กินเจ : เทศกาลแห่งการบำเพ็ญธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.7K views



กินเจ : เทศกาลแห่งการบำเพ็ญธรรม

 เดือนตุลาคม ปีนี้  เวียนมาแทบจะพร้อมกันกับเทศกาลงานบุญของชาวจีน  คือ “เทศกาลกินเจ” ซึ่งตามปฏิทินไทยจะอยู่ระหว่างวันที่ 3-12 ตุลาคม 2548    คนจีนนั้นไม่ว่าจะไปอยู่ในส่วนใด ๆ ของโลก สิ่งที่พวกเขานำติดตัวไปด้วยเสมอคือวัฒนธรรมของชาติเขา  พวกที่มาตั้งหลักปักฐานในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน จึงมีประวัติว่าประเพณีกินเจเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เพราะมีการค้าสำเภากับจีนอยู่เป็นประจำแล้วก็มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในเมืองไทยไม่น้อย  พวกแต้จิ๋วส่วนใหญ่จะอยู่ภาคกลาง ส่วนพวกฮกเกี้ยนจะอยู่ภาคใต้ทำเหมืองแร่ที่ภูเก็ต   ที่ภูเก็ตนี้เองครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาดและ มีผู้แนะนำให้ถือศีลกินเจ เพื่อสะเดาะเคราะห์จะช่วยขจัดปัดเป่าโรคร้ายลงได้ตามคติความเชื่อของชาวจีนต่อเหตุที่เคยเกิดในมณฑลกังไส โดยในครั้งแรก ๆ ที่ทำพิธีถือศีลกินเจในเมืองไทยนั้นคงจะยังทำไม่ถูกวิธี คณะงิ้วที่มาแสดงอยู่ใน อ.กระทู้ จึงรับอาสาไปเมืองจีนเพื่อศึกษาพิธีกรรมกินเจที่สมบูรณ์แบบ   ล่วงสามปีคณะงิ้วกลับมาพร้อมกับนำธูปที่จุดติดต่อ (เหี่ยวเอี๊ยม) มาจากมณฑลกังไส ด้วย  โดยมาถึงจังหวัดภูเก็ตในคืนก่อนวันเทศกาลกินเจชาวกระทู้ได้จัดขบวนไปรับและแห่แหนกลับไปยังศาลเจ้ากระทู้พิธีกินเจจึงได้เริ่มตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา โดยมีการถ่ายเททางวัฒนธรรมต่อกันมาตลอด  ดังนั้นในเมืองไทยเวลานี้  มองไปทางไหน จึงจะเห็นร้านรวงต่าง ๆ ที่จำหน่ายอาหารปักธงสีเหลืองเขียนตัวหนังสือจีนสีแดงว่า “เจ”  อยู่ค่อนข้างหนาตาทีเดียว  ทั้งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ทราบว่า “เขา” จำหน่ายอาหารเจ  เป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปร่วมประกอบพิธีกรรม ณ สถานที่อันเป็นศูนย์รวมคือ “ศาลเจ้า” ได้ แต่ประสงค์จะกินเจ

คำว่า “เจ” แปลว่า ไม่มีคาว และยังแปลว่าอุโบสถหรือการถือศีลได้อีกด้วย  จึงเป็นที่มาของวลีว่า “ถือศีลกินเจ” สำหรับข้อปฏิบัติที่ผู้ถือศีลกินเจพึงปฏิบัติในเทศกาล โดยถือเป็นหัวใจของงานได้แก่การทำตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ ทั้งกายและใจ ด้วยการแต่งกายด้วยชุดขาวและทำจิตใจให้สะอาด, งดเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคอาหารที่ปรุงจากสัตว์ โดยถือคติว่าจะไม่เอาชีวิตสัตว์มาบำรุงชีวิตของตน ไม่นำเลือดเนื้อของสัตว์มาเพิ่มเลือดเนื้อของตน หันมาบริโภคพืชผักแทน แต่ทั้งนี้พืชผักที่มีกลิ่นฉุนประเภทกระเทียม กุยฉ่าย ต้นหอม ผักชี ก็ต้องงดเว้นด้วยเพราะถือว่าเป็นสิ่งกระตุ้นอารมณ์ นอกจากนั้นยังจะต้องไม่ลักทรัพย์, ไม่เสพประเวณี, ไม่พูดเท็จ, ไม่เสพสิ่งมึนเมา และทำบุญให้ทาน  การบำเพ็ญตนให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกายและใจเช่นนี้ก็คือการบำเพ็ญธรรม และก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในอำนาจของบุญกุศล เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือเทพเจ้าจะคุ้มครอง ทำให้กล้าที่จะลุยไฟ กล้าที่จะใช้อาวุธต่อร่างกายของตน โดยไม่หวาดหวั่น เราจึงได้เห็นภาพเช่นนี้อยู่ในทุกครั้งที่เทศกาลกินเจเวียนมาถึง   ความงดงามของประเพณีกินเจนี้จึงอยู่ที่การแสดงออกถึงความสามัคคีกันทำความดีของคนหมู่มาก  โดยถ้าดูตามข้อปฏิบัติจะพบว่าคือการร่วมใจกันถือศีล 5 นั้นเอง สัตว์ก็พลอยได้อานิสงส์ มีชีวิตยืนยาวขึ้น ผู้ปฏิบัติเองนอกจากจะได้รับผลบุญ เกิดความสบายใจที่ได้ประกอบคุณความดีแล้ว  ในด้านของร่างกายก็ได้รับประโยชน์ดีขึ้นด้วยเพราะว่างเว้นการกินเนื้อสัตว์ ซึ่งแม้แต่ทางวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่าการกินมากไม่ดี  ดังนั้นเรามากินเจกันเถอะ แม้เพียงวันเดียวก็ยังดี

