ฮอร์โมน (hormones) คือ สารเคมีที่สร้างจากเนื้อเยื่อหรือต่อมไร้ท่อ ถูกลำเลียงไปตามระบบหมุนเวียนของโลหิต เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต ควบคุมลักษณะทางเพศ และควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย
ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อที่สำคัญของร่างกายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- กลุ่มที่ร่างกายขาดไม่ได้ (essential endocrine gland) หากตัดต่อมเหล่านี้ออกจะทำให้ตายได้ในเวลาอันสั้น ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid glad) ต่อมหมวกไตส่วนนอก (adrenal gland) ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ (islets of Langerhans) ที่ตับอ่อน
- กลุ่มที่ร่างกายพอจะขาดได้ (non-essential endocrine gland) หากตัดออกขณะที่ร่างกายเจริญเต็มที่แล้วจะมีผลกระทบต่อร่างกายบ้าง แต่ไม่มาก แต่ถ้าหากตัดออกเมื่อร่างกายกำลังเจริญเติบโตจะมีผลกระทบมาก ได้แก่ ต่อมไพเนียล (pineal gland หรือ epiphysis) ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ต่อมหมวกไตส่วนใน (adrenal gland) อัณฑะ (testis) และรังไข่ (ovary)
1. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (pituitary gland)
อยู่ตรงส่วนล่างของสมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (anterior lobe of pituitary gland)
- ต่อมใต้สมองส่วนกลาง (intermediated lobe of pituitary)
- ต่อมใต้สมองจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง (posterior lobe of pituitary gland)
ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าเป็นส่วนที่ไม่ได้เกิดจากเนื้อเยื่อประสาท การทำงานอยู่ภายใต้การควบคุมของ hypothalamus สร้างฮอร์โมนประเภทสารโปรตีน หรือพอลิเพปไทด์ ได้แก่
1.1) โกรทฮอร์โมน (growth hormone; GH หรือ somatotrophic hormone; STH) ฮอร์โมนนี้หลั่งตอนหลับมากกกว่าตอนตื่น และตอนหิวมากกว่าช่วงปกติ
เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย polypeptide ที่มีกรดอมิโน 191 ตัว มีธาตุกำมะถันอยู่ในรูป disulfide กระตุ้นให้เกิดการเจริญของกล้ามเนื้อและกระดูกโดยอาศัย thyroxin และ insulin เป็นตัวคะตะลิสต์ มีอิทธิพลกระตุ้นการเจริญและเพิ่มความยาวของกระดูกกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
- ถ้าร่างกายขาด GH ในเด็ก ทำให้ร่างกายเตี้ยแคระ (สติปัญญาปกติ) เรียก Dwarfism ในผู้ใหญ่มีอาการผอมแห้ง น้ำตาลในเลือดต่ำ มีภาวะทนต่อความเครียด (stress) สูงเรียกว่า Simoom’s disease ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เหี่ยวแห้งหรือเหี่ยวย่น
- ถ้าร่างกายมี GH มากเกินไปในวัยเด็ก จะทำให้ร่างกายเติบโตสูงใหญ่ผิดปกติ น้ำตาลในเลือดสูง ทนต่อความเครียดได้น้อย เรียกว่า gigantism ในผู้ใหญ่ กระดูกขากรรไกรคางจะยาวผิดปกติ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าโต จมูกใหญ่ ฟันใหญ่ และห่าง เรียก acromegaly
1.2) โกนาโดโทรฟิน (gonadotropin หรือ gonadotrophic hormone) ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ
- follicle stimulating hormone (FSH) ทำหน้าที่กระตุ้นฟอลลิเคิลให้สร้างไข่และไข่สุก มีการสร้างฮอร์โมน estrogen ออกมา และกระตุ้น seminiferous tubule ให้สร้างอสุจิ
- luteinizing hormone (LH) ทำหน้าที่กระตุ้นให้ไข่ตกจากฟอลลิเคิล สำหรับในเพศชาย กระตุ้นให้ interstitial cells ในอัณฑะสร้างฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งอาจเรียกว่า interstitial cell stimulating hormone (ICSH)
1.3) ฮอร์โมนโพรแลกติน (prolactin) เป็นโปรตีนฮอร์โมนที่พบทั้งเพศหญิงและชาย
