สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วันที่ 28 ธันวาคมนี้ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาติไทย คือเป็นวันคล้ายวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน-มหาราชทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี หลังจากที่ได้รวบรวมกำลังจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง แล้วยกหวนเข้ามาตีกองทัพพม่าที่ตั้งรักษากรุงศรีอยุธยาอยู่ แตกพ่ายไป ในปลายปี 2310 นั้นเอง ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้มีความสำคัญต่อคนไทยและชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเราจะไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นสูญเสียความเป็นเอกราชแล้ว การฟื้นฟูบ้านเมือง การเยียวยาจิตใจผู้คน ที่เสียหายยับเยินจากภัยสงครามก็ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น โดยถึงแม้จะทำได้ด้วยความยากลำบากก็ทรงพยายามทุกวิถีทาง ดังที่จะได้ยกพระราชกรณียกิจบางส่วนมาเผยแพร่ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติดังนี้
เราคงจะทราบจากการเรียนประวัติศาสตร์มาบ้างแล้วว่า การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปี พ.ศ. 2310 นั้น ประเทศชาติพบกับความพินาศย่อยยับทุกด้าน ทุกทาง ประชาชนได้รับความทุกข์ยากถึงที่สุด นอกจากจะพลัดพรากจากครอบครัวคนที่รัก ไม่มีบ้านจะอยู่ และทุพพลภาพแล้ว แม้แต่เสื้อผ้าจะใส่หรืออาหารจะกินก็แทบไม่มี ดังหลักฐานที่บอกกล่าวถึงเหตุการณ์จากหลายทางด้วยกัน เช่น จดหมายเหตุของพวกคณะ-บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยสมัยนั้นได้บันทึกสภาพความอดอยากแร้นแค้นไว้บางตอนว่า “พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต้องรับความเดือดร้อน ล้มตายวันละมาก ๆ เพราะอาหารการกินอัตคัตกันดารอย่างที่สุด ในปีนี้ (2312) ได้มีคนตายจำนวนมากกว่าเมื่อครั้งพม่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา” ……ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า…… “ราคาข้าวขึ้นสูงจนกลายเป็นสินค้าหายากในตลาดหัวเผือกหัวมันและพวกหน่อไม้เป็นอาหารสำคัญในภาวะอดอยากนี้ และคนส่วนมากถูกคุกคามจากโรคที่แปลกๆ พวกคนป่วยความจำเสื่อมและพูดจาเลอะเลือนจนกลายเป็นคนเสียสติในระยะนี้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้แผ่ขยายความร้ายแรงน่ากลัวของโรคได้ดีขึ้น…”
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจ่ายพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าต่างประเทศที่บันทุกสำเภามาขายในราคาที่แพงมาก เพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎร รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พระราชทรัพย์ที่ทรงนำมาจับจ่ายครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “ซื้อข้าวเลี้ยงคนโซ คงจะได้เงินจากค่ายโพธิ์สามต้น” ….. “เงินจะได้มาทางใดไม่ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้ซื้อข้าวมาแจกเฉลี่ยเลี้ยงชีวิตกันในเวลาขัดสน อิ่มก็อิ่มด้วยกัน อดก็อดด้วยกัน”….. มีจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งด้วยว่า “ได้ปืนใหญ่ พม่าเอาไปไม่ได้ค้างอยู่ ให้ระเบิดเอาทองลงสำเภา ซื้อข้าวถังละ 6 บาท เลี้ยงคนโซไว้ได้กว่าพัน”….. แสดงว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขวนขวายทุกวิถีทางที่จะช่วยราษฎรให้มีกินกันตาย และต้องทรงซื้อข้าวสารแจกอยู่นาน ในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ว่า “ครั้นลุศักราช 1132 ปีขาลโทศก (พ.ศ.2313)..ฯลฯ…ครั้งนั้น ข้าวแพงเกวียนละ 3 ชั่ง ด้วยเดชะพระบารมีบรมโพธิสมภาร กำปั่นข้าวสารมาแต่ทิศใต้ก็ได้เกณฑ์ให้กองทัพเหลือเฟือ แล้วทรงบริจาคทานแก่สมณะชีพราหมณ์ ยาจกวณิพก และครอบครัวบุตรภรรยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง…”
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชดังนี้ นอกจากจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังมีผลให้เศรษฐกิจของชาติเริ่มฟื้นตัวด้วย จากการที่มีพ่อค้านำข้าวของมาขายกันหลายรายเพราะขายได้ราคาดี แต่พอมากันมากเข้าก็เริ่มเกิดแข่งขันกันทางการค้า ประชาชนก็ซื้อหาสินค้าในราคาถูกลง ทั้งเมื่อมีข่าวแพร่กระจายไปว่าทรงเลี้ยงดูประชาชน พวกที่หลบหนีไปซุกซ่อนในที่ต่าง ๆ ก็อพยพกลับภูมิลำเนา แล้วเริ่มประกอบอาชีพกันตามปกติ เฉพาะอย่างยิ่งการทำนาอันเป็นอาชีพหลัก ทำให้บ้านเมืองเข้ารูปเข้ารอยและมีกำลังพลเมืองในการป้องกันข้าศึกศัตรูมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯให้ข้าราชการช่วยกันทำนาปรังคือทำนานอกฤดูกาลเพื่อไม่ให้ต้องไปแย่งซื้อข้าวจากราษฎร และบรรเทาความขาดแคลนข้าวด้วย ในปี 2314 ยังได้โปรดเกล้าฯให้ขยายพื้นที่ทำนาออกไปนอกคูเมืองทั้งฟากตะวันออกและฟากตะวันตกเรียกพื้นที่นี้ว่า “ทะเลตม” ซึ่งนอกจากทำนาแล้วจะได้ใช้ตั้งค่ายต่อสู้เวลาข้าศึกยกมาประชิดเมืองด้วย การทำนาในทะเลตมนี้ขยายวงกว้างออกไป ทางฟากตะวันตกก็ทำไปจนถึงกระทุ่มแบน หนองบัว แขวงเมืองนครชัยศรี ฟากตะวันออกก็ทำนาติดต่อไปจนถึงทุ่งบางกะปิ ทุ่งสามเสน กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นแหล่งทำนาแห่งใหม่ที่สำคัญของภาคกลางตั้งแต่นั้นมา
พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนน้อย ยังมีพระราชกรณียกิจด้านอื่นอีกมากมายที่ก่อประโยชน์แก่ชาติและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคมนาคม การค้าขายกับต่างประเทศ การกอบกู้พระศาสนาและงานกอบกู้ศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงทั้งวรรณกรรม นาฎศิลป์ การละคร และงานช่างศิลป์ที่ต้องทรงปฏิบัติไปพร้อมกัน ดังนั้นช่วง 15 ปี แห่งการครองราชย์แม้จะเป็นระยะเวลาที่สั้น แต่ก็มีความหมายและสำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชนชาติไทย เมื่อวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ท่านเวียนมาถึง จึงควรที่คนไทยทุกคนพึงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์โดยทั่วกัน
เรียบเรียงจาก
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชาวจีนในสยาม : เสทื้อน ศุภโสภณ : เส้นทางเศรษฐกิจฉบับพิเศษ : 2527
- ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 3 : 2525
ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