สถาบันเศรษฐกิจ (Economic Institutions)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 360K views



สถาบันเศรษฐกิจ (Economic Institutions)

สถาบันทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์อย่างยิ่ง เพราะความต้องการทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และความต้องการของมนุษย์บางครั้งก็ไม่มีของเขต ซึ่งจากการศึกษาประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า มนุษย์ได้มีการต่อสู้ทางเศรษฐกิจมานาน เดิมทีเป็นการต่อสู่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ต่อมาเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น หลังจากนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างท้องถิ่นและระหว่างชาติ เป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยในทุกยุคและทุกสมัย

สถาบันทางเศรษฐกิจ เป็นสถาบันที่กล่าวถึงวิธีการอยู่รอดของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ด้านการผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภค สถาบันนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ดี ในการลดปริมาณการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่ทรัพยากรและการผลิตของมนุษย์อยู่ในวงจำกัด ประกอบกับมนุษย์มีความต้องการทางด้านวัตถุมากขึ้น มนุษย์จึงต้องหาวิธีการบางอย่างเพื่อให้ความต้องการของตนได้บรรลุผล โดยมนุษย์ได้ใช้วิธีการทางเศรษฐกิจเพื่อสนองความต้องการของตนตั้งแต่ระยะแรก ๆ จนถึงปัจจุบัน เช่น การหาอาหารด้วยการล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ ตกปลา ทำนา แลกเปลี่ยนค้าขาย และการ อุตสาหกรรม เป็นต้น สถาบันทางเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่หน่วยงานอิสระ แต่เป็นหน่วยหนึ่งของวัฒนธรรม เพราะเป็นสถาบันที่มีทั้งอิทธิพล และรับอิทธิพลจากหน่วยอื่น ๆ เป็นสถาบันที่มนุษย์จะขาดเสียมิได้


องค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. ทรัพย์สิน
2. สัญญาหรือนิติกรรม
3. อาชีพ
4. การแลกเปลี่ยน
5. ตลาด


1. ทรัพย์สิน
ทรัพย์สิน เป็นองค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจ ซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของ ซึ่งเป็นสิ่งที่หายาก เป็นสิ่งมีค่า และเปลี่ยนมือได้ สิ่งของซึ่งอาจจะถือกรรมสิทธิ์ได้นี้ อาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เสื้อผ้า รถยนต์ ฯลฯ หรือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ชื่อเสียง

2. สัญญา
สัญญา เป็นองค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจที่ช่วยให้ทรัพย์สินสามารถเปลี่ยนมือกันได้อย่างเป็นระเบียบ และเป็นหลักฐาน สัญญาเป็นการกำหนดคุณค่าและบรรทัดฐานซึ่งมนุษย์ยึดถือร่วมกัน เพื่อเป็นเงื่อนไขหรือขั้นตอนในการจัดระเบียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเป็นพื้นฐานร่วมกันในการต่อรองและการกำหนดขอบเขตที่บุคคลอาจจะแสวงหาผลประโยชน์ได้ในทางเศรษฐกิจ

สัญญา หมายถึง ข้อตกลงระหว่างคู่กรณีสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น อาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนก็ได้สัญญาเป็นการแลกเปลี่ยนคำมั่นสัญญา หรือเป็นแลกเปลี่ยนระหว่างทรัพย์สินกับเงิน อันเป็นค่าตอบแทนทรัพย์สินนั้น สัญญาอาจจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ เช่น เมื่อแม่ค้าหยิบกล้วยส่งให้ลูกค้าหนึ่งหวี แม่ค้าผู้นั้นมีความคาดหวังว่าผู้ซื้อจะต้องให้เงินค่ากล้วยนั้นทันที ความเข้าใจเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเสมือนข้อตกลงหรือสัญญา ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ในตัว เป็นต้น

3. อาชีพ
อาชีพ หมายถึง การกระทำในลักษณะใดลักษณะหนึ่งระหว่างสมาชิกในสังคม ที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบและความชำนาญการ แล้วก่อให้เกิดผลผลิตหรือเป็นรายได้ ซึ่งมีมากมายหลายอาชีพในสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่กำหนดบทบาททางเศรษฐกิจของประชาชน เรียกว่า การผลิต

