อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia หรือ Metazoa) เป็นการจัดกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีหลายเซลล์ แต่ในบางพวกเซลล์ยังไม่รวมกลุ่มเป็นเนื้อเยื่อ เช่น พวกฟองน้ำ สิ่งที่เหมือนกันในกลุ่มสัตว์ คือ เป็นพวกเฮเทอโรโทรป ซึ่งไม่สามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง (heterotrophic organism) ในแง่นิเวศวิทยาจัดสัตว์ไว้ในกลุ่มผู้บริโภค (consumer) ที่ต้องได้อาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดี
ลักษณะต่างๆ ที่ใช้แยกกลุ่มของสัตว์
1. ลักษณะโครงสร้างภายนอก หากมีลักษณะเหมือนๆ กันจัดไว้กลุ่มเดียวกัน
2. เนื้อเยื่อสัตว์ บางชนิดยังไม่แยกเนื้อเยื่อออกเป็นชั้นๆ เช่น ฟองน้ำสัตว์ บางพวกมีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น (diploblastic) บางพวกมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น (triploblastic) โดยพวกที่มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้โดยใช้ช่องว่างลำตัว (coelom) ดังนี้
2.1) พวกที่ไม่มีช่องว่างในลำตัว (acoelomate) คือ ไม่มีช่องว่างในชั้นของเนื้อเยื่อ หรือระหว่างชั้นของเนื้อเยื่อ ได้แก่ หนอนตัวแบน
2.2) พวกที่มีช่องว่างเทียมในลำตัว (pseudocoelomate) คือ ช่องว่างที่ไม่ได้อยู่ในเนื้อเยื่อชั้นกลาง (mesoderm) ช่องว่างนั้นอาจอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นนอก (ectoderm) กับเนื้อเยื่อชั้นกลาง หรืออยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นกลางกับเนื้อเยื่อชั้นใน (endoderm) สัตว์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ หนอนตัวกลม บางพวกมีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ได้แก่ หนอนตัวกลม โรติเฟอร์ (rotifer)
2.3) พวกที่มีช่องว่างที่แท้จริง (coelomate) หมายถึง สัตว์ที่มีช่องว่างอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นกลาง (mesoderm) ได้แก่ กุ้ง ปู แมลง หอย ไส้เดือนดิน และสัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นต้น
3. สมมาตร (symmetry) การแบ่ง 2 ซีกที่มีลักษณะเหมือนกันเรียกว่า สมมาตร แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
3.1) สมมาตรแบบครึ่งซีก หรือแบบด้านข้าง (bilateral symmetry) สัตว์พวกนี้ผ่าได้ในแนวเดียวเท่านั้น ที่ให้ซีกซ้ายและซีกขวาเหมือนกัน พบในไส้เดือนดิน หอย สัตว์ที่มีขาเป็นปล้อง (arthropod) หนอนตัวกลม หนอนตัวแบน และสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด
3.2) สมมาตรแบบรัศมี (radial symmetry) แบ่งตามรัศมีแล้วได้สมมาตรทุกครั้ง สัตว์เหล่านี้จะมีรูปโคน (cone shape) หรือรูปกรวย หรือรูปจาน ได้แก่ แมงกะพรุน ไฮดรา หวีวุ้น
4. โครงร่างแข็งหรือมีกระดูก (skeleton) บางชนิดมีโครงร่างแข็งอยู่นอกร่างกาย (exoskeleton) เช่น กุ้ง ปู บางชนิดมีโครงร่างแข็งอยู่ภายในร่างกาย (endoskeleton) เช่น สัตว์มีกระดูกสันหลัง
5. การมีปล้อง (segmentation) เกิดจากเนื้อเยื่อชั้นกลาง สัตว์ที่ไม่มีปล้อง ก็เช่น ฟองน้ำ แมงกะพรุน เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่มีปล้อง ก็เช่น ไส้เดือนดิน อาร์โทรพอด (arthropod) คอร์เดท (chordate)
6. ทางเดินอาหาร ทางเดินอาหารของสัตว์สามารถใช้เป็นเกณฑ์แบ่งกลุ่มสัตว์ได้ ดังนี้
6.1) ใช้ช่องทางเดินน้ำแทนทางเดินอาหาร (spongocoel) พบในฟองน้ำ