เรียบเรียงจาก
- ประเพณีกินเจ ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย : สวทช. 2540
- คู่มือท่องเที่ยวไชน่าทาวน์ : ประวิทย์  พันธุ์วิโรจน์

เรื่องประกอบ
กำเนิดเทศกาลกินเจในส่วนของจีนก่อนจะแพร่มาเมืองไทยมีหลายตำนาน เช่น
- มีตำนานความเชื่อว่าการกินเจเป็นพิธีเพื่อระลึกถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรมในขณะเสด็จไต้หวันทางชลมารคเมื่อมี   พระชนมายุได้ 9 พรรษา ความเชื่อนี้มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นดินแดนผืน สุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง
- มีตำนานความเชื่อว่าในสมัยแผ่นดินราชวงศ์ “ยิ่นฮ่วงสี” ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นผู้วิเศษ มีพี่น้องอยู่ด้วยกัน 9 ท่าน ได้ละสังขารไปเกิดเป็นดาวจระเข้เรียงกัน 9 ดวง ผู้คนเลยเรียกว่า  “เก้าอ๊วงฮุดโจ้ว” แปลว่าพระเจ้า 9 องค์ เก๊าอ๊วงฮุดโจ้วนี้เป็นผู้ถือบัญชีคนในโลกมนุษย์ สามารถต่อชีวิตแก่ผู้ถึงกำหนดสิ้นอายุได้ตามต้องการ และจะลงมาตรวจสอบผู้คนบนโลกมนุษย์ เพื่อจดบันทึก แล้วบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละคนในช่วงระหว่างวันขึ้น1-9 ค่ำ เดือน 9   ชาวโลกจึงพากันสร้างกุศลโดยงดอาหารสดคาว    ชั่วคราว โดยเฉพาะเนื้อสัตว์เพื่อแสดงให้เก้าอ๊วงฮุดโจ้วเห็นว่าประกอบกรรมดี
- อีกเรื่องหนึ่งเกิด ณ. มณฑลกังไสประเทศจีน ในครั้งนั้นมีเศรษฐีใจบุญคนหนึ่งได้สร้างบ้านใหม่และตั้งใจไว้ว่าก่อนที่จะเข้าอยู่ จะทำบุญทำทานให้คนยากจนเป็นเวลาติดต่อกัน 100 วัน  เมื่อใกล้จะครบกำหนดก็มีขอทานคนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน ตามร่างกายมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มส่งกลิ่นเหม็นมาขออาศัยในบ้านใหม่ของเศรษฐี เศรษฐีก็อนุญาต เมื่อขอทานเข้าไปในบ้านก็เที่ยวเอามือที่เปื้อนน้ำเหลืองป้ายเช็ดตามฝาผนัง แต่เศรษฐีก็มิได้ว่ากล่าวอะไร ความจริงแล้วขอทานคนนั้นก็คือเซียนหรือผู้วิเศษที่แปลงตัวมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์  ดังนั้น  เมื่อเศรษฐีใจบุญและบริวารเข้าไปในบ้านใหม่ แทนที่จะเห็นฝาผนังบ้านสกปรกเลอะเทอะด้วยน้ำเหลือง พวกเขากลับได้เห็นภาพวาดที่งดงาม ทั้งยังมีข้อความเขียนบอกไว้ว่าอีกไม่นานมณฑลกังไสจะประสบภัยธรรมชาติร้ายแรงจนถึงกับจมหายไปในมหาสมุทร  แต่เนื่องจากผลบุญที่เศรษฐีได้ทำไว้จึงมาบอกวิธีแก้ไขเหตุร้ายให้  โดยชาวกังไสจะต้องประกอบพิธีถือศีลกินเจตามพิธีการที่เขียนบอกให้บนฝาผนังเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน และ จะต้องยึดถือปฏิบัติทุกต้นเดือน 9 เป็นประจำทุกปี ชาวกังไสก็ได้ปฏิบัติตามและรอดพ้นจากภัยธรรมชาติครั้งนั้นไปได้  ต่อมาประเพณีกินเจก็ได้แพร่หลายไปทั่วเมืองจีน และแพร่ไปกับชาวจีนที่ไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ถ่ายทอดไป ถึงประชาชนเจ้าของประเทศนั้น ๆ ด้วย
- อาหารเจกับอาหารมังสวิรัติ ถึงแม้จะเป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันอยู่บ้าง เช่น ชาวเจจะเคร่งครัดในเรื่องไม่กินพืชผักที่มีกลิ่นฉุน, ไม่กินน้ำมันพืชผสม  ถ้วย จาน ภาชนะต่างๆ  จะแยกใช้กันกับที่เปื้อนเนื้อสัตว์และการกินเจเป็นเทศกาล  ในขณะที่นักมังสวิรัติกินได้ตลอดปีและ นอกจากจะไม่ห้ามเรื่องพืชผักที่มีกลิ่นฉุนแล้ว นักมังสวิรัติยังแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่กินไข่ กินนม กับกลุ่มที่ไม่กินทั้งเนื้อสัตว์ ทั้งไข่ และนม   ส่วนความเชื่อที่ว่ากินแล้วจะได้บุญ กินแล้วสุขภาพจะดีนั้น  เหมือนกัน

 

ที่มา
- สารชาวบ้านฉบับพิเศษ : ISBN 974-7858-54-1
- ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย สวทช : 2540
- 108 ซองคำถาม เล่ม 4 : 2538

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "กินเจ : เทศกาลแห่งการบำเพ็ญธรรม"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