สารละลายแบ่งตามเกณฑ์การนำไฟฟ้าเป็น 2 ประเภท คือ สารละลายอิเล็กโทรไลต์ และสารละลายนอนอิเล็กโทรไลต์ โดยสารละลายอิเล็กโทรไลต์ คือ สารละลายที่แตกตัวและนำไฟฟ้าได้ แบ่งประเภทย่อยออกเป็น สารละลายอิเล็กโทรไลต์แก่ และสารละลายอิเล็กโทรไลต์อ่อน ส่วนสารละลายนอนอิเล็กโทรไลต์ คือสารละลายที่ไม่นำไฟฟ้า
1. สารละลายอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte solution) คือ สารละลายของสารประกอบไอออนิกที่ตัวละลายสามารถแตกตัวเป็นไอออนในตัวทำละลายได้ ทำให้สามารถนำไฟฟ้าได้ดี มี 2 ชนิด ได้แก่
1.1 สารละลายอิเล็กโทรไลต์แก่ (strong electrolyte) คือ สารซึ่งละลายน้ำแล้วแตกตัวได้อย่างสมบูรณ์ (แตกตัว 100 %) เกิดไอออนจำนวนมาก ทำให้นำไฟฟ้าได้ดีมาก สารละลายอิเล็กโทรไลต์แก่ ได้แก่ กรดแก่ เบสแก่ และเกลือส่วนใหญ่ เช่น NaCl, KCl
HClO4(aq) ------> H+(aq) + ClO4-(aq)
1.2 สารละลายอิเล็กโทรไลต์อ่อน (weak electrolyte) คือ สารซึ่งละลายน้ำแล้วแตกตัวเป็นไอออนได้เล็กน้อย (แตกตัวได้ไม่ถึง 100 %) และไอออนสามารถทำปฏิกิริยาย้อนกลับมาเป็นโมเลกุลของของอิเล็กโทรไลต์อ่อนได้ จึงทำให้เกิดสมดุลของการแตกตัว สารละลายอิเล็กโทรไลต์อ่อน ได้แก่ กรดอ่อน เบสอ่อน เช่น CH3COOH, NH4OH อิเล็กโทรไลต์อ่อนมีไอออนจำนวนน้อย จึงสามารถนำไฟฟ้าได้เพียงเล็กน้อย
CH3COOH(aq) + H2O(l) ⇋ CH3COO-(aq) + H3O+(aq)
2. สารละลายนอนอิเล็กโทรไลต์ (Non-electrolyte solution) คือ สารละลายที่ไม่แตกตัวทำให้ไม่นำไฟฟ้า เนื่องจากโมเลกุลของตัวละลายไม่สามารถแตกตัวเป็นไอออนได้ (เป็นสารละลายของสารโคเวเลนต์) เช่น น้ำเชื่อม แอลกอฮอล์
CO2(g) -------> CO2(aq)
ปิตุพร พิมพาเพชร