6.2) ทางเดินอาหารที่มีทางเข้าออกทางเดียวกัน ช่องว่างนี้เรียกว่า ช่องแกสโตรวาสคูลาร์ (gastrovascular cavity) ทำหน้าที่ย่อยอาหาร ลำเลียง หายใจ และขับถ่าย ได้แก่ ไฮดรา ปะการัง แมงกะพรุน
6.3) ทางเดินอาหารชนิดสมบูรณ์ มีทางเข้าทางหนึ่งและทางออกอีกทางหนึ่ง ทำหน้าที่ย่อยอาหารอย่างเดียว ส่วนใหญ่พบในสัตว์ที่มีสมมาตรชนิดครึ่งซีก ยกเว้นหนอนตัวแบน
7. การสืบพันธุ์ มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในสัตว์ชั้นต่ำ เช่น ฟองน้ำ ไฮดรา แมงกะพรุน ในสัตว์ชั้นสูงจะมีการสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ
8. การเปลี่ยนแปลงของบลาสโทพอร์ (blastopore) บลาสโทพอร์ที่เกิดในระยะแกสตรูลา (gastrula) ของตัวอ่อน จะมีการเปลี่ยนแปลง 2 แบบ คือ
8.1) แบบโพรโทสโทเมีย (Protostomia) คือ พวกที่บลาสโทพอร์เจริญไปเป็นปาก
8.2) แบบดิวเทอโรสโทเมีย (Deuterostomia) คือ พวกที่บลาสโทพอร์เจริญไปเป็นทวารหนัก
9. การเจริญในระยะตัวอ่อน ในสัตว์พวกโพรโทสโทเมียมีการเจริญของตัวอ่อน 2 แบบ คือ แบบที่มีตัวอ่อน (larva) ระยะโทรโคฟอร์ (trochophore) เรียกว่า พวกโลโฟโทรโคซัว (Lophotrochozoa) และกลุ่มที่มีการลอกคราบ (ecdysis) ระหว่างการเจริญเติบโต เรียกว่าพวกเอกไดโซซัว (Ecdysozoa)
นักชีววิทยาเชื่อว่าสัตว์ต่างๆ มีวิวัฒนาการมาจากสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์เดียว ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ถึง 9 ไฟลัม (phylum) ใน 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง
ไฟลัมพอริเฟอรา (Porifera)
ได้แก่ ฟองน้ำ (sponges)
ไฟลัมนี้ยังไม่มีมื้อเยื่อที่แท้จริง พบทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำเค็ม มักพบอยู่ตามโขดหิน ก้อนหิน ตั้งแต่ระดับชายฝั่งทะเล จนถึงทะเลลึก มีหลายสีสวยงาม รูปร่างภายนอกไม่มีสมมาตร (asymmetry) รูปร่างเป็นก้อนๆ บางชนิดมีลักษณะคล้ายแจกัน อาจคิดว่าไม่ใช่สัตว์เพราะไม่เห็นการเคลื่อนที่
มีรูพรุนเป็นทางน้ำเข้า (ostium) ซึ่งมีขนาดเล็ก ส่วนทางน้ำออก (osculum) มีขนาดใหญ่กว่า แต่มีจำนวนน้อยกว่าทางน้ำเข้า ภายในลำตัวมีโพรง (spongocoel) และทางเดินของน้ำอยู่ทั่วไป สัตว์บางชนิด เช่น กุ้ง ปู ขนาดเล็ก เข้าไปอาศัยอยู่ได้ ดังนั้น บริเวณที่มีฟองน้ำมากๆ จะมีสัตว์เล็กๆ หลบซ่อนหาอาหารอยู่มาก ทำให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นมีอาหารอุดมสมบูรณ์
ด้านในของลำตัวมีเซลล์ปลอกคอ (collar cell) หรือโคแอโนไซต์ (choanocyte) มีแฟลเจลลาช่วยโบกน้ำให้ผ่านเซลล์ น้ำที่ผ่านเข้ามาจะนำอาหารพวกแพลงก์ตอนและออกซิเจนเข้ามา เมื่อโบกให้น้ำออก น้ำจะพาของเสียออกไปด้วย
ฟองน้ำคงรูปร่างอยู่ได้เพราะมีโครงร่างแข็งๆ เรียกว่า ขวาก หรือ สปิคุล (spicule) สปีคุลนี้ใช้เป็นเกณฑ์แยกกลุ่มของฟองน้ำ ได้แก่
- สปิคุลที่มีหินปูนเป็นองค์ประกอบ (calcareous spicule)
- สปิคุลที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ (siliceous spicule)
- สปิคุลที่มีเส้นใยโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ที่เรียกว่า สปันจิน (spongin)
- เป็นทั้งซิลิกาและใยสปอนจิน
การสืบพันธุ์ของฟองน้ำมีทั้งการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศและแบบอาศัยเพศ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ได้แก่ การสืบพันธุ์โดยการแตกหน่อ (budding) การขาดเป็นท่อน (fragmentation) หรือการสร้างเจมมูล (gemmule) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง สำหรับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มีทั้งแบบสองเพศในตัวเดียวกัน (monoecious) และแบบแยกเพศ (diecious) เกิดการปฏิสนธิภายใน
