ระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine system) ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ สร้างและหลั่งพวกฮอร์โมน (hormones) แล้วส่งออกนอกตัวเซลล์ โดยผ่านทางกระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังเป้าหมาย คือ อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ต่อมไร้ท่อบางชนิดสร้างฮอร์โมนออกมาร่วมทำงาน หรือถูกควบคุมการหลั่งโดยระบบประสาท เรียกว่า neuroendocrine system เช่น ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) เป็นต้น
ลักษณะโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบต่อมไร้ท่อโดยทั่วไป ประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือ
1. เนื้อต่อม (parenchyma) ประกอบด้วย เซลล์เนื้อผิวชนิดที่เรียกว่า secretory cells และเป็นเซลล์สำคัญที่สร้างฮอร์โมน ซึ่งเซลล์เหล่านี้อาจเรียงตัวเป็นกลุ่ม (clumps) ขดเป็นกลุ่ม (cord) หรือเป็นแผ่น (plates) โดยมีเส้นเลือดฝอยชนิด fenestrated หรือ sinusoid capillaries และเส้นน้ำเหลืองจำนวนมากแทรก เพื่อทำหน้าที่หล่อเลี้ยง และลำเรียงฮอร์โมนออกจากเนื้อต่อมเข้าสู่วงจรไหลเวียนของกระแสเลือด ไปกระตุ้นอวัยวะต่างๆ ตามเป้าหมาย (target organs) ที่อยู่ในร่างกาย
2. โครงร่างพยุงเนื้อต่อม (stroma) ประกอบด้วย เนื้อประสานเป็นเปลือกหุ้ม และโครงร่างให้เซลล์ของเนื้อต่อมเกาะ ในต่อมไร้ท่อบางชนิดพบว่ามีส่วนของเปลือกหุ้มยื่นเข้าไปแบ่งเนื้อต่อมออกเป็นส่วน เรียกว่า trabeculae
ต่อมไร้ท่อแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1. ต่อมใต้สมอง (pituitary gland หรือ hypophysis)
เป็นต่อมเล็กๆ รูปร่างกลม อยู่ใต้สมองแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.1) ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (anterior pituitary หรือ adenohypophysis)
1.2) ต่อมใต้สมองส่วนหลัง (posterior pituitary หรือ neurohypophysis)
ต่อมนี้ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญหลายอย่าง ซึ่งมีอิทธิพลต่อต่อมไร้ท่ออื่นๆ ด้วย เช่น สร้างฮอร์โมน ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายและกระดูก สร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ พาราไทรอยด์ ส่วนเปลือกของต่อมหมวกไต อัณฑะ และรังไข่ สร้างฮอร์โมนที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ทำ ให้การปัสสาวะเป็นปกติ และทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเซลล์ของตับอ่อนสร้างฮอร์โมน อินซูลิน ซึ่งควบคุมคาร์โบไฮเดรตเมแทบอลิซึม รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง (นอกเหนือจากการสร้างไข่) และอัณฑะ สร้างฮอร์โมนเพศชาย (นอกเหนือจากการสร้างตัวอสุจิ)
2. ต่อมหมวกไต (adrenal gland)
เป็นต่อมที่มีรูปร่างค่อนข้างแบน คล้ายหมวกครอบอยู่ส่วนบนของไต แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นในสร้างฮอร์โมนอะดรีนาลิน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนสารที่หลั่งจาปลายประสาทอัตโนวัติ โดยจะกระตุ้นร่างกายทุกส่วนให้เตรียมพร้อม ส่วนชั้นนอกสร้างฮอร์โมนคอทิซอล มีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญอาหาร ตลอดจนฮอร์โมนออลโดสเทอโรนทำหน้าที่ควบคุมการดูดซึมเกลือที่ไต
3. ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) เป็นต่อมที่มีลักษณะเป็นพู 2 พู เชื่อมต่อกันเป็นต่อมที่อยู่ติดกับกล่องเสียงและหลอดลม ต่อมนี้จะมีขนาดโตขึ้นตามอายุ เพศ และภาวะโภชนาการทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า ไทรอกซิน (thyroxin) ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม
4. ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid gland) เป็นต่อมขนาดเล็กมี 2 คู่ อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนพาราฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือด และรักษาความเป็นกรดเป็นด่างในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
5. ต่อมไทมัส (thymus gland) เป็นต่อมเดี่ยวที่มีลักษณะเป็นพู 2 พูติดกัน อยู่ระหว่างทรวงอกรอบเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจ ต่อมนี้จะเจริญเต็มที่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และจะค่อยๆ เล็กลงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ทำหน้าที่ควบคุมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
6. ต่อมเพศ (gonads) คือ รังไข่ (ovary) ในเพศหญิง และอัณฑะ (testis) ในเพศชาย โดยที่รังไข่ทำหน้าที่ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ คือ ไข่ และผลิตฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตเจนกับฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน เป็นฮอร์โมนควบคุมเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ของเพศหญิง เช่น มีเสียงเล็กแหลม สะโพกผาย การขยายใหญ่ของอวัยวะเพศและเต้านม ส่วนอัณฑะทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิและสร้างฮอร์โมนเพศชาย คือ ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน เพื่อควบคุมลักษณะต่างๆ ของเพศชาย เช่น มีเสียงแตกห้าว ลูกกระเดือกแหลม มีขนขึ้นบริเวณหน้าแข้ง รักแร้ และอวัยวะเพศ
7. ต่อมไพเนียล (pineal gland) คือ ต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่ผลิตสารเมลาโทนิน (melatonin) ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของต่อมเพศก่อนวัยหนุ่มสาว ควบคุมการนอนหลับ และกระตุ้นการปรับเปลี่ยนระบบนาฬิกาชีวิตของร่างกาย
พัดชา วิจิตรวงศ์