การธนาคารเบื้องต้น
ธนาคาร เป็นสถาบันหนึ่งในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความสำคัญมาก การธนาคารเบื้องต้นนั้น รวมถึงธนาคารกลางและระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด เป็นสถาบันทางการเงินมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการเงินและการให้สินเชื่ออื่น ๆ
ประเภทของธนาคารทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ธนาคารกลาง (Central Bank)
2. ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank)
ส่วนสถาบันการเงินอื่น ๆ รวมเรียกว่า "สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร" (Non-Bank Institutions) และไม่ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สินเชื่อ การให้กู้ยืมเงิน และอื่น ๆ เช่น โรงรับจำนำ บริษัทประกันชีวิต ฯลฯ
1. ธนาคารกลาง (Central Bank)
ธนาคารกลาง เป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ควบคุมการเงินของประเทศ เป็นนายธนาคารพาณิชย์ เป็นที่พึ่งแห่งสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ และเป็นสถาบันในการบริการควบคุมการเงินในระดับสูงของประเทศ ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณเงินและเครดิตในประเทศให้มีความคล่องตัว และมีหน้าที่เป็นผู้นำทางด้านการเงินและเครดิตของสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่ออำนวยผลให้เกิดความเจริญเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ
ธนาคารกลางของประเทศไทยเรียกว่า "ธนาคารแห่งประเทศไทย" (Bank of Thailand) มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. ออกธนบัตรและพิมพ์ธนบัตรโดยร่วมมือกับกระทรวงการคลัง
2. เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ รับฝากเงิน ตรวจสอบการให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์
3. เป็นนายธนาคารของรัฐบาล คือ การเก็บรักษาเงินฝากของรัฐ เป็นตัวแทนของรัฐในด้านการเงินทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้ให้กู้ยืมแก่รัฐบาล
4. ควบคุม ตรวจสอบสถาบันการเงินเพื่อความมั่นคงของประชาชนที่ใช้บริการของสถาบันการเงิน และกำกับให้สถาบันการเงินดำเนินการอยู่ในขอบเขตแห่งกฎหมาย
5. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หมายถึง การควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศ กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินตราสกุลอื่นๆ
6. รักษาทุนสำรองระหว่างประเทศให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมทั้งภายนอกและภายในประเทศ
7. กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศ
2. ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank)
ธนาคารพาณิชย์ หมายถึง ธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบการธนาคารพาณิชย์ และมีความหมายรวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ หรือหมายถึงการประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้กำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง
ธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่หลักดังนี้
1. รับฝากเงินจากประชาชนและให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของเงินเป็นดอกเบี้ยแบ่งเป็นดังนี้
- ฝากประจำ มีกำหนดแน่นอนให้เจ้าของเงินทวงถาม
- ฝากเผื่อเรียก การจ่ายเงินแก่เจ้าของเงินเมื่อไรก็ตามที่ทวงถาม
- ฝากกระแสรายวัน การจ่ายเงินแก่เจ้าของเงินทวงถามได้ทุกเมื่อด้วยเช็ค
2. สร้างเงินฝาก คือ การนำเงินฝากไปลงทุนต่าง ๆ เช่น ให้กู้ยืม ซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ
3. การโอนเงินระหว่างธนาคารในท้องถิ่นและระหว่างประเทศ
4. การเรียกเก็บเงิน โดยเรียกเก็บตามเช็ค ตั๋วเงิน ดร๊าฟ ที่ครบกำหนดโดยลูกค้าไม่ต้องเก็บเงินเอง
5. การให้เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาขอมีค่าของลูกค้าที่มาเช่าไว้ เพื่อความปลอดภัยที่มั่นคงของทรัพย์สิน
6. การบริการเป็นตัวแทน เช่น ซื้อขายหุ้น ชำระค่าทะเบียนรถยนต์ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เสียภาษี ฯลฯ
7. บริการการค้า เช่น การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ การออกใบค้ำประกันการซื้อขาย
3. ธนาคารพิเศษและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
1. ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารของรัฐ ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2498 เพื่อนำเงินฝากของประชาชนและผลประโยชน์ทางการค้ามาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ เช่น รับฝากเงินประเภทต่าง ๆ พันธบัตรออมสิน สลากออมสินพิเศษ เงินฝากสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว เงินฝากเคหะสงเคราะห์ ฯลฯ
