หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
13 พ.ค. 67
 | 1.3K views



การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีอายุการใช้งานนานที่สุด และมีผลยั่งยืนให้มีใช้อยู่ตลอดไปจนถึงอนาคต

 

แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากร

1. การใช้อย่างยั่งยืน (sustainable utilization)

หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมให้ได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อใช้แล้วเกิดมลพิษน้อยที่สุดหรือไม่เกิดเลย หรือเมื่อเกิดของเสียและมลพิษในสิ่งแวดล้อม ก็ต้องหาวิธีการบำบัดกำจัดให้ฟื้นคืนสภาพ หรือนำของเสียมาใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิล (recycle) เพื่อให้มลพิษในสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง

การใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นไปตามความต้องการของสังคม ถ้าสังคมไม่ระมัดระวังการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ดังนั้น จึงต้องนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดความพอดีระหว่างความต้องการ ความผาสุกของสังคม การสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ และสถานภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้แบบยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

2. การเก็บกัก (storage)

หมายถึง การรวบรวม และเก็บกักทรัพยากรที่มีแนวโน้มจะขาดแคลนได้ เพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งการเก็บกักทรัพยากรนั้นมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป เช่น การเก็บกักเพื่อใช้ในอนาคตเนื่องด้วยทรัพยากรบางชนิดมีมากเกินไปในเวลาหนึ่งจึง จำเป็นต้องเก็บเอาไว้ เช่น การถนอมอาหาร การทำยุ้งฉาง การเก็บกักน้ำ หรือการเก็บกักเพื่อสร้างความมั่นคง เช่น การเก็บรักษาป่าไม้ แร่ น้ำมันปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำ เป็นต้น 

 

3. การรักษาซ่อมแซม (repair)

เมื่อทรัพยากรถูกทำลายโดยมนุษย์ หรือโดยธรรมชาติก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องรักษา หรือซ่อมแซมให้กลับเป็นปกติ เช่น การเติมอากาศในบ่อบำบัดน้ำเสีย การปลูกป่าทดแทน

การเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อนำไปปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ

 

4.การฟื้นฟู (rehabilitation)

เมื่อทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรมไป ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูให้มีสภาพปกติ ซึ่งอาจใช้เวลามากหรือน้อยแล้วแต่สภาพที่เสื่อมโทรม เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อีก และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเสริมสร้างที่อยู่อาศัยให้สิ่งมีชีวิตในทะเลโดยการสร้างแนวปะการังเทียมจากแท่งคอนกรีต หรือยางรถยนต์ หรือการปลูกป่า เป็นต้น

 

5. การป้องกัน (prevention)

การป้องกันเป็นวิธีการที่ปกป้องคุ้มครองทรัพยากรที่กำลังถูกทำลาย หรือมีแนวโน้มว่าจะถูกทำลาย ให้สามารถอยู่ในสภาพปกติได้ ซึ่งการป้องกันนี้อาจเป็นการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ หรืออาจใช้กฎหมายควบคุมสำหรับทรัพยากรแต่ละชนิด หรือแต่ละพื้นที่ของทรัพยากรนั้นๆ มิให้ถูกบุกรุกหรือถูกทำลายต่อไป

 

พัดชา วิจิตรวงศ์