ประวัติศาสตร์ไทยฉบับย่อ - สมัยอยุธยา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 155K views



ประวัติศาสตร์ไทยฉบับย่อ - สมัยอยุธยา 

สมัยอยุธยา 
กรุงศรีอยุธยาก่อกำเนิดขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ.1893 แต่มีข้อถกเถียงกันมาก ว่าการถือกำเนิดของกรุงศรีอยุธยานั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนเสียทีเดียว มีหลักฐานว่าก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างเมืองขึ้นที่ตำบลหนองโสนบริเวณนี้เคยมีผู้คนอาศัยมาก่อนแล้ว วัดสำคัญอย่างวัดมเหยงค์ วัดอโยธยา และวัดใหญ่ชัยมงคล ล้วนเป็นวัดเก่าที่มีมาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่วัดพนัญเชิง วัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่แบบอู่ทอง พงศาวดารเก่าระบุว่า สร้างขึ้นก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยาถึง 26 ปี วัดเหล่านี้ ตั้งอยู่ตามแนวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก นอกเกาะเมืองอยุธยาที่มีการขุดพบคูเมืองเก่าด้วย ทำให้เชื่อกันว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นเมืองเก่าที่มีชื่ออยู่ในศิลาจารึกกรุงสุโขทัยว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร

อโยธยาศรีรามเทพนคร ปรากฏชื่อเป็นเมืองแฝดละโว้อโยธยามาตั้งแต่ช่วงราวปี พ.ศ.1700 เป็นต้นมา ครั้นก่อนปี พ.ศ.1900 พระเจ้าอู่ทองซึ่งครองเมืองอโยธยาอยู่ก็ทรงอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของกษัตริย์ทางฝ่ายสุพรรณภูมิ ซึ่งครองความเป็นใหญ่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา อโยธยาและสุพรรณภูมิจึงรวมตัวกันขึ้น โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

ครั้นเมื่อเกิดโรคระบาด พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนจากเมืองอโยธยาเดิม ข้ามแม่น้ำป่าสักมาตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลหนองโสน หรือที่รู้จัก กันว่าบึงพระรามในปัจจุบัน กรุงศรีอยุธยาจึงก่อเกิดเป็นราชธานีขึ้นใน ปี พ.ศ.1893 พระเจ้าอู่ทองเสด็จฯ เสวยราชย์เป็นสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของพระองค์นับได้ว่าเป็นยุคของการก่อร่างสร้างเมือง และวางรูปแบบการปกครองขึ้นมาใหม่ ทรงแบ่งการบริหารราชการออก เป็น 4 กรม ประกอบด้วย เวียง วัง คลัง และ นา หรือที่เรียกกันว่า จตุสดมภ์ ระบบที่ทรงวางไว้แต่แรกเริ่มนี้ ปรากฏว่าได้สืบทอดใช้กันมา ตลอด 400 กว่าปีของกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ครองราชย์อยู่ได้เพียง 19 ปี ก็เสด็จสวรรคต หลังจากรัชสมัยของพระองค์ ผู้ได้สร้างราชธานีแห่งนี้ขึ้นจากความสัมพันธ์ของสองแว่นแคว้น กรุงศรีอยุธยาได้กลายเป็นเวทีแห่งการแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างสองราชวงศ์คือละโว้-อโยธยา และราชวงศ์สุพรรณภูมิ

สมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาได้ไม่ทันไร ขุนหลวงพะงั่วจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ผู้มีศักดิ์เป็นอาก็แย่งชิงอำนาจได้สำเร็จ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช เมื่อสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราช สมเด็จพระราเมศวรก็กลับมาชิงราชสมบัติกลับคืน

มีการแย่งชิงอำนาจผลัดกันขึ้นเป็นใหญ่ระหว่างสองราชวงศ์นี้อยู่ ถึง 40 ปี จนสมเด็จพระนครอินทร์ ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ทางสุพรรณภูมิและสัมพันธ์แน่นแฟ้นอยู่กับสุโขทัยแย่งชิงอำนาจกลับคืนมาได้สำเร็จ พระองค์สามารถรวมทั้งสองฝ่ายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างแท้จริง