การผลิต หมายถึง การสร้างและบริการประเภทเศรษฐทรัพย์ขึ้นเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ หรือเพื่อให้มนุษย์เกิดความพึงพอใจ องค์ประกอบของการผลิตและบริการแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1) ที่ดิน (land) หมายถึง ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของกิจกรรมการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่ติดกับที่ดิน ทั้งที่อยู่เหนือพื้นดิน บนดิน และใต้ดิน เช่น ลม ฟ้า อากาศ น้ำมันดิบ น้ำ สัตว์ป่า ป่าไม้ แร่ธาตุ ฯลฯ

2) แรงงาน (labour) หมายถึง กำลังกายและกำลังความคิดของมนุษย์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อแสวงหารายได้มาเลี้ยงชีพ ผู้ใช้แรงงานจะได้รับค่าจ้างเป็นผลตอบแทน ประเทศไทยกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานในภาคเกษตรกรรมต้องมีอายุปี 13 ปีขึ้นไป เพราะมีลักษณะงานไม่ยุ่งยากซับซ้อน ส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแรงงานต้องมีอายุขั้นต่ำ 15 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 เรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541

3) ทุน (capital) ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นสำหรับใช้ร่วมกับปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เพื่อผลิตสินค้าและบริการ ได้แก่ สิ่งก่อสร้าง เช่น โรงงาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ ฯลฯ เครื่องจักรเครื่องมือในการผลิตและวัตถุดิบ เรียกว่า สินค้าทุน มิได้หมายถึง ทุนที่เป็นตัวเงินหรือเงินทุน เพราะเงินทุนเป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าทุน

4) ผู้ประกอบการ (entrepreneur) หมายถึง ผู้ที่นำเอาที่ดินแรงงานและทุนมาดำเนินการผลิตสินค้าและบริการเพื่อความต้องการของมนุษย์ ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้าเป็นอย่างดี สามารถคาดคะเนความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้ถูกต้อง เป็นผู้ที่ตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ปริมาณเท่าใด ใช้เทคนิคการผลิตแบบไหน ผลิตแล้วขายให้ใคร ราคาต่อหน่วยควรจะเป็นอย่างไรจึงจะได้กำไรสูงสุด ฉะนั้น ผู้ประกอบจึงมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ



ลำดับขั้นในการผลิต

ในสมัยก่อน ครัวเรือนจะผลิตสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตขึ้นใช้เอง เช่น ชาวไร่ชาวนาจะปลูกข้าว ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงเป็ดไก่ไว้เป็นอาหารในครัวเรือน เลี้ยงวัวไว้ไถไร่ไถนา ทอผ้าใช้เอง ทำเครื่องมือในการประกอบอาชีพเอง ฯลฯ ต่อมาจึงรู้จักแบ่งงานกันทำตามความถนัด ใครปลูกข้าวเก่งก็ให้ปลูกข้าว ใครตีมีดเก่งก็ให้ตีมีด แล้วนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน ต่อมาเพื่อให้ได้ผลิตผลมาก มนุษย์ก็เริ่มใช้เครื่องจักรเข้าช่วย ทำให้การผลิตได้มากขึ้นจนเกิดเป็นอุตสาหกรรมการผลิต เปลี่ยนจากการทำเพื่อใช้ในครอบครัวมาเป็นการผลิตจำนวนมาก ๆ เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในหมู่บ้าน ในเมือง ในประเทศ และขยายออกเป็นการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้บริการด้านการขนส่ง การค้าส่ง และการค้าปลีก นำสินค้าที่ผลิตได้ไปสู่มือผู้บริโภค

ลำดับขั้นในการผลิตของมนุษย์แบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นคือ

1. การผลิตขั้นต้นหรือขั้นปฐมภูมิ (primary production) เป็นกิจกรรมการผลิตขั้นแรกสุด ซึ่งเป็นกิจกรรมดั้งเดิมของมนุษย์ เช่น การเพาะปลูก การล่าสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การประมง การทำป่าไม้ ฯลฯ เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์โดยการผลิตอย่างง่าย ๆ

