สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
13 พ.ค. 67
 | 1.6K views



ฮอร์โมนพืช (plant hormone) เป็นสารเคมีภายในพืช ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญของพืชไม่เพียงแต่การเจริญของพืชทั้งต้นเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับการเจริญของพืชแต่ละส่วนด้วย ฮอร์โมนพืชมีทั้งชนิดที่กระตุ้นการเจริญเติบโต และระงับการเจริญเติบโต 

 

สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

1. ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ผู้ค้นพบทฤษฏีวิวัฒนาการ และ ฟรานซิส ดาร์วิน (Francis Darwin) ผู้เป็นบุตรชาย ได้ทำการทดลองกับต้นกล้าของหญ้า (grass seedling) ชนิดคานารี (Phalaris canaries) ซึ่งเขาสังเกตว่า ปลายยอดแรกเกิดมักโค้งงอเข้าหาแสงเสมอ เขาได้ทำการทดลองดังนี้

ได้ข้อสรุปว่า ส่วนปลายของยอด (coleoptile) มีสิ่งเร้าบางอย่างเคลื่อนย้าย หรือลำเลียงไปยังส่วนที่ต่ำกว่า ทำให้ส่วนที่อยู่ต่ำกว่าโค้งเข้าหาแสง

2. การทดลองของ ปีเตอร์ บอยเซน-เจนเซน (Peter Boysen-Jensen) ทำการทดลองโดยตัดยอดอ่อนของต้นกล้าทิ้งไป พบว่าการเจริญเติบโตของพืชช้าลง แต่ถ้านำยอดอ่อนที่ตัดออกไปกลับมาวางที่ต้นเดิม พืชจะเจริญเติบโตตามปกติ

บอยเซน-เจนเซน ทดลองตัดปลายยอดต้นอ่อน แล้วนำส่วนที่ตัดไปวางบนแผ่นวุ้นประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำปลายอดที่ตัดนั้นออกจากแผ่นวุ้น นำแผ่นวุ้นกลับไปวางบนยอดที่ถูกตัด พบว่าพืชมีการเจริญเติบโตได้ตามปกติ

ได้ข้อสรุปว่า สารเคมีจากปลายยอดสามารถซึมลงในแผ่นวุ้นได้ และทำให้พืชเจริญเติบโตต่อไปได้

3. การทดลองของ อาร์แพด ปาล (Arpad Paal) ทำการทดลองกับปลายยอดอ่อนของต้นกล้าของข้าวโอ๊ต (Avena sativa) โดยทำการทดลองในที่มืด

ได้ข้อสรุปว่า สารเคมีที่มีผลทำให้ปลายยอดโค้งเข้าหาแสงสามารถเคลื่อนย้ายลงไปในทุกๆ ด้านของปลายยอด

4. การทดลองของ ฟริตส์ เวนต์ (Frits Went) ตั้งสมมติฐานว่า ถ้าปลายยอดสร้างสารควบคุมการตอบสนองต่อแสงได้ ก็น่าจะสะสมสารนี้บนแผ่นวุ้นได้ เวนต์จึงได้ทดลองตัดปลายยอดของต้นกล้าข้าวโอ๊ด นำไปวางบนวุ้นที่ตัดเป็นแผ่นเล็กๆ ไว้สักครู่หนึ่ง แล้วนำชิ้นวุ้นไปวางลงบนต้นกล้าของอีกต้นหนึ่ง

 

ได้ข้อสรุปว่า มีสารบางอย่างแพร่ออกมาจากปลายยอด ซึ่งมีผลทำให้ปลายยอดโค้งเข้าหาแสงได้

 

ฮอร์โมนพืช (plant hormone)

เป็นสารเคมีภายในพืชซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญของพืช ฮอร์โมนพืชที่พบในปัจจุบัน คือ

- ออกซิน (auxin) แปลว่า ทำให้เพิ่ม (to increase)

- จิบเบอเรลลิน (gibberellins) มาจากชื่อรา Gibberella fujikuroi

- ไซโตไคนิน (cytokinin’s) มาจาก เพิ่มการแบ่งเซลล์ cytokinesis

- กรดแอบซิสิค (abscisic acid) หรือ ABA มาจาก การร่วงของใบ abscission

- เอทธิลีน (ethylene) ซึ่งมีสภาพเป็นก๊าซช่วยเร่งการสุกของผลไม้

 

1. ออกซิน (auxin; IAA) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากกลุ่มเนื้อเยื่อปลายยอด แล้วแพร่จากยอดอ่อนไปยังเซลล์อื่นๆ ที่อยู่ด้านล่าง และหนีแสงไปยังด้านที่มืดกว่า มีหน้าที่ช่วยให้เจริญเติบโต แต่ยับยั้งการแตกของตาด้านข้าง กระตุ้นการออกดอก และการติดผลแบบ parthenocarpic (ไม่มีเมล็ด) โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ กระตุ้นการแตกรากของกิ่งในการเพราะชำ ชะลอการหลุดร่วงของใบ ดอก ผล และกระตุ้นให้ยอดเจริญเติบโตรวดเร็ว แต่ในรากยับยั้งให้ช้าลง

2. จิบเบอเรลลิน (gibberellins; GA) เป็นฮอร์โมนพืชพวกหนึ่งในพืชชั้นสูง สร้างมาจากใบอ่อนและผลที่ยังไม่แก่ มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ระหว่างข้อปล้อง ทำให้ต้นไม้สูง กระตุ้นการงอกของเมล็ดและตา เพิ่มการเกิดดอก เปลี่ยนดอกตัวผู้ให้เป็นดอกตัวเมียในพืชตระกูลแตง ช่วยยืดช่อของผล

3. ไซโทไคนิน (cytokinin) เป็นฮอร์โมนพืชที่พบในน้ำมะพร้าว และสารที่สกัดได้จากยีสต์ มีสมบัติกระตุ้นการเจริญและการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ มีหน้าที่กระตุ้นการแบ่งเซลล์และการเจริญเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ใช้ผสมในอาหารเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชให้เกิดหน่อใหม่ กระตุ้นการเจริญของกิ่งแขนง ชะลอการแก่ของผลไม้

4. กรดแอบไซซิก (abscisic acid; ABA) เป็นฮอร์โมนพืชที่กระตุ้นในการร่วงของใบโดยตรง มีหน้าที่กระตุ้นการหลุดร่วงของใบและผลที่แก่เต็มที่ ยับยั้งการเจริญของเซลล์บริเวณตา กระตุ้นให้ปากใบปิดเมื่อขาดน้ำ ยืดระยะพักตัวของต้นอ่อนในเมล็ด

5. เอทิลีน (ethylene) เป็นฮอร์โมนพืช ซึ่งผลิตขึ้นมาขณะที่เซลล์กำลังมีเมแทบอลิซึม โดยตามปกติเอทิลีนทำหน้าที่กระตุ้นการหายใจ มีหน้าที่เร่งเมแทบอลิซึม ทำให้ผลไม้สุก กระตุ้นการออกดอกของพืชพวกสับประรด กระตุ้นการหลุดร่วงของใบ เร่งการงอกของเมล็ด เร่งการไหลของน้ำยางพารา

พัดชา วิจิตรวงศ์