โดยส่วนใหญ่แล้วฟองน้ำอาศัยอยู่ในน้ำเค็ม แต่มีบางชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด เมื่อเป็นตัวเต็มวัย ฟองน้ำมักเกาะอยู่กับที่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก มักพบอาศัยอยู่ในแนวปะการัง
กลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง (สมมาตรแบบรัศมี)
ไฟลัมซีเลนเทอราตา (Coelenterata) หรือไนดาเรีย (Cnidaria)
เช่น ไฮดรา แมงกะพรุน กัลปังหา ปะการัง โอบิเลีย เป็นต้น
เป็นสัตว์น้ำที่มีน้อยชนิดในน้ำจืด แต่มากชนิดในน้ำทะเล ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลระดับน้ำขึ้น น้ำลง จนกระทั่งถึงทะเลลึก เซลล์รวมตัวกันเป็นเนื้อเยื่อที่แท้จริงแล้วจัดตัวเป็นเนื้อเยื่อ 2 ชั้น คือ เนื้อเยื่อชั้นนอก และเนื้อเยื่อชั้น ในระหว่าง 2 ชั้นนี้ มีเยื่อมีโซเกลีย (mesoglea) แทรกอยู่ภายในลำตัว ยังไม่มีระบบของอวัยวะที่ชัดเจน มีช่องว่างเรียกว่า แกสโทรวาสคิวลาร์ (gastrovascular cavity)
รูปร่างสมมาตรแบบรัศมี บางชนิดรูปร่างคล้ายกระดิ่งคว่ำ เรียกว่า เมดูซา (medusa) ว่ายน้ำได้ บางชนิดรูปร่างยาวคล้ายต้นไม้ เรียกว่า โพลิป (polyp) มีด้านฐานยึดติดกับที่
ด้านตรงข้ามเป็นปาก มีเทนทาเคิล (tentacle) หรือหนวดอยู่รอบๆ ปากใช้จับอาหาร โดยที่เซลล์บนเทนทาเคิลเป็นเซลล์พิเศษ เรียกว่า ไนโดไซต์ (cnidocyte) ซึ่งภายในเซลล์นี้มีเข็มพิษคือ เนมาโทซิสต์ (nematocyst) ที่สัตว์อื่นถูกแล้วอาจเป็นอัมพาต เมื่อสัตว์ถูกยิงด้วยเข็มพิษนี้ แล้วจะถูกจับกินเข้าทางเดินอาหาร
มีระบบประสาทชนิดร่างแห (nerve net) บางชนิดมีอวัยวะสำหรับใช้ในการทรงตัว หรือสตาโตซิสต์ (statocyst) บางชนิดมีอวัยวะรับแสง (eyespot)
การสืบพันธุ์ มีทั้งการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อ และการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศที่มีเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายโดยการปฏิสนธิข้ามตัว ตัวอ่อน เรียกว่า พลานูลา (planula) ซึ่งว่ายน้ำได้โดยใช้ซิเลีย เช่น ไฮดรา แมงกะพรุน ปะการัง กัลปังหา ซีแอนนีโมนี (ดอกไม้ทะเล)
กลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง (สมมาตรแบบครึ่งซีกหรือแบบด้านข้าง)
1. ไฟลัมแพลทีเฮลมินทิส (Platyhelminthes)
เช่น พลานาเรีย พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ เป็นต้น
มีลักษณะแบนทางด้านบน-ล่าง เป็นพวกไม่มีช่องว่างลำตัว (acoelomate) และมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น (triploblastic) มีทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์ มีรูเปิดรูเดียว แต่ทางเดินอาหารแตกแขนงไปทั่วร่างกาย ไม่มีอวัยวะสำหรับแลกเปลี่ยนแก๊สโดยตรง อาศัยการแพร่ผ่านผิวของลำตัว อวัยวะขับถ่ายใช้เฟลมเซลล์ (flame cell) ระบบประสาทมีลักษณะคล้ายขั้นบันได ในตัวเดียวมี 2 เพศอาจผสมได้ในตัวเอง
หนอนตัวแบนบางชนิดดำรงชีวิตแบบอิสระ เช่น พลานาเรีย (planaria) มีลำตัวอ่อนนิ่ม เคลื่อนที่โดยอาศัยซิเลีย (cilia) มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศโดยการปฏิสนธิข้ามตัว (cross-fertilization) และการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการงอกใหม่ (regeneration)
หนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต (parasite) ผิวมีคิวติเคิล (cuticle) หนา มี 2 เพศในตัวเดียวกัน (hermaphrodite) สามารถสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้ เช่น พยาธิตัวตืด
2. ไฟลัมนีมาเทลมินทิส (Nemathelminths) หรือนีมาโทดา (Nematoda)
เช่น หนอนตัวกลมชนิดต่างๆ พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ พยาธิโรคเท้าช้าง เป็นต้น
ไฟลัมนีมาโทดา เรียกกลุ่มสิ่งมีชีวิตในไฟลัมนี้ว่า หนอนตัวกลม (round worm) ลำตัวไม่เป็นปล้อง พบได้ทั่วไปทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และบนบก มีทั้งดำรงชีพแบบปรสิต และหากินอิสระ
ลักษณะทั่วๆ ไป มีขนาดเล็กยาวไม่เกิน 7 มิลลิเมตร ลำตัวกลมเรียวยาว แต่ยังมีสมมาตรแบบครึ่งซีก แหลมหัวแหลมท้าย มีทางเดินอาหารสมบูรณ์ ด้านหัวเป็นปากทางด้านหางเป็นทวารหนัก ไม่มีรยางค์ มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น แต่มีกล้ามเนื้อตามยาวเท่านั้น มีช่องว่างลำตัวเทียม (pseudocoelom) ในการเจริญเติบโตมีการลอกคราบ ไม่มีระบบหมุนเวียนเลือด ผิวหนังมีคิวทิเคิล (cuticle) เคลือบหนา ทำให้ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี
มีระบบขับถ่ายโดยเซลล์พิเศษ ทำหน้าที่เป็นต่อมพิเศษ เรียกว่า ต่อมเรเนตต์ (renette gland) นำของเหลวที่เป็นของเสียออกไปทิ้งนอกตัว ไม่มีระบบหมุนเวียนเลือด ระบบประสาทเป็นวงแหวนรอบหลอดอาหาร และต่อเนื่องเป็นเส้นยาวอยู่ตลอดลำตัว
อวัยวะเพศแยกเพศกันคนละตัว (dioecious) ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้และหางไม่งอ มีการผสมพันธุ์ภายในตัว ตัวเมียออกไข่คราวละนับพันฟอง ไข่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีเพราะมีไคทินเคลือบหนา เมื่อฟักเป็นตัวหนอนเล็กๆ จะต้องลอกคราบหลายครั้งจนโตเต็มวัย ได้แก่ พยาธิปากขอ (hook Worm, Necator americanus) พยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides) พยาธิตัวจี๊ด พยาธิเส้นด้าย
3. ไฟลัมแอนเนลิดา (Annelida) เช่น ไส้เดือนดิน ปลิงน้ำจืด ทากดูดเลือด แม่เพรียง บุ้งทะเล เป็นต้น
สัตว์ในไฟลัมแอนเนลิดา มีลำตัวประกอบด้วยปล้องที่แท้จริงต่อกันเห็นได้ชัดเจน จึงเรียกว่าหนอนปล้อง (segmented Worm) อวัยวะภายในแต่ละปล้องมีลักษณะคล้ายๆ กัน ผิวหนังมีคิวทิเคิล (cuticle) ปกคลุมบางๆ และมีต่อมสร้างเมือกเพื่อทำให้ลำตัวเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา มีรยางค์ในแต่ละปล้อง โดยแต่ละชนิดอาจมีรยางค์ที่แตกต่างกัน คือ บางชนิดมีรยางค์เป็นเดือย (setae) เช่น ไส้เดือนดิน บางชนิดเป็นแท่งหรือเป็นแผ่นขา (parapodia) ใช้พุ่ยน้ำ เช่น แม่เพรียง
แอนเนลิดามีกล้ามเนื้ออยู่ 2 ชนิด คือ กล้ามเนื้อวง (circular muscle) และกล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal muscle) มีช่องว่างลำตัวหรือโพรงลำตัว (coelom) ที่แท้จริง
การลำเลียงเลือดเป็นระบบปิด มีหลอดเลือดตามยาวทั้งด้านบนและด้านล่างของลำตัว โดยมีหัวใจเทียมเป็นตัวเชื่อม การหายใจบางชนิดใช้ผิวหนัง บางชนิดใช้เหงือกหรือแผ่นขาพาราโพเดีย
ระบบขับถ่ายของเสียที่เป็นของเหลวใช้เนฟรีเดียม (nephridium) ปล้องละ 1 คู่ ส่งของเสียออกบริเวณผิวหนังด้านนอก ระบบประสาทมีสมองเป็นปม
ระบบสืบพันธุ์บางชนิดแยกเพศ บางชนิดไม่แยกเพศ แต่ก็ไม่สามารถผสมพันธุ์ในตัวเอง เพราะไข่กับสเปิร์มเจริญไม่พร้อมกัน บางชนิดสืบพันธุ์ได้โดยการแตกหน่อ ส่วนใหญ่อยู่อย่างอิสระ บางชนิดขุดรูหรือสร้างหลอด บางชนิดอาศัยร่วมกับสัตว์อื่น บางชนิดเป็นปรสิตภายนอก บางชนิดมีประโยชน์กับเกษตรกรทำให้ดินร่วนซุย เช่น ไส้เดือนดิน รวมทั้งใช้เป็นเหยื่อล่อปลา พวกปลิงน้ำจืด หรือทากดูดเลือดเป็นปรสิตภายนอกของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