2. การผลิตขั้นแปรรูปหรือขั้นทุติยภูมิ (Secondary production) หมายถึง กิจกรรมการผลิตในระดับสูงขึ้น และมีขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้น การผลิตในขั้นนี้มีการพึ่งพาธรรมชาติน้อยลง โดยนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือสิ่งที่ผลิตขึ้นเองมาแปรสภาพและตกแต่งให้เกิดประโยชน์มีคุณค่าและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยใช้เครื่องจักรและโรงงานช่วยในการผลิต ได้แก่ หัตถกรรมและอุตสาหกรรม

3. การผลิตขั้นบริการหรือขั้นตติยภูมิ (Tertiary production) เป็นกิจกรรมการผลิตในทางเศรษฐกิจซึ่งไม่ได้มีการแปรรูปหรือเปลี่ยนสภาพสิ่งของ แต่เป็นกิจกรรมบริการความสะดวก เพื่อเอื้ออำนวยให้ผลิตผลที่ได้จากขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิไปสู่มือผู้บริโภค เช่น การค้า การขนส่ง การสื่อสาร การเงิน การธนาคาร การแสดง การเสริมสวย การสอน ฯลฯ



การกำหนดปริมาณการผลิต

ตามปกติผู้ผลิตจะเลือกผลิตสินค้าชนิดหนึ่งในปริมาณที่เขาคาดว่าจะทำกำไรมากที่สุด โดยคำนึงถึงสินค้าที่ขาย และค่าใช้จ่ายในการผลิต โดยคาดคะเนจากอุปสงค์ของผู้บริโภค และอุปทานของสินค้าในตลาด

1. อุปสงค์ (demand) หมายถึง ความต้องการของผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ระดับราคาต่าง ๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งด้วยเงินที่มีอยู่ กฎของอุปสงค์กำหนดว่า  "ปริมาณสินค้าและบริการชนิดใดที่ผู้บริโภคจะซื้อในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ย่อมมีความสัมพันธ์ผกผันกับราคาสินค้าและบริการชนิดนั้น" นั่นคือ เมื่อราคาสินค้าลดลง ความต้องการซื้อสินค้าชนิดนั้นจะสูงขึ้น และเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ความต้องการซื้อสินค้านั้นก็จะลดลง เช่น เงาะตอนต้นฤดูราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 15 บาท ผู้บริโภคอาจซื้อเพียง 1 กิโลกรัม แต่พอเงาะลดราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท ผู้บริโภคอาจซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 กิโลกรัม

อุปสงค์มีองค์ประกอบ 3 อย่าง
1) ความต้องการซื้อ
2) ความเต็มใจหรือยินดีซื้อ
3) ความสามารถจ่ายหรือมีเงินที่จะซื้อ

องค์ประกอบนี้ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ถือเป็นอุปสงค์


2. อุปทาน (supply) หมายถึง ความสามารถในการผลิต หรือเสนอขายสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งมาสนองความต้องการของผู้บริโภค ณ ระดับราคาต่าง ๆ กันในเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นสภาพการตัดสินใจของผู้ผลิตหรือผู้ขาย ว่าจะขายสินค้าเป็นจำนวนเท่าใด และจะขายในราคาใด ตามปกติผู้ผลิตหรือผู้ขายต้องการกำไรสูงสุด กฎของอุปทานคือ "อุปทานของสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งย่อมแปรผันโดยตรงกับราคา" กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ปริมาณสินค้าที่ผลิตหรือเสนอขายจะมากขึ้น และเมื่อราคาสินค้าต่ำลง ปริมาณสินค้าที่ผลิตหรือเสนอขายจะลดลง เช่น ถ้าขายเงาะได้ราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 15 บาท เขาอาจรับเงาะมาขายวันละ 30 กิโลกรัม แต่ถ้าขายเงาะได้เพียงกิโลกรัมละ 10 บาท เขาก็จะรับเงาะมาขายน้อยลงเหลือเพียงวันละ 20 กิโลกรัม



4. การแลกเปลี่ยน (exchange)
การแลกเปลี่ยน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันเศรษฐกิจปัจจุบัน นักเรียนคงจะสังเกตเห็นว่า ชาวนาชาวไร่มิได้ปลูกข้าวหรือเลี้ยงสัตว์เพียงเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่จะทำการผลิตจำนวนมากเพื่อนำไปซื้อขาย แลกเปลี่ยนเอาสินค้าอื่นมาบำบัดความต้องการของตนเองและสมาชิกในครอบครัว จึงเกิดการแลกเปลี่ยน

