคลเหล่านั้นมีความรู้กว้างขวางและประสบผลสำเร็จในการประกอบ อาชีพของตนเองได้อย่างมีความสุข
      3) บทบาทด้านการปรับปรุงบุคลิกภาพ
           สภาพสังคมในสมัยนี้ มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนและมีปัญหาของสังคมมากมายจนทำให้คนบางคนประสบชะตา กรรมที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าไม่อยากสมาคมกับใคร ๆ เพราะคิดว่าตนเองมีปมด้อย บางคนไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาไม่กล้าร่วมกิจกรรมทางด้านสังคมกับเพื่อนฝูง กลายเป็นคนเหงาหงอย ถ้าหากบุคคลผู้มีปัญหาดังกล่าว ได้กลับมาสนใจในการอ่านหนังสือประเภทสังคมศาสตร์ จริยศาสตร์จิตวิทยา การตอบและแก้ไขปัญหาชีวิต ก็จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น และยังจะช่วยให้รู้จักวิธีการวางตัวได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น ๆ อย่างมีความสุขทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ
      4) บทบาทด้านนันทนาการ
           ในปัจจุบันนี้การเสาะแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์เป็นไปได้โดยง่าย และมีหลายรูปแบบ เช่น การดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการฟังเพลง เป็นต้น แต่มีอีกแบบหนึ่งที่เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด นั่นคือ การอ่านหนังสือ อาจจะเป็นหนังสือโบราณคดีกวีนิพนธ์ สารคดี นวนิยาย หนังสือพิมพ์รายวัน นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความบันเทิงแล้ว ยังจะเป็นทักษะฝึกการอ่านอีกด้วย
      5) บทบาทด้านพัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศ
            การพัฒนาประเทศจะประสบผลสำเร็จได้นั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเบื้องต้น กล่าวคือ ให้ประชาชนมีการศึกษา เป็นผู้รู้หนังสือในระดับที่พอจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง และการพัฒนาประเทศต่อไปทั้งนี้เพราะการที่ประชากรเป็นผู้รู้หนังสือและมี นิสัยรักการอ่านย่อมจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ชีวิตของคนเราประสบความ สำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและความเป็นอยู่ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในที่สุด

6. องค์ประกอบที่มีต่อการอ่าน
          ความสามารถในการอ่านของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอ่านได้รวดเร็วและเข้าใจในขณะที่อีกหลายคนอ่านได้ช้าและเกิดอุปสรรคใน การอ่าน การที่ผู้อ่านจะประสบความสำเร็จในการอ่านมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการอ่าน ดังต่อไปนี้ วลัยภรณ์ อาทิตย์เที่ยง ( 2529 ) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการอ่านอยู่ 3 ลักษณะดังนี้
          1) ลักษณะของวัสดุการอ่าน จะต้องไม่ปิดกั้นหรือเป็นกำแพงขวางความเข้าใจในการอ่านของผู้เรียนนั่นคือ ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้อ่าน ไม่ใช้คำศัพท์ที่แปลกประหลาด คำศัพท์ที่เด็กไม่เคยรู้จัก หรือเป็นคำศัพท์ที่ยาวเกินความสามารถของเด็กสำหรับหลักภาษาก็ควรใช้แต่สิ่ง ที่เด็กคุ้นเคยแล้วประโยคไม่ยาวเกินไปและไม่สลับซับซ้อน
          2) ลักษณะของผู้อ่าน ความสามารถในการเข้าใจและตีความสิ่งที่อ่านจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
             • ระดับสติปัญญา เด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการอ่านแตกต่างกันไปตามระดับสติปัญญาของตน เช่น เด็กบางคนไม่สามารถจดจำรายละเอียดของเนื้อเรื่องได้บางคนไม่สามารถสรุป เรื่องที่อ่านได้ บางคนไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมและบางคนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่าง ระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นได้หรือถ้าทำได้ก็คงต้องใช้เวลามาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ครูควรจะตรวจสอบเพื่อช่วยเด็กในการพัฒนาสมรรถภาพในการอ่านและจัดประสบการณ์ ให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของเด็ก
             • ความรู้ในด้านคำศัพท์ และโครงสร้างของภาษาซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจ การสร้างความคิดรวบยอด และการสร้างจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
             • ภูมิหลังในเรื่องความรู้และประสบการณ์ จะช่วยในการผสมผสานความคิดเดิมให้เข้ากับความคิดใหม่ ตลอดจน การแปลความ ตีความ ขยายความและการประเมินค่าของสิ่งที่อ่าน
             • ร่างกาย เด็กที่มีสุขภาพทางกายดีจะมีความสามารถในการเรียน อ่านได้กว่าเด็กที่มีสุขภาพไม่ดีซึ่งต้องขาดเรียนบ่อย ๆ ทำให้การเรียนอ่านล่าช้าออกไป นอกจากนั้นสิ่งที่ครูจะต้องคำนึงถึงก็คือ สายตาและการได้ยิน เด็กที่มีสายตาผิดปกติ จะรู้สึกไม่อยากอ่านหนังสือและไม่รู้สึกเพลิดเพลินหรือพอใจกับสิ่งที่อ่าน ส่วนเด็กที่มีความผิดปกติทางการได้ยิน จะฟังคำอธิบายของครูไม่ได้ดีเท่าที่ควรเพราะจับใจความไม่ค่อยได้ และไม่เข้าใจความหมายของคำที่ครูให้อ่านซึ่งจะให้เกิดปัญหาในการอ่านต่อไป
             • อารมณ์ เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อการอ่านมาก เพราะการอ่านที่ประสบผลสำเร็จนั้น ผู้อ่านจำเป็นต้องมีสมาธิในการอ่าน ถ้าเด็กมีความกังวลใจ หรือมีความกลัว เด็กจะมีความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งจะขัดขวางสมาธิในการอ่านเป็นอย่างมากจนเป็นผลให้ประสบผลสำเร็จในการอ่าน น้อยกว่าเด็ก ที่มีอารมณ์ดีหรือสุขภาพจิตดี
          3) สภาพแวดล้อม เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกในครอบครัวให้ความสำคัญกับการอ่าน มีการส่งเสริมการอ่านเด็กก็จะรู้คุณค่าของการอ่านและอ่านได้ดีเพราะได้พบ เห็นและมีกิจกรรมการอ่านเป็นประจำ นอกจากนี้โรงเรียนยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการอ่านของนักเรียนอย่างสม่ำ เสมอ อันจะทำให้พัฒนาการทางด้านการอ่านดีเป็นไปตามลำดับและต่อเนื่อง

7. การอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมชน

        ทักษะการอ่าน ให้ผู้อื่นฟัง อันได้แก่ ทักษะการหายใจ ทักษะการใช้เสียงและทักษะการทรงตัว เป็นทักษะพื้นฐานให้การอ่านให้ผู้อื่นฟังโดยทั่วไป แต่ถ้าเป็นการอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมนุมชนที่เป็นทางการ ยังต้องมีทักษะอื่น ๆ อีกหลายประการ อาทิ
        1) การแต่งกาย
ผู้ทำหน้าที่อ่านทางวิทยุโทรทัศน์ มักเป็นรายการ ข่าว รายการอภิปรายสัมภาษณ์ซึ่งเป็นทางการหรือกึ่งทางการ การแต่งตัวจึงควรพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ควรให้หรูหรามากนักเพราะมิใช่การแสดงละคร จุดสนใจของผู้ชมอยู่ที่เนื้อหาของการอ่านมิใช่ที่เสื้อผ้าของผู้อ่านสีที่ ใช้ไม่ควรลวดลายมากเพราะจะทำให้ผู้ชมตาลาย ไม่ควรใช้เนื้อผ้าที่เป็นมันระยับหรือเครื่องประดับที่แวววาวเกินไป เพราะจะสะท้อนแสงมาก การแต่งหน้าควรให้กลมกลืนกับผิวสิ่งเหล่านี้แม้ไม่เกี่ยวกับการอ่านโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพราะมีผลต่อบุคลิกภาพของผู้อ่านด้วยการอ่านใน ที่ชุมนุมชน เช่น การอ่านสุนทรพจน์ ก็อาศัยหลักการแต่งกายเช่นเดียวกันคือ สุภาพ ไม่ฉูดฉาดบาดตาจนเกินไป
        2) กิริยาอาการ
การอ่านทางวิทยุโทรทัศน์ ผู้ชมจะสังเกตสีหน้าและกิริยาอาการของผู้อ่านได้อย่างถนัดผู้อ่านควรวางสี หน้าอย่างสบายๆ อาจยิ้มน้อย ๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติการเคลื่อนไหวใบหน้าหรือร่างกายควรนุ่มนวล ไม่หลุกหลิก สายตาควรมองกล้องเป็นส่วนใหญ่ผู้ชมจะได้รู้สึกว่าพูดกับตน การวางมือ การนั่ง หรือการยืนควรสุภาพและผ่อยคลาย ไม่ระมัดระวังจนกลายเป็นการเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่สบายตา
        3) การใช้สายตา
การอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมชน ต่างกับการอ่านทางวิทยุกระจายเสียงหรืออ่านในกลุ่มมิตรสหาย การอ่านที่ปรากฏอย่างเป็นทางการนั้น ผู้อ่านจะต้องเงยหน้าสบตาผู้ชมเป็นระยะๆ ฉะนั้น จึงต้องมีทักษะการกรวดสายตาอ่านอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษมิใช่ก้มอ่านตลอดหรือ เงยหน้าแล้วเสียจังหวะการอ่าน ไม่ว่าจะก้มหน้าหรือเงยหน้า การอ่านจะต้องราบรื่น ไม่สะดุดหรือติดขัดจนเป็นที่สังเกตได้ หากมีอุปสรรคในการอ่าน เช่น กระแอมหรือสำลัก ควรกล่าวคำขออภัยแล้วอ่านต่อไป ไม่ควรตกใจจนลืมว่าอ่านถึงที่ใด เพราะจะทำให้หยุดชะงักอีก

8. การอ่านวินิจสาร การวิเคราะห์ข้อความ การจับใจความ และการตีความ

        1  การอ่านวินิจ หมายถึง การดูอย่างตั้งใจ เอาใจใส่อย่างถี่ถ้วน
สาร หมายถึง ใจความสำคัญของข้อความที่ผู้เขียนต้องการที่จะสื่อมายังผู้อ่าน
การวินิจฉัยสาร หมายถึง การวิเคราะห์ข้อความ การจับใจความ และการตีความ ซึ่งจะใช้วิธีการใดวิธีหนึ่งหรือสอง-สามวิธีก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อความ
        2  การวิเคราะห์ข้อความ หมายถึง การพิจารณาแยกองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏหรือมีอยู่ในงานเขียนเรื่องหนึ่ง ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร หรือมีข้อควรสังเกตอย่างไรบ้าง
ผู้อ่านต้องแยกแยะให้ออกว่าก่อนว่า ข้อความที่อ่านนั้นผู้เขียนต้องการสื่อข้อเท็จจริงหรือสื่อความรู้สึกนึกคิด ให้ผู้อ่านทราบ
            - การสื่อข้อเท็จจริง คือ การบอกให้รู้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่าอะไร ใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นต้น
            - การสื่อความรู้สึกนึกคิด เป็นการสื่อความรู้หรือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจกระทบความรู้สึกของผู้ที่พบเห็น จนทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจได้ต่าง ๆ กันเช่น รู้สึกตระหนก รู้สึกสลดใจ บางครั้งอาจมีความคิด ซึ่งเกิดจากการใช้สติปัญญาใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วย
        3  การจับใจความ หมายถึง การแยกแยะเรื่องที่อ่านให้ได้ว่า ส่วนใดเป็นใจความหรือข้อความที่สำคัญที่สุดและส่วนใดเป็นพลความหรือข้อความ ประกอบ การจับใจความจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้ถูกต้อง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
https://e-learning.mfu.ac.th/mflu/1001103/chapter5/chapter5_1.htm