“สาม” ในผู้สร้างมรดกทางวัฒนธรรมการดนตรีไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 17.1K views



“สาม”  ในผู้สร้างมรดกทางวัฒนธรรมการดนตรีไทย

 เดือนกันยายนเป็นเดือนเกิดของคีตกวีไทย ที่สร้างสรรค์และสืบสานการดนตรีไทยไว้เป็นมรดกของชาติถึงสามเท่าด้วยกัน คือจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่เรียกขานทางดนตรีของท่านกันว่า “ทางฝั่งธนฯ” ท่านเกิดวันที่ 21 พ.ศ. 2424, นายเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล เกิดวันที่ 24 พ.ศ. 2450 และศิษย์คนสุดท้ายของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่เรียกทางดนตรีของท่านว่า “ทางฝั่งพระนคร”  คือนายประสิทธิ์  ถาวร เกิดวันที่ 9 พ.ศ. 2464  ประวัติและผลงานของคีตกวีไทยทั้งสามท่านนี้ควรที่คนไทยรุ่นหลังจะได้ศึกษา ทำความรู้จัก และภาคภูมิใจในความรู้ ความสามารถในเชิงดนตรี เฉกเช่นที่ได้ศึกษาและชื่นชมผลงานของคีตกวีต่างชาติ

จางวางทั่ว พาทยโกศล นั้น  ท่านได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับดนตรีไทยมาตั้งแต่เล็ก เพราะบิดา มารดาและญาติล้วนเป็นผู้มีความสามารถสูงในเรื่องศิลปการดนตรีไทย คนในตระกูลหลายท่านมีส่วนเกี่ยวพันกับดนตรีราชสำนัก ดังนั้นการฝึกฝนดนตรีไทยเบื้องต้นของจางวางทั่ว ฯ จึงเริ่มที่บ้าน  จากนั้นยังได้เรียนเพิ่มเติมกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นอีกหลายท่านเช่นครูรอด  ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าครูมีแขก,  พระยาประสาน ดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์), ครูร้อย สุนทรวาทิน เป็นต้น  ทั้งยังได้มีโอกาสศึกษาเรื่องการประสานเสียงตามลักษณะดนตรีตะวันตกจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงมีผลงานชั้นเยี่ยมมากมาย  เจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็นทั้งครู ทั้งผู้ให้ความอุปถัมภ์แก่ครอบครัวพาทยโกศล และมีผลงานร่วมกันในบางเพลงกล่าวคือ บางเพลงที่ทรงพระนิพนธ์เป็นทางสำหรับแตรวงบรรเลง  ทรงเรียบเรียงตามแบบสากล  ก็ประทานให้จางวางทั่ว  พาทยโกศล นำไปคิดประดิษฐ์เป็นทางสำหรับปี่พาทย์บรรเลง  บางเพลงที่จางวางทั่ว ฯ ประดิษฐ์ไว้สำหรับปี่พาทย์บรรเลง  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตก็นำมาทรงพระนิพนธ์เป็นทางสำหรับแตรวงบรรเลง  บางเพลงทรงพระนิพนธ์ค้างไว้ก็ประทานให้นำไปแต่งต่อเติม  จึงมีผลงานเพลงที่ยังแยกไม่ออกระหว่างนักดนตรีทั้งสองนี้อยู่จำนวนหนึ่ง

การที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงรับจางวางทั่ว ฯ  และครอบครัวไว้ในอุปถัมภ์นั้น  เป็นความจำเป็นอยู่เองที่จางวางทั่ว ฯ ในฐานะผู้ควบคุมวงดนตรีประจำพระองค์ จะต้องหมั่นคิดค้นเทคนิคการบรรเลงและพัฒนาวงให้ฝีมือก้าวหน้าอยู่เสมอ เพราะสมัยนั้นเป็นสมัยที่เจ้านายแต่ละวังจะมีวงดนตรีเป็นของตนเอง และจะมีการจัดประชันแข่งขันหาความเป็นหนึ่ง  แต่ละวงของ แต่ละวังต่างต้องอยู่ในสถานะเตรียมความพร้อมเหมือนกันหมด