การแลกเปลี่ยน หมายถึง การเปลี่ยนความเป็นเจ้าของในสินค้าหรือบริการ โดยการโอนหรือการโยกย้ายกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของระหว่างบุคคลหรือธุรกิจ ในปัจจุบันกลไกของการแลกเปลี่ยนมีความสะดวกและรวดเร็ว เช่น เงินตรา สถาบันการเงิน พ่อค้าคนกลาง และตลาด ฯลฯ

การแลกเปลี่ยนแบ่งออกเป็น 3 ประการใหญ่ ๆ ได้แก่

1.โดยทางอ้อม เป็นการแลกเปลี่ยนของขวัญหรือการให้วัตถุหรือสิ่งของ ซึ่งถือเป็นของขวัญให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งก็จะตอบแทนด้วยของขวัญเช่นกัน

2.โดยทางตรง เป็นการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของกันตรงไปตรงมา

3.โดยใช้สื่อกลาง เป็นการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา สินเชื่อ การให้เครดิต (เป็นการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราคราวละมาก ๆ เช่น เช็คตั๋วแลกเงิน บัตรเครดิต ฯลฯ) ในสังคมยุคใหม่ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนโดยใช้สื่อโดยเฉพาะที่เรียกว่า "เงินตรา" เพราะเป็นมาตรฐานแห่งค่าหรือมูลค่า ดังนั้นมูลค่าของการแลกเปลี่ยนจึงแสดงออกมาในรูปของเงินตรา

หน้าที่ของเงินตรา

1. เป็นสื่อของการแลกเปลี่ยน
2. เป็นมาตรฐานของมูลค่า
3. ช่วยให้การแลกเปลี่ยนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสะดวก
4. เป็นสิ่งที่เก็บรักษามูลค่า คือ สามารถใช้ได้เสมอในเวลาใดก็ได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต และเป็นหน้าที่ของสังคมที่คอยดูแลไม่ให้มูลค่าของเงินต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
5. เป็นมาตรฐานของการที่จะต้องชำระหนี้สินในอนาคต เช่น การจำนอง การกู้ยืม ซึ่งบุคคลจะได้รับเงินในปัจจุบัน และสัญญาว่าจะจ่ายคืนหนี้สินในอัตราที่ได้ตกลงกันในอนาคต




5. ตลาด (Market)

ตลาด เป็นองค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจที่ช่วยประสานอาชีพ ทรัพย์สินและสัญญา เข้าด้วยกันจนกระทั่งสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเป็นไปโดยสะดวก

ตลาด หมายถึง กิจกรรมการตกลงซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องใช้สถานที่ใด ๆ หรือไม่ เพราะการซื้อขายไม่จำเป็นต้องมาพบปะกันโดยตรง หน้าที่สำคัญของตลาด คือ ขายสินค้าและบริการ ซื้อหรือจัดหาสินค้า เก็บรักษาสินค้า และขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่ตลาดและผู้บริโภค ตลาดมีหลายชนิด เช่น ตลาดท้องถิ่น ตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศ ตลาดโลก ตลาดผลิตผล ตลาดกลาง ตลาดขายส่ง ตลาดขายปลีก ตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดแรงงาน ฯลฯ

หน้าที่ของตลาด

1. ทำให้ผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ให้บริการสามารถติดต่อกับผู้ซื้อต้องการสินค้าและบริการ
2. ตลาดเป็นแหล่งหรือสื่อกลางที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และอยู่ในรูปแบบอย่างง่าย ๆ ที่ใช้ติดต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เช่น การซื้อขายทางจดหมาย โทรศัพท์ โทรสาร ฯลฯ



หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจที่สำคัญ มีดังนี้

1. บำบัดความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่น มีการผลิต การแบ่งปันวัตถุ หรือบริการที่มนุษย์ต้องการบริโภค

2. ให้ความสะดวกแก่มนุษย์ในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ระบบสินเชื่อ การใช้เงินตรา จัดให้มีการแบ่งงาน ตลาดระบบผลกำไร ค่าจ้างและดอกเบี้ย

3. พัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจเพื่อความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจแก่สมาชิกในสังคม

4. ช่วยเหลือในการบริโภคให้เป็นไปได้อย่างพอเพียงและทั่วถึงให้มากที่สุด

 

 

Tag :