เทศกาลตรุษจีน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 8.3K views



เทศกาลตรุษจีน

เทศกาลตรุษจีนแบ่งออกเป็น ๔ วัน คือวันส่งท้ายที่จะทำพิธีไหว้  เรียกกันว่าวันไหว้กับวันแรกของปีใหม่ที่เรียกว่าวันชิวอิก หรือวันถือ  ชาวจีนจะใช้วันนี้เป็นวันพักผ่อนอย่างแท้จริง  เขาจะถือเป็นวันมงคลไม่ทำงาน  ไม่ซื้อ  ไม่ขาย  งดเว้นการกระทำหลายอย่างที่ไม่เป็นคุณ เช่นไม่ทะเลาะกัน  ไม่ทำภาชนะแตก  ไม่ใช้มีดหรือของมีคม รวมถึงไม่กวาดบ้านด้วยเพราะถือว่าจะเป็นการกวาดเอาโชคลาภออกจากบ้านไป  แต่จะแต่งตัวสวยและเที่ยวไปตามบ้านญาติมิตร เมื่อพบกันก็กล่าวคำอวยพรแก่กัน  วันไหว้ กับวันถือนี้ถือว่าสำคัญที่สุด ส่วนอีกสองวันถัดไปที่เรียกว่าชิวหยี กับชิวซานั้น เป็นวันสำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งก็จะเป็นไปตามอัธยาศัย

ในเรื่องของการไหว้นั้นเขาจะไหว้  ๓  เวลา คือเช้าไหว้เจ้า   กลางวันไหว้บรรพบุรุษ  และบ่ายไหว้ผีไม่มีญาติ  ของไหว้ก็จะมีหมูต้ม  เป็ดพะโล้  ไก่ต้มทั้งตัวพร้อมเครื่องใน  เหล้า  น้ำชา  ข้าว  ขนมเทียนขนมเข่ง  และส้มเป็นหลัก  นอกนั้นก็แล้วแต่ผู้ไหว้ที่จะคิดเพิ่มเติมเข้ามา  ครอบครัวส่วนใหญ่จะมีกระดาษเงิน กระดาษทองด้วย  เมื่อไหว้เสร็จก็นำไปเผาถือเป็นการส่งเงินทองไปให้บรรพบุรุษได้ใช้สอยในปรโลก

ตอนค่ำของวันไหว้เป็นเวลาที่ผู้น้อยหรือผู้อ่อนอาวุโสในครอบครัวจีนรอคอยเพราะผู้ใหญ่ในครอบครัวจะนำเงิน ทอง หรือสิ่งของให้แก่ตนตามควรแก่ฐานะ ที่เรียกว่า “แต๊ะเอีย”  ซึ่งแปลว่า  “ เงินก้นถุงประจำปี”  ความมุ่งหมายเดิมของเงินแต๊ะเอียก็คือผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กมีเงินมีทองเก็บไว้เมื่อโต จึงให้เงินทุกปี ถ้าเป็นลูกหลานเล็กๆ ก็จะใส่ซองกระดาษสีแดงเรียกว่า “อั่งเปา”  ในเวลาต่อมาเงินแต๊ะเอียได้เผื่อแผ่ถึงลูกจ้างที่ทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่บริษัท  ห้าง  ร้านหรือที่บ้าน  จนในที่สุดเงินแต๊ะเอียเลยกลายสภาพคล้ายเงินโบนัสหรือเงินรางวัลประจำปีไป

วัดและศาลเจ้ายอดนิยมของเทศกาลตรุษจีนใน กทม.
สมัยนี้ความนิยมในเรื่องการไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรขอความเป็นสิริมงคลดูจะเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ คือจะต้องไปให้ได้ครบ ๙ แห่ง โดยถือเลข ๙ เป็นเลขมงคล  และต่อไปนี้คือรายชื่อวัดและศาลเจ้า ๙ แห่งที่ชาวไทยเชื้อสายจีนใน กทม. นิยมไปขอพรในเทศกาลตรุษจีน

     ๑. วัดเล่งเน่ยยี่  วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัย ร.๕ อยู่ที่ถนนเจริญกรุง  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีชื่อไทยว่าวัดมังกรกมลาวาส  ในวัดมีพระพุทธรูปประธานทางฝ่ายมหายานและมีเทพเจ้าของจีนตั้งบูชาเกือบครบทุกองค์  พิธีกรรมในเทศกาลตรุษจีนของที่นี่มีสองอย่างคือ พิธีสะเดาะเคราะห์สำหรับคนที่เกิดปีนักษัตรที่ไม่ค่อยจะดีในปีใหม่ (ป๋ออุ่ง)  กับพิธีสวดเสริมสิริมงคล เสริมดวงให้เฮงๆ ตลอดปี (น่ำซิ้งปักเต๋าเก็ง)