ในช่วงของการแก่งแย่งอำนาจกันเองนั้น กรุงศรีอยุธยาก็พยายามแผ่อำนาจไปตีแดนเขมรอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ.1974 หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้แล้วราว 80 ปี สมเด็จเจ้าสามพระองค์ พระ โอรสของสมเด็จพระนครอินทร์ ก็ตีเขมรได้สำเร็จเขมรสูญเสียอำนาจจนต้องย้ายเมืองหลวงจากเมืองพระนครไปอยู่เมืองละแวกและพนมเปญในที่สุด ผลของชัยชนะครั้งนี้ทำให้มีการกวาดต้อนเชลยศึกกลับมาจำนวนมาก และทำให้อิทธิพลของเขมรในอยุธยาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้ชนะมักรับเอาวัฒนธรรมของผู้แพ้มาใช้

กรุงศรีอยุธยาหลังสถาปนามาได้กว่าครึ่งศตวรรษก็เริ่มเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง มีอาณาเขตอันกว้างขวางด้วยการผนวกเอาสุโขทัยและสุพรรณภูมิเข้าไว้ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีนและวัดวาอารามต่างๆ ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่จนงดงาม

ยุครุ่งโรจน์ก่อนสงคราม : หลังรัชกาลสมเด็จเจ้าสามพระยาแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็เข้าสู่ยุคสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาณาเขตได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมีการติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองภายนอกรวมทั้งมีการปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองขึ้น พระองค์ทรงยกเลิกการปกครองที่กระจายอำนาจให้เมืองลูกหลวงปกครองอย่างเป็นอิสระมาเป็นการรวบอำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์ แล้วทรงแบ่งเมืองต่างๆ รอบนอกออกเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก ซึ่งเมืองเหล่านี้ดูแลโดยขุนนางที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นอกจากนี้ก็ยังได้ทรงสร้างระบบศักดินาขึ้น อันเป็นการให้กรรมสิทธิ์ถือที่นาได้มากน้อยตามยศ พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ที่จะเพิ่มหรือลดศักดินาแก่ใครก็ได้ และหากใครทำผิดก็ต้องถูกปรับไหมตามศักดินานั้น

ในเวลานั้นเอง กรุงศรีอยุธยาที่เจริญมาได้ถึงร้อยปีก็กลายเป็นเมืองที่งดงามและมีระเบียบแบบแผน วัดต่างๆ ที่ได้ก่อสร้างขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงเกิดขึ้นนับร้อย พระราชวังใหม่ได้ก่อสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตกว้างขวาง ส่วนที่เป็นพระราชวังไม้เดิมได้กลายเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์วัดคู่เมืองที่สำคัญ

กรุงศรีอยุธยากำลังจะเติบโตเป็นนครแห่งพ่อค้าวาณิชอันรุ่งเรือง เพราะเส้นทางคมนาคมอันสะดวกที่เรือสินค้าน้อยใหญ่จะเข้ามาจอดเทียบท่าได้แต่พร้อมๆ กับความรุ่งเรืองและความเปลี่ยนแปลงสงครามก็เกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นล้านนาที่มีพระมหากษัตริย์คือราชวงศ์เม็งราย ครองสืบต่อกันมา กำลังเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าติโลกราชซึ่งได้ขยายอาณาเขตลงมาจนได้เมืองแพร่และน่านก็ทรงดำริที่จะขยายอาณาเขตลงมาอีก เวลานั้นเจ้านายทางแคว้นสุโขทัยที่ถูกลดอำนาจด้วยการปฏิรูปการปกครองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเกิดความไม่พอใจอยุธยา จึงได้ชักนำให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพ มายึดเมืองศรีสัชนาลัยซึ่งอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จกลับไปประทับอยู่ที่เมืองสระหลวงหรือพิษณุโลก เพื่อทำสงครามกับเชียงใหม่ สงครามยืดเยื้อยาวนานอยู่ถึง 7 ปี ในที่สุดอยุธยาก็ยึดเมืองศรีสัชนาลัยกลับคืนมาได้

ตลอดรัชกาลอันยาวนานของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยาได้เจริญอย่างต่อเนื่องอยู่นานถึง 81 ปี การค้ากับต่างประเทศก็เจริญก้าวหน้าไปอย่างกว้างขวาง วัฒนธรรมก็เฟื่องฟูทั้งทางศาสนาและประเพณีต่างๆ แต่หลังรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2การแย่งชิงอำนาจภายใน ก็ทำให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง ขณะเดียวกันที่พม่ากลับเข้มแข็งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรได้ทำให้เกิด สงครามครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สงครามไทยกับพม่า : ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ อันอาจจะเรียก ได้ว่ายุคแห่งความคับเข็ญยุ่งเหยิงนี้ เริ่มต้นด้วยการมาถึงของชาวตะวันตกพร้อม ๆ กับการรุกรานจากพม่า เมื่อวาสโก ตากามา ชาวโปรตุเกสเดินเรือผ่านแหลมกูดโฮปได้ สำเร็จในราว พ.ศ.2000 กองเรือของโปรตุเกสก็ทยอยกันมายังดินแดนฝั่งทวีปเอเชีย ในปี พ.ศ.2054 อัลฟองโซ เดอ อัลบูเควิก ชาวโปรตุเกสก็ยึดมะละกาได้สำเร็จ ส่งคณะฑูตของเขามายังสยาม คือ ดูอารต์ เฟอร์นันเดซ ซึ่งถือเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่มาถึงแผ่นดินสยาม ชาวโปรตุเกสมาพร้อมกับวิทยาการสมัยใหม่ ความรู้เกี่ยวกับการสร้างป้อมปราการ อาวุธปืน ทำให้สมัยต่อมาพระเจ้าไชยราชาธิราชก็ยกทัพไปตีล้านนาได้สำเร็จ

กรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่ขึ้น ในขณะที่พม่าเองในยุคของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็กำลังแผ่อิทธิพลลงมาจนยึดเมืองมอญที่หงสาวดีได้สำเร็จ อยุธยากับพม่าก็เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นเมื่อพวกมอญจากเชียง กรานที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่าหนีมาพึ่งฝั่งไทย พระเจ้าไชยราชาธิราชยกกองทัพไปขับไล่พม่า ยึดเมืองเชียงกรานคืนมาได้สำเร็จ ความขัดแย้งระหว่างไทยกับพม่าก็เปิดฉากขึ้น

หลังพระเจ้าไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตเพราะถูกปลงพระชนม์ แผ่นดินอยุธยาก็อ่อนแอลงด้วยการแย่งชิงอำนาจ พระยอดฟ้าซึ่งมีพระชนม์เพียง 11 พรรษาขึ้นครองราชย์ได้ไม่ทันไรก็ถูกปลงพระชนม์อีก ในที่สุดก็ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พม่าสบโอกาสยกทัพผ่านด่านเจดีย์ 3 องค์ เข้ามาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดินำกองทัพออกรับสู้ ในช่วงนี้เองที่หน้าประวัติศาสตร์ได้บันทึกวีรกรรมของวีรสตรีพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่ปลอมพระองค์ออกรบด้วย และได้ไสช้างเข้าขวางสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ จนถูกฟันสิ้นพระชนม์ขาดคอช้าง ทุกวันนี้อนุสาวรีย์เชิดชูวีรกรรมของพระองค์ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา

ครั้งนั้นเมื่อพม่ายึดพระนครไม่สำเร็จเพราะไม่ชำนาญภูมิประเทศกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ต้องยกทัพกลับไปในที่สุดฝ่ายไทยก็ตระเตรียมการป้องกันพระนครเพื่อตั้งรับการรุกราน ของพม่าที่จะมีมาอีก การเตรียมกำลังผู้คนการคล้องช้างเพื่อจัดหาช้างไว้เป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกครั้งนี้ทำให้มีการพบช้างเผือกถึง 7 เชือกอันเป็นบุญบารมีสูงสุดของพระมหากษัตริย์แต่นั่นกลับนำมาซึ่งสงครามยืดเยื้อยาวนานอยู่นับสิบปี

พระเจ้าบุเรงนอง ผู้นำพม่าคนใหม่อ้างเหตุการณ์ต้องการช้างเผือกที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีอยู่ถึง 7 เชือก ยกทัพมาทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งแล้วไทยก็เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2112 ช้างเผือกอันเป็นสาเหตุของสงครามก็ถูกกวาดต้อนไปพร้อมกับผู้คนจำนวนมาก พระนเรศวรและพระเอกาทศรถ พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่พม่าตั้งให้เป็นกษัตริย์ปกครองอยุธยาต่อไปในฐานะเมืองประเทศราชก็ทรงถูกบังคับให้ต้องไปด้วย

กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นของพม่าในครั้งนี้อยู่ถึง 15 ปี พระนเรศวรก็ประกาศอิสรภาพ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพแล้วกองทัพพม่านำโดย พระมหาอุปราชก็คุมทัพลงมาปราบสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตั้งที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วการรบครั้งยิ่งใหญ่ก็อุบัติขึ้น สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีจนได้ชัยชนะ พระมหาอุปราชถูกฟันสิ้นพระชนม์ขาดคอช้างเป็นผลให้กองทัพพม่าต้องแตกพ่ายกลับไป  

ยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวร กรุงศรีอยุธยาเป็นปึกแผ่นมั่นคงศัตรูทางพม่าอ่อนแอลงขณะเดียวกันเขมรก็ถูกปราบปรามจนสงบ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นตามมาอันส่งผลให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ตามคำกล่าวของชาวยุโรปที่หลั่งไหลเข้ามา ติดต่อค้าขายในช่วงเวลาดังกล่าว

เวนิสตะวันออก : นับตั้งแต่สมัยพระนเรศวรเป็นต้นมา กรุงศรีอยุธยาก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าทั้งในและนอกประเทศมีผู้คนเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายเป็นจำนวนมากต่างก็ชื่นชมเมืองที่โอบล้อมไปด้วยแม่น้ำลำคลองผู้คนสัญจรไปมาโดยใช้เรือเป็นพาหนะ จึงพากันเรียกพระนครแห่งนี้ว่า เวนิสตะวันออก

หลังจากโปรตุเกสเข้ามาติดต่อค้าขายเป็นชาติแรกแล้ว ฮอลันดา ญี่ปุ่นและอังกฤษก็ตามเข้ามา ทั้งนี้ไม่นับจีนซึ่งค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาอยู่ก่อนแล้ว ชนชาติต่างๆ เหล่านี้ได้รับการจัดสรรที่ดินให้อยู่เป็นย่าน เฉพาะดังปรากฏชื่อบ้านโปรตุเกส บ้านญี่ปุ่นและบ้านฮอลันดามาจน ปัจจุบัน บันทึกของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ได้คัด ลอกมา เล่าถึงพระนครศรีอยุธยาในสมัยนั้นไว้ว่า เป็นพระนครที่มีผู้คนต่างชาติต่างภาษารวมกันอยู่ ดูเหมือนเป็นศูนย์กลางการค้าขายในโลก ได้ยินผู้คนพูดภาษาต่าง ๆ ทุกภาษา ในบรรดาชาวต่างชาติที่มาค้าขายกับอยุธยาในยุคแรกนั้น ญี่ปุ่น กลับเป็นชาติที่มีอิทธิพลมากที่สุด ยามาดะ นางามาซะ ชาวญี่ปุ่นได้รับความไว้วางใจถึงขั้นได้ดำรงตำแหน่งขุนนางในราชสำนักของพระเอกาทศรถมียศเรียกว่า ออกญาเสนาภิมุขต่อมาได้ก่อความยุ่งยากขึ้นจนหมดอิทธิพลไปในที่สุด

แม้จะมีชนชาติต่างๆ เข้ามาค้าขายด้วยมากมาย แต่กรุงศรีอยุธยาก็ดูเหมือนจะผูกพันการค้ากับจีนไว้อย่างเหนียวแน่น จีนเองก็ส่งเสริมให้อยุธยาผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะเครื่องสังคโลก เพื่อส่งออกไปยังตะวันออกกลางและหมู่เกาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นิทานเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ่งและพระนางสร้อยดอกหมากเดินทางมาโดยเรือสำเภาใหญ่ และร่องรอยของเรือจมแถบก้นอ่าวสยาม รวมทั้งเครื่องเคลือบแบบของจีนที่พบอยู่ตามก้นแม่น้ำ ล้วนเป็นประจักษ์พยานว่าอยุธยาได้ติดต่อค้าขายกับจีนมาโดยตลอด การค้าขายต่างๆ เหล่านี้ทำให้กรุงศรีอยุธยามีการเก็บภาษีที่ เรียกว่า ขนอน มีด่านขนอนซึ่งเป็นด่านเก็บภาษีอยู่ตามลำน้ำใหญ่ทั้ง 4 ทิศ และยังมีขนอนบกคอยเก็บภาษีที่มาทางบกอีกต่างหาก

