ประชากรมนุษย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
13 พ.ค. 67
 | 1.8K views



ในการเจริญเติบโตของประชากรมนุษย์ (population growth) ขนาดของประชากรจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (population dynamics) ซึ่งมีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง ได้แก่ การเกิด การตาย การอพยพเข้า และการอพยพออก ปัจจัยเหล่านี้ มีผลทำให้ประชากรเปลี่ยนแปลงไปในทางเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ การเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเติบโตของประชากร ดังนั้น การเติบโตของประชากรในช่วงเวลาหนึ่งจึงหาได้จากจำนวนประชากรที่เกิดหรืออพยพเข้าทั้งหมด ลบออกด้วยจำนวนประชากรที่ตายหรืออพยพออกในช่วงเวลานั้น

 

การเจริญเติบโตของประชากรมนุษย์

ประชากรมนุษย์ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 6 พันล้านคน โดยมีอัตราการเพิ่มปีละ 80 ล้านคน มีการเติบโตแบบ exponential growth ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ Thomas Malthus ที่เขียนบทความเกี่ยวกับประชากรของมนุษย์ไว้ในปี ค.ศ. 1798 ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนตามอาหารที่มีอยู่

แต่อาหารและเครื่องยังชีพต่างๆ มีการเพิ่มแบบอันดับเลขคณิต (arithmetic progression) ในขณะที่ประชากรมีอัตราการเพิ่มแบบอันดับเรขาคณิต (geometric progression) ซึ่งถ้าเพิ่มในอัตรานี้ อาหารและเครื่องยังชีพจะไม่พอสําหรับประชากร จึงต้องมีการเตรียมการเพิ่มผลผลิตให้รองรับการบริโภคของประชากร

 

จากกราฟการเติบโตของประชากรมนุษย์ จะเห็นว่า เดิมประชากรมนุษย์มีการเพิ่มเพียงเล็กน้อย เนื่องจากวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีตแตกต่างจากปัจจุบันมาก มนุษย์ในสมัยโบราณดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ และเก็บพืชกินเป็นอาหาร มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ประชากรมีไม่มาก

จนถึงประมาณศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งเป็นช่วงหลังยุคปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ประชากรมนุษย์เริ่มมีการเพิ่มแบบ exponential growth เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือ มีอัตราการตายต่ำ ทำให้มีการเพิ่มผลผลิตด้านอาหาร และการขนส่งที่เจริญขึ้น ก็ทำให้การกระจายอาหารครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข อัตราการตายของประชากรจึงต่ำลง ประชากรมีอายุยืนขึ้น

นอกจากนี้ มนุษย์ยังรู้จักควบคุมการเกิดโดยการคุมกำเนิด ทำให้อัตราการเกิดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ ในขณะที่อัตราการตายต่ำมาก ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตของประชากรมนุษย์สูงมาก

 

โครงสร้างอายุประชากร (age structure)

ลักษณะเฉพาะของประชากรอย่างหนึ่ง คือ การกระจายของอายุ ซึ่งแต่ละกลุ่มประชากรจะมีโครงสร้างอายุที่แตกต่างกัน คือ มีจำนวนหรือสัดส่วนของกลุ่มสมาชิกอายุต่างกัน ในทางนิเวศวิทยาจะแบ่งโครงสร้างอายุประชากรเป็น 3 กลุ่ม ตามความสามารถในการสืบพันธุ์ ได้แก่

1. วัยก่อนเจริญพันธุ์ (pre-reproductive age) คือ สมาชิกที่ยังสืบพันธุ์ไม่ได้ในช่วงอายุ 0-14 ปี หรือวัยเด็ก

2. วัยเจริญพันธุ์ (reproductive age) คือ กลุ่มสมาชิกที่เริ่มต้นสืบพันธุ์ได้ จนไม่สามารถ สืบพันธุ์ได้ อยู่ในช่วงอายุ 15-44 ปี เป็นวัยหนุ่มสาว

3. วัยหลังเจริญพันธุ์ (post-reproductive age) คือ กลุ่มสมาชิกที่ไม่สืบพันธุ์อีกแล้ว อยู่ในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป เป็นวัยชรา

 

หากนำจำนวนสมาชิกทั้ง 3 กลุ่มมาแสดงเป็นสัดส่วน โดยใช้พื้นที่แทนจำนวนโครงสร้างอายุประชากร จะได้เป็นรูปปีรามิด เรียกว่า ปีรามิดอายุ (age pyramid) ซึ่งมีรูปแบบหลัก 3 แบบ ได้แก่

1. แบบที่มีฐานแคบ ตอนกลางกว้าง และปลายแคบ (intermediate) เป็นลักษณะปีรามิดอายุที่แสดงว่า ประชากรที่มีอายุน้อย คือ วัยก่อนเจริญพันธุ์มีจำนวนน้อย ขณะที่วัยเจริญพันธุ์มีจำนวนมาก และวัยหลังเจริญพันธุ์มีจำนวนน้อย แสดงว่าประชากรกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต เนื่องจากวัยก่อนเจริญพันธุ์ที่จะเติบโตไปเป็นวัยเจริญพันธุ์มีน้อย

2. แบบที่มีฐานกว้างพอประมาณ (late) ตอนกลางไม่กว้างมาก เป็นลักษณะปีรามิดอายุที่แสดงว่า ในอนาคตจะมีประชากรคงที่ เนื่องจากประชากรที่อยู่ในวัยก่อนเจริญพันธุ์ ซึ่งจะทำหน้าที่สืบพันธุ์มีจำนวนไม่มากและไม่น้อยเกินไป ซึ่งจะไปทดแทนกับประชากรกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ ที่จะเปลี่ยนไปเป็นวัยหลังเจริญพันธุ์ได้อย่างพอดี

3. แบบที่มีฐานกว้างมาก ส่วนตอนกลางแคบ (early) เป็นลักษณะปีรามิดอายุที่แสดงว่า ประชากรมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีประชากรวัยก่อนเจริญพันธุ์ ที่จะเติบโตไปเป็นวัยเจริญพันธุ์ มากกว่าประชากรกลุ่มวัยเจริญพันธุ์รุ่นก่อน

 

พัดชา วิจิตรวงศ์