     ๒. วัดไตรมิตรวิทยาราม อยู่เขตสัมพันธวงศ์  วัดนี้มีพระพุทธรูปสร้างสมัยสุโขทัยเป็นทองคำทั้งองค์ใหญ่ที่สุดในโลกประดิษฐานอยู่ มีชื่อว่าพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อทองคำหรือหลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร  เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนมาก ปกติในเทศกาลตรุษจีนทางวัดจะเปิดให้เข้าไปไหว้หลวงพ่อได้ตลอดสามวันสามคืน

     ๓. วัดอุภัยราชบำรุงหรือวัดญวน อยู่เขตสัมพันธวงศ์เช่นเดียวกัน  วัดนี้สร้างโดยพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๒ พระองค์ คือสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๕  จึงได้รับพระราชทานนามวัดว่า  อุภัยราชบำรุง แปลว่าได้รับการบำรุงจากพระราชา ๒ พระองค์   ชื่อว่าเป็นวัดญวนแต่ชาวไทยเชื้อสายจีนก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในวัดนี้อยู่ไม่น้อย

     ๔. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดนี้อยู่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี  มีพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต ที่ชาวจีนเรียกว่า ซำปอกง ประดิษฐานอยู่ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวต่างประเทศ ในเทศกาลตรุษจีนผู้คนจะหลั่งไหลมาไหว้องค์ซำปอกงกันอย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ เชื่อกันว่าจะเกิดสิริมงคล  ร่ำรวย  และมีมิตรดี

     ๕. ศาลเจ้าเกียนอันเกงหรือศาลเจ้าแม่กวนอิม อยู่ใกล้กันกับวัดกัลยาณมิตรฯ ที่เขตธนบุรีนั่นเอง เมื่อไหว้องค์ซำปอกงหรือหลวงพ่อโตแล้วก็เดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามทางซอยเล็กขวามือจะพบ ศาลเจ้าเกียนอันเกง ซึ่งมีความเก่าแก่  และเป็นศิลปกรรมโบราณที่งดงามมาก  แต่เจ้าแม่กวนอิมที่ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลเจ้านี้กลับเป็นประติมากรรมที่เก่าแก่ยิ่งกว่าตัวศาลเจ้าเสียอีก  ที่นี่ในคืนวันไหว้ต่อกับวันตรุษจีนผู้ศรัทธาจะเข้าไหว้ได้ตลอดคืน

     ๖. วัดสังข์กระจายวรวิหาร อยู่แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานของพระสังกัจจายน์ที่ขุดพบตั้งแต่ครั้งกระทำพิธีฝังรากพระอุโบสถในสมัยรัชกาลที่ ๑ ชาวจีนถือว่าเป็นพระแห่งความเมตตาและอุดมสมบูรณ์ด้วยโชคลาภ 

     ๗. ศาลเจ้าไต่ฮงกง อยู่ถนนเจ้าคำรพ พลับพลาไชยเป็นที่ตั้งของมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ที่นี่ไหว้พระไหว้เจ้า  แล้วส่วนใหญ่จะถือโอกาสบริจาคเงินซื้อโลงศพหรือผ้าห่อศพสำหรับผีไม่มีญาติเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดยนำใบเสร็จรับเงินไปอธิษฐานขอพรจากหลวงปู่ไต่ฮงกง ก่อนจะนำไปเผาที่กระถางหน้าศาล ในเทศกาลตรุษจีนศาลเจ้านี้ยังจัดพิธีสวดมนต์สะเดาะเคราะห์ด้วย

     ๘. ศาลเจ้าชิดเซี้ยม่า อยู่ถนนไมตรีจิตเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ศาลนี้สร้างมากว่า 100 ปีแล้ว ผู้คนที่มาไหว้นิยมซื้อเทียนเล่มใหญ่เขียนชื่อ นามสกุลจุดตั้งไว้บนโต๊ะหินหน้าองค์ชิดเซี้ยม่า เพื่อให้มีชีวิตที่รุ่งโรจน์โชติช่วงดังแสงเทียน