นอกเหนือจากความเป็นเมืองท่าแล้ว อยุธยายังเป็นชุมทางการค้าภายในอีกด้วย ตลาดกว่า 60 แห่งในพระนคร มีทั้งตลาดน้ำ ตลาดบก และยังมีย่านต่างๆ ที่ผลิตสินค้าด้วยความชำนาญเฉพาะด้าน มีย่านที่ผลิตน้ำมันงา ย่านทำมีด ย่านปั้นหม้อ ย่านทำแป้งหอมธูปกระแจะ ฯลฯ คูคลองต่าง ๆ ในอยุธยาได้สร้างสังคมชาวน้ำขึ้นพร้อมไปกับวิถี ชีวิตแบบเกษตรกรรม เมื่อถึงหน้าน้ำก็มีการเล่นเพลงเรือเป็นที่สนุกสนาน เมื่อเสร็จหน้านาก็มีการทอดกฐิน ลอยกระทง งานรื่นเริงต่างๆ ของชาวบ้านมักทำควบคู่ไปกับพิธีการของชาววัง เช่น พระราชพิธีจองเปรียญตามพระประทีป ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นลอยกระทงทรงประทีป พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีแรกนาขวัญ พิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนวิถีชีวิตของชาว อยุธยาที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติแม่น้ำลำคลองอย่างเหนียวแน่น

อยุธยาเจริญขึ้นมาโดยตลอด การค้าสร้างความมั่งคั่งให้พระคลังที่มีสิทธิ์ซื้อสินค้าจากเรือสินค้าต่างประเทศทุกลำได้ก่อนโดยไม่เสียภาษี ความมั่งคั่งของราชสำนักนำไปสู่การสร้างวัดวาอารามต่างๆ การทำนุบำรุงศาสนาและการก่อสร้างพระราชวังให้ใหญ่โตสง่างาม

ในสายตาของชาวต่างประเทศแล้ว กรุงศรีอยุธยาเป็นมหานคร อันยิ่งใหญ่ ที่มีพระราชวังเป็นศูนย์กลาง โยสเซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้บันทึกไว้ว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นครที่ใหญ่โตโอ่อ่าวิจิตรพิสดาร และพระมหากษัตริย์สยามเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในภาคตะวันออกนี้

พระนครแห่งนี้ภายนอกอาจดูสงบงดงามและร่มเย็นจากสายตาของคนภายนอก แต่แท้จริงแล้วบัลลังก์แห่งอำนาจภายในของกรุงศรีอยุธยาไม่เคยสงบ เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคต การแย่งชิงอำนาจได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2172 ราชวงศ์สุโขทัยที่ครองราชย์ สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยของพระมหาธรรมราชาก็ถูกโค่นล้ม พระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชย์ และสถาปนาราชวงศ์ปราสาททองขึ้นใหม่ แม้จะครองบัลลังก์จากการโค่นล้มราชวงศ์อื่นลง ยุคสมัยของ พระองค์และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ยาวนานถึง 60 ปีนั้น กลับ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด พระเจ้าปราสาททองทรงมุ่งพัฒนาบ้านเมืองทั้งทางด้านศิลปกรรมและการค้ากับต่างประเทศ ทรงโปรดให้สร้างวัดไชยวัฒนารามริมฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นด้วยคติเขาพระสุเมรุจำลอง อันเป็นแบบอย่างที่ได้รับอิทธิพลมาจากปราสาทขอม พร้อมกันนี้ก็ได้มีการคิดค้นรูปแบบทางศิลปกรรมใหม่ๆ ขึ้น เช่นพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบอยุธยาอันงดงามก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาในสมัยนี้

