อวัยวะรับความรู้สึก ได้แก่ นัยน์ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ทําหน้าที่รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าในรูปแบบต่างๆ เช่น แสง เสียง การสัมผัส สารเคมี อวัยวะรับความรู้สึกมีหน่วยรับความรู้สึก ซึ่งอาจจะเป็นเซลล์ประสาทโดยตรง หรือเซลล์เยื่อบุผิวที่เปลี่ยนแปลงมาทําหน้าที่รับความรู้สึกจากสิ่งเร้า เมื่อหน่วยรับความรู้สึกได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า หน่วยรับความรู้สึกจะทําหน้าที่ในการเปลี่ยนกระแสความรู้สึกให้เป็นกระแสประสาท ส่งไปยังเซลล์ประสาทรับความรู้สึก และส่งต่อไปยังสมอง จากนั้นสมองจะวิเคราะห์ข้อมูลจากการรับความรู้สึก (sensation) เป็นการรับรู้ (perception) เช่น การมองเห็น การได้กลิ่น การรู้รส
นัยน์ตากับการมองเห็น
โครงสร้างของลูกตา
ผนังของลูกตาประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น เรียงลำดับจากด้านนอก เข้าไปทางด้านใน คือ
1. สเคลอรา (sclera) เป็นชั้นที่เหนียวแต่ไม่ยืดหยุ่น โดยทั่วไปเรียกว่า ตาขาว ส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของเยื่อนี้จะนูนออกมาและมีลักษณะโปร่งใส เรียกว่า กระจกตา (cornea) ครอบคลุมส่วนของตาดํา ผิวด้านหน้าถูกคลุมด้วยเยื่อบุตาซึ่งเป็นเยื่อบางใส ภายในเยื่อบางมีหลอดเลือดขนาดเล็กที่นําเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณดังกล่าว
กระจกตาทําหน้าที่เป็นทางผ่านของแสงเข้าไปภายในลูกนัยน์ตา และช่วยในการหักเหแสงเพื่อให้ภาพตกลงบนเรตินา ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับกระจกตา เช่น การเกิดฝ้าทึบ ทําให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง
2. โครอยด์ (choroid) เป็นผนังชั้นกลางของลูกนัยน์ตาที่มีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยง มีสารสีกระจายจํานวนมากทําให้สีตาของแต่ละคนแตกต่างกัน เช่น ชาวเอเชียมีนัยน์ตาสีดํา หรือสีน้ำตาล ชาวยุโรปมีนัยน์ตาสีฟ้า หรือสีน้ำตาลอ่อน สารสีดังกล่าวนี้ ช่วยป้องกันไม่ให้แสงสว่างทะลุผ่านชั้นเรตินาไปยังด้านหลังของนัยน์ตาโดยตรง และป้องกันไม่ให้เกิดการสะท้อนกลับของแสงภายในลูกตา ในชั้นโครอยด์บริเวณประกอบด้วย
- ม่านตา (iris) คือส่วนที่มองเห็นเป็นสีดํา สีน้ำตาล หรือสีฟ้านั่นเอง ลักษณะเป็นแผ่นกล้ามเนื้อที่ยื่นออกจากผนังโครอยด์ ทั้งจากด้านบนและด้านล่าง ช่องตรงกลางมีลักษณะกลม เรียกว่า รูม่านตา (pupil) รูม่านตาอาจเปิดกว้าง หรือหรี่ลงได้โดยเกิดจากการทํางานของกล้ามเนื้อม่านตา 2 ชนิด คือ กล้ามเนื้อวง และกล้ามเนื้อที่เรียงตัวตามแนวรัศมี ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ
ม่านตาจึงเป็นส่วนที่ทําหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านเข้าสู่นัยน์ตา รูม่านตาจะเปิดกว้างเมื่อปริมาณแสงน้อย และหรี่ลงเมื่อปริมาณแสงมาก เช่น ในกรณีที่เข้าไปอยู้ในที่มืด หรือมีแสงสว่างน้อย ช่วงแรกจะมองเห็นไม่ชัด แต่สักระยะหนึ่งจะมองเห็นชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ เกิดจากม่านตามีการหดตัว ทําให้รูม่านตามเปิดกว้างขึ้น แสงผ่านลูกนัยน์ตาไปตกลงบนเรตินามากขึ้น จึงมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ดังนั้น การทํางานของม่านตาจึงเปรียบเสมือนไดอะแฟรม (diaphragm) ของกล้องถ่ายรูป หรือกกล้องจุลทรรศน์
3. เรตินา (retina) เป็นส่วนที่อยู่ชั้นในสุดของลูกตา เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการรับภาพ (receptor) ประกอบด้วยเซลล์ต่างๆ ที่สำคัญในการรับแสง คือ rod cells และ cone cells
- rod cells เป็นเซลล์รูปยาวทรงกระบอก มีความไวต่อแสงประกอบด้วยสีที่เรียกว่า rhodopsin เป็นตัวรับแสง ทำหน้าที่ในการรับแสงหรือภาพ ขาว-ดำ และจะทำงานมากเมื่อมองภาพในที่สลัวหรือที่มีแสงน้อย
- cone cells เป็นเซลล์รูปกระสวย มีหน้าที่ในการรับแสงสีต่าง จะทำงานได้ดีในสถานที่ที่มีแสงเพียงพอ
เมื่อแสงผ่านเข้ามาในลูกตาและตกกระทบที่เรตินา เซลล์ทั้งสองชนิดนี้จะทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทผ่านเซลล์ประสาทชั้นต่างๆ ที่อยู่ในเรตินาไปยัง optic nerve ซึ่งทอดทะลุไปสู่เปลือกสมอง (cerebral cortex) ส่วนที่ทำหน้าที่แปลเป็นสัญญาณภาพให้เราได้เห็นเป็นภาพ
เลนส์ตา (lens)
หรือแก้วตา ทําหน้าที่รวมแสงเข้าสู่นัยน์ตา และทําให้เกิดการหักเหของแสง เพื่อให้ภาพตกลงบนเรตินา เลนส์ตาอยู่ค่อนมาทางด้านหน้าของนัยน์ตา โดยอยู่ถัดจากกระจกตาเข้าไปเล็กน้อย ลักษณะเป็นเลนส์นูนใส มีความยืดหยุ่น ทําให้ผิวเลนส์ปรับเปลี่ยนการโค้งนูนได้
กลไกการมองเห็น
เยื่อหุ้มเซลล์รูปแท่งจะมีสารสีม่วงแดงชื่อ โรดอปซิน (rhodopsin) ฝังตัวอยู่ สารชนิดนี้ประกอบด้วยโปรตีนออปซิน (opsin) รวมกับสารเรตินอล (retinol) ซึ่งไวต่อแสงจะมีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อแสงมากระตุ่นเซลล์รูปแท่ง โมเลกุลของเรตินอลจะเปลี่ยนแปลงไปจนเกาะกับโมเลกุลของออปซินไม่ได้ ขณะนี้เองจะเกิดกระแสประสาทเดินทางไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 2 เพื่อส่งไปยังสมองให้แปลเป็นภาพ ถ้าไม่มีแสง ออปซินและเรตินอลจะรวมตัวเป็นโรดอปซินใหม่
สำหรับเรตินอล เป็นสารที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นได้จากวิตามินเอ ถ้าร่างกายขาดวิตามินเอจะทำให้เกิดโรคตาฟางในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างน้อย เช่น ตอนพลบค่ำ