     ๙. ศาลเจ้าพ่อเสือ อยู่ถนนตะนาว เขตพระนคร ความเลื่อมใสศรัทธาที่ชาวไทยเชื้อสายจีนมีต่อศาลเจ้าแห่งนี้ใครไม่เชื่อให้ไปเวลาเทศกาลสำคัญจะพบผู้คนมากมายแทบไม่มีทางเดินต้องชูธูปเทียนไว้สูงกว่าไหล่  เพื่อไม่ให้ไหม้เสื้อผ้าคนอื่น  ของไหว้ที่นิยมก็คือผลไม้สำหรับไหว้เทพเจ้าเสียนเทียนซั่งตี้  ซึ่งเป็นประธานในศาลเจ้าและเทพเจ้าองค์อื่น ๆ สำหรับเจ้าพ่อเสือซึ่งเป็นรูปปั้นเสือทางด้านซ้ายมือของไหว้จะเป็นจำพวกเนื้อหมู ไข่ไก่ และข้าวเหนียว

เกร็ดเรื่อง
    
- การจุดประทัดในเทศกาลฯ เป็นความเชื่อว่าเพื่อขับไล่สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ เช่น ภูตผีปีศาจ ที่อาจซ่อนเร้นอยู่ในบ้านเรือนให้หนีไปเพราะผีจีนกลัวไฟและเสียงประทัด 

     - ความหมายของคำอวยพรที่นิยมในเทศกาลฯ  
          “ซินเจียยู่อี่  ซินนี้ฮวดไช้”  แปลว่า  “ เวลาใหม่นี้ขอให้สมใจ ปีใหม่ขอให้โชคดี”
          “บ่วงสื่อยู่อี่”  แปลว่า  “ทุกเรื่องขอให้สมปรารถนา”
          “ไช้ง้วงกวงจิ่ง”  แปลว่า  “โชค  เงิน-ทอง ไหลมาเทมา”
          “เจ็กปึ้งบ่วงหลี”  แปลว่า  “ลงทุนแค่หนึ่ง แต่กำไรเป็นหมื่นมหาศาล”

     - “ไก่”  เป็นสัตว์ที่มีความหมายต่อชาวจีนมากกว่าเป็นเพียงอาหารหลักในการไหว้เจ้า และกินไก่แล้วครอบครัวจะมั่งคั่ง  ดังที่ทุกคนเข้าใจ   หากแต่ยังมีตำนานเรื่องเล่าถึงความสำคัญในแง่ของการเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม และความสุจริต   โดยได้มีการเปรียบเทียบหงอนไก่สีแดงกับหมวกของราชบัณฑิต  เดือยไก่ที่มีความคมนั้นคล้ายดังอาวุธของทหารกล้า และการส่งเสียงขันยามรุ่งอรุณตรงต่อเวลาคือความสุจริต จนเป็นที่มาของภาพวาดรูปไก่ตามสิ่งของต่าง ๆ อีกด้วย  ถ้าเล่าเพียงเท่านี้คงจะมีคนสงสัยต่อไปแน่นอนว่า แล้วทำไมไก่ถึงได้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดี ๆ อย่างที่กล่าว   เรื่องนี้ต้องย้อนเล่าไปถึงตำนานพญาไก่ปราบปีศาจ ภาพวาดที่ชาวจีนโบราณใช้แปะไว้ที่ฝาประตูบ้านเพื่อป้องกันผีร้ายที่เล่ากันว่าในสมัยจักรพรรดิเหยาซึ่งชาวจีนมีความสงบสุข อยู่ดีกินดีนั้น  ได้มีฑูตจากต่างแคว้นนำนกฉงหมิงมาถวายเป็นบรรณาการ นกฉงหมิงนี้รูปร่างเหมือนไก่ เสียงร้องไพเราะดังหงส์ แถมยังสะกดความดุร้ายของปีศาจได้อีกต่างหาก   แต่เผอิญนกฉงหมิงไม่ได้มีถิ่นอาศัยอยู่ในจีน เพียงแต่จะบินย้ายถิ่นหนีร้อนหนีหนาวมาเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น พอถึงฤดูกาลที่นกฉงหมิงจะบินมา ชาวจีนก็จะทำความสะอาดบ้านเรือนไว้คอยต้อนรับ ถ้านกฉงหมิงไม่มา ผู้คนก็จะหันไปหาไก่ เพราะไก่มีความละม้ายเหมือนนกฉงหมิง   ตั้งแต่นั้นมา ไก่จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นด้วยเหตุนี้  

 

เรียบเรียงจาก
    
- คู่มือท่องเที่ยวไชน่าทาวน์ : ประวิทย์  พันธุ์วิโรจน์
     - ตรุษจีนเพื่อตรุษใจของจิตรา  ก่อนันทเกียรติ : นิตยสารสกุลไทย 2548
     - รุ้งสลับสีของดารีข่มอาวุธ, บนทางพิเศษของมาลัย : นิตยสารกุลสตรี  2544.

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "เทศกาลตรุษจีน"  ผลิตโดย งานบริการการผลิต ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