- ในเพศหญิง ปริมาณสูงสุดตอนคลอดบุตร ทำงานร่วมกับ LH estrogen และ progesterone กระตุ้นต่อมน้ำนมให้มีการสร้างน้ำนม รักษาคอร์ปัสลูเทียมไม่ให้สลายไป และยับยั้งการหลั่งสารที่มากระตุ้นการสร้างโกนาโดโทรฟินซึ่งสร้างมาจากเซลล์ไฮโปทาลามัส จึงทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ยังให้นมบุตรไม่มีการตกไข่
- ในเพศชาย ไม่ทราบบทบาทที่แน่ชัด แต่มีรายงานว่าทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนเพศชายกระตุ้นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ ในสัตว์ปีกมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการเลี้ยงดูตัวอ่อน
1.4) ฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิน (adrenocorticotropic hormone; ACTH) กระตุ้นการเจริญเติบโต การสร้าง และหลั่งฮอร์โมนของต่อมหมวกไตส่วนนอก กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน (insulin) และ GH จากต่อมใต้สมอง กระตุ้นการกระจายตัวของรงควัตถุเมลานินใต้ผิวหนังของสัตว์เลือดเย็น
1.5) ฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid stimulating hormone; TSH) กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้าง และหลั่ง triiodothyronine หรือ T3 และ thyroxine หรือ T4 และควบคุมขนาดของต่อมไทรอยด์
การหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหน้า ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่สร้างจากสมองส่วนไฮโพทาลามัส ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้เป็นพอลิเพบไทด์โมเลกุลเล็ก เรียกชื่อตามผลที่แสดงออกต่อการสร้างฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหน้า มีทั้งฮอร์โมนที่กระตุ้น และยับยั้ง
- โกรทฮอร์โมนรีลิสซิงฮอร์โมน (growth hormone releasing hormone; GHRH) กระตุ้นการหลั่ง GH
- โกรทฮอร์โมนอินฮิบิติงฮอร์โมน (growth hormone inhibiting hormone; GHIH) ยับยั้งการหลั่ง GH
- ไทรอยด์รีลิสซิงฮอร์โมน (thyroid releasing hormone; TRH) กระตุ้นการหลั่ง TSH ของต่อมใต้สมองส่วนหน้า
เรียกรวมว่า ฮอร์โมนประสาท เพราะสร้างมาจากเซลล์ประสาท คือ นิวโรซีครีทอรีเซลล์ (neurosecretory cell) ภายในสมองส่วนไฮโพทาลามัส การหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ หรือจากสิ่งเร้าภายในร่างกาย
ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนกลาง
มีขนาดเล็กมาก สร้างฮอร์โมนชนิดเดียว คือ เมลาโนไซต์สติมูเลติงฮอร์โมน หรือฮอร์โมนกระตุ้นเมลาโนไซด์ (melanocyte stimulating hormone; MSH) หรืออาจเรียกว่า เมลาโนโทรฟิน (melanotropin) มีหน้าที่กระตุ้นการสังเคราะห์รงควัตถุสีน้ำตาล ที่เรียกว่า เมลานิน (melanin) ในเซลล์เมลาโนไซต์ (melanocyte) ที่ผิวหนัง
ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง
ไม่ได้สร้างฮอร์โมนเอง แต่สร้างมาจากนิวโรซีครีทอรีเซลล์ (neurosecretory cell) ของไฮโพทาลามัส โดยกลุ่มเซลล์ประสาทเหล่านี้จะมีแอกซอนมาสิ้นสุดกับภายในต่อมใต้สมองส่วนหลัง และปล่อยฮอร์โมนที่ปลายแอกซอนในต่อมใต้สมองส่วนหลังก่อน จากนั้น จึงนำไปส่วนต่างๆ ของร่างกายทางกระแสเลือด มี 2 ชนิด คือ
- วาโซเพรสซิน (vasopressin) หรือ ฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (antidiuretic hormone) มีหน้าที่ควบคุมการดูดน้ำกลับของท่อหน่วยไต และกระตุ้นให้เส้นเลือดบีบตัวเพื่อเป็นการควบคุมสมดุลน้ำภายในร่างกาย
- ออกซิโทซิน (oxytocin) มีหน้าที่กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลายชนิด ในเพศหญิงฮอร์โมนนี้ช่วยให้คลอดลูกง่ายขึ้น โดยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกให้หดตัว และช่วยในการหลั่งน้ำนม เนื่องจากขณะให้นมบุตรจะมีการกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบภายในเต้านมให้หลังน้ำนมออกมามากขึ้น
