งานประเพณี รับบัว - โยนบัว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 21.4K views



งานประเพณี รับบัว - โยนบัว

“เดือน ๑๑ น้ำนอง เดือน ๑๒ น้ำทรง เดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำรี่ไหลลง”

ข้อความอันแสดงถึงวัฎจักรของธรรมชาตินี้  คนไทยภาคกลางที่สมัยก่อนมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำมักจะพูดกันในยามฤดูน้ำเหนือเริ่มไหลหลากลงมา ช่วงเดือน ๙ - เดือน ๑๐  ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นแล้วเอ่อล้นตลิ่งในเดือน ๑๑ - เดือน ๑๒ ตามลำดับ  และนี่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่างานประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยน้ำกำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะงานบุญสารท เดือน ๑๐, งานปิดทองไหว้พระ, งานออกพรรษาที่มักจะมีการแข่งเรือรวมอยู่ด้วย และ งานบุญกฐิน-ผ้าป่า   ต่างจะทยอยกันมาเพิ่มเติมความสุขความรื่นเริงให้กับชีวิตผู้คนที่สมัยนั้นเรื่องของความบันเทิงหาได้ไม่ง่ายเช่นทุกวันนี้

สำหรับชาวบางพลี สมุทรปราการ ซึ่งมีงานประเพณีรับบัวหรือโยนบัว สืบทอดกันมายาวนานเกือบร้อยปี กำลังจะได้เห็นภาพของความร่วมมือร่วมใจในการอัญเชิญหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ ประดิษฐานในเรือลำใหญ่แห่แหนไปตามลำคลองสำโรง เพื่อรับดอกบัวที่ชาวบ้านสองฟากฝั่งตระเตรียมไว้รอคอยที่จะโยนบัวนั้นไปบนเรือ เพื่อนมัสการหลวงพ่อโตอีกครั้ง ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ คือก่อนวันออกพรรษาหนึ่งวัน ตรงกับวันที่ ๑๗ ตุลาคม นี้เอง   มีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่าประเพณีอันดีงามนี้สืบเนื่องมาจากทุ่งบางพลีในยามหน้าน้ำสมัยก่อนนั้น  มีดอกบัวหลวงอยู่มากมาย เรียกได้ว่าเป็นแหล่งดอกบัวที่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียงและชาวบางพลีเอง จะสามารถมาเก็บมาหาดอกบัวไปใช้ถวายพระในงานบุญออกพรรษา ได้ทั้งนั้นทำให้ชาวบางพลีผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และหวังในบุญกุศลร่วมกันก็จะช่วยจัดเก็บดอกบัวหลวงไว้แจกให้ชาวบ้าน โดยไม่ได้คิดมูลค่าอะไร ในวันก่อนออกพรรษา นี่เป็นสาเหตุเริ่มแรกของประเพณีที่เรียกว่ารับบัว   และในสมัยก่อนนั้น ประชาชนที่อยู่ในแถบ อ.บางพลี จะมีอยู่สามพวก คือคนไทยเจ้าของพื้นที่กับคนลาวและคนมอญหรือที่เรียกว่ารามัญ แต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้าควบคุมดูแล ต่อมาคนทั้งสามกลุ่มได้ปรึกษากัน แล้วร่วมใจกันหักร้างถางพงแยกออกไปคนละทิศ เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกให้กลุ่มของตน  ปรากฏว่าพวกมอญที่แยกไปทางลาดกระบังเพาะปลูกแล้วไม่ได้ผล นกหนูรบกวนจึงเตรียมตัวอพยพกลับปากลัดถิ่นเดิม   โดยเริ่มอพยพในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน จึงได้เก็บดอกบัวไปด้วยมากมาย  โดยบอกคนไทยที่คุ้นเคยกันว่าจะนำไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด  ทั้งยังชักชวนว่าในปีต่อไป พอวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ละก็ให้คนไทยเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตด้วยพวกตนจะมารับ   พอถึงกำหนดวันนัดคนไทยก็เก็บรวบรวมดอกบัวไว้ที่บางพลีใหญ่ พวกมอญก็มารับดอกบัวตามที่ตกลงกันไว้  เวลาที่เขามารับบัวนั้น เขาจะมาด้วยเรือขนาดใหญ่จุคนได้ถึง ๕๐–๖๐ คน มีการร้องรำทำเพลง การละเล่นต่าง ๆ มาอย่างสนุกสนาน พวกที่คอยรับก็พลอยเล่นสนุกสนานไปด้วย   ทั้งยังได้เตรียมอาหารคาวหวานไว้เลี้ยงดูกันอิ่มหนำสำราญดีแล้วพวกรามัญหรือคนมอญนี้จึงนำดอกบัวไปบูชาหลวงพ่อโตส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปบูชาพระคาถาพันที่วัดของตนในวันออกพรรษา   จากความร่วมแรงร่วมใจกันทำบุญและ เลี้ยงดูเล่นสนุกสนานร่วมกันทุกปีนี้เอง จึงมีผู้สันนิษฐานว่าคงจะก่อให้เกิดความคุ้นเคยอันส่งผลให้การรับ-ส่งบัวที่เคยรับส่งกันแบบยกมือพนมอธิษฐานแล้วจึงส่งให้มือต่อมือ เปลี่ยนรูปแบบไปบ้างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน   มีประวัติด้วยว่าประเพณีนี้จะเสื่อมสูญเหมือนกันถ้าไม่ได้นายชื้น  วรศิริ นายอำเภอบางพลีในช่วงระหว่างปี 2478-2481 เห็นถึงความดีงามของประเพณีและได้ทำการฟื้นฟูส่งเสริมให้ยั่งยืนมาทุกวันนี้ และนับเป็นครั้งแรกที่ภาคราชการเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานประเพณีรับบัวของชาวบางพลี   สำหรับปีนี้ทางอำเภอบางพลีจะจัดงานเพิ่มจากที่เคยจัดสองวันเป็นสามวัน  โดยกำหนดเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม ถึง 17 ตุลาคม

