การทอดผ้าป่า
“กฐิน - ผ้าป่า” สองคำ สองประเพณีนี้ ผู้คนมักนิยมพูดติดต่อกันเสมอ เนื่องจากปัจจุบันการทอดผ้าป่ามักเป็นส่วนหนึ่งของการทอดกฐิน คือเมื่อทอดกฐินเสร็จก็ทอดผ้าป่าตาม โดยเรียกผ้าป่าชนิดนี้ว่า ผ้าป่าหางกฐิน
ในความเป็นจริง การทอดผ้าป่านั้น ถึงแม้วัตถุประสงค์ของการทอดจะเหมือนกับกฐินตรงที่เป็นการถวายผ้าแด่พระภิกษุ เพื่อทำเป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับผลัดเปลี่ยน หรือทดแทนของเก่าที่ชำรุด แต่วิธีการทอดไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือการทอดผ้าป่าสามารถทำได้ตลอดปี ไม่ได้มีกำหนดเวลาเหมือนการทอดกฐิน เนื่องจากมูลเหตุของการทอดผ้าป่ามาจากเมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์รับจีวรจากชาวบ้าน พระภิกษุจึงต้องไปเที่ยวเก็บผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้วตามที่ต่าง ๆ เช่น ในป่า หรือไม่ก็ต้องเก็บผ้าห่อศพตามป่าช้า ซึ่งผ้าเหล่านี้เรียกว่าผ้าบังสุกุล หรือผ้าเปื้อนฝุ่นมาทำความสะอาด ตัด เย็บปะติดปะต่อกันเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิผืนใดผืนหนึ่ง ชาวบ้านเห็นความลำบาก ดังนี้ ต้องการจะอนุเคราะห์จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ในป่าหรือตามที่ที่พระภิกษุจะต้องเดินผ่าน เมื่อพระภิกษุผ่านมาเห็นไม่มีเจ้าของท่านก็ชักผ้าบังสุกุลนั้นไป ดังนั้นการทอดผ้าป่าในเวลาต่อ ๆ มาไม่ว่าจะมีการปรับปรุงรูปแบบของพิธีกรรมอย่างไร ก็ตาม สิ่งที่ผู้ทอดผ้าป่าควรต้องปฏิบัติคือคงองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการไว้ ได้แก่
1. ควรมีผ้า
2. ควรมีกิ่งไม้ปักไว้ด้วย
3. ผู้ถวายต้องตั้งใจ ถวายอุทิศแด่ภิกษุสงฆ์ผู้ต้องการผ้าบังสุกุลอย่างเดียวไม่เจาะจงพระรูปหนึ่งรูปใด
ทั้งนี้เพื่อให้สมกับคำว่าผ้าป่า และได้ชื่อว่าเป็นผู้ถวายผ้าป่า
“วตฺ ถโท โหติ วณฺณโท” “ให้ผ้านุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ”
เรียบเรียงจาก
- ประมวลพิธีมงคลของไทย : จันทร์ ไพจิตร ป.9 สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช : 2520
- พุทธศาสนสุภาษิต : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "การทอดผ้าป่า" ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