เทศน์มหาชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 14.6K views



เทศน์มหาชาติ

“นรก” หรือ “สวรรค์”  สถานพำนักสุดท้ายที่พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าแต่ละคนสามารถกำหนดเส้นทางไปให้แก่ตนเองได้ด้วยความประพฤติ-ปฏิบัติขณะเมื่อยังมีชีวิตอยู่   มีความเชื่อสืบต่อกันมาเนิ่นนานในเรื่องของการบำเพ็ญเพียรสร้างบุญกุศล ทำแต่ความดีแล้วจะได้ไปสวรรค์  ในขณะที่ผู้ประพฤติชั่วจะต้องไปรับโทษทัณฑ์ในนรก หนัก-เบา ต่าง ๆ กันไป เป็นเหตุให้คนจำนวนไม่น้อยเร่งทำจิตใจให้สะอาด ทำบุญ ทำทาน ถือศีล ฟังธรรมอยู่เสมอ   และมีพระธรรมเทศนาเรื่องหนึ่งที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่าถ้าใครได้ฟังจบในวันเดียวจะเกิดอานิสงส์หลายประการ นับตั้งแต่จะได้เกิดในศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย, ตายแล้วจะไม่เกิดในอบายแต่จะได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์, จะได้บรรลุมรรคผล นิพพาน หรือเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นผู้มีลาภ ยศ ไมตรี มีความสุข   พระธรรมเทศนา เรื่องนี้คือ “มหาชาติ” เป็นการเล่าเรื่องบุพจริยาของพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีอันยิ่งใหญ่ เป็นชาติสุดท้ายก่อนจะมาเกิดเป็นพระสิทธัตถะแล้วทรง บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า อันมีมาในพระบาลีเป็นพุทธวจนะแท้ ความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีนั้นอยู่ในรูปคาถา  คือคำร้อยกรอง ต่อมาบรรพบุรุษของเราทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร เห็นพ้องกันว่า เรื่องราวของพระเวสสันดรนี้เป็นเรื่องที่มีกระแสแห่งความเมตตา การเสียสละ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก สอนให้คนโอบอ้อมอารีไม่เห็นแก่ตัว เหมาะจะนำมาเป็นเครื่องเสริมสร้างอัธยาศรัยของคนในชาติให้เกิดความโน้มเอียงตามจรรยาของพระเวสสันดร สังคมจะได้สุขสงบ จึงได้มีการแปลออกเป็นภาษาไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งเวสสันดรชาดกเป็นคำกลอนด้วยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนสนใจเวสสันดรชาดกมากขึ้น  ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ระหว่าง พ.ศ. 2144-2170 ก็ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้แต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมหาชาติคำหลวงนี้มีการประดิษฐ์ลีลาสำเนียงการอ่านเทศน์อย่างวิจิตรไพเราะ จนกลายเป็นแบบฉบับที่เรียกว่าทำนองคำหลวงหรือทำนองหลวง มีการแข่งขันกันในหมู่เจ้านาย ผู้มีวาสนา แสวงหาพระภิกษุเสียงดีมาฝึกหัด โดยรับเป็นอุปัฏฐาก บำรุงด้วยไทยทาน ทำให้มีพระนักเทศน์มหาชาติเด่น ๆ มากรูป  ในสมัยนั้น   พอถึงช่วงระหว่างเดือน ๑๑ ถึงเดือนอ้าย ก็จะนิมนต์มาเทศน์แข่งขันโชว์ศิลปะทางสำเนียงกันเป็นที่ครึกครื้น  พอถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ความนิยมในเทศน์มหาชาติก็ยังคงอยู่   มีเจ้านาย  ขุนนาง และพระภิกษุแปล และตกแต่งสำนวนเทศนาโวหารไว้หลายท่าน เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4,  พระเทพโมลี (กลิ่น),  พระยาธรรมปรีชา (บุญ), และขุนวรรณวาทวิจิตร เป็นต้น  ผลงานเหล่านี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้เป็นหนังสืออ่านกวีนิพนธ์แทบทั้งสิ้น เรื่องราวของมหาชาติแบ่งการเทศนาเป็น 13 กัณฑ์ ประกอบด้วย กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ พระคาถา, กัณฑ์หิมพานต์ มี ๑๓๔ พระคาถา, กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ พระคาถา, กัณฑ์วนประเวศน์ มี ๕๗ พระคาถา, กัณฑ์ชูชก มี ๗๙ พระคาถา, กัณฑ์จุลพล มี ๓๕ พระคาถา, กัณฑ์มหาพน มี ๘๐ พระคาถา, กัณฑ์กุมาร มี ๑๐๑ พระคาถา, กัณฑ์มัทรี มี ๙๐ พระคาถา, กัณฑ์สักกบรรพ มี ๔๓ พระคาถา, กัณฑ์มหาราช มี ๖๙ พระคาถา, กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี ๓๖ พระคาถา และ กัณฑ์นครกัณฑ์ มี ๔๘ พระคาถา  รวม ๑๓ กัณฑ์ มีพันพระคาถา

