สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรเห็ดรา หรือฟังไจ (kingdom fungi) เป็นเซลล์ยูคาริโอต สร้างอาหารเองไม่ได้ (heterotroph) ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบภาวะย่อยสลาย (saprophytism) โดยการปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตแล้วดูดซึมเข้าไป
ลักษณะของฟังใจ
ฟังใจส่วนใหญ่ ประกอบด้วยหลายเซลล์เรียงต่อกันเป็นเส้นใย เรียกว่า ไฮฟา(hypha) กลุ่มของเส้นใย เรียกว่า ไมซีเลียม (mycelium) ทำหน้าที่ยึดเกาะอาหารและส่งเอนไซม์ไปย่อยสลายอาหารภายนอกเซลล์ และดูดซึมสารอาหารที่ย่อยได้เข้าสู่เซลล์ไมซีเลียมของฟังใจ บางชนิดจะเจริญเป็นส่วนที่โผล่พ้นดินออกมา เรียกว่า ฟรุตติงบอดี (fruiting body) ทำหน้าที่สร้างสปอร์ ส่วนพวกที่เป็นเซลล์เดียว ได้แก่ ยีสต์ เส้นใยของฟังใจประกอบด้วย ผนังเซลล์ประกอบด้วยสารไคติน (chitin) เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่เป็นเซลลูโลส มีเยื่อหุ้มเซลล์ และโพรโทพลาซึม
เส้นใยของรา แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. เส้นใยไม่มีผนังกัน (non septate hypha หรือ coenocytic hypha) เส้นใยมีลักษณะเป็นท่อทะลุถึงกันหมดโดยไม่มีผนัง (septum) กั้น ซึ่งเกิดจากการแบ่งนิวเคลียสโดยไม่แบ่งไซโทพลาซึม ทำให้ไซโทพลาซึมและนิวเคลียสติดต่อกันได้หมด
2. เส้นใยแบบที่มีผนังกั้น (septate hypha) มีผนังกั้นแบ่งแต่ละเซลล์ โดยภายในเซลล์อาจมีนิวเคลียสอันเดียว หรือมีนิวเคลียสหลายอันในแต่ละเซลล์ ผนังที่กั้นระหว่างเซลล์เป็นผนังที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีรูอยู่ที่ผนัง อาจมีรูเดียวหรือหลายรูที่ผนัง ทำให้ไรโบโซม ไมโทคอนเดรีย หรือนิวเคลียส ไหลจากเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่งได้
ความหลากหลายของฟังไจ
1. ไฟลัมไคทริดิโอไมโคตา (phylum Chytridiomycota)
สมาชิกในไฟลัมนี้เรียกว่า ไคทริด (chytrids) หรือราน้ำ เป็นฟังใจกลุ่มแรกที่มีวิวัฒนาการมาจากโพรทิสต์ที่มีแฟลเจลลัม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม บางชนิดอาศัยในดินชื้นแฉะ บางชนิดทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ บางชนิดเป็นปรสิตในพวกโพรทิสต์ พืช และสัตว์
ลักษณะสำคัญของไคทริด คือ เป็นแทลลัสขนาดเล็ก ที่พบโดยส่วนใหญ่จะไม่มีการสร้างเส้นใย และเส้นใยไม่มีผนังกั้น มีการสร้าง sporangium และมีไรซอยด์ ทำหน้าที่ดูดอาหาร ผนังเซลล์ของฟังใจกลุ่มนี้ประกอบด้วย สารโคทิน สปอร์ และแกมีตมีแฟลเจลลัม 1 เส้นที่เรียกว่า ซูโอสปอร์ (zoospore) ช่วยในการเคลื่อนที่ อาหารสะสมเป็นไกลโคเจน สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ตัวอย่างเช่น Allomyces sp., Chytridium sp. ปัจจุบันพบไคทริดแล้วประมาณ 1,000 ชนิด
2. ไฟลัมไซโกไมโคตา (phylum Zygomycota)
ลักษณะเด่นของราในไฟลัมนี้ คือ ไฮฟาไม่มีผนังกั้น (coenocytic hypha) แต่จะพบผนังกั้นในระยะที่จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ จึงเห็นนิวเคลียสจำนวนมาก ผนังเซลล์เป็นสารไคทิน
ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) จะสร้างเส้นใย 2 สาย ที่มีเพศตรงข้ามกันยื่นส่วนของเส้นใยออกมาหลอมรวมกัน ส่วนที่ยื่นออกมาเรียกว่า แกมีแทนเจียม (gametangium) โพรโทพลาซึมจาก 2 สาย จะมารวมกันอยู่ (plasmogamy) แล้วสร้างผนังกั้น กลายเป็นไซโกสปอแรนเจียม (zygosporangium) ภายในมีนิวเคลียส (n) ต่างเพศเป็นจำนวนมาก ต่อมาไซโกสปอแรนเจียมมีผนังหนาขึ้น เพื่อให้ทนสภาพไม่เหมาะสมได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม นิวเคลียสต่างเพศจะรวมกัน (karyogamy) ได้เซลล์ 2n จำนวนมาก แล้วแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสทันที เมื่อไซโกสปอแรนเกียมแตกออก จะงอกเป็นสปอแรนเจียม สปอแรนเกียมจึงปล่อยไซโกสปอร์ (n) ออกไป
ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ จะสร้างสปอแรนกิโอสปอร์ (sporangiospore) อยู่ในอับสปอร์ (sporangium)
ตัวอย่างของราไฟลัมนี้ ได้แก่ เช่น Rhizopus stolonifer ซึ่งเป็นราที่ขึ้นบนขนมปัง และ Rhizopus nigricans เป็นราที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกรดฟูมาริก
3. ไฟลัมแอสโคไมโคตา (phylum Ascomycota)