ทางด้านการค้ากับต่างประเทศ หลังจากที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาจนทำให้เมืองลิสบอนของโปรตุเกสกลายเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศและพริกไทยในยุโรปนานเกือบศตวรรษแล้ว ฮอลันดาจึงเริ่มเข้ามาสร้างอิทธิพลแข่งกรุงศรีอยุธยาสร้างไมตรีด้วยการให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่พวกดัตช์ เพื่อถ่งดุลกับชาวโปรตุเกสที่เริ่มก้าวร้าวและเรียกร้องสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นทุกขณะ พอถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง การค้าของฮอลันดาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก จึงเริ่มแสดงอิทธิพลบีบคั้นไทย ประกอบกับพระคลังในสมัยนั้นได้ ดำเนินการผูกขาดสินค้าหลายชนิดรวมทั้งหนังสัตว์ที่เป็นสินค้าหลักของชาวดัตช์ทำให้เกิดความไม่พอใจถึงขั้นจะใช้กำลังกันขึ้น

ถึงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฮอลันดาก็คุกคามหนักขึ้นในที่สุดก็เข้ายึดเรือสินค้าของพระนารายณ์ที่ชักธงโปรตุเกสในอ่าวตังเกี๋ย ต่อมาไม่นานก็นำเรือ 2 ลำเข้ามาปิดอ่าวไทย เรียกร้องไม่ให้จ้างชาว จีน ญี่ปุ่น และญวนในเรือสินค้าของอยุธยาเพื่อปิดทางไม่ให้อยุธยาค้าขายแข่งด้วย มีการเจรจากันในท้ายที่สุดซึ่งผลจากการเจรจานี้ทำให้ฮอลันดาได้สิทธิ์ผูกขาดหนังสัตว์อย่างเดิม

เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดาที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทุกขณะสมเด็จพระนารายณ์จึงหันไปเอาใจอังกฤษกับฝรั่งเศสแทน ในช่วงนี้เองความสัมพันธ์ระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศสเจริญรุ่งเรืองอย่างที่สุด บุคคลผู้หนึ่งที่ก้าวเข้ามาในช่วงนี้และต่อไปจะได้มี บทบาทอย่างมากในราชสำนักสยาม ก็คือ คอนแสตนติน ฟอลคอน

ฟอลคอนเป็นชาวกรีกที่เข้ามารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ราวกลางรัชสมัย และเจริญก้าวหน้าจนขึ้นเป็นพระยาวิชาเยนทร์ในเวลาอันรวดเร็ว เวลาเดียวกันกับที่ฟอลคอนก้าวขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักไทย ฝรั่งเศสในราชสำนักกของพระเเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เข้ามาติดต่อการค้าและเผยแพร่ศาสนาก็พยายามเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระนารายณ์หันมาเข้ารีตนิกกายโรมันคาทอลิกตามอย่างประเทศฝรั่งเศส ในช่วงเวลานี้ได้มีการส่งคณะทูตสยามเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ทางฝรั่งเศสเองก็ส่งคณะทูตเข้ามาในสยามบ่อยครั้ง โดยมีจุดประสงค์หลักคือชัก ชวนให้พระนารายณ์ทรงเข้ารีต ฟอลคอนเองซึ่งเปลี่ยนมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกตามภรรยา ได้สมคบกับฝรั่งเศสคิดจะเปลี่ยนแผ่นดินสยามให้เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ดังเช่นใน พ.ศ. 2228 โดยราชทูตเชอวาเลีย เดอโชมองต์, ปี พ.ศ. 2230 โดยลาลูแบร์ ก็กลับไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนให้พระเจ้าแผ่นดินสยามหันมาเข้ารีต ไม่นานชาวสยามก็เริ่มชิงชังฟอลคอนมากขึ้น อิทธิพลของฟอลคอนที่มีต่อราชสำนักกสยามก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรหนักไม่สามารถว่าราชกาลได้ มีรับสั่งให้ฟอลคอนรีบลาออกจากราชการและไปเสียจากเมืองไทย แต่ก็ช้าไปด้วยเกิดความวุ่นวายขึ้นเสียก่อน พระเพทราชาและคณะผู้ไม่พอใจฝรั่งเศสจับฟอลคอนไปประหารชีวิต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตในเดือนต่อมาพระเพทราชาก็เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติแทน

การเข้ามาของยุโรปจำนวนมากในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากจะทำให้บ้านเมืองมีความมั่งคั่งแล้ว ยังก้าวหน้าไปด้วยวิทยาการสมัยใหม่ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม การแพทย์ ดาราศาสตร์ การทหาร มีการก่อสร้างอาคาร ป้อมปราการ พระที่นั่งในพระราชวังเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีแบบตะวันตก นอกจากนี้ภาพวาดของชาวตะวันตกยังแสดงให้เห็นว่ามีการส่องกล้องดูดาวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ด้วย เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ความขัดแย้งภายในเมื่องจากการแย่งชิงราชสมบัติเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้การติดต่อกับต่างประเทศซบเซาลงไป ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาจนถึงพระเจ้าท้ายสระมีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆเพียงไม่กี่ อย่าง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าบรมโกศ บ้านเมืองก็กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งในช่วง ระยะเวลาหนึ่ง จนกล่าวได้ว่ายุคสมัยของพระองค์นับเป็นยุคทองของศิลปวิทยาการอย่างแท้จริงก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะตกต่ำไปจนถึงกาลล่มสลาย  

ในรัชกาลนี้ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังและวัดวาอารามต่างๆ ศิลปกรรมเฟื่องฟูขึ้นมาอย่างมากทั้งในด้านลวดลายปูนปั้น การลงรักปิดทอง การช่างประดับมุก การแกะสลักประตูไม้ ทางด้านวรรณคดีก็มีกวีเกิดขึ้นหลายคนที่โดเด่นและเป็นที่รู้จักคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรผู้นิพนธ์กาพย์เห่เรือ ส่วยการมหรสพก็มีการฟื้นฟูบทละครนอกละครในขึ้นมาเล่นกันอย่างกว้างขวาง กรุงศรีอยุธยาถูกขับกล่อม ด้วยเสียงดนตรีและความรื่นเริงอยู่ตลอดเวลา แต่ท่ามกลางความสงบสุขและรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมความขัดแย้งค่อยๆ ก่อตัวขึ้นการแย่งอำนาจทั้งในหมู่พระราชวงศ์ขุนนางทำให้อีกไม่ถึง 10 ปีต่อมากรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พพม่าในสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อ พ.ศ.2310

กรุงศรีอยุธยาในสมัยของพระเจ้าบรมโกศจนถึงสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์นั้น คล้ายกับพลุที่จุดขึ้นสว่างโร่บนท้องฟ้าชั่วเวลาเพียงไม่นานแล้วก็ดับวูบลงทันที วันกรุงแตกเมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 เล่ากันว่าในกำแพงเมืองมีผู้คนหนีพม่ามาแออัดอยู่นับแสนคน ปรากฏว่าได้ถูกพม่าฆ่าตายไปเสียกว่าครึ่งที่เหลือก็หนีไปอยู่ตามป่าตามเขา พม่าได้ปล้นสะดมเผาบ้านเรือน พระราชวังและวัดวาอาราม ต่างๆจนหมดสิ้น นอกจากนี้ยังหลอมเอาทองที่องค์พระและกวาดต้อนผู้คนกลับ ไปจำนวนมาก อารยธรรมที่สั่งสมมากว่า 400 ปี ของกรุงศรีอยุธยาก็ถูกทำลายลงอย่างราบคาบเมื่อสิ้นสงกรานต์ปีนั้น

หลังจากกรุงแตกแล้วพม่าก็มิได้เข้ามาปกครองสยามอย่างเต็มตัว คงทิ้งให้สุกี้ พระนายกองตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย สภาพบ้านเมืองหลังจากเสียแก่พม่าแล้วก็มีชุมนุมเกิดขึ้นตามหัวเมืองต่าง ได้แก่ ชุมนุมเจ้าฝาง ชุมนุมเจ้าตาก ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ที่ต่างก็ซ่องสุมผู้คนเพื่อเตรียมแผนการใหญ่

ในบรรดาชุมนุมใหญ่น้อยเหล่านี้ ชุมนุมพระเจ้าตากได้เติบโตเข้มแข็งขึ้นเมื่อยึดได้เมืองจันทบุรี กองทัพพระเจ้าตากใช้เวลาหลายเดือนในการรวบรวมผู้คนตระเตรียมเรือรบ แล้วจึงเดินทัพทางทะเลขึ้นมาจนถึงเมืองธนบุรี เข้ายึดเมืองธนบุรีได้แล้วไม่นานก็ตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นแตกในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 นับรวมเวลาในการกอบกู้เอกราชไม่ถึงหนึ่งปี สมดังคำที่ว่า "กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี"