การศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
13 พ.ค. 67
 | 998 views



เนื่องจากสิ่งมีชีวิตมีจำนวนมากมายหลายชนิด วิชาที่กล่าวถึงการจัดลำดับ เรียกว่า อนุกรมวิธาน (taxonomy) ประกอบด้วย การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต (classification) การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต (nomenclature) การระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตหรือหน่อยอนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิต (identification)

 

การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต

การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตมีมานานแล้ว แต่ในสมัยแรกๆ นั้นมักจะยึดเกณฑ์ง่ายๆ และประโยชน์เป็นหลักสำคัญ เช่น จัดสิ่งมีชีวิตออกเป็นพวกให้ประโยชน์ และให้โทษ การจัดโดยวิธีนี้อาศัยเกณฑ์ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร และการจัดสิ่งมีชีวิตด้วยวิธีนี้ก็ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้มนุษย์สมัยก่อนอยู่อย่างสุขสมบูรณ์และปลอดภัย 

คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) นักชีววิทยาชาวสวีเดน เป็นผู้วางรากฐานการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต จนได้รับยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งการจำแนกยุคใหม่ หรือบิดาแห่งวิชาอนุกรมวิธาน (father of modern classification) โดยลินเนียสเป็นคนแรกที่ใช้คำภาษาลาติน 2 คำ มาใช้เรียกสิ่งมีชีวิต ซึ่งเรียกว่า binomial nomenclature และวิธีนี้ก็ยังใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ลินเนียสยังได้ศึกษาพืชและเกสรตัวผู้ และใช้เกสรตัวผู้ในการแบ่งชนิดของพืชดอก ซึ่งปัจจุบันหลักเกณฑ์ต่างๆ ของลินเนียสยังคงใช้กันอยู่

 

การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. artificial classification คือ การจัดหมวดหมู่โดยดูจากลักษณะภายนอก โดยถ้ามีลักษณะเหมือนกันจะจัดไว้เป็นพวกเดียวกัน ถ้าต่างกันก็แยกไว้อีกพวกหนึ่ง เป็นการจัดหมวดหมู่ที่รวดเร็วแต่ไม่ถูกต้อง

2. nature classification ศึกษาการเกี่ยวพันกันทางวิวัฒนาการ ซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดจำแนกแต่มีความถูกต้องสูง

ลำดับขั้นของหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต (taxonomic category) มีลำดับการจัดตั้งแต่ลำดับใหญ่ที่สุดจนถึงลำดับเล็กที่สุด โดยอาณาจักร (kingdom) เป็นระดับหรือหมู่ที่ใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิต ในอาณาจักรหนึ่งจะแบ่งออกเป็นหลายๆ ไฟลัม (phylum) และไฟลัมหนึ่งก็แบ่งออกเป็นหลายคลาส (class) แต่ละคลาสก็แบ่งออกเป็นหลายออร์เดอร์ (order) และในออร์เดอร์ก็แบ่งออกเป็นหลายแฟมิลี (family) ในแต่ละแฟมิลี่ก็มีหลายจีนัส (genus) และจีนัสหนึ่งก็แบ่งออกเป็นหลายสปีชีส์ (species) ด้วยกัน 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอาณาจักรเป็นหน่วยที่ใหญ่ที่สุด และสปีชีส์เป็นหน่วยของการแบ่งที่เล็กที่สุด จากลักษณะการแบ่งหมวดหมู่ในระดับขั้นนี้ พอจะสรุปได้ว่า ในสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับการแบ่งที่เล็กที่สุด คือ สปีชีส์ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในด้านต่างๆ มากที่สุด และความคล้ายคลึงนี้จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อระดับการแบ่งใหญ่ขึ้น

ในแต่ละระดับขั้นของการแบ่งนี้ อาจจะมีระดับการแบ่งที่แทรกอยู่ในแต่ละระดับชั้น โดยใช้คำว่า ซับ (sub) แทรกอยู่ทางด้านล่าง เช่น ซับคลาส (subclass) ซึ่งเล็กกว่าคลาส แต่ใหญ่กว่า ออร์เดอร์ หรือคำว่า ซูเพอร์ (super) แทรกอยู่ด้านบน เช่น ซูเพอร์ออร์เดอร์ (superorder) จะใหญ่กว่าออร์เดอร์ แต่เล็กกว่าคลาสและซับคลาส

 

การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่รู้จักกันจะมีผู้ตั้งชื่อเพื่อใช้ในการอ้างถึง ชื่อของสิ่งมีชีวิตมี 2 ชนิด คือ ชื่อสามัญ (common name) คือชื่อที่ใช้เรียกสิ่งมีชีวิตตามภาษาท้องถิ่น หรือภาษาประจำชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันมีหลายชื่อ อาจเรียกชื่อตามลักษณะรูปร่าง เช่น ต้นแปรงล้างขวด ปากกาทะเล ว่านหางจระเข้ หรืออาจเรียกตามถิ่นกำเนิด เช่น ผักตบชวา ยางอินเดีย กกอียีปต์ มันฝรั่ง

นอกจากนี้ อาจเรียกตามที่สถานที่อยู่ เช่น ดาวทะเล ดอกไม้ทะเล ทากบก หรือประโยชน์ ที่ได้รับ เช่น หอยมุก วัวเนื้อ วัวนม เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ (scientific name) เป็นชื่อเรียกสิ่งมีชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ และเป็นชื่อที่กำหนดขึ้นมาเป็นหลักสากล ใช้ภาษาลาติน ผู้วางหลักเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) ในปี ค.ศ. 1758 โดยกำหนดให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดประกอบด้วยคำ 2 คำ เขียนตัวเอน หรือขีดเส้นใต้ โดยเส้นใต้ระหว่าง 2 คำไม่ต่อกัน เช่น Homo sapiens หรือ Homo sapiens หมายถึง คน

 

หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ มีดังนี้

1. ชื่อวิทยาศาสตร์ต้องเป็นภาษาลาติน หรือรากศัพท์มาจากภาษาลาตินเสมอ เพราะ ภาษาลาตินเป็นภาษาที่ตายแล้ว (เลิกใช้แล้ว) จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก 

2. ชื่อต้องประกอบด้วยคำ 2 คำ (binomial nomenclature) คำแรกเป็นชื่อจีนัส (generic name) ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ และคำหลังเป็นคำคุณศัพท์แสดงลักษณะที่เรียกว่า สเปซิฟิค เอพิเธต (specific epithet) ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวเล็ก ทั้ง 2 คำรวมเรียกว่า ชื่อสปีชีส์ ต้องเขียนตัวเอน หรือขีดเส้นใต้ โดยเส้นใต้ระหว่าง 2 คำไม่ต่อกัน

3. ถ้าทราบชื่อผู้ตั้งชื่อ จะลงชื่อย่อของผู้ตั้งชื่อตามหลังชื่อวิทยาศาสตร์ เช่น ต้นหางนกยูงไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caesalpinia pulcherrima (Linn.) คำว่า Linn. เป็นชื่อย่อของ Linnaeus

4. แต่ละหมวดหมู่ต้องมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องเพียงชื่อเดียว โดยใช้ชื่อที่ตั้งก่อน

5. การกำหนดชื่อหมวดหมู่ตั้งแต่ family ลงมา ต้องมีตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเป็นแบบในการพิจารณา

 

ตัวอย่างชื่อวิทยาศาสตร์

- บอกสถานที่พบหรือที่อยู่อาศัย เช่น

ชื่อสามัญ

ชื่อวิทยาศาสตร์

ความหมาย

ไส้เดือนดิน

Lumbricus terrestris

คำว่า terrestris หมายถึง อาศัยอยู่บนบก

พยาธิใบไม้ในตับ

Fasciola hepatica

คำว่า hepatica หมายถึง ตับ

มะม่วง

Mangifera indica

คำว่า indica หมายถึง ประเทศอินเดีย

- บอกชื่อผู้ตั้งหรือเป็นเกียรติแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น

ชื่อสามัญ

ชื่อวิทยาศาสตร์

ความหมาย

ปลาบู่มหิดล

Mahidolia mystasina

คำว่า Mahidolia เป็นชื่อของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลเดชวิกรมพระบรมราชชนก

 

การระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต หรือหน่อยอนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิต

สิ่งมีชีวิตมีความหลากหลายแตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือที่ใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิต คือ ไดโคโตมัสคีย์ (dichotomous key) เป็นเครื่องมือในการแบ่งกลุ่มย่อยสิ่งมีชีวิต โดยเปรียบเทียบความแตกต่างทีละคู่ของโครงสร้างลักษณะหนึ่ง หรือหลายลักษณะการแบ่งสิ่งมีชีวิต ทีละ 2 กลุ่ม ทำให้พิจารณาได้ง่าย ไม่สับสน และสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่มจะมีไดโคโตมัสคีย์ที่เหมาะสมเฉพาะ ใช้แยกกลุ่มย่อยของสิ่งมีชีวิตนั้น

 

 

พัดชา วิจิตรวงศ์