ทากและปลิงน้ำจืด มีสารที่ป้องกันเลือดแข็งตัวเรียกว่า ไฮรูดิน (hirudin) เมื่อปลิงน้ำจืดกัดคนหรือสัตว์เลือดจะไหลไม่หยุด เพราะปลิงปล่อยสารไฮรูดินใส่แผลที่กัด ทำให้เลือดไม่แข็งตัวจึงใช้ปลิงดูดเลือดรักษาโรคบางอย่าง ดำรงชีวิตเป็นปรสิตชั่วคราวโดยดูดเลือดของสัตว์อื่น
ส่วนไส้เดือนดินดำรงชีวิตโดยการกินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร ไส้เดือนดินจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะทำให้ดินมีลักษณะร่วนซุย มีความพรุน ทำให้มีอากาศแทรกอยู่ และช่วยหมุนเวียนสารในระบบนิเวศโดยการกินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร เมื่อขับถ่ายออกมาจึงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่พืช
4. ไฟลัมมอลลัสคา (Mollusca)
เช่น หมึก หอยฝาเดียว หอยสองฝา ลิ่นทะเล เป็นต้น
ลักษณะเด่นของสัตว์กลุ่มนี้ คือ มีลำตัวนิ่ม ปกคลุมด้วยแมนเทิล (mantle) อาจไม่มีเปลือกแข็งหุ้ม เช่น หมึก แต่ส่วนใหญ่มีเปลือกแข็งหุ้ม ได้แก่ หอยทุกชนิด ทั้งฝาเดียวและสองฝา ลิ่นทะเล
ลำตัวของมอลลัสก์ประกอบด้วย 3 ส่วนคือเท้า (foot) ใช้เคลื่อนที่ ขุดดิน ว่ายน้ำ ยึดเกาะ อวัยวะภายใน (visceral Mass) และแมนเทิล (Mantle) ทำหน้าที่สร้างเปลือกที่มีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตหุ้มลำตัว เป็นไฟลัมที่มีปริมาณสปีชีส์รองลงมาจากสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา
ระบบทางเดินอาหารสมบูรณ์ มีระบบหมุนเวียนเลือดแบบวงจรเปิด หายใจด้วยเหงือกหรือปอด สัตว์ในไฟลัมนี้มีทั้งอยู่ในน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย บนบก บนต้นไม้ ส่วนใหญ่หากินอิสระ ยกเว้นบางพวกยึดเกาะติดกับที่ เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยมือเสือ
หอยที่เคลื่อนที่ได้มีกล้ามเนื้อด้านท้อง ทำหน้าที่เป็นเท้า หมึกใช้หนวดและไซฟอนพ่นน้ำ หอยที่อยู่บนบกมักใช้ปอดหายใจแทนเหงือก มีอวัยวะขับถ่าย เรียกว่า เมทาเนฟริเดียม (metanephridium) มีเพศแยกกัน (dioecious) มีทั้งการปฏิสนธิภายในและการปฏิสนธิภายนอก มักออกลูกเป็นไข่
หอยหลายชนิด เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยแครง หอยเป๋าฮื้อ หอยขม หอยหลอด หอยเสียบ รวมทั้งหมึก ถูกนำมาใช้เป็นอาหาร เปลือกหอยหลายชนิด รวมทั้งมุก นำไปใช้ทำเครื่องประดับ ทำภาชนะ หรือประกอบเฟอร์นิเจอร์
ในปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเกิดมลภาวะ หากนำหอยในแหล่งน้ำเหล่านั้นมาบริโภค สารพิษหรือปรสิตที่อยู่ในแหล่งน้ำเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดสู่คนต่อไป เพราะหอยฝาเดียวบางชนิดเป็นที่อยู่ของปรสิต เช่น พยาธิใบไม้ ส่วนหอยสองฝากินอาหารโดยกรองสารในน้ำกิน (filter feeder) สารพิษต่างๆ จึงสะสมอยู่ในหอยสองฝาก่อนถ่ายทอดสู่คนกินหอยเหล่านั้น
5. ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda)
ได้แก่ แมลงชนิดต่างๆ กุ้ง ปู แมงมุม แมงดาทะเล หมัด เห็บ เพรียงหิน กิ้งกือ ตะขาบ เป็นต้น เป็นไฟลัมที่มีสัตว์มากชนิดที่สุด คือ มากกว่าสัตว์ในไฟลัมอื่นๆ รวมกัน มีประมาณ 1 ล้านสปีชีส์ สัตว์ในไฟลัมนี้เรียกว่า พวกอาร์โทรพอด (arthropod)