2. ฮอร์โมนจากไอส์เลตออฟแลเกอร์ฮานส์ (islet of Langerhans)
เป็นกลุ่มเซลล์ที่อยู่ในตับอ่อน ค้นพบโดย พอล แลงเกอร์ฮาน (Paul Langerhans) ซึ่งสังเกตเห็นกลุ่มเซลล์กลุ่มหนึ่งกระจายอยู่ในตับอ่อนเป็นหย่อมๆ มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก
ในปี พ.ศ. 2455 ได้มีผู้ทดลองให้เห็นว่า กลุ่มเซลล์ไอส์เลตออฟแลงเกอรฮานส์ผลิตสารบางอย่างผ่านมาทางกระแสเลือด และให้ชื่อว่า อินซูลิน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 เอฟ จี แบนติง (F. G. Banting) และ ซี เอช เบสต์ (C. H. Best) ทำการทดลองมัดท่อตับอ่อนของสุนัข ผลปรากฏว่า ตับอ่อนไม่สามารถสร้างเอนไซม์ได้อีก แต่ระดับน้ำตาลในเลือดยังปกติ และได้สกัดสารจากกลุ่มเซลล์ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานออกมา แล้วนำสารนี้ไปฉีดให้กับสุนัขที่เป็นโรคเบาหวานภายหลังจากตัดตับอ่อนออกแล้ว ปรากฎว่าสุนัขมีชีวิตอยู่เป็นปกติ และสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ แบนติงและเบสต์จึงประสบความสำเร็จในการสกัดสารอินซูลินออกมาได้ ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากผลการศึกษานี้ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ช่วยชีวิตคนเป็นจำนวนมาก
การศึกษาต่อมาพบว่าฮอร์โมนที่สำคัญที่เป็นผลผลิตจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานมี 2 ชนิด คือ อินซูลิน และกลูคากอน
2.1) ฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) สร้างจากกลุ่มเบตาเซลล์ (beta cell / ß-cell) ซึ่งอยู่บริเวณส่วนกลางของไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮาน ทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติเมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง เร่งการสร้างไกโคเจนเพื่อเก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ และเร่งการใช้กลูโคสของเซลล์ทั่วไป
คนปกติจะมีระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 90-100 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อรับประทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตเข้าไป ปริมาณน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นถึง 140 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตรในเวลาครึ่งชั่วโมง และจะลดลงมาถึงระดับปกติในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่มีการออกกำลังกายอย่างหนัก ต้องใช้พลังงานมาก ไกลโคเจนที่เก็บไว้ในตับและกล้ามเนื้อได้ถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสส่งเข้ามาในกระแสเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ระดับน้ำตาลยังไม่ต่างจากระดับปกติมากนัก
โรคเบาหวาน
ความผิดปกติเนื่องจากอินซูลิน ทำให้เกิดโรคเบาหวาน (diabetes mellitus) คือ การที่มีปริมาณฮอร์โมนอินซูลินน้อย ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ ซึ่งสามารถทำลายเบต้าเซลล์ได้ ทำให้ขาดอินซูลิน ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดมาใช้ได้ แล้วจะสลายไกลโคเจนที่สะสมไว้ออกมาใช้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เกิดเป็นโรคเบาหวาน
โรคนี้พบทุกเพศทุกวัย อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม อายุ ความเครียด ความอ้วน การอักเสบที่ตับอ่อนจากเชื้อไวรัสหรือยาบางชนิด เป็นต้น
อาการของโรคเบาหวาน ประกอบด้วย
- ปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากท่อหน่วยไตไม่สามารถดูดน้ำตาลกลับได้หมด จึงถูกขับออกมาพร้อมปัสสาว
- แผลจะหายยาก มีอาการคันบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และผิวหนัง เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียอย่างดี
