สัตว์จะต้องอยู่ในสังคมร่วมกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะพวกสัตว์สังคม เช่น แมลง และสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหลาย จึงต้องมีการติดต่อสื่อความหมายระหว่างกันและกัน ซึ่งมีทั้งเพื่อการสืบพันธุ์เป็นพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด และเป็นพฤติกรรมทางสังคมเพื่อความอยู่รอด
พฤติกรรมทางสังคมเกิดขึ้นเมื่อ
1. เมื่อสัตว์มารวมอยู่เป็นเป็นหมู่พวก
เมื่อสัตว์มารวมอยู่เป็นหมู่เป็นพวก ย่อมมีการแสดงพฤติกรรมที่เข้าใจกันในระหว่างพวกของตน พฤติกรรมดังกล่าวเรียกพฤติกรรมทางสังคม เช่น พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีเมื่อจะผสมพันธุ์
2. มีพฤติกรรมที่ใช้เป็นสื่อ
พฤติกรรมที่ใช้เป็นสื่อในการติดต่อซึ่งกันและกันภายในฝูงสัตว์ หรือต่างชนิดกัน อาจเป็นพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด หรือพฤติกรรมการเรียนรู้ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น
2.1) การสื่อสารด้วยสารเคมี (chemical communication) ได้แก่ การใช้กลิ่น หรือรส สารเคมีที่สัตว์สร้างขึ้นมาสามารถใช้เป็นสื่อติดต่อเพื่อก่อให้พวกเดียวกันแสดงพฤติกรรมต่างๆ เป็นการสื่อสารแบบดั้งเดิม ในสายวิวัฒนาการที่มีความจำเพาะในระหว่าง species เช่น ฟีโรโมน (pheromone) ซึ่งเป็นสารเคมีที่สร้างจากต่อมในร่างการ แล้วส่งออกไปให้ตัวอื่นใน species เดียวกัน ตัวอย่างคือ การดึงดูดเพศตรงข้ามโดยการปล่อยกลิ่นของผีเสื้อกลางคืนตัวเมียไปกระตุ้นผีเสื้อกลางคืนตัวผู้ การจำกลิ่นพวกเดียวกันของพวกผึ้ง และการใช้กลิ่นกำหนดอาณาเขต เช่น กวางบางชนิดเช็ดสารที่หลั่งจากต่อมบริเวณหน้าป้ายตามต้นไม้ตามทาง หรือใช้บอกแหล่งอาหาร เช่น ในมดจะปล่อยฟีโรโมนที่เป็นสารเคมีพวกกรดฟอร์มิกไว้ตามทางเดินจากแหล่งอาหารจนถึงรัง ทำให้เกิดการเดินตามรอยกลิ่นของพวกมด
2.2) การสื่อสารด้วยเสียง (auditory communication) เสียงของสัตว์ใช้เป็นสื่อติดต่อระหว่างกัน และก่อให้เกิดปฏิกิริยาตามชนิดของสียงนั้น ถือว่าเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เสียงเรียกเตือนภัย (warning calls) เป็นเสียงเตือนให้เพื่อนร่วมชนิดรู้ว่ามีศัตรูมา เสียงเรียกติดต่อ (contact calls) ใช้เป็นสัญญาณให้เกิดการรวมกลุ่ม เช่น แม่ไก่จะตอบสนองต่อลูกไก่ต่อเมื่อมันได้ยินเสียงร้องของลูกไก่ แต่มันจะไม่ตอบสนองเมื่อเห็นท่าทางของลูกไก่โดยไม่ได้ยินเสียง การที่นกนางนวลพ่อแม่ร้องเตือนอันตรายซึ่งเป็น sign stimulus ที่ลูกนกจะตอบสนองโดยการหลบซ่อนตัว
2.3) การสื่อสารด้วยการสัมผัส (tactile communication) การสัมผัสเป็นสื่อสำคัญอย่างหนึ่งของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น พฤติกรรมการเลี้ยงลูกของลิง ซึ่งมีการสัมผัสซึ่งกันและกัน มีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาอารมณ์ของลูกอ่อน เช่น การลดพฤติกรรมการก้าวร้าว เกิดความมั่นใจ ไม่มีความหวาดกลัว ลิงที่ขาดการเลี้ยงดูโดยแม่มักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาเสมอ ลูกนกนางนวลบางชนิดจะใช้จะงอยปากจิกที่จะงอยปากของแม่เพื่อกระตุ้นให้แม่หาอาหารมาให้
2.4) การสื่อสารด้วยท่าทาง (visual communication) เป็นการแสดงท่าทางและการเคลื่อนไหวของสัตว์ต่างๆ ซึ่งใช้เป็นสัญญาณในการสื่อสารระหว่างกันมีหลายประเภท เช่น การแสดงท่าทางอ่อนน้อม เคารพ ยอมแพ้ เอาอกเอาใจ เช่น ในสัตว์ที่ต่อสู้กัน เมื่อฝ่ายใดรู้สึกว่า ตัวเองแพ้ก็จะแสดงลักษณะท่าทางยอมแพ้ อ่อนน้อม ทำให้อีกฝ่ายลดความโกรธลง
2.5) การเกี้ยวพาราสี (courtship behavior) เช่น การรำแพนของนกยูงตัวผู้เพื่ออวดตัวเมีย การชูก้ามของปูก้ามดาบตัวผู้ และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของปลาหลังหนาม (stickleback) โดยท่าทางของตัวเมียคือ การว่ายเชิดหัวขึ้นอวดท้องป่องๆ เพื่อใช้เป็น sign stimulus สำหรับตัวผู้ ในขณะที่ท่าทางของตัวผู้คือ การว่ายซิกแซกเข้ามาหาตัวเมีย และมีท้องสีแดงเป็น sign stimulus สำหรับตัวเมีย
ความสำคัญของการแสดงพฤติกรรมสังคม
สัตว์สังคมมีระบบการอยู่รวมกันอย่างมีระเบียบ พบได้ในแมลงหลายๆ ชนิด เช่น มด ปลวก ผึ้ง และในสัตว์มีกระดูกสันหลังอย่างลิง ซึ่งมักจะมีการแบ่งชนชั้น หรือหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน การแสดงพฤติกรรมทางสังคมของสัตว์ มักจะเป็นไปในทางที่จะช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น เช่น อาจช่วยให้หาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เรียนรู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
การที่เป็นเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตมาก เช่น ในการอยู่เป็นหมู่เป็นพวกของสัตว์ มีประโยชน์ในการป้องกันอันตรายจากศัตรู ลดอัตราการถูกฆ่าหรือถูกล่า การหาอาหาร การสืบพันธุ์ พฤติกรรมทางสังคมต่างๆ ทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นๆ ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ อย่างไรก็ตาม การอยู่รวมกันทำก็ให้มีโอกาสเกิดโรคระบาดสูง มีการแก่งแย่ง และการรบกวนทางสังคมสูง
พัดชา วิจิตรวงศ์