เซลล์รูปกรวยแบ่งตามความไวต่อช่วงความยาวคลื่นของแสงได้ 3 ชนิด คือ เซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีน้ำเงิน เซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีแดง และเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อแสงสีเขียว การที่สมองสามารถแยกสีต่างๆ ได้ มากกว่า3 สี เพราะมีการกระตุ้นเซลล์รูปกรวยแต่ละชนิดพร้อมๆ กันด้วยความเข้มของแสงสีต่างกัน จึงเกิดการผสมของแสงสีต่างๆ ขึ้น เช่น ขณะมองวัตถุสีม่วง เกิดจากเซลล์รูปกรวยที่มีความไวต่อแสงสีแดงและแสงสีน้ำเงินถูกกระตุ้นพร้อมกัน ทำให้เห็นวัตถุนั้นเป็นสีม่วง เป็นต้น
ความผิดปกติของสายตา
1. สายตาสั้น (myopia) ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากกระบอกตายาวเกินไป ส่วนน้อยเกิดจากเลนส์หรือ cornea รวมแสงแล้วไม่ถึง retina ภาพจึงไม่โฟกัสบนจอตา ทำให้มองเห็นไม่ชัด การแก้ไขต้องใช้แว่นเลนส์เว้าช่วย เพื่อรวมแสงให้ยาวขึ้น
2. สายตายาว (hypermetropia) อาจเกิดเนื่องจากกระบอกตาสั้นเกินไป หรือ เพราะเลนส์หรือ cornea แบน ทำให้แสงที่ผ่านเข้าลูกตายาวเกิน retina ทำให้ไม่สามารถโฟกัสได้บนจอตา การแก้ไขต้องใช้แว่นเลนส์นูนช่วย เพื่อรวมแสงให้สั้นเข้า
3. สายตาเอียง (astigmatism) เป็นภาวะที่มองเห็นภาพไม่ชัด เนื่องจากส่วนโค้งของ cornea หรือเลยส์ไม่เท่ากัน ทำให้การหักเหของแสงตามแนวต่างๆ ไม่เท่ากัน การแก้ไขทำได้โดยใช้แว่นกาบกล้วย (cylindrical lens) เพื่อทำให้อำนาจการหักเหของแสงทุกแนวเท่ากันได้
หูกับการได้ยิน
หูเป็นอวัยวะที่ทําหน้าที่รับสัมผัสในการได้ยินเสียงและการทรงตัว หูของคนประกอบด้วย 3 ส่วนคือ หูส่วนนอก หูส่วนกลาง และหูส่วนใน
1. หูส่วนนอก (external ear)
ประกอบด้วย
1.1) ใบหู (pinna) มีลักษณะแผ่กว้างกางออก ภายในใบหูมีกระดูกอ่อนค้ำจุนอยู่ หน้าที่ของใบหูคือ การรับคลื่นเสียงเพื่อส่งเข้าไปในรูหู
1.2) รูหู (auditory canal) มีลักษณะเป็นท่อกลวง อยู่ถัดจากใบหูจนถึงเยื่อแก้วหู ทําหน้าที่ เป็นทางผ่านของคลื่นเสียง ภายในรูหูมีขนและต่อมสร้างไขสําหรับเคลือบ เพื่อป้องกันไม่ให้ผนังรูหูแห้ง รวมทั้งป้องกันไม่ให้แมลงหรือฝุ่นละอองเข้าไปทําอันตรายกับหูส่วนกลางและหูส่วนใน และยังช่วยต้านการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียด้วย ไขดังกล่าวเมื่อสะสมมากขึ้นจะกลายเป็นขี้หู ซึ่งสามารถหลุดออกมาได้เอง
1.3) เยื่อแก้วหู (ear drum/ tympanic membrane) เป็นเยื่อบางๆ อยู่ตรงรอยต่อระหว่างหูส่วนนอก และหูส่วนกลาง เมื่อคลื่นเสียงผ่านจากรูหูมายังเยื่อแก้วหู ทําให้เกิดการสั่นสะเทือนของเยื่อแก้วหูเพื่อส่งคลื่นเสียงเข้าไปยังหูส่วนกลาง
2. หูส่วนกลาง (middle ear)
มีลักษณะเป็นโพรงติดต่อกับโพรงจมูก โครงสร้างภายในประกอบด้วย