ลักษณะเด่น คือ ลำตัวเป็นปล้องที่แท้จริง มีขาหรือรยางค์เป็นข้อปล้องและลำตัว สารประกอบแข็งคือ ไคทิน เป็นโครงร่างภายนอก (exoskeleton) ทำให้ต้องสลัดเปลือกทิ้งเป็นระยะๆ เมื่อเจริญเติบโตจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัย เรียกว่า การลอกคราบ (ecdysis)
ส่วนใหญ่แบ่งลำตัวแยกออกได้เป็น 3 ส่วน คือ หัว อก และท้อง บางชนิดบางส่วนอาจเชื่อมติดกันลำตัวแบ่งเป็นปล้องๆ แต่ละปล้องมักมีรยางค์ 1 คู่
ระบบหมุนเวียนเลือดเป็นแบบเปิด โดยมีหัวใจที่มีหลอดเลือดเล็กๆ สูบฉีดเข้าสู่ช่องว่างของซีลอมเรียกว่า ฮีโมซีล (hemocoel) แล้วหมุนเวียนทั่วร่างกายจนกลับเข้าหัวใจอีกครั้ง สำหรับสารที่รับออกซิเจนเรียกว่า ฮีโมไซยานิน (hemocyanin)
อวัยวะใช้แลกเปลี่ยนแก๊สมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ในแมลงมีรูสไปราเคิล (spiracle) ต่อกับท่อลม (trachea) บางชนิดมีปอดแผง (book lung) ส่วนพวกที่อยู่ในน้ำใช้เหงือก
ส่วนอวัยวะขับถ่ายมีหลายชนิด เช่น ในแมลงมีท่อมัลพิเกียน (Malpighian tubules) ต่อมเขียว (green gland) ในกุ้ง เป็นต้น อวัยวะรับสัมผัสมีตาเดี่ยว หรือตาประกอบรับภาพ มีหนวด (antenna) รับสัมผัสมีอวัยวะเกี่ยวกับการทรงตัว
6. ไฟลัมเอไดโนเดอร์มาตา (Echinodermata)
เช่น ดาวทะเล ดาวเปราะ เม่นทะเล ปลิงทะเล พลับพลึงทะเล อีแปะทะเล (เหรียญทะเล) เป็นต้น
เป็นสัตว์ทะเลทั้งหมด ลักษณะสำคัญ คือ ผิวหนังหยาบและขรุขระ มีหนามแหลมปกคลุมทั่วตัว มีระบบโครงร่างภายใน (endoskeleton) เป็นหินปูน หรือแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) และปกคลุมด้วยชั้นเอพิเดอร์มิส (epidermis) ตอนเป็นตัวอ่อน (larva)
มีสมมาตรชนิดครึ่งซีก (bilateral symmetry) เมื่อโตเต็มวัยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นสมมาตรชนิดรัศมี (radial symmetry) อาจมีแฉก 4 หรือ 5 หรือทวีคูณของ 5
ไม่มีส่วนหัวและส่วนท้ายที่ชัดเจนเหมือนในสัตว์อื่น บางพวกมีด้านปากติดกับพื้นทวารหนักอยู่ด้านบนเหนือปาก การเคลื่อนที่ใช้ระบบท่อน้ำ (water vascular system) ที่ดัดแปลงมาจากช่องว่างลำตัว และส่งไปยังเท้าท่อ (tube feet) ที่ยืดหดตัวได้ตามแรงดันน้ำ
การแลกเปลี่ยนแก๊สใช้เหงือกซึ่งเป็นถุงบางๆ ยกเว้นปลิงทะเล ที่หายใจด้วยเรสไปราทอรีทรี (respiratory tree) ที่มีลักษณะคล้ายต้นไม้อยู่ภายในตัวติดกับทวารหนัก ไม่มีอวัยวะขับถ่าย มีระบบประสาทชนิดวงแหวนรอบปาก และแตกแขนงเป็นแนวรัศมีไปยังอวัยวะต่างๆ
การสืบพันธุ์สัตว์ในไฟลัมนี้มีทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ จะมีการแยกเพศ (dioecious) มีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (external fertilization) ระยะตัวอ่อนมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง จนกระทั่งกลายเป็นตัวเต็มวัย การดำรงชีวิตจะอาศัยอยู่ในทะเลเท่านั้น ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ บางชนิดสามารถงอกอวัยวะขึ้นทดแทนอวัยวะที่ขาดหายไปได้ (regeneration)
7. ไฟลัมคอร์ดาตา (chordata)
ลักษณะเด่นของสัตว์ในไฟลัมนี้ คือ มีโนโทคอร์ด (notochord) อยู่เหนือทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแท่งยาวยืดหยุ่นได้มีอยู่ตลอดความยาวลำตัว อาจมีตลอดชีวิตหรือมีอยู่เฉพาะในบางช่วงของชีวิต ช่องเหงือก (gill slit) มีอยู่เป็นคู่ๆ เกิดทางด้านข้างของคอหอย (pharyngeal gill) ในระยะเอ็มบริโอทำหน้าที่กรองอาหารในน้ำที่ไหลเข้ามา ในพวกฉลามและกระเบนเห็นช่องเหงือกได้คลอดรวด
ในพวกสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีช่องเหงือกพัฒนาไปเป็นโครงสร้างต่างๆ เช่น ท่อยูสเตเชียนในหูส่วนกลาง ต่อมทอนซิลต่อมพาราไทรอยด์ ท่อประสาท (nerve cord) เป็นหลอดกลวงอยู่ทางด้านหลัง (dorsal) เหนือโนโทคอร์ดและเหนือทางเดินอาหาร เรียกว่า dorsal nerve cord ในขณะที่สัตว์ไฟลัมอื่นๆ จะมีระบบประสาทอยู่ทางด้านท้อง (ventral) เรียกว่า ventral nerve cord อีกทั้งยังมีหางอยู่ด้านท้ายของทวารหนัก ซึ่งพบในสัตว์ส่วนใหญ่
นอกจากนั้น ยังมีลักษณะของสัตว์ชั้นสูงทั่วๆ ไป เช่น มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น (endoderm, mesoderm และ ectoderm) มีสมมาตรแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry) มีหัวใจอยู่ด้านท้อง มีโครงร่างค้ำจุนอยู่ในร่างกาย (endoskeleton)
สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พวกไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) กับพวกมีกระดูกสันหลัง (vertebrate)
7.1 กลุ่มที่ยังไม่มีกระดูกสันหลัง
มี 2 subphylum คือ
(ก) ยูโรคอร์เดต (urochordate) เป็นสัตว์ที่มีถุงหุ้มตัวเป็นสารพวกเซลลูโลส ระยะตัวเต็มวัยไม่มีโนโทคอร์ด คอหอยมีช่องเหงือก (gill slits) ทางเดินอาหารมีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) ไม่มีเส้นประสาทขนาดใหญ่บริเวณหลัง ไม่มีอวัยวะรับสัมผัส มีระบบหมุนเวียนเลือดแบบวงจรเปิด มี 2 เพศในตัวเดียวกัน (monoecious) มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ เกาะอยู่กับที่ตามโขดหินขอนไม้ เสา สะพาน มีหลายสี ได้แก่ เพรียงหัวหอม (tunicate)
(ข) เซฟาโลคอร์เดท (cephalochordate) เป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาวประมาณ 4-8 ซม. หัวท้ายแหลม รูปร่างคล้ายปลา มีโนโทคอร์ดยาวตลอดลำตัวตลอดชีวิต ไม่มีสมอง มีช่องเหงือกที่คอหอย และมีหาง ชอบฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายบริเวณชายฝั่งทะเล ได้แก่ แอมฟิออกซัส
7.2 กลุ่มที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate)
จัดอยู่ใน subphylum vertebrata แบ่งออกเป็น
(ก) สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ไม่มีขากรรไกร
- class Cyclostomata คือ ปลาที่ไม่มีขากรรไกร ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไปแล้ว มีโครงร่างเป็นกระดูกอ่อน ไม่มีครีบคู่ มีแต่ครีบหลังและครีบหาง มักเป็นปรสิต พบในเขตหนาวแถบยุโรปและอเมริกา เช่น ปลาปากกลม ที่รู้จักกันดี คือ แฮกฟิช (hagfish), แลมเพรย์ (lamprey)
(ข) สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีขากรรไกร แบ่งเป็น
- class Chondrichthyes เป็นปลากระดูกอ่อนที่มีขากรรไกรและครีบคู่เจริญดี มีการแลกเปลี่ยนแก๊สโดยใช้เหงือกภายนอก มีช่องเหงือก 5-7 คู่ มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย และออกลูกเป็นตัว มีปากด้านล่าง และมีฟันหลายแถว มีเกล็ดคมปกคลุมผิว เช่น ฉลามวาฬ กระเบน ปลาฉนาก
- class Osteichthyes เป็นปลากระดูกแข็งทั่วๆ ไป ซึ่งมีโครงร่างเป็นกระดูกแข็ง มีแคลเซียมฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีครีบเนื้อนิ่ม ซึ่งพบเฉพาะปลามีปอด (lung fish) และปลาโบราณ ชื่อ ซีลาคานธ์ (coelacanth) กับกลุ่มที่มีครีบเป็นเส้น (ray-in) มีขากรรไกรเจริญดี และมีครีบคู่ 2 คู่ คือ ครีบอกและครีบสะโพก หายใจโดยใช้แผ่นปิดเหงือก (operculum) มีถุงลม (air bladder) ช่วยควบคุมการลอยตัวในน้ำ
ส่วนใหญ่มีการปฏิสนธิภายนอก และออกลูกเป็นไข่ หัวใจมี 2 ห้อง มีปากอยู่ด้านหน้าสุดของลำตัว พบทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาทู ปลากะพง ปลาตีน