เมื่อเป็นผู้มีฝีมือก็ย่อมมีผู้ฝากตัวเป็นศิษย์ จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความพิถีพิถันในการวางรากฐานอันมั่นคงให้กับศิษย์ นับตั้งแต่เริ่มต้นเรียนการปฏิบัติเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ  สิ่งแรกที่มุ่งเน้นให้ศิษย์ต้องปฏิบัติ คือ กิริยา ท่าทางที่ดีในการบรรเลงผู้เรียนต้องปฏิบัติจนเป็นนิสัย เป็นการสร้างความสวยงามและสง่าในการบรรเลง ท่านจะพยายามเคี่ยวเข็ญให้ศิษย์มีความมานะ หมั่นกวดขันในวิชาการที่สอนเพื่อให้ศิษย์เอาจริงเอาจังและขยันฝึกซ้อม  ศิษย์คนใดปฏิบัติไม่ถูกใจก็ต้องมีการลงโทษตามสมควร แต่เมื่อผู้เรียนมีความชำนาญมากขึ้นก็จะต่อเพลงให้ตามความสามารถ จางวางทั่ว ฯ นั้น ท่านถ่ายทอดฝีมือที่สืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง เป็นทางโบราณ   เป็นเพลงที่ยากต้องเรียนตั้งแต่เล็ก และบ้านของท่านอยู่ฝั่งธนบุรี จึงเรียกทางดนตรีของจางวางทั่ว ฯ หรือทางดนตรีของวงวังบางขุนพรหมที่ท่านเป็นผู้ควบคุมวงว่า “ทางฝั่งธนฯ”  อย่างไรก็ตามท่านก็เป็นผู้มีความปราณีต่อศิษย์เป็นอย่างมาก บรรดาศิษย์ของท่านจะมากินอยู่หลับนอนที่บ้านของท่านแทบทั้งหมด บางครั้งศิษย์อยู่บ้านนอกก็จะยกกันมาอยู่ด้วยทั้งวงดนตรี หุงข้าวเลี้ยงกันต้องใช้กะทะใบบัว  เดือนหนึ่ง ๆ ต้องใช้ข้าว 5-6 กระสอบ ในชีวิตท่านสร้างศิษย์ไว้หลายรุ่น แต่ละรุ่นมีความสามารถมากจนกลายเป็นครูดนตรีและนักดนตรีที่มีความสามารถในสมัยหลัง ๆ   นอกจากจะสร้างศิษย์คุณภาพไว้หลายรุ่นอย่างที่กล่าวแล้ว ท่านยังได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงไว้ไม่น้อย เท่าที่สืบค้นได้มีเพลงเรื่อง 5 เพลง, เพลงตับ 4 เพลง, เพลงทยอยสามชั้น 4 เพลง, เพลงทยอยเถา 4 เพลง, เพลงปรบไก่สามชั้น 4 เพลง, เพลงปรบไก่สองชั้น 3 เพลง, เพลงปรบไก่เถา 34 เพลง, เพลงเดี่ยว 6 เพลง, เพลงฉิ่ง 1 เพลง  ทั้งยังมีผลงานร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตอีกจำนวนหนึ่ง  เพลงที่จางวางทั่วฯ สร้างสรรค์นี้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าควรแก่ความภาคภูมิใจของคนไทยดังที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้น

นับแต่ปี พ.ศ. 2475 อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์กรมพระ-นครสวรรค์วรพินิต เสด็จออกจากประเทศไทยไปแล้ว สกุล พาทยโกศล ได้รับผลกระทบอย่างมาก อันทำให้กิจการทางด้านดนตรีต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากความอุปถัมป์ที่เคยได้รับ  ไม่มีดังเช่นแต่ก่อน  จางวางทั่ว  พาทยโกศล ต้องรับหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ครอบครัว นักร้อง นักดนตรี และบรรดาศิษย์ของท่าน เป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ ดังนั้น วงดนตรีของท่านจึงจำเป็นต้อง รับงานบรรเลงในงานทั่ว ๆ ไป เพื่อหารายได้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งใหญ่ของท่าน จากเหตุข้างต้น มีผลกระทบต่อจิตใจของ จางวางทั่ว  พาทยโกศล อันเป็นเหตุทำให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ และก็ทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงวาระสุดท้าย จางวางทั่ว  พาทยโกศล ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2480 รวมอายุ 56 ปี

นายเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล   เป็นบุตรชายคนโตของจางวางทั่ว  พาทยโกศล ชื่อ เทวาประสิทธิ์เป็นชื่อที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตประทานให้ นายเทวาประสิทธิ์ ฯ เป็นครูดนตรีที่มีความสามารถมาก  เชี่ยวชาญในการบรรเลงซอสามสายและปี่ใน สำหรับปี่ในนั้นเคยเป่าชนะเลิศในการประชันวงปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหมในปี พ.ศ. 2466 มาแล้ว  นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ได้รับใช้กิจการด้านดนตรีถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุม-พันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตแทนตัวจางวางทั่ว ฯ มาโดยตลอด  ดังจะเห็นได้จากการที่เมื่อทรงพระ-นิพนธ์ เพลงโหมโรงเสภาขึ้นใหม่   ขณะประทับ  ณ  พระตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง อินโดนีเซีย  เมื่อปีพ.ศ. 2481 ได้ทรงหารือเรื่องชื่อเพลง นายเทวาประสิทธิ์ ฯ ได้กราบทูลเสนอชื่อว่าเพลงโหมโรงประเสบัน ซึ่งได้ใช้เป็นชื่อเพลงตั้งแต่นั้นมา อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีกตัญญูอย่างที่สุด  นอกจากนายเทวา  ประสิทธิ์ฯ จะเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถในการบรรเลงแล้ว ยังมีความสามารถในด้านการประพันธ์เพลงด้วย เพลงที่นายเทวาประสิทธิ์แต่งได้แก่เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ทางโหมโรง และทางธรรมดา  โดยได้รับพระราชทานโน๊ตสากลบทเพลงพระราชนิพนธ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันให้มาแต่งเป็นทางไทย, เพลงโหมโรงอาทิตย์อุทัย, เพลงเต่าเห่, เพลงนาคบริพัตรเถา, เพลงช้างประสานงาเถา, เพลงขึ้นพลับพลาเถา, เพลงเทวาประสิทธิ์เถา  นายเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง วันที่ 23ก.ค.  พ.ศ. 2516 เมื่ออายุ 66 ปี

นายประสิทธิ์ ถาวร  เป็นนักดนตรีที่เกิดในเดือนกันยายนเช่นเดียวกัน แต่ปี พ.ศ. หลังสุด คือ เกิดวันที่ 9 พ.ศ. 2464 เป็นชาวอยุธยา เริ่มหัดฆ้องวงใหญ่กับครูละมุด  จำปาเฟื่อง ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขยตั้งแต่อายุ 8 ปี  เรียนเร็วฝีมือดีจนได้เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์ของพี่เขยตั้งแต่อายุยังไม่คบ 12 ปี จากนั้นได้เรียนระนาดเอกกับครูเจริญ ดนตรีเจริญ จนถึงขั้นเดี่ยวเพลงสำคัญ ๆ ได้ จนครูทองดี  ศุณะมาลัย ศิษย์โปรดคนหนึ่งของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) เห็นหน่วยก้านดี จึงพามาฝากท่านครูหลวงประดิษฐ์-ไพเราะ  เรื่องนี้นายประสิทธิ์  ถาวร เองได้เขียนเล่าไว้ว่าครั้งแรกท่านครูจะไม่ยอมรับ แต่เมื่อ คุณแม่ของครูทองดีผู้ที่พามา กราบวิงวอน ขอให้ตรวจดูหน่วยก้านท่วงที่ของเด็กสักครั้งว่าในอนาคตจะเป็นนักดนตรีที่ดีได้หรือไม่  ทำให้ได้รับโอกาสตีเพลงสาธุการให้ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะฟัง ตีได้ครึ่งเพลงท่านครูเอื้อมมือมาที่ผืนระนาดแล้วพูดว่า “เอาละ ๆ ตกลงครูรับเจ้าเป็นลูกศิษย์คนสุดท้าย”  นายประสิทธิ์  ถาวรไม่ได้ทำให้ท่านครูต้องผิดหวังเลยในการรับเป็นศิษย์ เพราะนายประสิทธิ์  ถาวร ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบสานศิลปะดนตรีไทยได้ใช้วิชาชีพให้เกิดประโยชน์แก่วงการดนตรีไทยอย่างกว้างขวางทั้งยังเป็นผู้สานต่อความใฝ่ฝันของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ครูของท่านในเรื่องของการจัดบรรเลงดนตรีแบบวงมหาดุริยางค์อันเป็นเรื่องที่ยากยิ่งได้รับความสำเร็จอย่างสูงอีกด้วย  ความรู้ความสามารถและผลงานของนายประสิทธิ์  ถาวร มีมากมายดังคำประกาศยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2531 ที่ว่า ท่าน  “ เป็นดุริยางคศิลปิน   “ประจำสำนัก”   แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ข้าราชการบำนาญกรมศิลปากร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน  (สาขาศิลปะ),  กรรมการที่ปรึกษาหลักสูตรวิชาดุริยางค์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,เป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญในวิชาดนตรีไทย ทั้งในด้านทฤษฎี ปฏิบัติ การประพันธ์เพลง และปรัชญาสุนทรียศาสตร์ มีความแตกฉานในศาสตร์แห่งดนตรีไทยอย่างลึกซึ้ง มีความสามารถสูงส่งในการบรรเลงระนาดเอก เป็นที่กล่าวขานและยกย่องในหมู่ผู้ชำนาญการดนตรีไทยว่าเป็นผู้มีความสามารถบรรเลงระนาดเอกได้ทุกรสและทุกรูปแบบอยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เป็นเลิศทั้งในเชิงบรรเลงรวมวง และการบรรเลงเพลงเดี่ยว มีความรู้ความชำนาญอย่างดียิ่งในการปรับวงดนตรีไทย ตลอดจนการวิเคราะห์ดนตรีไทย มีความสามารถยอดเยี่ยมในการอธิบายและพรรณาเชิงเปรียบเทียบโดยใช้วิธีการอุปมาอุปมัย จนผู้ฟังสามารถเข้าใจเรื่องดนตรีอันล้ำลึกได้อย่างกระจ่าง เป็นผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ไม่ว่าผู้รับจะเป็นคนกลุ่มอายุใดก็ตาม ด้วยความรู้ความสามารถที่ได้สั่งสมมาแต่เยาว์วัยในแวดวงของครู อาจารย์ ญาติและมิตร กอปรกับการที่ได้เป็นศิษย์เอกแห่งสำนักดนตรีหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง)  และด้วยความช่างสังเกตศึกษาปฏิบัติทดลองด้วยตนเองจนแตกฉาน ทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ศิลปินทั้งในเชิงการประกอบอาชีพหน้าที่เป็นครูดนตรีไทยเป็นเวลานานเกือบ 50 ปี มีศิษย์เป็นจำนวนมากทั่วพระราชอาณาจักร และเป็นผู้เริ่มจัดการบรรเลงเพลงไทยแบบมหาดุริยางค์ตามความประสงค์ของอาจารย์ เป็นผู้มั่นในคุณธรรม ได้ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักดนตรีไทยอย่างสม่ำเสมอ” นายประสิทธิ์  ถาวร ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545  อันนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการดนตรีไทย

เรียบเรียงจาก
     - บทความชีวประวัติของจางวางทั่ว  พาทยโกศล : เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง “ รฤกถึงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมฝั่งธน ฯ : วัดกัลยาณมิตร กุฎีขาว ” : 2543
     - สารานุกรมเพลงไทย : ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์
     - บทบรรยายของ นพ.พูนพิศ  อมาตยกุล : 13 พ.ย. 44
     - หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพครูประสิทธิ์ถาวร : 9 มี.ค. 2546

บทย่อ
คีตกวีไทยที่สร้างสรรค์ดนตรีไทยไว้เป็นมรดกของชาติควรแก่ความภาคภูมิใจของคนไทยที่เกิดในเดือนกันยายน แต่ต่างปีต่างรุ่นมีถึง 3 ท่านด้วยกัน คือ จางวางทั่ว  พาทยโกศล, นายเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล และนายประสิทธิ์  ถาวร

จางวางทั่ว  พาทยโกศล  
- เป็นนักดนตรีที่ถ่ายทอดฝีมือดนตรีที่สืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาทางดนตรีของจางวางทั่ว  จึงเป็นทางที่ยาก ต้องเรียนตั้งแต่เล็ก การฝึกฝนดนตรีของท่านเริ่มที่บ้าน ซึ่งบิดา มารดา และญาติ ต่างมีความสามารถสูงในศิลปการดนตรีไทย ทั้งได้เรียนเพิ่มเติมจากครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงยุคนั้นอีกหลายท่าน  รวมถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิตผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถในการดนตรีตะวันตกด้วย  ทำให้จางวางทั่ว ฯ สามารถเรียบเรียงเสียงประสานดนตรีแบบตะวันตกได้ และได้เป็นนักดนตรีในพระอุปถัมภ์ของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าของวงวังบางขุมพรหมที่โด่งดัง
- ตลอดชีวิตการเป็นนักดนตรีเท่าที่สืบค้นได้  จางวางทั่ว ฯ ได้สร้างสรรค์เพลงประเภทต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งเพลงเรื่อง, เพลงตับ, เพลงทยอย, เพลงปรบไก่และเพลงเดี่ยว  ทั้งยังมีผลงานเพลงร่วมกันกับกรมพระนครสวรรค์วรพินิตจำนวนหนึ่งด้วย  ปี 2477  ท่านได้ดัดแปลงเพลงตระนิมิตรเป็นเพลงชาติทำนองไทย และได้รับการคัดเลือกจากทางราชการ พร้อมกับทำนองสากลของคุณพระเจนดุริยางค์  แต่ในที่สุดกรรมการเห็นว่าเพลงชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามีสองเพลงจะทำให้ลดความขลังลงไป จึงให้มีแต่เพลงเดียวคือทำนองสากลของคุณพระเจนดุริยางค์
- ในฐานะที่จางวางทั่ว ฯ เป็นผู้ควบคุมวงวังบางขุนพรหมและบ้านท่านอยู่ฝั่งธน หลังวัดกัลยาณมิตร ทางดนตรีของจางวางทั่วฯ และวงวังบางขุนพรหมจึงดูเรียกขานกันว่าทางฝั่งธนฯ
- นอกจากงานสร้างสรรค์ดนตรีไทยแล้ว จางวางทั่ว ฯ ได้ถ่ายทอดวิชาการดนตรีให้กับศิษย์จนมีความรู้ความสามารถสูงหลายรุ่น
- จางวางทั่วฯ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 12 ต.ค. พ.ศ. 2480 รวมอายุ 56 ปี

นายเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล
- เป็นบุตรชายคนโตของจางวางทั่ว เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในการบรรเลงซอสามสายและ ปี่ใน
- มีความสามารถในการประพันธ์เพลง แต่ท่านไม่ค่อยนิยมแต่งเพลงเท่าไรนัก
- เพลงที่แต่งได้แก่ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ทางโหมโรงและทางธรรมดา,โหมโรงอาทิตย์อุทัย, เต่าเห่, นาคบริพัตรเถา, ช้างประสานงาเถา, ขึ้นพลับพลาเถา
- นายเทวาประสิทธิ์ ฯ เป็นผู้มีความกตัญญูได้รับใช้กรมพระนครสวรรค์วนพินิตด้านดนตรีใกล้ชิดแทนตัวจางวางทั่วฯ โดยตลอด
- ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2516 เมื่ออายุ 66 ปี

นายประสิทธิ์  ถาวร
- เป็นชาวอยุธยา เริ่มฝึกหัดฆ้องวงใหญ่ตั้งแต่ 9 ปี และได้เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์ของพี่เขยตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 12 ปี
- ครูทองดี ศุณะมาลัย ศิษย์คนโปรดของท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เห็นหน่วยก้านดี จึงพามาฝากท่านครู ตอนแรกท่านไม่ยอมรับ แต่เมื่อได้ตีเพลงสาธุการให้ฟัง ท่านจึงยอมรับเป็นศิษย์ และเป็น “ศิษย์คนสุดท้าย” ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
- ได้รับการถ่ายทอดวิธีการเดี่ยวระนาด 2 ราง จากหลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นการเฉพาะ มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรี – เพลงเป็นอย่างมาก  เรื่องเครื่องดนตรีต่าง ๆ ก็รู้ลึกซึ้ง  แม้มิได้ลงมือบรรเลงเองก็สามารถแจกจ่ายท่วงทำนองให้ผู้บรรเลงได้ครบถ้วนทุกเครื่องมือ จึงเป็นนักปรับวงดนตรีไทยชั้นเยี่ยมกับทั้งได้ฝึกซ้อมและควบคุมวงดนตรีไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศหลายครั้ง
- เป็นผู้สืบสานความใฝ่ฝันเรื่องการจัดบรรเลงมหาดุริยางค์ไทยของท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้สำเร็จเป็นอย่างดี
- ได้ถ่ายทอดความรู้ ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ฝึกสอนศิษย์จนเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นกำลังสำคัญต่อวงการดนตรีไทยหลายต่อหลายท่าน
- ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง   (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2531
- ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ 15 พ.ย. พ.ศ. 2545 รวมอายุ 81 ปี

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง " “สาม”   ในผู้สร้างมรดกทางวัฒนธรรมการดนตรีไทย"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