การเคลื่อนที่ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
15 ก.ย. 67
 | 39.2K views



สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ในลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามปัจจัยการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อม แบ่งเป็น การเคลื่อนที่ของแมงกะพรุนและไฮดรา, การเคลื่อนที่ของหมึก, การเคลื่อนที่ของดาวทะเล, การเคลื่อนที่ของพลานาเรีย, การเคลื่อนที่ของไส้เดือนดิน และการเคลื่อนที่ของแมลง

 

1. แมงกะพรุนและไฮดรา

อาศัยการหดตัวของเนื้อเยื่อ 2 ชั้นและของเหลวภายใน ที่เรียกว่า มีโซเกลีย (mesoglea) ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นนอก และเนื้อเยื่อชั้นในบริเวณขอบกระดิ่งและผนังลำตัว ทำให้เกิดการพ่นน้ำออกมาทางด้านล่าง ซึ่งส่งผลให้ส่วนของลำตัวสามารถพุ่งทะยานไปข้างหน้าในทิศทางตรงข้ามเป็นจังหวะ

ส่วนการเคลื่อนที่ของไฮดรา ซึ่งเป็นสัตว์ไฟลัมเดียวกับแมงกะพรุน แต่รูปร่างแตกต่างกันนั้น การเคลื่อนที่ก็แตกต่างกันออกไปด้วย เพราะไฮดรามีการเคลื่อนที่โดยการคืบล้ายหนอน หรือการตีลังกา หรือการแขวนตัวเองกับผิวน้ำ แล้วปล่อยตัวลอยไปตามกระแสน้ำ

 

2. การเคลื่อนที่ของหมึก

อาศัยการหดตัวของกล้ามเนื้อลำตัว พ่นน้ำออกมาจากไซฟอน (siphon) ซึ่งอยู่ทางส่วนล่างของส่วนหัว ทำให้ตัวพุ่งไปข้างหน้าในทิศทางที่ตรงข้ามกับทิศทางของน้ำ นอกจากนี้ ส่วนของไซฟอนยังสามารถเคลื่อนไหวได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของน้ำที่พ่นออกมา และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการเคลื่อนที่ด้วย ส่วนความเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับความแรงของการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำตัว แล้วพ่นน้ำออกมา หมึกมีครีบอยู่ทางด้านข้างลำตัว ช่วยในการทรงตัวให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่เหมาะสม

 

3. การเคลื่อนที่ของดาวทะเล

อาศัยระบบท่อน้ำ หรือการหมุนเวียนของน้ำภายในร่างกาย ซึ่งส่งแรงดันไปยังส่วนที่เรียกว่า ท่อขา หรือ ทิวบ์ฟีต (tube feet) ทำให้เกิดการยืดขยาย หรือหดสั้นของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนที่ของทิวบ์ฟิตรอบตัวของดาวทะเลอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงบริเวณปลายสุดของทิวบ์ฟิตที่ยังมีลักษณะคล้ายแผ่นดูด ช่วยให้ดาวทะเลสามารถยึดเกาะกับพื้นผิวระหว่างการเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

 

4. การเคลื่อนที่ของพลานาเรีย

อาศัยการหด และคลายตัวสลับกันของกล้ามเนื้อวงกลม (circular muscle) และกล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal muscle) และมีกล้ามเนื้อยืดระหว่างส่วนบน กับส่วนล่างของลำตัว (dorsoventral Muscle) ช่วยทำให้ลำตัวแบบพลิ้วไปในน้ำ

 

5. การเคลื่อนที่ของไส้เดือนดิน

อาศัยการยืดหดของกล้ามเนื้อ 2 ชุด คือ กล้ามเนื้อวงกลมรอบตัว (circular Muscle) ที่อยู่ทางด้านนอก และกล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal Muscle) ตลอดลำตัวทางด้านใน รวมถึงเดือย (setae) ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดเล็กที่ยื่นออกจากลำตัวรอบปล้องช่วยในการเคลื่อนที่

 

6. การเคลื่อนที่ของแมลง

อาศัยการทำงานในสภาวะตรงกันข้าม (antagonism) ของกล้ามเนื้อบริเวณขาและข้อต่อ 2 ชุด คือ กล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ (flexor muscle) และกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ (extensor muscle) ซึ่งสามารถเหยียดยืดออกและหดกลับ ทำให้แมลงสามารถเคลื่อนที่โดยการกระโดด รวมถึงกล้ามเนื้ออีก 2 ชุดบริเวณปีก คือ กล้ามเนื้อยึดเปลือกหุ้มส่วนอก และกล้ามเนื้อตามยาวบริเวณปีก ที่ส่งผลให้แมลงสามารถบินไปมาในอากาศได้นั่นเอง

 

พัดชา วิจิตรวงศ