เป็นฟังไจที่มีจำนวนชนิดมากที่สุด มีรูปร่างทั้งแบบเซลล์เดียวและหลายเซลล์ ลักษณะของเส้นใยมีผนังกั้น (septate hypha) แต่มีรูทะลุถึงกัน ทำให้ไซโทพลาซึมและนิวเคลียสไหลถึงกันได้
ผนังเซลล์ประกอบด้วยสารไคทิน อาจเรียกราพวกนี้ว่า ราถุง (sac fungi) เพราะสปอร์ที่ใช้ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศที่เรียกว่า แอสโคสปอร์ (ascospore) เกิดอยู่ในถุงแอสคัส (ascus) ซึ่งแอสคัสจะมีแอสโคสปอร์ประมาณ 4 หรือ 8 แอสโคสปอร์ และจะรวมกันอยู่ในโครงสร้างที่มีเส้นใยเรียกว่า แอสโคคาร์ป (ascocarp) ซึ่งเป็นฟรุตติงบอดี มีรูปร่างหลายแบบอาจเป็นรูปถ้วยรูปกลม
ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยสร้างสปอร์ที่เรียกว่า โคนเดีย (conidia) เกิดที่ปลายไฮฟา บางชนิดไม่สร้างไมซีเลียม แต่อยู่เป็นเซลล์เดี่ยวๆ คือ ยีสต์ (yeast) มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อ (budding)
ตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่ saccharomyces cerevisiae ที่ใช้ในการทำเบียร์ ไวน์ ขนมปัง มอเรล (morel, Marchella) ทรัฟเฟิล (truffle, Tuber) ราสีแดง (Monascus spp.) ที่ใช้ผลิตข้าวแดง และเต้าหู้รา (เต้าหู้ยี้) Neurospora sp.
4. โฟลัมเบสิดิโอไมโคตา (phylum Basidiomycota)
ฟังไจกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการสูงสุด ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยอินทรียสารที่มีประสิทธิภาพของระบบนิเวศ มีลักษณะสำคัญ คือ มีเส้นใยที่มีผนังกั้นสมบูรณ์ มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยสร้างสปอร์ ที่เรียกว่า เบสิดิโอสปอร์ (basidiospore) จำนวน 4 สปอร์ อยู่ข้างนอกเบสิเดียม (basidium)
เห็ดที่มีวิวัฒนาการสูงสุด จะสร้างเบสิเดียมบนโครงสร้างพิเศษ หรือฟรุตติงบอดี (fruiting body) ที่เรียกว่า เบสิดิโอคาร์ป (basidiocarp) หรือดอกเห็ด ได้แก่ เห็ดชนิดต่างๆ เช่น เห็ดฟาง (Volvariella volvacea) เห็ดหอม (Lentinula edodes) ราสนิม (rusts) และราเขม่าดำ หรือสมัท (smuts) ที่ทำให้เกิดโรค
สิ่งมีชีวิตจำพวกฟังไจมีบทบาทในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ดำรงชีวิตเป็นผู้ย่อยสลาย ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุคาร์บอนไนโตรเจน และสารอื่นๆ ในระบบนิเวศ
2. ย่อยสลายขยะมูลฝอยและซากอินทรีย์
3. ใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ใช้ทำขนมปัง และผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, Aspergillus niger ใช้ผลิตกรดซิตริก, Penicillium notatum ใช้ผลิตยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน
4. ใช้ประกอบอาหาร เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮือ เห็ดออริจิ เห็ดเข็มทอง ฯลฯ
5. ก่อให้เกิดโรคในพืช เช่น โรคราน้ำค้างในองุ่น โรคราสนิม โรคใบไหม้ในมันฝรั่ง
6. สร้างสารพิษ เช่น Aspergillus flavas สร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ที่เป็นสารก่อมะเร็งในตับ
อย่างไรก็ตาม ฟังไจแม้จะมีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมากมาย แต่บางชนิดก็มีโทษที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ที่เกิดกับมนุษย์ เช่น โรคที่เกิดบริเวณผิวหนัง ได้แก่ กลาก เกลื้อน โรคขี้รังแค โรคเปื่อยตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ตัวอย่างเช่น
- เชื้อรา Micros Porum canis ทำให้เกิดโรคกลาก (ringworm)
- Candida albicans เป็นเชื้อฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคแคนดิเดียซีส (candidiasis) ในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โรคที่เกิดกับพืช เช่น โรคเขม่าดำ (Smut) ของอ้อย ทำให้อ้อยไม่สูง ปล้องสั้น ปริมาณน้ำตาลลดลง โรคราสนิม (rust) เกิดกับพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ถั่ว ข้าวโพด ข้าวสาลี เชื้อรา Puccinia gramminis ทำให้เกิดโรคราสนิมขาวในข้าวสาลี
ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza)
เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างรากับพืชที่มีระบบท่อลำเลียง ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยราจะได้รับน้ำตาล กรดอะมิโน และอินทรียสารต่างๆ จากพืช ขณะเดียวกันพืชจะได้รับแร่ธาตุและสารต่างๆ จากดินที่ราย่อยสลาย จนรากของพืชสามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้
พัดชา วิจิตรวงศ์