- น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย เซื่องซึม เมื่อยล้า เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากกลูโคสได้ จึงใช้ไขมันและโปรตีนแทน
- เลือดและปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรดมากกว่าปกติ เนื่องจากมีสารคีโตน (ketone body) จากการสลายไขมัน และถ้าเป็นโรคเบาหวานนานๆ อาจจะทำให้ตาบอดและไตจะค่อยๆ หมดสภาพในการทำงาน
การรักษาโรคเบาหวาน ทำโดยการฉีดอินซูลิน และการระมัดระวังในการรับประทานอาหาร การฉีดฮอร์โมนเข้าไปจะทำให้ร่างกายสามารถดำรงสภาพปกติอยู่ได้ หรืออาการผิดปกติทุเลาลงได้ แต่มักไม่หายขาด
2.2) ฮอร์โมนกลูคากอน (glucagon) สร้างจากแอลฟาเซลล์ (alpha cell / a-cell) ขนาดใหญ่ และมีจำนวนน้อยกว่าเบตาเซล์ มีหน้าที่ตรงข้ามกับอินซูลิน การขาดกลูคากอนมักจะไม่มีผลต่อร่างกายมากนัก เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนอีกหลายตัวที่ทำหน้าที่แทนอยู่แล้ว
การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดจะเป็นสัญญาณยับยั้ง และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและกลูคากอนจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์
3. ฮอร์โมนจากต่อหมวกไต (Adrenal gland)
เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่เหนือไตทั้งสองข้างของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ต่อมหมวกไตแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
3.1) ต่อมหมวกไตชั้นนอก (adrenal cortex) ผลิตฮอร์โมนได้มากกว่า 50 ชนิด ภายใต้การควบคุมของ ACTH จากต่อมใต้สมองตอนหน้า ฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นมีสมบัติเป็นสเตอรอยด์ (steroid) แบ่งฮอร์โมนเป็น 3 กลุ่มที่สำคัญ คือ
- มิเนราโลคอร์ติคอยด์ฮอร์โมน (mineralocorticoid hormone) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ฮอร์โมนสำคัญกลุ่มนี้คือ aldosterone ช่วยในการทำงานของไตในการดูดกลับ Na และ Cl ภายในท่อตับ
ถ้าขาด aldosterone จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและโซเดียมไปพร้อมกับปัสสาวะ ส่งผลให้เลือดในร่างกายลดลงจนอาจทำให้ผู้ป่วยตายเพราะความดันเลือดต่ำ
- กลูโคคอร์ติคอยด์ฮอร์โมน (glucocorticoid hormone) มีผลต่อการควบคุมเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) มีหน้าที่เพิ่มปริมาณกลูโคสในเลือดให้สูงขึ้นในวงการแพทย์ใช้เป็นยาลดการอักเสบและรักษาโรคภูมิแพ้ ฮอร์โมนกลุ่มนี้คือ cortisol และ cortisone (ในภาวะตึงเครียดถ้ามีการหลั่ง cortisol มากทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้)
ถ้ามีฮอร์โมนกลุ่มนี้มากเกินไปจำทำให้อ้วน อ่อนแอ (ไขมัน พอกตามตัว) หน้ากลมคล้ายดวงจันทร์ หน้าท้องลาย น้ำตาลในเลือดสูงเช่นเดียวกับคนเป็นโรคเบาหวาน เรียกว่า โรคคูชชิง ( Cushing’s syndrome)
- ฮอร์โมนเพศ (adrenal sex hormone) มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฮอร์โมนเพศจากอวัยวะเพศ ฮอร์โมนเพศที่สร้าง เช่น แอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) และแอสโทรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง)
3.2) ต่อมหมวกไตชั้นใน (adrenal medulla) กำเนิดจากเนื้อเยื่อประสาทซึ่งเป็นเนื้อเยื่อชั้นนอก และถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนวัติ สร้างฮอร์โมน 2 ชนิด คือ
- อะดรีนาลินฮอร์โมน (adrenalin hormone) หรือ แอพิเนฟรินฮอร์โมน (epinephrine hormone) มีหน้าที่กระตุ้นให้ไกลโคเจนในตับสลายตัวเป็นกลูโคส กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูง เมแทบอลิซึมเพิ่มขึ้นมาก เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน
- นอร์อะดรีนาลินฮอร์โมน (noradrenalin hormone) หรือ นอร์เอพิเนฟรินฮอร์โมน (norepinephrine hormone) ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ บีบตัว การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนนี้ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของไฮโพทาลามัส ปกติจะหลั่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย แต่สถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น คนขนของหนีไฟไหม้ ก็สามารถแบกของหนักๆ ได้
4. ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ (thyroid gland
เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ มี 2 พู อยู่บริเวณลำคอ หน้าหลอดลมใต้กล่องเสียงเล็กน้อย ต่อมนี้สร้างฮอร์โมน 2 ชนิด คือ
4.1) ไทรอกซิน (thyroxine หรือ tetraiodothyronine; T4) กับ ไตรไอโอโดไทโรนิน (triiodothyronine; T3) ทำหน้าที่ควบคุมเมแทบอลิซึมของร่างกาย โดยเพิ่มอัตราเมตาโบลิซึมและการใช้ออกซิเจนของเซลล์ เพิ่มการสังเคราะห์โปรตีน และทำหน้าที่ร่วมกับ GH ในการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมการเจริญและพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ ควบคุมเมตามอร์โฟซิสของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
ถ้าร่างกายคนขาดหรือมีไทรอกซินน้อยเกินไป จะทำให้มีเมแทบอลิซึมต่ำกว่าปกติ การเจริญเติบโตของร่างกายและจิตใจด้อยลง
โรคที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของไทรอกซิน ได้แก่ คอหอยพอกธรรมดา (simple goiter), คอหอยพอกเป็นพิษ (toxic goiter), มิกซีดีมา (myxedema), ครีตินิซึม (cretinism)
4.2) ฮอร์โมนแคลซิโตนิน (calcitonin) ซึ่งเป็นสารประกอบพวกโพลีเปปไทด์ ทำหน้าที่ลดระดับแคลเซียมในเลือดที่สูงเกินไปให้เข้าสู่ระดับปกติ และฮอร์โมนนี้ยังมีผลในการเร่งขับฟอสเฟตที่ไตด้วย
5. ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid glad)
มีลักษณะเป็นก้อนกลมเล็ก ฝังอยู่ด้านหลังของเนื้อเยื่อไทรอยด์ในคน มีทั้งหมด 4 ต่อม ข้างละ 2 ต่อม เป็นต่อมขนาดเล็ก ฮอร์โมนสำคัญที่สร้างจากต่อมนี้ คือ
- ฮอร์โมนพาราทอร์โมน (parathyroid hormone; PTH) ทำหน้าที่รักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกายให้คงที่ ถ้าหากมีฮอร์โมนนี้มากเกินไป จะมีผลทำให้เกิดการสะสมของแคลเซียมที่ไต ที่หลอดเลือด มีการดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกและฟันออกมา ทำให้เกิดอาการกระดูกเปราะบางและหักง่าย ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน ฟันหักและผุง่าย
ถ้าต่อมพาราไทรอยด์บกพร่อง จะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ มีผลทำให้สูญเสียการดูดกลับที่ท่อหน่วยไตลดลง ทำให้สูญเสียแคลเซียมไปกับน้ำปัสสาวะ และเป็นผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำลงมาก กล้ามเนื้อจะเกิดอาการเกร็งและชักกระตุก แขนขาสั่น ปอดทำงานไม่ได้ อาการอาจหายไปเมื่อฉีดด้วยพาราทอร์โมน และให้วิตามินดีเข้าร่วมด้วย
6. ฮอร์โมนจากต่อไพเนียล (pineal gland)
หรือต่อมเหนือสมอง (epiphysis) อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างรอยต่อของสมองส่วนซีรีบรัมซ้ายและขวา
ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมนี้ คือ ฮอร์โมนเมลาโทนิน (melatonin) โดยเมลาโทนินจะไปยับยั้งการเจริญของรังไข่และอัณฑะ และไปยับยั้งการหลั่งโกนาโดโทรฟิน ทำให้การเติบโตเป็นหนุ่มสาวช้า ในสัตว์ครึ่งบกครึ่งนํ้าและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด พบว่าฮอร์โมนเมลาโทนินมีผลทำให้สีผิวของสัตว์มีสีจางลง โดยต่อมไพเนียลจะทำหน้าที่เป็นกลุ่มเชลล์รับแสงคล้ายๆ เนื้อเยื่อเรตินา ฮอร์โมนชนิดนี้จะทำงานตรงข้ามกับฮอร์โมน MSH จากต่อมใต้สมองส่วนกลาง
7. ฮอร์โมนจากต่อมเพศ (gonad gland)
หมายถึง ฮอร์โมนจากอวัยวะสืบพันธุ์ คือ อัณฑะ หรือ รังไข่
