กลไกการเกิดพฤติกรรมของสัตว์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
15 ก.ย. 67
 | 18.1K views



พฤติกรรม (behavior) หมายถึง กิริยาของสิ่งมีชีวิตที่แสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น ซึ่งอาจเป็น สิ่งแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป หรือจากการกระตุ้นจากภายในร่างกายเอง

สิ่งเร้าภายนอกร่างกาย (external stimulus) ได้แก่ ระดับอุณหภูมิ แสงสว่าง เสียง สารเคมี วัตถุ ความชื้น กลิ่น ความดัน สารเคมี และแรงดึงดูดของโลก เป็นต้น

สิ่งเร้าภายในร่างกาย (internal stimulus) ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสรีระที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ระดับออกซิเจนในเลือด ฮอร์โมน หรือความรัก ความหิว ความคิด ความโกรธ ความอิจฉา ฯลฯ

กิริยาที่สิ่งมีชีวิตแสดงออกเพื่อการตอบโต้สิ่งเร้าอาจเกิดในรูปของ การกิน การนอน การหาอาหาร การเจริญเติบโต การต่อสู้ การช่วยเหลือ เป็นต้น กิริยาที่แสดงออกมานี้ อาจเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของเนื้อเยื่อบางส่วน หรือทั้งตัวก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์ของการแสดงพฤติกรรม เพื่อความอยู่รอด (survival) เช่น พฤติกรรมการหาอาหาร การล่าเหยื่อ การหลบหนีศัตรู และการหาที่อยู่อาศัย เป็นต้น และเพื่อสืบพันธุ์ (reproduction) เช่น พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี (courtship behavior)

 

สาเหตุของการแสดงพฤติกรรม

แบ่งได้เป็น

- proximate cause เป็นสาเหตุโดยตรงที่เกิดขึ้นขณะนั้น อันเนื่องมาจากสภาวะทางสรีรวิทยาทางร่างกายขณะนั้น เมื่อร่างกายได้รับสิ่งเร้าก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองออกมา 
- ultimate cause เป็นสาเหตุรากฐานที่เกิดจากวิวัฒนาการมายาวนาน ได้แก่ natural selection (ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน)

 

กลไกการเกิดพฤติกรรม

พฤติกรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสิ่งเร้า (stimulus) มากระตุ้น ตัวกระตุ้นที่เหมาะสมกับความพร้อมภายในร่างกายของสัตว์ ทำให้สัตว์ปลดปล่อยพฤติกรรมออกมาได้ เรียกว่า ตัวกระตุ้นปลดปล่อย (releasing stimulus) มีเหตุจูงใจ (motivation)

นอกจากนี้ จะมีกลไกการปลดปล่อยพฤติกรรม (releasing mechanism) ซึ่งเป็นวงจรกระแสประสาทซึ่งไวต่อตัวกระตุ้นปลดปล่อยร่างกายของสัตว์ ต้องมีหน่วยรับความรู้สึก (sensory receptor) ที่สามารถรับการกระตุ้นจากสิ่งเร้านั้นได้ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีข้อจำกัดของหน่วยรับความรู้สึกแตกต่างกัน

ดังนั้น พฤติกรรมที่แตกต่างกันของสัตว์ ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการความสามารถของระบบรับความรู้สึก (sensory system) ระบบควบคุม (control system) คือ ระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ และหน่วยปฏิบัติงาน (effector) ของสัตว์ชนิดนั้น

 

แผนภาพแสดงกลไกการเกิดพฤติกรรม

 

 

 

ปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญต่อการเกิดพฤติกรรม

1. สิ่งเร้า ตัวกระตุ้นให้สัตว์แสดงพฤติกรรม แสง สี เสียง อารมณ์ ความเครียด ระดับสารเคมี 
2. เหตุจูงใจ ความพร้อมของร่างกายสัตว์ที่จะแสดงพฤติกรรม เช่น ความหิว กระหาย 
3. ตัวกระตุ้นปลดปล่อย เป็นตัวกระตุ้นที่เหมาะสมกับความพร้อมของร่างกายให้แสดงพฤติกรรม 
4. กลไกปลดปล่อยพฤติกรรม วงจรประสาทที่ไวต่อตัวกระตุ้นปลดปล่อย

 

สิ่งที่กำหนดพฤติกรรม

1. ยีน (gene) เช่น พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดการสร้างระบบประสาท ได้แก่ พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด (inherited behavior) หรือ innate behavior ไม่มีการตอบสนองแบบตรงไปตรงมา และเหมือนๆ กันทุกครั้ง พบในสัตว์ชั้นต่ำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ พฤติกรรมแบบรีเฟลกซ์ และรีเฟลกซ์ต่อเนื่อง หรือสัญชาตญาณ

2. สิ่งแวดล้อม เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้หรือ learning behavior ซึ่งความสามารถในการเรียนรู้จะแตกต่างกัน ตัวอย่างการศึกษาว่า gene เป็นพื้นฐานที่กำหนดพฤติกรรมของสัตว์ ได้แก่ การศึกษาพฤติกรรมการสร้างรังของนกแก้ว ซึ่งจะสร้างรังเป็นรูปถ้วยแบบต่างๆ ความแตกต่างของพฤติกรรมการสร้างรังของนก 2 species นี้ขึ้นกับ gene อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมก็ยังสามารถดัดแปลงได้บ้างจากประสบการณ์ ในขณะที่บางพฤติกรรมก็ถูกกำหนดไว้อย่างคงที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยประสบการณ์


พัดชา วิจิตรวงศ