อาณาจักรของสิ่งมีชีวิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
13 พ.ค. 67
 | 3.9K views



วิทเทเคอร์ (R. H. Whittaker) ได้จัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตออกเป็น 5 อาณาจักร โดยแบ่งตามการได้อาหารของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ได้แก่ อาณาจักรมอเนอรา (monera), อาณาจักรโพรทิสตา (protista), อาณาจักรฟังไจ (fungi), อาณาจักรพืช (plantae) และอาณาจักรสัตว์ (animalia) เเต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ใช้หลักฐานทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล ทำให้จำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น 3 โดเมน คือ โดเมนยูแบคทีเรีย (domain eubacteria) โดเมนอาร์เคีย (domain archaea) และโดเมนยูคาเรีย (domain eukarya)

 

หมวดหมู่สิ่งมีชีวิต 5 อาณาจักรของวิทเทเคอร์

แบ่งตามการได้อาหารของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ได้แก่

1. อาณาจักรมอเนอรา (monera) หรืออาณาจักรโพรคาริโอตี (procaryotae) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์แบบโพรคาริโอต ซึ่งไม่สามารถหาอาหารโดยวิธีการกิน ได้แก่ แบคทีเรีย และไซยาโนแบคทีเรีย

2. อาณาจักรโพรทิสตา (protista) เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวแบบยูคาริโอต ซึ่งมีวิธีการได้อาหารหลายแบบ เช่น สาหร่าย โพรทัวซัว

3. อาณาจักรเห็ดรา หรืออาณาจักรฟังไจ (fungi) ได้แก่ พวกยีสต์ที่มีเซลล์เดียว และราที่มีหลายเซลล์ รวมถึงพวกเห็ดที่มีขนาดใหญ่

4. อาณาจักรพืช (plantae) เป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ได้อาหารโดยการสังเคราะห์แสง

5. อาณาจักรสัตว์ (animalia) เป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ได้อาหารโดยการกิน

 

โดเมนของสิ่งมีชีวิต

 

เเต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ใช้หลักฐานทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล ทำให้จำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น 3 โดเมน คือ

1. โดเมนยูแบคทีเรีย (domain eubacteria) ได้แก่ แบคทีเรียทั่วไปที่พบในธรรมชาติ

2. โดเมนอาร์เคีย (domain archaea) ได้แก่ แบคทีเรียโบราณที่พบในสภาพแวดล้อมรุนแรง

3. โดเมนยูคาเรีย (domain eukarya) ได้แก่ โพรติสต์ ฟังไจ พืช และสัตว์

 

ไวรัส (virus)

มีอนุภาคขนาดเล็กมาก จนสามารถหลุดรอดผ่านเครื่องกรองที่ใช้กรองแบคทีเรียได้ เราสามารถมองเห็นไวรัสโดยผ่านทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเท่านั้น ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า หรือกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาได้

ไวรัสเปรียบเหมือนเป็นกาฝากที่อยู่ในร่างของสิ่งมีชีวิตอื่น (obligate intracellular parasite) เนื่องจากไม่สามารถเติบโต หรือแพร่พันธุ์นอกเซลล์อื่นได้ เพราะตัวไวรัสนั้นมีโครงสร้างแบบง่ายๆ ประกอบด้วยสารพันธุกรรมเพียงแค่หนึ่งชนิด อาจเป็น DNA หรือ RNA ก็ได้ ห่อหุ้มด้วยเปลือกโปรตีนที่เรียกว่า แคปซิด (capsid) ไม่มีเมแทบอลิซึมที่เป็นกระบวนการทางเคมีที่ทำให้ร่างกายสิ่งมีชีวิตทำงานได้ปกติ อีกทั้งยังไม่มีโครงสร้างย่อยขนาดเล็กที่มีหน้าที่เฉพาะที่เรียกว่า ออร์แกเนลล์ เป็นของตัวเอง จึงจำเป็นต้องอาศัยการทำงานจากเซลล์โฮสต์ หรือเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสเข้าไปฝังตัว ดังนั้น ถ้าไวรัสแพร่กระจายอยู่ในอากาศ แต่บริเวณนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย ไวรัสก็จะไม่สามารถเติบโตและแพร่พันธุ์ได้นั่นเอง

 

ลักษณะสำคัญของไวรัส

1. มีขนาดเล็กมากประมาณ 10-300 นาโนเมตร ต้องขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอน (electron microscope) ที่กำลังขยายมากกว่าหนึ่งแสนเท่าจึงจะมองเห็น โครงสร้างยังไม่เป็นเซลล์โดยสมบูรณ์ จึงเรียกไวรัสว่า อนุภาค (particle)

2. ประกอบด้วยกรดนิวคลีอิก 4 กลุ่ม คือ ชนิด DNA สายเดี่ยว DNA สายคู่ RNA สายเดี่ยว และ RNA สายคู่

3. เจริญเติบโตและสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

 

รูปร่างของไวรัส

1. แบบหลายเหลี่ยม (icosahedral) ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม 2 รูปต่อกัน

2. แบบเกลียว (helical) เป็นแท่งยาว ทั้งแคปโซเมอร์และกรดนิวคลีอิกเรียงตัวเป็นเกลียวคล้ายบันไดเวียน

3. แบบเชิงซ้อน (complex) รูปร่างปนกันสองแบบ คือ แบบหลายเหลี่ยม (polyhedral) และแบบเกลียว (helical)

 

โรคที่เกิดจากไวรัส

ตัวอย่างโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส เช่น เอดส์ (HIV) หัด อีสุกอีใส คางทูม ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคกลัวน้ำ (โรคพิษสุนัขบ้า) โปลิโอ (ไขสันหลังอักเสบ) ฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) ไข้เลือดออก ตาแดง ไข้เหลือง โรคใบด่างของยาสูบ โรคไบหงิกของพริก โรคแคระแกร็นในต้นข้าว โรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยของสัตว์ โรคไวรัส MBV (monodon baculovirus) ในกุ้งกุลาดำ ฯลฯ

 

พัดชา วิจิตรวงศ์