2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นธนาคารของรัฐ ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2496 เพื่อส่งเสริมการนำเงินไปลงทุนเกี่ยวกับการซื้อที่ดิน และการสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นธนาคารของรัฐ ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2509 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรของประเทศ ให้เกษตรกรกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ
4. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันการเงินเอกชน มีธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินต่าง ๆ และประชาชนถือหุ้น ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2502 เพื่อส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมของประเทศ
5. สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นสำนักงานเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันของกระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารกรุงไทย โดยดำเนินการเกี่ยวกับการหาเงินเพื่อให้ผู้ประกอบอุตสหากรรมขนาดย่อมที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกู้ยืม
6. บริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อระดมเงินฝากจากประชาชนเป็นก้อนใหญ่ ด้วยการขายตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เพื่อให้การกู้ยืมสำหรับการค้าขาย การพัฒนา การจำหน่าย และการบริโภค ตลอดจนเพื่อการเคหะ(ที่อยู่อาศัย)
7. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (Credit Foncier) ทำหน้าที่ระดมเงินฝากจากสมาชิก จัดสรรให้สมาชิกกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินและปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
8. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ซื้อขายหุ้นหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นกู้
9. การประกันภัย (Insurance) การประกันภัยเป็นสัญญาโอนการเสี่ยงภัยของตนไปเฉลี่ยให้แก่คนหมู่มาก โดยมีบริษัทประกันภัยเป็นผู้จัดการและเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา
สัญญาประกันภัยเรียกว่า "กรมธรรม์ประกันภัย" แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1) การประกันชีวิต เป็นสัญญาซึ่งบริษัทรับประกันชีวิตตกลงจะชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันชีวิต หรือแก่ผู้รับผลประโยชน์ ในเมื่อผู้เอาประกันชีวิตตายลงหรือยังมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันในสัญญา โดยผู้เอาประกันชีวิตส่งเบี้ยประกันให้แก่บริษัทผู้รับประกันชีวิตตามที่กำหนดในสัญญาการประกันชีวิต
2) การประกันวินาศภัย เป็นสัญญาซึ่งบริษัทประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่รับประกันภัย หรืออาจทำให้ทรัพย์สินที่ประกันภัยไว้นั้นมีสภาพเหมือนเดิม โดยผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัย แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆดังนี้
- การประกันภัยอัคคีภัย เป็นการประกันภัยทรัพย์สินที่เสียหายอันเกิดจากไฟฟ้าผ่าและอัคคีภัย
- การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง เป็นการประกันความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งทางเรือและเครื่องบิน และรวมถึงการประกันตัวเรือและเครื่องบินที่ใช้เป็นพาหนะด้วย
- การประกันภัยรถยนต์ เป็นการประกันความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์ชนกัน หรืออุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ ซึ่งรวมถึงความเสียหายที่เกิดแก่ตัวรถยนต์และต่อบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินอื่นที่เกิดจากภัยรถยนต์ที่เอาประกันนั้น
10. สหกรณ์การเกษตร ตั้งขึ้นเพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกช่วยเหลือกันในการเพาะปลูก และจัดการขยายผลผลิตโดยจัดสรรเงินให้สมาชิกกู้
11. สหกรณ์ออมทรัพย์ ตั้งขึ้นรับฝากเงินจากสมาชิกโดยมีดอกเบี้ยตอบแทนแล้วนำเงินให้สมาชิกกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยกำไรปันผลตามหุ้นและการใช้บริการ
12. โรงรับจำนำ ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับจำนำสิ่งของต่าง ๆจากประชาชน โดยตีราคาต่ำกว่ามูลค่าจริงและมีกำหนดเวลาให้ไถ่ถอน โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์ เรียกว่า "สถานธนานุเคราะห์" ส่วนโรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเทศบาล เรียกว่า "สถานธนานุบาล"