7.1) อัณฑะ (testis) ภายในอัณฑะมีกลุ่มเซลล์ interstitial cell เป็นแหล่งที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนที่ถูกสร้างเป็นสารสเตียรอยด์ ที่เรียกว่า androgens ประกอบด้วยฮอร์โมนหลายชนิด
ที่สำคัญคือ testosterone ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงแตก นมขึ้นพาน มีหนวดบริเวณที่ริมฝีปาก กระดูกหัวไหล่กว้าง
7.2) รังไข่ (ovary) เป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ต่อมเพศอยู่ในรังไข่ทั้ง 2 ข้าง มีแหล่งสร้างฮอร์โมน 2 แหล่ง คือ follicle ในรังไข่ และ corpus luteum ฮอร์โมนที่สร้างได้มี 2 ชนิด คือ
- estrogen สร้างจากฟอลิเคิล (follicle) มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญของฟอลลิเคิลควบคุม และควบคุมลักษณะขั้นที่สองของการเป็นเพศหญิง (female secondary characteristic) กระตุ้นการเจริญของอวัยวะเพศ กระตุ้นมดลูก ท่อนำไข่ ควบคุมการการเปลี่ยนแปลงที่รังไข่ และเยื่อบุมดลูก กระตุ้นการหลั่ง LH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าเพื่อให้มีการตกไข่ และร่วมกับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน กระตุ้นให้เกิดการหนาตัวของผนังมดลูกด้านในเพื่อเตรียมตั้งครรภ์
- progesterone สร้างจากคอร์พัสลูเทียม (corpus luteum) มีหน้าที่กระต้นให้ผนังด้านในมดลูกหนาตัวขึ้น (ร่วมกับอีสโทรเจน) ผนังมดลูกมีหลอดมาเลี้ยงมากเพื่อรอการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว มีผลในการห้ามการมีประจำเดือน ห้ามการตกไข่ และกระตุ้นการเจริญของต่อมน้ำนม
ถ้าหากไข่ที่ตกไม่ได้รับการผสม คอร์พัสลูเทียมจะค่อยๆ สลายไป โพรเจสเทอโรนจึงลดต่ำลง จึงไม่มีฮอร์โมนไปกระตุ้นมดลูก ทำให้ผนังของมดลูกหลุดออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
เอ็มบริโอฝังตัวที่ผนังมดลูกมีการสร้างรก (placenta) เชื่อมติดต่อระหว่างเยื่อหุ้มเอ็มบริโอกับเนื้อเยื่อชั้นในผนังมดลูก ซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน HCG (human chorionic gonadotropin) มีหน้าที่รักษาสภาพของ corpus luteum ในรังไข่ สร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน ซึ่ง HCG ถูกขับออกมาจากน้ำปัสสาวะ จึงสามารถใช้เป็นตัวตรวจสอบการตั้งครรภ์
8. ฮอร์โมนจากต่อมไทมัสและเนื่อเยื่ออื่นในร่างกาย
8.1) ต่อมไทมัส (thymus gland) มีลักษณะเป็นพู 2 พู อยู่บริเวณทรวงอกรอบหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจ (บริเวณขั้วหัวใจ) ต่อมนี้สร้าง ฮอร์โมนไทโมซิน (thymosin) มีหน้าที่กระตุ้นต่อมให้เนื้อเยื่อต่อมไทมัสสร้างลิมโฟไซต์ชนิดเซลล์ที (T-lymphocyte) หรือเซลล์ที (T-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
8.2) แกสทริน (gastrin) สร้างจากเนื้อเยื่อชั้นในของกระเพาะอาหาร มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดไฮโดรคลอริกและเอนไซม์ และการหลั่งเอนไซม์จากตับอ่อน ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
8.3) ซีครีทิน (secretin) สร้างมาจากเนื้อเยื่อชั้นในของลำไส้เล็กบริเวณดูโอดีนัม โดยซีครีทินจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งเอนไซม์และตับให้หลั่งน้ำดี
8.4) โคเลซีสโตไคนินและแพนคลีโอไซมิน (cholecystokinin; CCK and pancreozymin) สร้างมาจากลำไส้เล็ก มีหน้าที่กระตุ้นการสร้างและหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อนและกระตุ้นการหดตัวของถุงน้ำดี
8.5) เอนเทอโรแกสโทน (enterogastrone) สร้างมาจากส่วนของลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลาง ทำหน้าที่ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารผ่านลำไส้เล็กช้าลง โดยเฉพาะอาหารพวกไขมัน และยังยับยั้งการขับน้ำย่อยของกระเพาะอาหารด้วย
พัดชา วิจิตรวงศ