การเทศน์มหาชาติสมัยก่อนจัดเป็นพระราชพิธีประจำปี ระหว่าง เดือน ๑๑ ถึง เดือนอ้าย ในส่วนของราษฎรนิยมทำในวันออกพรรษาโดยเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์มักเตรียมธูปเทียนให้เท่ากับจำนวนพระคาถาในกัณฑ์ที่ตนเป็นเจ้าภาพ   จะมีการตกแต่งสถานที่ให้คล้ายกับท้องเรื่องในแต่ละกัณฑ์ เช่นถ้าอยู่ป่าก็จะมีผลไม้กล้วย, อ้อย, มะพร้าว ถ้าเป็นเรื่องในเมืองเรื่องของกษัตริย์ก็จะมีธงมีฉัตรปักประดับ เป็นต้น สิ่งของที่ประกอบพิธีทั้งหมดถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ น้ำมนต์ก็เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่อาจชำระล้างอัปมงคลทั้งปวงได้ ทั้งมีการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบกิริยาของคนในเรื่องเป็นเพลงประจำแต่ละกัณฑ์ด้วย ปัจจุบันการเทศน์มหาชาติแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ ได้แก่ ๑. มหาชาติประยุกต์ ที่ผู้ฟังจะเข้าใจง่าย ประหยัดเวลาการแสดงและไม่ง่วง  ๒. มหาชาติทรงเครื่องซึ่งก็แบ่งออกไปอีก ๓ ลักษณะ ได้แก่ มีการปุจฉา-วิสัจนา  ถาม-ตอบ ในเรื่องที่เทศน์,  มีการสมมุติหน้าที่เช่นให้องค์นั้นเป็นพระเวสสันดรให้องค์นี้เป็นพระนางมัทรี, และการเทศน์แบบแหล่  โดยการแหล่ก็ยังแบ่งออกไปอีกสองแบบคือแหล่ตามเนื้อเรื่องในหนังสือ กับแหล่นอก คือมี เนื้อความนอกหนังสือเข้ามาเพิ่มเติมและ  ๓. มหาชาติหางเครื่องคือมีการแสดงประกอบที่เรียกว่าเป็นบุคคลาธิษฐาน ซึ่งจะใช้ฆราวาสหรือ บางทีหาลิเกมาแสดง แล้วนิมนต์พระมาเทศน์ประกอบ

“เทศน์มหาชาติ”  เป็นกิจกรรมทางศาสนาที่มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ  สมควรที่พุทธศาสนิกชน จะได้หาโอกาสไปฟัง  โดยแม้จะไม่หวังในเรื่องสวรรค์-นิพพาน ก็จะได้ไปฟังเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก อันจัดเป็นวรรณกรรมชั้นเลิศทั้งยังจะเกิดความปลื้มปีติจากการฟังเรื่องราวของผู้ที่เพียรกระทำความดี  นอกจากนั้น ยังจะได้สัมผัสถึงความสามัคคีของหมู่คณะที่พร้อมกันมาจัดงานด้วยใจศรัทธาซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วถ้าเผอิญสวรรค์มีจริงคนฟังจะได้อะไรคงไม่ต้องบอก

เรียบเรียงจาก : หนังสือเทศน์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ : สำนักงานพุทธมณฑล  กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ : 2543

บทย่อ
เทศน์มหาชาติเป็นการเล่าเรื่อง บุพจริยา ของพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ที่ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่เป็นชาติสุดท้าย ก่อนมาเกิดเป็นพระสิทธัตถะ และบรรลุพระสัมมะสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีอยู่ในรูปพระคาถา  บรรพบุรุษเราทั้งฝ่ายอาณาจักร และศาสนาจักรเห็นเป็นเรื่องที่จะช่วยโน้มนำจิตใจคนในชาติให้ มีความโอบอ้อมอารี เสียสละ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก สังคมจะได้สงบสุข จึงได้แปลออกเป็นภาษาไทย และมีการปรับปรุงเพื่อความไพเราะน่าฟังมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยสุโขทัย, สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุง-รัตนโกสินทร์    ที่มีชื่อเสียงว่ามีการประดิษฐ์ลีลาสำเนียงการอ่านอย่างวิจิตรไพเราะ คือมหาชาติคำหลวง ที่พระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้แต่งสมัยโบราณ การเทศน์มหาชาติจัดเป็นพระราชพิธีประจำปีระหว่าง เดือน ๑๑ - เดือนอ้าย  ส่วนราษฎรนิยมจัดในวันออกพรรษา  เทศน์มหาชาติ มี ๑๓ กัณฑ์ รวมพระคาถาได้พันพระคาถา จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเทศน์คาถาพัน  เชื่อกันว่า ถ้าผู้ใดได้ฟังจบทั้งพันพระคาถาในวันเดียวจะเกิดอานิสงส์มาก เช่นจะได้เกิดในศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย, ตายไปจะไม่ตกนรก จะได้เกิดในสวรรค์, จะเป็นผู้มีลาภ ยศ ไมตรี  มีความสุข เป็นต้น

ปัจจุบันการเทศมหาชาติแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ
๑. มหาชาติประยุกต์
๒. มหาชาติทรงเครื่อง
๓. มหาชาติหางเครื่อง 

 

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "เทศน์มหาชาติ"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