- class Amphibia เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibian) มีลักษณะสำคัญ คือ มีผิวหนังเปียกชื้นตลอดเวลา เพื่อช่วยแลกเปลี่ยนแก๊ส ไม่มีเกล็ดปกคลุมร่างกาย ขาคู่หน้าสั้นกว่าขาคู่หลัง ซึ่งเป็นขาที่มีความแข็งแรง ทำให้การเคลื่อนที่ของสัตว์กลุ่มนี้มีประสทธิภาพมากขึ้น
เป็นสัตว์เลือดเย็น (poikilotherm) ไข่มีวุ้นหุ้ม ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ หายใจด้วยเหงือก ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บนบกหายใจด้วยปอด หัวใจมี 3 ห้อง มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างขณะที่มีการเจริญเติบโต (metamorphosis) จากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย มีการปฏิสนธินอกร่างกาย เช่น กบ อึ่งอ่าง เขียด คางคก ซาลามานเดอร์ (จิ้งจกน้ำ) งูดิน
- class Reptilia เป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีผิวแห้งปกคลุมด้วยสารเคราทิน (keratin) มักมีเกล็ดปกคลุม หรือมีกระดองช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย นิ้วมีเล็บแหลมคม มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ออกลูกเป็นไข่โดยไข่มีเปลือกห่อหุ้ม เป็นสัตว์เลือดเย็นมีขา 2 คู่ยกเว้นงู หายใจด้วยปอด หัวใจมี 4 ห้องไม่สมบูรณ์ เพราะห้องล่างไม่มีเยื่อกั้น ยกเว้น จระเข้ มีถุงแอลแลนทอยด์ (allantois) ทำหน้าที่เก็บของเสีย ตัวอย่างสิ่งมีชีวิต เช่น กิ้งก่า ตุ๊กแก จิ้งจก งู เต่า ตะพาบน้ำ จระเข้
- class Aves เป็นสัตว์ปีก มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน โดยพบซากดึกดำบรรพ์ของอาร์คีออพเทริกซ์ (archaeopteryx) ที่มีลักษณะเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน คือมีเกล็ดที่ขา มีกรงเล็บ มีฟัน และมีหางยาว แต่มีขนเหมือนขนนก
สัตว์ปีกมีขนแบบแผง (feather) ปกคลุมร่างกาย กระดูกมีรูพรุน ทำให้น้ำหนักเบาช่วยให้บินได้ง่าย ปากเป็นจะงอย ไม่มีฟัน มีเกล็ดที่ขา เป็นสัตว์เลือดอุ่น (homeotherm) มีอุณหภูมิของร่างกายคงที่ มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกหุ้ม หัวใจมี 4 ห้องสมบูรณ์ หายใจโดยใช้ปอด เช่น นก ไก่ เป็ด ห่าน ปัจจุบันมีนกหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และนกบางชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น นกเงือก
- class Mammalia เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีขนแบบเส้น (hair) ปกคลุมร่างกาย เพศเมียมีต่อมน้ำนม ผลิตน้ำนมเป็นอาหารให้ตัวอ่อน เป็นสัตว์เลือดอุ่น มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ตัวอ่อนเจริญอยู่ในมดลูก ได้รับอาหารผ่านทางรกและสายสะดือ หัวใจมี 4 ห้องสมบูรณ์ เซลล์เม็ดเลือดแดงที่โตเต็มที่ไม่มีนิวเคลียส หายใจโดยใช้ปอด ส่วนใหญ่ออกลูกเป็นตัว มีบางชนิดออกลูกเป็นไข่
ไพรเมต (primate)
เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีสมองขนาดใหญ่ ขากรรไกรสั้น มีมือและเท้าสำหรับยึดเกาะ มีเล็บแบน มีพฤติกรรมในการเลี้ยงดูลูกอ่อน และพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โพรซิเมียน (prosimian) ได้แก่ ลิงลมหรือนางอาย ลิงทาร์ซิเออร์ และแอนโทรพอยด์ (anthropoid) ได้แก่ ลิงมีหาง เช่น ลิงแสม ลิงบาบู ซึ่งเป็นลิงโลกเก่า และลิงสไปเดอร์ ซึ่งเป็นลิงโลกใหม่ ลิงไม่มีหาง เช่น ชะนี อุรังอุตัง กอริลลา ชิมแปนซี มนุษย์
พัดชา วิจิตรวงศ์