เรียบเรียงจาก :  ชีวิตไทยชุดบรรพบุรุษของเรา : สวทช : 2540

เรื่องประกอบ
ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโตนั้นมีตำนานเล่าว่าท่านเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกันกับหลวงพ่อพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา และหลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ต่างมีประวัติว่าลอยน้ำมา และได้รับการชักรั้งนิมนต์ขึ้นประดิษฐานตามวัดที่ท่านประสงค์จะประดิษฐานอยู่สำหรับหลวงพ่อโตตามประวัติก็ว่าท่านได้ลอยล่องมาโผล่ขึ้นที่บริเวณริมน้ำบางปะกง   ต.สัมปทวน  จ.ฉะเชิงเทรา ก่อน แล้วจมหายไป   มาโผล่ให้เห็นอีกครั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา เขตตำบลสามเสน ในครั้งนี้ได้มีประชาชนพยายามฉุดชักขึ้นฝั่งเหมือนกันแต่ไม่สำเร็จสุนทรภู่คงจะได้เห็นจึงแต่งไว้ในนิราศภูเขาทอง จากนั้นมาโผล่อีกครั้งที่บริเวณปากคลองสำโรง  จ.สมุทรปราการ ชาวบ้านก็พยายามกราบไหว้อาราธนานิมนต์ขึ้นฝั่งเหมือนกันก็ยังไม่สำเร็จ จนต้องต่อแพผูกไว้กับองค์ท่าน เพื่อไม่ให้จมหายไปอีกและได้อธิษฐานบนบานว่า หากท่านประสงค์จะขึ้นฝั่งที่ใดก็ขอให้แพที่ผูกโยงท่านไว้นั้นไปหยุดที่นั่น  แพก็ได้ลอยไปหยุดที่วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม ชาวบ้านกับพระสงฆ์ จึงร่วมกันอัญเชิญองค์พระขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดได้เป็นผลสำเร็จวัดพลับพลาชัยชนะสงครามก็คือวัดบางพลีใหญ่ที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตในปัจจุบันนี้เอง

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "งานประเพณี รับบัว - โยนบัว"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