2.1) ท่อยูสเตเชียน (eustachian tube) เป็นท่อติดต่อกับคอหอย ปกติท่อนี้จะตีบ แต่ในขณะเคี้ยว หรือกลืนอาหาร ท่อนี้จะขยับเปิดเพื่อปรับความดัน 2 ด้านของเยื่อแก้วหูให้เท่ากัน นอกจากนี้ เมื่อความดันอากาศภายนอกลดลง หรือสูงกว่าความดันในหูส่วนกลางอย่างรวดเร็ว ความแตกต่างระหว่างความดันอากาศภายนอก และภายในหูส่วนกลาง อาจทำให้เยื่อแก้วหูถูกดันให้โป่งออกไป หรือถูกดันเข้า ทำให้การสั่นและการนำเสียงของเยื่อแก้วหูลดลง เราจะรู้สึกว่าหูอื้อ หรือปวดหู จึงมีการปรับความดันในช่องหูส่วนกลาง โดยผ่านแรงดันอากาศบางส่วนไปทางท่อยูสเตเชียน
2.2) กระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน (milieus) กระดูกทั่ง (incurs) และกระดูกโกลน (stapes) ยึดกันอยู่ เมื่อมีการสั่นสะเทือนเกิดขึ้นที่เยื่อแก้วหูจะถ่ายทอดมายังกระดูกค้อนและกระดูกทั่ง ทำให้กระดูกหู 2 ชิ้นนี้เคลื่อนและเพิ่มแรงสั่นสะเทือน แล้วส่งแรงสั่นสะเทือนนี้ต่อไปยังกระดูกโกลนเพื่อเข่าสู่หูส่วนในต่อไป คลื่นเสียงที่ผ่านเข้ามาถึงหูส่วนในจะขยายแอมพลิจูดของคลื่นเสียงเพิ่มจากหูส่วนนอกประมาณ 22 เท่า
3. หูส่วนใน (inner ear)
ประกอบด้วยประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวของร่างกาย รวมเรียกว่า labyrinth ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นกระดูก (osseous labyrinth) และส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อ (membranous labyrinth)
3.1) อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการฟังเสียง คือ คอเคลีย (cochlea) เป็นโครงสร้างที่อยู่ด้านหน้าของหูส่วนใน มีลักษณะเป็นท่อที่ม้วนตัวซ้อนกันอยู่ประมาณ 2 รอบครึ่ง รูปร่างคล้ายก้นหอย เมื่อผ่าตามขวาง คอเคลียจะแบ่งเป็น 3 ช่อง บริเวณผนังเยื่อกั้นระหว่างช่องกลางกับช่องล่างเป็นที่อยู่ของหน่วยรับเสียง (organ of corti) ภายในมีของเหลวบรรจุอยู่
เมื่อคลื่นเสียงผ่านจากกระดูก 3 ชิ้นในหูส่วนกลาง แรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงจะเข้าสู่คอเคลีย ทําให้ของเหลวในคอเคลียสั่นไปด้วย สัญญาณเสียงจะถูกเปลี่ยนเป็นกระแสประสาทกระตุ้นให้เซลล์รับเสียง ส่งกระแสประสาทไปที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 ซึ่งเป็นเส้นประสาทรับเสียง เพื่อนํากระแสประสาทเข้าสู่สมองส่วนเซรีบรัม ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมการได้ยิน จากนั้นสมองส่วนนี้จะแปลผลการได้ยินในลําดับถัดไป
3.2) อวัยวะที่ใช้ในการทรงตัว คือ เซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล (semicircular canal) เป็นโครงสร้างที่อยู่ด้านหลังของหูส่วนใน มีลักษณะเป็นหลอดครึ่งวงกลม 3 หลอดวางตั้งฉากกันที่โคนหลอดพองออกเป็นกระปาะ เรียกว่า แอมพูลลา (ampulla) ภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ และมีหน่วยรับความรู้สึกที่ประกอบด้วย คิวพูลา (cupula) มีลักษณะคล้ายวุ้น และมีกลุ่มเซลล์รับความรู้สึกที่มีขน เรียกว่า เซลล์ขน (hair cell) อยู่โดยรอบ เซลล์ขนเป็นเซลล์ที่ไวต่อการไหลของของเหลวภายในหลอดเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล
การควบคุมการทรงตัวของเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล
เมื่อมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ของเหลวในหลอดเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนลไหลไปมา มีผลให้คิวพูลาเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันก็เกิดการเบนของเซลล์ขนด้วย ซึ่งทําให้เกิดกระแสประสาทส่งไปตามเส้นประสาทรับเสียง เพื่อนํากระแสประสาทไปยังสมองส่วนซรีบรัม สมองแปรผล รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงตําแหน่งของศีรษะ แล้วส่งคําสั่งไปควบคุมการทรงตัวให้อยู่ในตําแหน่งที่เหมาะสม
จมูกและการดมกลิ่น
จมูกเป็นอวัยวะที่ทําหน้าที่เป็นทางผ่านของลมหายใจเข้าออก และการดมกลิ่น ซึ่งจัดเป็นความรู้สึกประเภทสารเคมี (chemoreceptor) ภายในโพรงจมูกประกอบด้วยขนจมูก เยื่อบุที่ประกอบด้วยเซลล์ที่มีซิเลีย ต่อมสร้างเมือก (mucus gland) ทําหน้าที่ดักจับเชื้อโรคและฝุ่นละออง ไม่ให้เข้าไปกับลมหายใจเข้า
สําหรับโครงสร้างที่ทําหน้าที่ในการดมกลิ่น อยู่ที่บริเวณรับกลิ่น ซึ่งอยู่ภายในช่องจมูกตอนในสุดทั้งด้านซ้ายและด้านขวา บริเวณดังกล่าวประกอบด้วย เยื่อจมูกที่มีเซลล์ประสาทรับกลิ่น (olfactory neuron) ทําหน้าที่เปลี่ยนสารที่ทําให้เกิดกลิ่นเป็นกระแสประสาท เพื่อส่งไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 1 ซึ่งเป็นเส้นประสาทรับกลิ่น (olfactory nerve) จากนั้นกระแสประสาทจะถูกส่งผ่านออลแฟกทอรีบัลบ์ไปยังสมองส่วนซีรีบรัม เพื่อแปลผลของกลิ่นที่ได้รับ
ลิ้นกับการรับรส
การรับรสจัดเป็นการรับความรู้สึกประเภทสารเคมีเช่นเดียวกับการรับกลิ่น ลิ้นเป็นอวัยวะที่ทําหน้าที่เกี่ยวกับการรับรส โดยบริเวณด้านบนของผิวลิ้นมีปุ่มลิ้น (papilla) เป็นปุ่มเล็กๆ มีจํานวนมาก ที่ปุ่มลิ้นเป็นที่อยู่ของตุ่มรับรส (taste bud) ในตุ่มรับรสมีเซลล์รับรส (gustatory cell หรือ taste cell) ซึ่งแปรสภาพมาจากเซลล์บุผิว เซลล์รับรสจะติดต่อกับใยประสาท
ตอนบนของตุ่มรับรสมีช่องเปิด (taste pore) ทําให้ขนเซลล์ของเซลล์รับรสสามารถรับรสของอาหารได้ เมื่อตุ่มรับรสได้รับการกระตุ้นจากรสอาหาร จะทําให้เกิดกระแสประสาทจากเซลล์รับรสส่งไปยังเส้นประสาทสมอง โดยกระแสประสาทจากการรับรสบริเวณปลายลิ้นและด้านข้างลิ้น จะถูกส่งเข้าเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่วนการรับรสบริเวณโคนลิ้น กระแสประสาทที่เกิดขึ้นจะถูกส่งเข้าเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 เพื่อนํากระแสประสาทเข้าสู่ศูนย์รับรสในสมองส่วนซีรีบรัม
ผิวหนังกับการรับความรู้สึก
ผิวหนังปกคลุมห่อหุ้มร่างกายทั้งหมด ซึ่งภายในมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมาย เพื่อรับรู้การสัมผัส การกดความเจ็บ และอุณหภูมิร้อนเย็น ระบบผิวหนังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และยังมีหน้าที่เป็นอวัยวะขับเหงื่อและไขมันด้วย
ผิวหนังยืดหยุ่นได้มาก บนผิวของหนังมีรูเล็กๆ อยู่ทั่วไป รูเล็กๆ นี้ เป็นรูเปิดของขุมขน ท่อของต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อ ผิวหนังที่ฝ่ามือ-ฝ่าเท้ามีรอยนูนเป็นสันจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือทั้งห้ามีสันนูนเรียงกันเป็นร้อยหวายหรือก้นหอย จึงใช้รอยพิมพ์ปลายนิ้วมือเป็นประโยชน์ในการแยกหรือทำนายบุคคลได้โดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากรายละเอียดในการเรียงตัวของรอยนูนนี้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล บริเวณผิวหนังที่มีกล้ามเนื้อเกาะอยู่ ผิวหนังจะเกิดเป็นรอยย่นได้เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือบริเวณใบหน้า มีกล้ามเนื้อมายึดติดที่หนังมาก จึงทำให้เกิดรอยย่น ซึ่งแสดงอารมณ์โกรธ กลัว ยิ้มแย้มแจ่มใสหรือเศร้าหมองได้
ส่วนใหญ่ของร่างกาย ผิวหนังจะเลื่อนไปเลื่อนมาได้ แต่บางแห่งก็ติดแน่นกับอวัยวะภายใต้ เช่น หนังศีรษะ ด้านนอกของใบหู ฝ่ามือและฝ่าเท้า และตามรอยพับของข้อต่อต่างๆ
ผิวหนังประกอบด้วย 2 ส่วน
1. ชั้นตื้น เรียกว่า หนังกำพร้า (epidermis) คลุมอยู่บนหนังแท้ ความหนาของหนังกำพร้าแตกต่างกันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หนังกำพร้าที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนาที่สุด และบางที่สุดที่หนังตา ชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือดเลย และประกอบด้วยเซลล์รูปร่างต่างๆ กันหลายชั้น ชั้นตื้นที่สุดที่ผิวเป็นเซลล์แบนๆ และตายแล้วจะลอกหลุดออกไปเป็นขี้ไคล
2. ชั้นลึก เรียกว่า หนังแท้ (dermis) ประกอบด้วยเส้นใยพังผืดเป็นส่วนใหญ่ประสานไขว้กันไปมา ส่วนตื้นของชั้นนี้ยื่นเป็นปุ่มนูนขึ้นมาสวมกับช่องทางด้านลึกของหนังกำพร้า ในปุ่มนูนนี้มีหลอดเลือดและปลายประสาทรับความรู้สึก ส่วนลึกของหนังแท้จะมีแต่เส้นใยพังผืดประสานกันค่อนข้างแน่น ความยืดหยุ่นของผิวหนังที่อยู่เส้นใยพังผืดและเนื้อเยื่อใต้หนัง ในคนชรา เส้นใยพังผืดยึดหยุ่นลดน้อยลง จึงเกิดเป็นรอยย่น หย่อนยาน
จากภาพ จะเห็นได้ว่า หน่วยรับความรู้สึก และปลายประสาทของหน่วยรับความรู้สึก อยู่ในตําแหน่งที่ต่างกันในชั้นผิวหนัง รวมทั้งมีรูปร่างที่แตกต่างกัน เช่น หน่วยรับความรู้สึกเจ็บปวด มีปลายประสาทเดนไดร์ทแทรกอยู่ในชั้นของหนังกําพร้า หน่วยรับความรู้สึกเกี่ยวกับความร้อนอยู่ในชั้นหนังแท้
พัดชา วิจิตรวงศ์